ข่าวอาหารปนเปื้อน ต่างประเทศ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 7599

ข่าวอาหารปนเปื้อน ต่างประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สุ่มตรวจปลาหมึกแห้ง จำนวน 13 ตัวอย่าง ไม่พบสารพิษจากเชื้อราอะฟลาทอกซินและการตกค้างของยาฆ่าแมลง แต่พบแคดเมียมปนเปื้อนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหาร แนะบริโภคพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป

         วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบ การสุ่มเก็บตัวอย่างปลาหมึกแห้ง จำนวน 13 ตัวอย่าง จากตลาดสด ร้านค้า และห้างออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.- มี.ค. 2563 ส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียม และโลหะหนัก (ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม)

ข่าวอาหารปนเปื้อน ต่างประเทศ

          โดยผลการตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin และ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid)

          ส่วนผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอท ในปลาหมึกแห้งที่นำมาทดสอบนั้น ทุกตัวอย่างไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นผลทดสอบแคดเมียม พบว่า ปลาหมึกแห้ง จำนวน 7 ตัวอย่าง ที่ส่งตรวจมีการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็ก (Codex) ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัม

          ทั้งนี้ ผลทดสอบค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้ง 13 ตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม (1 ขีด) สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทย ตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป (Thai RDI) แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 mg โซเดียมที่เราจะได้รับในแต่ละวันขึ้นอยู่กับอาหารที่เรารับประทาน โดยอาหารจานเดียวที่เรารับประทานมีโซเดียมตั้งแต่ ประมาณ 360 – 1,600 mg ดังนั้น การรับประทานที่เหมาะสม ควรจะคำนึงถึงปริมาณโซเดียมที่จะได้รับจากปลาหมึกแห้งข้างต้น ( 200 mg/20 g ) ร่วมกับปริมาณโซเดียมในอาหารอื่นที่เรารับประทานร่วมด้วยในแต่ละวันด้วย

         

อย่างไรก็ตาม อาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้โลหะหนักสะสมในร่างกาย

ผู้บริโภคสามารถอ่านผลทดสอบปลาหมึกแห้ง ฉบับเต็มได้ที่ https://chaladsue.com/article/3404

บริษัทจีนฉาวอีก! เรียกคืนอาหารกล่องหลังเนื้อเปื้อนสารเคมี

เผยแพร่: 23 เม.ย. 2552 17:11   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สื่อรัฐบาลจีนรายงานบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รายใหญ่ของจีนเรียกคืนอาหารกลางวันจำนวน 100 กล่อง เมื่อวันพฤหัสบดี(23 เม.ย.) ที่มีปัญหาปนเปื้อนสารเคมีอันตราย

หนังสือพิมพ์เนชันแนล บิสสิเนส เดลี่ รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมคุณภาพอาหารระดับมณฑลและเจ้าหน้าที่ของบริษัทว่า ขณะนี้บริษัทอี่ว์รุ่น ฟู๊ด กรุ๊ป ได้ทำลายผลิตภัณฑ์จำนวนดังกล่าวที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของเนื้อในผลิตภัณฑ์แล้ว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของบริษัทอี่ว์รุ่นปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี ซึ่งพูดเพียงว่าบริษัทจะมีแถลงการณ์ออกมาในเร็วๆนี้

อย่างไรก็ดี สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อเป็นสารเคมีเคลนบูเทรอล (clenbuterol ) ซึ่งเป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการผลิตยาในมนุษย์มีสรรพคุณในการขยายหลอดลม รักษาโรคหอบหืด แต่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อและกระตุ้นการเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกายของนักกีฬา

แต่พบว่าเกษตรกรชาวจีนได้นำมาผสมลงในอาหารสัตว์ ทำให้สัตว์ที่เลี้ยงมีมวลของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ แต่สารเคมีประเภทนี้เป็นสารที่ทางการจีนห้ามใช้ เนื่องจากมีอันตรายร้ายแรงกับมนุษย์

สื่อจีนรายงานว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 9 ราย ที่ขายเนื้อหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้บริโภคกว่า 70 ราย ในมณฑลกวางตุ้งล้มป่วย

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดเกี่ยวกับสารเคลนบูเทรอลเคยเกิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ปี 2549 เมื่อประชาชนถึง 336 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลหลังจากบริโภคเนื้อหมูและเครื่องในหมูที่ปนเปื้อนสารเคมีชนิดนี้

ทั้งนี้ กรณีอื้อฉาวในมาตรฐานสินค้าของอุตสาหกรรมอาหารจีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2- 3ปี ที่ผ่านมา ซึ่งผู้คนในประเทศต้องล้มป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนยังถูกส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์นมผงเปื้อนเมลามีนในปีที่แล้ว ที่ทำให้นานาประเทศต้องงดและห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากจีน ขณะที่เด็กเล็กที่บริโภคนมผงปนเปื้อนต้องล้มป่วยเป็นจำนวนเกือบ 300,000 คน