ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ

บัญชีสินค้าคงเหลือ เป็นบัญชีที่ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือผู้ใช้งบการเงินท่านอื่นๆ จะเพ่งเล็งมาที่บัญชีนี้ก่อนเลยว่ามูลค่าที่แสดงไว้ มีมูลค่าเท่าไหร่และมีสินค้าชนิดใดบ้าง แต่เรื่องที่ยากสำหรับบัญชีสินค้านั้นน่าจะเป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน เพราะในประเทศไทยมีมาตรฐาน 2 ชุด แล้วกิจการจะต้องเลือกใช้มาตรฐานชุดไหน รวมไปถึงกระบวนการวัดมูลค่า คำนวณต้นทุนสินค้า จัดทำรายงานต่างๆ เรื่องที่นักบัญชีควรรู้ มีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

1.สินค้าคงเหลือ คืออะไร

สินค้าคงเหลือ คือ สินทรัพย์หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายหรือผลิตหรือให้บริการ หรือ สินทรัพย์ที่ถือไว้/ระหว่างผลิต/วัตถุดิบเพื่อผลิตและขาย เป็นสินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ (Finished Goods : FG)
  • อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย (Work in process : WIP)
  • อยู่ในรูปของวัตถุดิบ หรือ วัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวณการผลิตสินค้า หรือ ให้บริการ (Raw Materials : RM)
  • ต้นทุนงานให้บริการส่วนที่กิจการยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้

2. มาตรฐานการบัญชี  ฉบับ 2 vs NPAES ใครใช้ชุดไหน?

เคยสงสัยกันไหมคะ ทำไมมาตราฐานการบัญชีถึงมีกล่าวถึง บัญชีสินค้าคงเหลือ ไว้สองมาตราฐาน แล้วผู้ใช้ต้องเลือกใช้อย่างไร ทุกคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าเราต้องใช้มาตรฐานการบัญชีชุดไหนกันนะ

มาตรฐานการบัญชี  ฉบับที่ 2 TFRS for NPAEs บทที่ 8
1. กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน
2. กิจการที่ดําเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม เป็นต้น
3. บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน
4. กิจการอื่นที่จะกําหนดเพิ่มเติม
กิจการที่ไม่ใช่กิจการมีส่วนได้เสียสาธารณะ 4 ข้อด้านซ้าย

ยกตัวอย่างง่ายๆ บริษัท ซีพีดี จำกัด ดำเนินกิจการเกี่ยวขายอะไหล่รถยนต์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็น นายเอ(พ่อ) นางบี(แม่) นางสาวซี(ลูก) จดทะเบียนกิจการในรูปแบบของบริษัท มีอะไหล่ที่ซื้อมาพร้อมขายอยู่ในคลังสินค้า จะต้องใช้มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสินค้าฉบับไหน?
จากตัวอย่างดังกล่าว 1. บริษัทดำเนินกิจการเกี่ยวกับการขายอะไหล่ 2. ผู้ถือหุ้นก็มีเพียง 3 คนเท่านั้น และจดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท เพียง 2 ข้อนี้ ก็สามารถตอบได้แล้วว่า ควรเลือกใช้ TFRS for NPAEs บทที่ 8 ค่ะ

3. การรับรู้ต้นทุนสินค้า

มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ กล่าวถึง การวัดมูลค่าเริ่มแรก (ราคาทุน) ไว้ดังนี้ค่ะ

ต้นทุนของสินค้าจะประกอบไปด้วย

1. ต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ ราคาซื้อ, ส่วนลดการค้า, ค่าขนส่งเข้า, อากรขาเข้าและภาษีอื่นที่ขอคืนไม่ได้
2. ต้นทุนแปลงสภาพ ค่าแรงงานทางตรง, ค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่, และค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร
3. ต้นทุนอื่นๆ เพื่อให้สินค้านั้นอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมขาย

4. การวัดมูลค่าสินค้า

ในส่วนของบัญชีฝั่งสินทรัพย์นั้น บัญชีสินทรัพย์ไม่ควรแสดงมูลค่าตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายหรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ ดังนั้น ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน บัญชีสินค้าจึงควรแสดงด้วย

สินค้าคงเหลือต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า

มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

5. การบันทึกบัญชีสินค้า

การบันทึกบัญชีสินค้า สามารถบันทึกได้ 2 แบบ คือ การบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง (Perpetual) และ วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic)

5.1 วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าแบบต่อเนื่อง (Perpetual)

มีลักษณะดังนี้ จะบันทึกบัญชีทุกครั้งที่มีการซื้อหรือขายสินค้า โดยจะลงรายการบัญชีสินค้าคง ซึ่งเป็นบัญชีคุมยอดในการบันทึกรายการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับสินค้าทุกครั้ง

5.2 วิธีการบันทึกบัญชีสินค้าแบบสิ้นงวด (Periodic)

มีลักษณะดังนี้ จะใช้บัญชีซื้อเป็นบัญชีคุมยอดในการซื้อสินค้า แต่ถ้าเกิดรายการขาย จะไม่บันทึกบัญชีต้นทุนสินค้าขาย ทำให้บัญชีสินค้าที่ยกมาต้นงวด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป กิจการต้องทำการบันทึกปิดบัญชีซื้อ และคำนวณต้นทุนขาย ตามรอบสิ้นรอบระยะเวลารายงาน หรือตามกำหนดของรอบปิดบัญชี

6. รายงานสินค้า

สินค้าคงต้องมีการจัดทำรายงานสินค้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการวัดมูลค่าของสินค้าทั้งทางด้านราคาและทางด้านปริมาณ การจัดทำรายการประกอบเป็นสิ่งสำคัญของการคำนวณหาราคาทุน หรือว่ามูลค่าที่จะแสดงในงบการเงินเลยนะคะ เราไปดูกันว่ารายงานต้องจัดทำอะไรบ้าง

ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ
สรุปรายงานสินค้า

6.1 รายงานสินค้า

รายงานพื้นฐานที่ทุกกิจการต้องมี ช่วยบอกถึง ณ วันสิ้นเดือน กิจการมีสินค้าเหลืออะไรบ้าง และมีมูลค่าเท่าไร
เป็นรายงานที่แสดงถึงทางด้านราคาทุนและทางด้านปริมาณของสินค้า รายงานนี้จะต้องสัมพันธ์กับงบการเงินได้

6.2 รายงานเคลื่อนไหวสินค้า

รายงานเคลื่อนไหวสินค้า เป็นการแสดงรายการสินค้า เข้า และ ออก (Movement)
รายการสินค้าเข้า ส่วนใหญ่เป็ยรายการซื้อ และรับโอน จะบอกได้ว่า เป็นเอกสารอะไรของรายการสินค้าเข้ารายการนี้ เช่นเดียวกันกับรายการออก ก็จะเป็นการขายหรือโอนออก จะสามารดูเอกสารได้เช่นในรายงานนี้ค่ะ

6.3 รายงานตรวจนับสินค้า

รายงานสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกกับสินค้าที่นับได้จริงต่างกันมากน้อยเพียงใด รายงานนี้กว่าจะได้มาไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะต้องนำรายงานสินค้าคงมาตรวจเช็คกับสินค้าที่มีอยู่จริง การตรวจนับสินค้าที่มีอยู่จริงนี่แหละค่ะ ที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการที่จะนับสินค้าได้แต่ครั้งก็ไม่ง่ายเลย เพื่อนๆต้องทำการวางแผนล่วงหน้าและประชุมกับทีมงานแผนกอื่น เพื่อการจัดทำรายงานนี้ค่ะ

7. งบการเงินที่เกี่ยวข้อง

สินค้าคงเหลือนี้จะแสดงอยู่ตรงไหนในงบการเงินบ้าง งบการเงินก็มีหลายส่วนประกอบนะคะ สินค้าอยู่ในหมวดของสินทรัพย์ ซึ่งแน่นอนก็ต้องอยู่ในงบแสดงฐานะการเงิน แต่ถ้าหากเราดูแต่งบแสดงฐานะการเงิน ก็อาจจะไม่ละเอียดพอ และยังมีบัญชีอื่นๆที่ต้องดูควบคุมในการวิเคราะห์ด้วย ไปดูตัวอย่างกันค่ะ

7.1. งบแสดงฐานะการเงิน

บัญชีสินค้า แค่เราได้ยินชื่อ เราก็เปิดงบแสดงฐานะการเงินเป็นอันดับแรก แต่จะอยู่ส่วนไหนของงบแสดงฐานะการเงินล่ะ ด้วยลักษณะของสินค้า เป็นบัญชีสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย อยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า สินค้าจะถูกนำขายออกได้ภายใน 1 ปี เพราะฉะนั้นจึงถูกจัดอยู่ที่สินทรัพย์หมุนเวียน ตามกรอบสีแดงในภาพประกอบค่ะ

ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ
งบแสดงฐานะการเงิน

7.2 งบกำไรขาดทุน

บัญชีสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย ก็ต้องเกิดการขายเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดการขายแล้ว บัญชีที่นักบัญชีอย่างเราลืมไม่ได้เลยก็คือ ต้นทุนขาย

อธิบายง่ายๆ คือ จากที่สินค้าอยู่บัญชีฝั่งสินทรัพย์เมื่อขายได้ต้องมีส่วนทุนที่เปลี่ยนเป็นบัญชีฝั่งต้นทุนขาย อยู่ในหมวดของค่าใช้จ่ายในกำไรขาดทุน เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่เกิดขึ้นนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ
งบกำไรขาดทุน

7.3. หมายเหตุประกอบงบการเงิน

ถ้าหากเราดูเพียงแค่บัญชีสินค้าคงเหลือในงบแสดงฐานะการเงิน จะมีเพียงบรรทัดเดียว และเห็นเป็นจำนวนเงินมูลค่าราคารวม ส่วนใหญ่สินค้าคงเหลือส่วนใหญ่เป็นบัญชีที่มีมูลค่าค่อนข้างเป็นสาระสำคัญที่จะเปิดเผยเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพราะฉะนั้นเมื่อดูงบแสดงฐานะการเงินแล้ว ก็ดูหมายเหตุประกอบงบการเงินที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สินค้าคงเหลือที่มีอยู่ เป็นประเภทใดบ้าง เช่น วัตถุดิบ งานระหว่าง หรือสินค้าสำเร็จรูป เป็นต้น

ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ
หมายเหตุประกอบงบการเงิน

สินค้าในประเภทธุรกิจ ผลิต ซื้อมาขายไป มักจะมีบัญชีสินค้า อยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นประเภทธุรกิจผลิตด้วยแล้ว ต้องมีหลายขึ้นตอนในการผลิต ปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องปวดหัวสำหรับผู้บริหาร นักบัญชี ฝ่ายคลังสินค้า ก็คือ สินค้าที่ต้องถุกจัดการอย่างดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่นอกจากจะต้องหมุนเวียนเพื่อก่อให้เกิดรายได้แล้ว จะต้องแสดงรายงานให้ถูกต้องทั้งด้านราคาและปริมาณอีกด้วย และจะมีวิธีจัดการสินค้าอย่างไรบ้างมาดูกันค่ะ

  • จัดเก็บเอกสารและข้อมูล

ข้อมูล หลักฐานหรือเอกสารที่ได้มา ก็ต้องจัดเก็บให้เป็นระเบียบ เพราะว่าไม่ใช่แค่ใช้บันทึกบัญชีครั้งเดียวนะคะ เรายังต้องเผื่อว่า เอกสารใบไหนที่จะโดนสุ่มตรวจสอบอีก เพราะฉะนั้น การจัดเก็บจะต้องสะดวกต่อการค้นหาด้วย โดยดารจัดหมวดหมู่แฟ้ม และเรียงลำดับเลขที่เอกสาร หรือเรียงตามวันที่ ก็จะสะดวกต่อการค้นหาค่ะ

  • จัดทำรายงานสินค้า

กิจการที่มีการทำรายงานต่างๆอยู่เป็นประจำ ก็เพื่อประกอบการตัดสินใจ หาสาเหตุหรือตรวจสอบแนวคิด หรือช่วยในการตัดสินใจ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงาน และการที่จะจัดการสินค้าให้ปัง ก็ต้องจัดทำรายงานแช่นกันค่ะ

รายงานสินค้า ที่ต้องจัดทำก็จะเป็นตามหัวข้อที่ 6. รายงานสินค้าเลยนะคะ ถ้าทำ 3 รายงานนี้ จัดการสินค้าดีแน่นอน

  • ตรวจนับสินค้า

การตรวจนับสินค้า คือสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ในรอบของการปิดงบการเงิน เนื่องจากการตรวจสอบบัญชีประจำปี หากว่าเรามีบัญชีสินค้า ผู้สอบบัญชีอาจจะต้องขอสุ่มตรวจสินค้า ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่นักบัญชีอย่างเราก็ต้องนับก่อน 100% เพื่อจัดทำรายงานสินค้าได้อย่างมั่นใจ ว่าจำนวนสต๊อกแสดงในรายงานได้อย่างถูกต้องแล้ว

  • วางระบบควบคุมภายใน

เครื่องมือในการบริหารงานที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในกิจการ ก็คือ ระบบควบคุมภายใน นั่นเองค่ะ เพราะเป็นตัวกำหนดในการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้อง และให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับหรือกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดของสินค้า ที่เราต้องรู้เรื่องนี้ก็เพราะว่า การรับรู้ การวัดมูลค่า การบันทึกบัญชี การคำนวณหามูลค่า หรือแม้แต่มาตรฐานมีกล่าวถึง 2 ฉบับเราต้องเลือกฉบับไหนดี เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ตอนที่เราปฏิบัติงาน ยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงๆ ยิ่งต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อแสดงตัวเลขในงบการเงินที่ถูกต้องที่สุดนะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

Line: @cpdacademy

สินค้าคงเหลือ

ตัวอย่างบัญชีสินค้าคงเหลือ

ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยมในการส่งต่อความรู้ดีๆ ให้กับนักบัญชีและผู้สอบบัญชีในรูปแบบ e-learning ที่ช่วยให้การเก็บชั่วโมง CPD เป็นเรื่องง่ายๆ ทำได้เองที่บ้าน