การขับร้องเพลงไทยเดิม มีกี่ประเภท

หลักการขับร้องเพลง
     การขับร้องเป็นการสร้างสรรค์ทางดนตรีวิธีหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีเปล่งเสียงออกมาให้เป็นเพลงต่าง ๆ โดยอาศัยองค์ประกอบทางดนตรี เพื่อทำให้เพลงที่ร้องมีความไพเราะขึ้น
     1.  ประเภทของการขับร้อง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
          1.  การขับร้องอิสระ คือ การขับร้องทั่วไป โดยไม่มีดนตรีประกอบผู้ขับร้องสามารถขับร้องตามที่ตนเองถนัดหรือต้องการ โดยไม่คำนึงถึงระดับเสียงของเครื่องดนตรี
          2.  การขับร้องประกอบดนตรี คือ การขับร้องให้เข้ากับการบรรเลงเครื่องดนตรี โดยคำนึงถึงทำนอง จังหวะ และรูปแบบของเพลง
          3.  การขับร้องประกอบการแสดง คือ การขับร้องเพื่อบรรยายเนื้อเรื่องหรือเนื้อเพลงประกอบการแสดงต่าง ๆ
          4.  การขับร้องหมู่ คือ การขับร้องพร้อมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การขับร้องทำนองเดียวกันและการร้องประสานเสียง
     2.  การขับร้องเพลงไทย การขับร้องเพลงไทย ควรเริ่มจากท่าทางการร้อง เนื่องจากเพลงไทยมีลักษณะเฉพาะ ผู้ขับร้องจะนั่งร้องเป็นส่วนใหญ่และมียืนร้องบ้างตามโอกาส ซึ่งผู้ขับร้องควรจะแสดงท่าทางให้เหมาะสม ดังนี้
          1.  ท่านั่ง ผู้ขับร้องส่วนใหญ่จะนั่งราบกับพื้นเวทีเช่นเดียวกับนักดนตรีซึ่งจะต้องนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย สำรวมกิริยา นั่งตัวตรงไม่กระดุกกระดิก หรือเคลื่อนไหวมากเกินไป ขณะร้องให้หันหน้าไปทางผู้ชมเสมอ
          2.  ท่ายืน ในบางโอกาสผู้ขับร้องอาจจะได้ยืนร้อง ซึ่งผู้ขับร้องควรยืนร้อง ซึ่งผู้ขับร้องควรยืนอย่างสำรวมกิริยาท่าทาง และระวังการเคลื่อนไหวมือ เท้า และลำตัว
          การขับร้องเพลงไทย มีหลักการปฏิบัติ ดังนี้
          1.   ร้องให้มีระดับเสียงสอดคล้องกับเสียงดนตรี
          2.  หายใจเข้า-ออก ให้สอดคล้องกับช่วงจังหวะ ทำนอง และเนื้อเพลง
          3.  ออกเสียงพยัญชนนะ สระ คำควบกล้ำ ตามอักขรวิธี
          4.  ร้องให้ถูกต้องตามวรรคตอนของเนื้อเพลง เพราะหากร้องไม่ถูกวรรคตอน อาจทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนได้
          5.  เนื่องจากเพลงไทยมีการเอื้อน ให้ระมัดระวังในเรื่องการออกเสียงควรเอื้อนให้มีน้ำเสียงสม่ำเสมอตามจังหวะและทำนองเพลง

การขับร้องเพลงไทยเดิม มีกี่ประเภท

 

การขับร้องเพลงไทยเดิม มีกี่ประเภท
เทคนิคการขับร้องเพลงไทย

การขับร้องเพลงไทย เป็นศิลปะที่มีความประณีตมากแขนงหนึ่ง มีเทคนิคต่าง ๆ มากมายที่ผู้ร้องจะต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เสียงเพลงที่ออกมามีความไพเราะ น่าฟัง และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ได้ถูกต้องตามบทเพลง อันจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับเสียงเพลงนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงเทคนิคบางอย่างที่ใช้กันมากในการขับร้อง ดังนี้

            1.   เอื้อน หมายถึง การออกเสียงเป็นทำนองโดยไม่มีเนื้อร้อง เสียงเอื้อนเป็นเสียงที่ผ่านออกมาจากลำคอโดยตรง มีอยู่มากมายหลายเสียง และมีที่ใช้ต่างกัน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงบางเสียงที่ใช้กันมาก ได้แก่

                   1)   เสียงเออ เป็นเสียงสำคัญมาก มีหน้าที่เป็นเสียงนำ วิธีทำเสียง “เออ” เผยอริมฝีปาก
เล็กน้อย แล้วเปล่งเสียงออกจากคอให้ดังพอสมควร บังคับเสียงให้มีน้ำหนักที่คอแรงหน่อยโดยไม่ต้องขยับคาง

2)   เสียงเอย มีที่ใช้ในตอนสุดวรรคหรือหมดเอื้อน หรือหมดวรรคของเอื้อน จะขึ้นบทร้องวิธีทำเสียง “เอย” มีวิธีทำเช่นเดียวกับเสียง “เออ” แต่เมื่อจะให้เป็นเสียง “เอย” ก็ให้เน้นที่มุมปาก ออกเสียงท้ายให้เป็นเช่นเดียวกับตัวสะกดแม่เกยในภาษาไทยโดยให้ปลายลิ้นแตะฟันล่าง

                  3)   เสียงเอ๋ย เสียง “เอ๋ย” นี้ใช้ในการขับร้องที่มีลักษณะของบทร้องเป็นบทชมหรือบทเกี้ยว หรือบทเพลงที่แต่งเป็นสร้อย เช่น ดอกเอ๋ย อกเอ๋ย น้องเอ๋ย ฯลฯ วิธีทำเสียง “เอ๋ย” เหมือนกับการทำเสียง “เอย” แต่ผันเสียงให้สูงขึ้นโดยไม่หุบปาก เปลี่ยนน้ำเสียงในช่วงหางเสียงให้ไปทางนาสิกอย่างช้า ๆพร้อมกับทำเสียง “หือ” ต่อท้าย

4)   เสียงหือ เสียง “หือ” จะใช้เฉพาะขับร้องในทางเสียงสูง มักจะใช้ในตอนสุดท้ายของวรรค หรือตอนของทำนองเพลง หรือตามความต้องการของผู้ขับร้องที่จะใช้หางเสียงเพื่อให้เกิดความไพเราะตามความเหมาะสม วิธีทำเสียง “หือ” ให้เผยอริมฝีปากเล็กน้อย แล้วเปล่งเสียงออกมาจากคอเบา ๆ พร้อมกับผันเสียงขึ้นในทางสูงเรื่อยไป ให้เสียงออกมาทางจมูกอย่างช้า ๆ จนสุดหางเสียง

      5)   เสียงอือ ใช้ในระหว่างรอจังหวะ หรือสุดวรรคหรือลงสุดท้ายของเพลง วิธีทำเสียง “อือ” เผยอริมฝีปากออกเล็กน้อย เปล่งเสียงออกจากลำคอแรงมาก ๆ โดยไม่ต้องขยับคาง ยกโคนลิ้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้เสียงออกมาทั้งทางจมูกและทางปาก

            2.   ครั่น เป็นวิธีทำให้เสียงสะดุดสะเทือนเพื่อความเหมาะสมกับทำนองเพลงบางตอน วิธีทำเสียง “ครั่น” เปล่งเสียงออกจากลำคอให้แรงมาก ๆ จนเสียงที่คอเกิดความสะเทือนเป็นระยะ ๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้ขับร้องที่เห็นว่าไพเราะ น่าฟัง

            3. โปรย เสียง “โปรย” ใช้ได้ทั้งการขับร้องและการดนตรี คือ เมื่อร้องจวนจะจบท่อนก็โปรยเสียงให้ดนตรีสวมรับและเมื่อดนตรีรับจนจะจบท่อนก็จะโปรยให้ร้องรับช่วงไป คำว่า “โปรย” นี้คล้ายกับศัพท์ทางดนตรีว่า “ทอด” นั่นเอง เป็นการผ่อนจังหวะให้ช้าลงเมื่อจะจบเพลง หรือเมื่อจะให้ผู้ขับร้องร้อง

            4.   ปริบ เสียง “ปริบ” วิธีทำเหมือนเสียง “ครั่น” แต่เบากว่า

            5.   เสียงกรอก เสียง “กรอก” เป็นลักษณะที่เกิดจากการทำเสียงที่คอให้คล่องกลับไปกลับมา เพื่อความเหมาะสมกับทำนองเพลงบางตอน วิธีทำเสียง “กรอก” เผยอริมฝีปากเล็กน้อย เปล่งเสียงจากคอให้แรงพอสมควรสลับกับเสียงทางจมูก ทำเสียงให้กลับไปกลับมาระหว่างคอกับจมูก 2–3 ครั้ง หรือมากกว่าตามความเหมาะสม

            6.   เสียงกลืน ใช้ในการร้องลงต่ำ คือ เมื่อต้องการให้เสียงต่ำก็กลืนเสียงลงในลำคอ วิธีทำเสียง “กลืน” เผยอริมฝีปากเล็กน้อย เปล่งเสียงออกจากลำคอให้แรงพอสมควร ขยับคอเล็กน้อย เพื่อให้กลืนเสียงลงไปในลำคอได้สะดวก จะกลืนเสียงมากน้อยขึ้นอยู่กับผู้ขับร้องจะเห็นสมควร

            7.   หลบเสียง หลบเสียง หมายถึง การร้องที่ดำเนินทำนองเปลี่ยนจากเสียงสูงลงมาเป็นเสียงต่ำ หรือจากเสียงต่ำเป็นเสียงสูงในทันทีทันใดการร้องเพลงตอนใดที่เสียงไม่สามารถจะร้องให้สูงขึ้นไปได้อีกแล้ว ก็ให้หลบเสียงเป็นเสียงต่ำ (เสียงคู่แปด) โดยการผ่อนเสียงเดิมให้ค่อย ๆ เบาลงมาหาเสียงต่ำ หรือถ้าตอนใดเสียงร้องนั้นจะต้องลงต่ำต่อไปอีก แต่เสียงร้องไม่สามารถจะต่ำลงไปได้อีก ก็ร้องหักเสียงให้สูงขึ้นด้วยวีธีการเช่นเดียวกัน

เนื่องจากการขับร้องเพลงไทยมีเทคนิคในการขับร้องที่สูงมาก ดังนั้นเทคนิคต่าง ๆ ในการร้องเพื่อตบแต่งทำนองให้ไพเราะ น่าฟัง ดังกล่าวแล้วนี้ อาจแตกต่างกันไปบ้างตามสติปัญญา ความสามารถที่เห็นว่าไพเราะของแต่ละบุคคลซึ่งลักษณะอย่างนี้เป็นการแสดงออกถึงความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ของนักร้องเพลงไทยที่สามารถประดิษฐ์ทำนองหรือทางในการร้องได้ โดยยึดแกนร่วมเดียวกัน
ในส่วนของเพลงพื้นบ้านนั้น เทคนิคต่าง ๆ ในการร้องก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าการร้องกลอนเพลงพื้นบ้าน จะมีการร้องเอื้อน หรือร้องคำซ้ำ ๆ เพื่อช่วยยืดเวลาให้คิดกลอนได้ทัน สำหรับการร้องประกอบวงดนตรี การเอื้อนหรือเทคนิคต่าง ๆ ดังกล่าวจะเป็นแบบแผนมากขึ้น