วิธี แก้ ปัญหา ไม่มี สมาธิในการเรียน

ถึงแม้หลายโรงเรียนจะทยอยเปิดเทอมแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้เปิดเรียนเต็มรูปแบบ เด็กๆ ยังคงต้องเรียนออนไลน์เหมือนเดิม จนดูเหมือนว่าการเรียนออนไลน์กลายเป็นวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่งของเด็กยุคนี้ไปเสียแล้ว แต่กระนั้น แม้ว่าจะเรียนออนไลน์มาครบปี พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งตัวเด็กๆเอง ยังอาจรู้สึกว่าประสิทธิภาพการเรียนรู้นั้น ไม่ดีเท่ากับเรียนในห้องเรียนจริงๆ ในขณะที่โควิด-19 อาจไม่มีทางหายไป และเราจำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ให้ได้ ลองมาดูกันว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กๆ เรียนออนไลน์ให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง 

เรียนออนไลน์ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของทุกคน?

การระบาดใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้การเรียนออนไลน์ กลายเป็นช่องทางการเรียนรู้หลักของเด็กไทยเกือบทั้งประเทศ แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีความพร้อม และศักยภาพที่จะเรียนออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่ออุปสรรคการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน พบว่า อุปสรรคส่วนใหญ่กว่า 79.1% คือ ความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ นักเรียนส่วนใหญ่เรียนผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทั้งยังใช้ระบบเติมเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้แบบ Real Time นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความกังวลถึงคุณภาพการศึกษา คิดเป็น 56.4% เนื่องจากการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กขาดสมาธิได้ง่าย อาจเหมาะกับบางวิชาที่เป็นเรื่องทฤษฏี แต่อาจไม่เหมาะกับวิชาที่ต้องมีการปฏิบัติ 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า แม้พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเลือกการเรียนออนไลน์เป็นแนวทางการศึกษาให้เด็กๆ ในช่วงนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะพร้อม และเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ลองมาดูกันว่า ภายใต้ข้อจำกัดในชีวิตประจำวันต่างๆ มากมาย พ่อแม่จะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง

1. เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

ด้วยธรรมชาติของครอบครัวไทย ที่มักอาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีพื้นที่ส่วนกลางไว้ใช้เวลาร่วมกัน ทั้งกินข้าว ดูทีวี พูดคุย สังสรรค์ แต่อาจไม่มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับสมาชิกแต่ละคนภายในบ้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่บ้านมีเนื้อที่จำกัด อาจทำให้สมาชิกแต่ละคนไม่มีพื้นที่ส่วนตัวของตนเองนั้น เมื่อเด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ ก็อาจประสบปัญหาเรื่องสิ่งรบกวน ลองจินตนาการเด็กๆ นั่งเรียนออนไลน์ ขณะที่คุณย่าคุณยายเปิดข่าวเที่ยงวันอยู่ข้างๆ หรือ พี่น้อง นั่งเรียนออนไลน์ในห้องเดียวกัน ต่างคนต่างใส่หูฟัง พ่อแม่ก็เดินเข้าเดินออกห้องนั้นเพราะเป็นห้องส่วนรวม 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาธิในการเรียนคงเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เพื่อช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ควรจัดมุมใดมุมหนึ่งในบ้าน สำหรับการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ ควรเป็นบริเวณที่มีความเป็นส่วนตัวพอสมควร ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีคนเดินผ่านไปมา หากพื้นที่จำกัดจริงๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง อาจต้องเลี่ยงทำกิจกรรมที่อาจรบกวนการเรียนรู้ เช่น เปิดทีวี เปิดวิทยุ พูดคุยกันขณะที่เด็กกำลังเรียน ควรปรับกิจวัตรประจำวันของสมาชิกในบ้านให้สอดคล้อง และเอื้อต่อการเรียนออนไลน์ของลูกให้ได้มากที่สุด

2. เข้าใจธรรมชาติโลกออนไลน์ 

ใครที่เล่นอินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียล มีเดีย คงเข้าใจดีว่าในโลกออนไลน์นั้นมีสิ่งล่อตาล่อใจ ที่ทำให้เราเสียสมาธิอย่างง่ายดาย อย่าว่าแต่เด็กๆ ผู้ใหญ่อย่างเราทำงานอยู่ เผลอกดเข้าโซเชียล มีเดีย ก็อาจไถฟีดเพลิน รู้ตัวอีกทีหมดเวลาไปเป็นชั่วโมง เด็กๆ ก็เช่นเดียวกันเมื่อเรียนออนไลน์ ก็อาจมีโอกาสที่จะถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งล่อตาล่อใจในอินเทอร์เน็ต เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรพูดคุยกับเด็กๆ กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน แยกการเรียนออนไลน์ ออกจาก การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง พักผ่อนหย่อนใจ อาจกำหนดเวลาว่า หลังจากเรียนออนไลน์และทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว เด็กจะได้ใช้อินเทอร์เน็ต 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและวิจารณญาณของผู้ปกครอง 

การตกลงและกำหนดขอบเขตเช่นนี้ ทำให้เด็กๆ มีสมาธิเพิ่มขึ้น ไม่ต้องคอยพะวง ลดโอกาสที่เด็กๆ จะแอบเล่นอินเทอร์เน็ตขณะที่กำลังเรียนออนไลน์อยู่ได้บ้างไม่มากก็น้อย

3. อย่าลืมเวลาพัก

การเรียนที่โรงเรียนเด็กๆ มักมีเวลาพัก 15 นาที การเรียนออนไลน์ที่บ้าน ก็จำเป็นต้องพักเช่นกัน และในการ พักแต่ละครั้ง พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรชวนให้เด็กๆ ขยับร่างกาย ลุกออกจากหน้าจอบ้าง ลุกไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ เดินเล่น พักสายตาจากแสงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ร่างกายพร้อมเรียนรู้สำหรับวิชาต่อไป 

4. ช่วยลูกจัดระเบียบชีวิต  

การเรียนอยู่กับบ้านอาจดูเหมือนว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก ตื่นขึ้นมาเปิดคอมพิวเตอร์ ก็เรียนได้เลย แต่จริงๆแล้ว การจัดระเบียบชีวิตให้เป็นกิจลักษณะเหมือนกับว่าไปเรียนที่โรงเรียนจริงๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ได้ดียิ่งขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองอาจช่วยเด็กๆ ได้โดยดูแลเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สายชาร์จต่างๆ สำหรับเด็กๆเอง ควรเตรียมเครื่องเขียน หนังสือต่างๆ ไว้ใกล้ตัว ให้พร้อมหยิบใช้ได้ทันที ไม่ต้องลุกขึ้นไปเดินหาเมื่อต้องการใช้งาน เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็อาจทำให้สมาธิในการเรียนถูกรบกวนได้ 

5. ช่วยเหลือเมื่อลูกขาดสมาธิ

เพราะการเรียนออนไลน์อาจไม่เหมาะกับเด็กทุกคน ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมว่าลูกหลานของเรารับมือการเรียนออนไลน์ได้ดีเพียงใด มีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่มีความสุข เมื่อถึงเวลาเรียนออนไลน์หรือเปล่า? 

เด็กๆ ที่มีสมาธิดีมาตลอด บางวันก็อาจมีปัญหาเรื่องสมาธิในการเรียนได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น นอนไม่พอ เหนื่อยเกินไป มีสิ่งรบกวนภายในบ้าน ฯลฯ ไม่ว่าสาเหตุคืออะไร ควรบอกเด็กแต่เนิ่นๆ ว่าเมื่อใดก็ตามที่พวกเขารู้สึกว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยากลำบาก ควรบอกให้พ่อแม่รู้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะหากปล่อยไว้เรื้อรัง ก็อาจยิ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนในระยะยาว 

คุยกับเด็กๆ ให้พวกเขารู้ว่า ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่ และทุกคนต้องปรับตัวร่วมกัน พ่อแม่ก็จะพยายามปรับตัวไปพร้อมๆ กับลูก หากรู้สึกมีปัญหากับการเรียนออนไลน์ สามารถปรึกษาพ่อแม่ได้เสมอ วิธีนี้ช่วยลดความกังวลให้กับเด็กๆ ที่ต้องเรียนออนไลน์ ทำให้พวกเขามั่นใจว่าพ่อแม่มีความเข้าใจ พร้อมรับฟังปัญหา และให้ความช่วยเหลือ 

ทำยังไงให้มีสมาธิตอนเรียน

1. นั่งตัวตรงบนเก้าอี้หรือนั่งบนพื้น ส่วนอื่น ๆ ปล่อยตามสบาย 2. จิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ สำรวจลมหายใจที่ผ่านไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และสังเกตการเคลื่อนไหวของท้องทุกครั้งที่หายใจ 3. เพ่งจิตไปที่ปลายจมูก มีสมาธิจดจ่อและรับรู้ลมสัมผัสที่ปลายจมูกทั้งเข้าและออก

ทำไมไม่มีสมาธิในการเรียน

คนบางคนมีพื้นฐานสมาธิดีแต่กำเนิด แต่กระนั้นสมาธิของคนเราก็อาจไม่คงที่ ในบางช่วงเวลา เราอาจไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะเราหมกมุ่นกับเรื่องอื่นๆ เช่น คิดถึงเกมที่เล่นค้างอยู่ หรือ ใจลอยคิดถึงแฟน จนกระทั่งลืมจดจ่อกับงานตรงหน้า หรือ เราชอบทำหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน เช่น ขณะที่ฟังครูสอน ก็อยากอ่านการ์ตูน หรือ อยากวาดรูปไปด้วย ...

ผู้ที่ไม่มีสมาธิในการเรียนจะเกิดผลอย่างไร

หากไม่มีสมาธิ เด็กก็เรียนรู้ได้ไม่ดี อย่างเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นก็นับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาการเรียนรู้ การมีสมาธิที่ตั้งมั่น มีจิตใจที่จดจ่อ นับเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ รวมทั้งนำไปสู่การอดทน มุ่งมั่น พยายามทำสิ่งต่างๆ จนสำเร็จ ไม่เสร็จ ไม่เลิกรา ...

ทํายังไงให้หายสมาธิสั้น

วิธีแก้เด็กสมาธิสั้นมีวิธีไหนบ้าง?.
1. การใช้ยาแก้สมาธิสั้น.
2. การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ.
3. การเล่นและการออกกำลังกาย.
4. การใช้ธรรมชาติบำบัด.
5. การนอนหลับที่มีคุณภาพ.
6. การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้สมาธิสั้น.