การ จัด งาน พระ ราช พิธี บรม ราชาภิเษก

การ จัด งาน พระ ราช พิธี บรม ราชาภิเษก

  • หน้าหลัก
  • > เกี่ยวกับ ธปท.
  • > งานและกิจกรรมของ ธปท.

ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมเฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พุทธศักราช 2562

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับเป็นราชประเพณีสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพสกนิกรชาวไทย มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเก็บเป็นความทรงจำอันล้ำค่า บันทึกไว้สืบไป

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 คนไทยส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสได้เห็น หรือมีส่วนร่วมกับพิธีบรมราชาภิเษกที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่สำคัญพระราชพิธีนี้ไม่เพียงเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันวิจิตรงดงามและยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ยังเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงการเข้ารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนชาวไทยจะได้มีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาฉายภาพถึงที่มา ความสำคัญ และการสืบสานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลจวบจนปัจจุบัน 

ความสำคัญพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

         คำว่า “บรมราชาภิเษก” มาจากคำว่า “บรม” หรือ “ปะระมะ” แปลว่า ยิ่งใหญ่ สมาสกับคำว่า “ราชะ” แปลว่า พระมหากษัตริย์และสนธิกับคำว่า “อภิเษก” แปลว่า รดน้ำ เมื่อรวมกันก็คือ การรดน้ำถวายพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งในสมัยอยุธยาไม่เรียกว่า “บรมราชาภิเษก” เรียกว่า “ราชาภิเษก” เท่านั้น แล้วภายหลังมีการเพิ่มคำว่า “บรม” เข้ามา

ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ข้อที่หนึ่ง เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณี หรือพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามีอิทธิพลในทวีปเอเชีย ผ่านทางลังกาเข้าพม่า ลาว ไทย กัมพูชา พิธีบรมราชาภิเษก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Coronation นั้น เป็นพิธีที่มีในทุกประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดินแม้แต่ประเทศในฝั่งยุโรปที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์ ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในอดีต หรือสเปนในปัจจุบันจะมีสังฆราชบาทหลวงมาทำพิธี และบางประเทศเป็นผู้สวมมงกุฎให้พระเจ้าแผ่นดิน ความสำคัญข้อที่สอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้ารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ไม่ใช่สมบูรณ์ตามกฎหมาย

         การขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยที่ผ่านมาจะมีขั้นตอน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง ขั้นตอนรับพระราชสมบัติ การที่พระองค์ทรงยอมรับพระราชสมบัติและขึ้นครองราชย์ เพียงเท่านี้ก็สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ สมบูรณ์ทั้งพฤตินัยและนิตินัย สามารถลงพระนามในเอกสารทุกอย่าง มีพระราชสิทธิและพระราชอำนาจเต็ม ไม่มีลดหย่อนผ่อนอะไรเลย อย่างไรก็ดี ประเทศไทยรับคตินิยมมาจากศาสนาพราหมณ์ เราจึงมีพิธีในขั้นตอนที่สอง คือ การบรมราชาภิเษก เป็นขั้นตอนตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะมีหรือไม่ ก็ไม่กระทบกับการเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เพราะสมบูรณ์ในขั้นตอนที่หนึ่งอยู่แล้ว 

พระมหากษัตริย์ที่ไม่เคยผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          รัชกาลที่ 8 แม้ไม่เคยผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ พระองค์ทรงรับราชสมบัติขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา ทรงมีพระราชอำนาจเต็ม แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์และยังประทับอยู่ต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่แทน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2488 ทรงเสด็จนิวัติพระนคร แต่เนื่องจากสงครามเพิ่งจบ ภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีรัฐบาลไม่มีความพร้อม และต้องกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงไม่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในคราวเสด็จกลับครั้งนั้น และในปีรุ่งขึ้น ก่อนเสด็จกลับก็เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 8 จึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ครองราชย์ 12 ปี โดยไม่มีพิธีบรมราชาภิเษก แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะไปลดพระเกียรติยศลงได้ 

พระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมากกว่า 1 ครั้ง

พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นทรงมีโอกาสและมีเวลาจึงผ่านทั้ง 2 ขั้นตอน บางรัชกาลทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง

          รัชกาลที่ 1 มีพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง เมื่อพระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2325 ซึ่งขณะนั้น บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย พระราชวังยังไม่สร้าง เครื่องใช้ไม้สอยก็มีไม่พอ แต่หลังจากพระองค์ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก นอกจากงานเตรียมพระราชวังและเครื่องใช้ไม้สอยแล้ว พระองค์ได้สืบหาพราหมณ์และผู้รู้ธรรมเนียมต่างๆ โดยบุคคลสำคัญที่ช่วยพระราชพิธีในครั้งนั้น คือ เจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดราชประเพณีในราชสำนักฝ่ายในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และทรงโปรดให้เจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นผู้จดบันทึก จนกระทั่งทำเป็นตำราได้หนึ่งเล่มชื่อ “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” ซึ่งได้ใช้เป็นแบบแผนสืบมา หนึ่งในเรื่องที่น่าอัศจรรย์คือ ในระหว่างรอพิธีบรมราชาภิเษกครั้งใหม่ ชาวบ้านไปทอดแหที่ทะเลสาบในประเทศเขมร (สมัยนั้นยังเป็นของไทย) ได้พระขรรค์ที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ กษัตริย์เขมรใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อมีผู้นำมาถวาย รัชกาลที่ 1 ทรงโสมนัสยิ่ง และทรงนำพระขรรค์นี้มาใส่ฝักไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี และใช้พระขรรค์นี้ในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2328

การ จัด งาน พระ ราช พิธี บรม ราชาภิเษก

รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก พ.ศ. 2411 เมื่อพระชนมพรรษา 15 ปี หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตไม่กี่วัน พิธีครั้งนั้นจึงทำแค่พอประมาณ เพราะขณะนั้นอยู่ในช่วงทุกข์โศก และพระองค์ยังทรงมีพระชนมายุน้อย อีกทั้งในช่วงนั้นพระองค์ทรงประชวรหนัก หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2416 เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวชตามประเพณี ซึ่งถือว่าบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงทรงจัดให้มีพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2

รัชกาลที่ 6 ในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงสงคราม หลังจากนั้นหนึ่งปี พระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยว่าควรจัดพิธีอีกครั้งให้ยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงศักดานุภาพให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า ไทยมีประเพณีอันเป็นอารยะ จึงทรงจัดพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชซึ่งเป็นพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 โดยทรงเชิญผู้นำจากนานาประเทศและมีแขกมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในการดำเนินการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้มีคณะกรรมการใหญ่หนึ่งชุด ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานและที่ปรึกษา โดยมีคณะกรรมการอีก 5 คณะ โดยงานพระราชพิธีครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย

พระราชพิธีเบื้องต้น เป็นขั้นตอนการตระเตรียมงาน

เริ่มวันแรกในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรี เป็นวันเตรียมน้ำที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธี นับตั้งแต่สมัยอยุธยา น้ำจะมาจากหลายแหล่ง แหล่งแรก คือ “เบญจสุทธคงคา” แปลว่าแม่น้ำบริสุทธิ์ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี แหล่งที่สอง คือ จากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งขุดมาตั้งแต่โบราณ ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา แหล่งที่สาม คือ น้ำจากเมืองต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 9 นำมาจากหัวเมือง 18 แห่ง แต่ในรัชกาลที่ 10 ทรงให้ทุกจังหวัดมีส่วนร่วม ซึ่งในบางจังหวัดมีแหล่งน้ำ 2 จุด บางจังหวัดมี 3 จุด สูงสุดคือ 6 จุด สำหรับกรุงเทพฯ จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังมาร่วมในพิธีด้วย รวมทั้งหมด 108 แห่ง นอกจากนี้ ก่อนตักน้ำจะมีพิธีพลีกรรม หรือพิธีบวงสรวงเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณหน้าแหล่งน้ำนั้น ๆ

วันที่ 8-9 เมษายน จะนำน้ำทั้งหมดไปประดิษฐานไว้ที่วัดศักดิ์สิทธิ์โบราณในเมืองนั้น ๆ

วันที่ 18-19 เมษายน จะเชิญน้ำจากทุกแหล่งเข้ามาที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วันที่ 22-23 เมษายน เป็นพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยวิธีจารึก อาลักษณ์จะใช้เหล็กแหลมแกะพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จะตั้งขึ้นใหม่ลงบนแผ่นทองคำแผ่นดวงพระราชสมภพ (วันเกิด) และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งใช้เป็นดวงตราประทับกำกับพระปรมาภิไธย และเอกสารราชการแผ่นดิน

วันที่ 3 พฤษภาคม จะมีพิธีสำคัญคือ การประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นสมเด็จหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นผู้อ่านบทชุมนุมเทวดา และประกาศเรื่องการสถาปนากษัตริย์เพื่อให้เทพยดาฟ้าดินได้รับรู้ ซึ่งพิธีนี้ทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

พระราชพิธีเบื้องกลาง หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม

วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญที่สุด เรียกวาวันบรมราชาภิเษก ตามพระฤกษ์ที่กำหนดไว้ ช่วงเช้า มีพิธีสำคัญเป็นลำดับไป