จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

      เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

     เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

     ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้

     ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว

     อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

    ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ

     กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

     ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น

     การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด

" … ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน
มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน
ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความความพออยู่พอกิน มีความสงบ
เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้
เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ …
ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและมีอิทธิพล
มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน
ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร
พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้
ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล "

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 2542

“เศรษฐกิจพอเพียง” ทางเลือก ทางรอด “สังคมไทย”

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง

สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ ก็อยู่ที่เสาเข็ม

แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

ข้างต้นนี้ คือ “พระราชดำรัส” ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็น “แนวพระราชดำริ” ของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 9

ที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทย นับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนา ที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท

คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง

ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ “สังคมไทย” ได้มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนา ที่เน้นการ “ขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ของประเทศเป็นหลัก

แนวทางที่ว่านี้ แน่นอนว่า มี “ด้านดี” แต่ในทางกลับกัน ก็มี “ด้านลบ” เช่นกัน

และนี่ก็เป็นที่มาของ “แนวพระราชดำริ” อันว่าด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นการกลับไปสร้าง “ความเข้มแข็ง” ให้กับ “รากฐาน - ชุมชน” โดยเน้นการ “มีพอกินพอใช้” ของประชาชนส่วนใหญ่

เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้

นั่นเป็นช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ก่อนที่ทั้ง “สังคมไทย” และ “สังคมโลก” จะต้อง “เผชิญหน้า” กับ “สภาวะหยุดนิ่ง” ทั้ง “โครงสร้าง” โดยปรากฏการณ์ของ “โควิด-19ในห้วงเวลาปัจจุบัน

และ ณ เวลานี้ ทุกประเทศทั่วโลก ต้องกลับมา “เริ่มต้น” ครั้งใหม่อีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

นี่เป็นอีกครั้ง ที่แนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ตาม “แนวพระราชดำริ” จะเป็น “ธงคำตอบ” สำคัญ ในการนำพา “สังคมไทย” ให้ผ่านพ้น และสามารถก้าวต่อไป ใน “สังคมโลก” ได้อย่างยั่งยืน

ภายใต้ “นิยามความหมาย” ของแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง”

หนึ่งคือ “ความพอประมาณ” ไม่น้อยไป ไม่มากไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

หนึ่งคือ “ความมีเหตุผล” โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

หนึ่งคือ “ภูมิคุ้มกัน” การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

โดยมี “เงื่อนไข” ของ “ความรู้” และ “คุณธรรม” ในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

นี่คือ “เสาเข็ม” ของ “สังคมไทย” ที่จะช่วยให้เรารอดไปได้อีกครั้งอย่างยั่งยืน...

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยพอเพียง

สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ

//.......................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//.......................