การจัดการขยะมูลฝอยมีกี่ประเภท

1. ลำดับขั้นของการจัดการขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การจัดการขยะมูลฝอยมีกี่ประเภท

ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

     ด้วยนโยบายส่งเสริมการการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของรัฐบาล ทำให้มีผู้สนใจโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน  อาทิเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เป็นต้น โดยหลักการแล้ววัตถุประสงค์หลักของการจัดการขยะมูลฝอย    ไม่ใช้นำขยะไปผลิตพลังงานแต่เป็นการกำจัดขยะให้หมดไป หรือเหลือไปฝังกลบให้น้อยที่สุด โดยไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในการจัดการขยะควรพิจารณาแบบบูรณการหมายถึงการจัดการมูลฝอยที่เลือกเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างเหมาะสมตามคุณลักษณะและปริมาณของขยะมูลฝอยและเป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมทั้งยังคงหลักการเกี่ยวกับการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางพิจารณาที่สำคัญ โดยไม่ได้มุ่งแต่ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือด้านเทคนิค ด้านใด ด้านหนึ่ง การจัดการจะเริ่มตั้งแต่การทิ้งขยะมูลฝอย การเก็บขนไปจนถึงการทำลายหรือกำจัดมูลฝอยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพิจารณาการนำวัสดุในขยะมาใช้ใหม่เป็นแนวทางการจัดการสำคัญ

     ในสหภาพยุโรป นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย คือ การเป็นสังคมที่เน้นฐานการรีไซเคิลเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ การรีไซเคิลวัสดุให้ได้มากที่สุด  เพื่อไม่ให้มีของเสียเหลือทิ้งอีกต่อไป จากนโยบายดังกล่าว หลายประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอย โดยยึดหลักการของผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ที่ทิ้งจะต้องได้รับบริการจากหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และจะต้องจ่ายค่ากำจัดในอัตราที่เหมาะสม และกำหนดให้ขยะมูลฝอยจะต้องผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการรีไซเคิลหรือการคืนรูปก่อนนำไปฝังกลบ ในประเทศเยอรมันกำหนดให้แต่ละครัวเรือนจะต้องแยกขยะออกเป็น แก้ว กระดาษ เสื้อผ้าเก่า ขยะอินทรีย์ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ขยะอิเล็กโทรนิคและเครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี โลหะ ขยะที่มีขนาดใหญ่และของเสียอันตราย และแยกเก็บขนเพื่อนำไปรีไซเคิลโดยผู้ผลิตสินค้า หรือบริษัทเอกชน ขยะที่คัดแยกต้นทางและแยกเก็บขนมาเข้าสู่โรงคัดแยกเพิ่มเติมเพื่อให้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นสำหรับการนำไปจำหน่าย ส่วนขยะอินทรีย์จะถูกใช้สำหรับเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน ด้วยกระบวนการหมักทำปุ๋ยและการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ 

     ในประเทศเยอรมันมีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการกำจัดขยะว่า ขยะมูลฝอยจากชุมชนและอุตสาหกรรมจะต้องผ่านการบำบัดในแนวทางที่สามารถป้องกันกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำไปฝังกลบ ด้วยข้อกำหนดนี้ขยะจะต้องถูกบำบัดขั้นต้น ขยะส่วนใหญ่ที่เผาไหม้ได้จะถูกกำจัดด้วยกระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และส่วนขยะอินทรีย์ที่เหลือจะถูกบำบัดด้วยกระบวนการเครื่องจักรกลร่วมกับกระบวนการชีวภาพ (MBT) ดังนั้นเมื่อนำสิ่งที่เหลือจากการบำบัดขั้นต้นดังกล่าวไปฝักลบ จะไม่เกิดก๊าซชีวภาพที่หลุมฝังกลบ ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก ด้วยนโยบายดังที่กล่าวมาแล้วและการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัยของรัฐบาล ทำให้เกิดเทคโนโลยีการกำจัดขยะแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

     ดังนั้นการจัดขยะมูลฝอยชุมชนควรพิจารณาดำเนินการตามลำดับขั้นของการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลำดับแรกเริ่มจากการหาทางลดปริมาณขยะและการใช้ซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดขยะ จากนั้นพิจารณานำวัสดุในขยะที่ทิ้งจากชุมชนมารีไซเคิล หรือหมักทำปุ๋ย ในส่วนของขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลควรนำไปเข้ากระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ขยะที่ไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีการดังกล่าวได้และขยะที่เหลือจากกระบวนการต่างๆนำไปฝังกลบ กระบวนการเหล่านี้นอกจากจะเป็นวิธีการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดพื้นที่ฝังกลบและลดปริมาณมลพิษด้วย ลำดับขั้นของการจัดการขยะชุมชนมีดังต่อไปนี้

ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

     1)  การลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดและการใช้ซ้ำ (Source reduction & Reuse) เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ไม่เกิดขยะมูลฝอย เช่น กำหนดให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์หรือบางส่วนของผลิตภัณฑ์กลับไปใช้ใหม่หรือเข้าไปรีไซเคิลในโรงงานได้ ควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์โดยให้ผู้จำหน่ายสินค้ารับคืนบรรจุภัณฑ์แล้วส่งกลับไปยังโรงงานผู้ผลิตเพื่อนำไปใช้ใหม่ การออกแบบสินค้าที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

     2)  การรีไซเคิล/การหมักทำปุ๋ย (Recycling/Composting) การรีไซเคิลวัสดุบางประเภทเพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าใหม่ การรีไซเคิลยังรวมถึงการนำขยะอินทรีย์และขยะจากสวนมาหมักทำปุ๋ย

     3)  การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-To-Energy) เป็นการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การเผาในเตา (combustion) แก๊สซิฟิเคชัน (gasification) ไพโรไลซิส (pyrolysis) การหมักก๊าซชีวภาพ (anaerobic digestion) และการดึงก๊าซจากการฝังกลบขยะ (landfill gas)

     4)  การฝังกลบมูลฝอย (Landfill) เป็นลำดับขั้นสุดท้ายของการจัดการขยะ

     ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบของการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ โดยกำหนดให้ประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือนออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ (1) ขยะที่เผาได้ เช่น ขยะอินทรีย์ (ต้องเทน้ำทิ้งก่อน) เสื้อผ้าเก่า กระดาษชำระ ผ้าอ้อม ขยะจากสวน เป็นต้น จัดเก็บ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (2) ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เป็นต้น ให้จัดวางในภาชนะแยกประเภท จัดเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (3) ขยะเผาไหม้ไม่ได้ เช่น หนัง ยาง แก้วแตก พลาสติกพีวีซี โฟม เซรามิก เป็นต้น รวมทั้งขยะอันตรายที่ต้องแยกถุง จัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง (4) ขวด PET จัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง และ (5) ขยะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น 

     การนำขยะไปฝังกลบควรเป็นวิธีสุดท้ายสำหรับขยะที่ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีใดๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ดังนั้นในการจัดการขยะมูลฝอยควรเริ่มจากการรณรงค์ให้ความรู้และออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดเป็นขั้นแรก จากนั้นหาวิธีการรีไซเคิลวัสดุในขยะเท่าที่เป็นไปได้ให้ได้มากที่สุด ได้แก่การแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง และแยกประเภทเก็บขน นำขยะผ่านการคัดแยกต้นทางเข้าสู่กระบวนการคัดแยกอีกครั้งเพื่อทำให้ได้วัสดุที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้นตามความต้องการของตลาด จากนั้นส่วนที่เหลือจึงพิจารณานำไปผลิตเป็นพลังงาน แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มีในแต่ละท้องถิ่น ปริมาณขยะมูลฝอย และความเหมาะสมทั้งทางด้านพื้นที่ นโยบาย เศรษฐศาสตร์ เทคนิคและสิ่งแวดล้อม อาจทำให้วิธีการต่างๆ นั้นไม่สามารถดำเนินการได้

2. แนวคิดในการจัดการขยะของประเทศไทย

     ในปัจจุบันยังพบว่าเริ่มมีเทศบาลบางแห่งในประเทศไทยมีการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิดและแยกประเภทเก็บขน   โดยการจัดถังแยกประเภทเพื่อให้ประชาชนแยกประเภทขยะทิ้ง โดยแยกออกเป็นขยะรีไซเคิล ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ และขยะอันตรายก็ตาม แต่การจัดเก็บยังไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และส่วนจัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง  ทำให้ขยะเน่าเสียและมีกลิ่นรุนแรง  จึงทำให้กระบวนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไม่เกิดขึ้น

     มีการรีไซเคิลวัสดุที่มีราคาตั้งแต่ต้นทางโดยเจ้าของบ้าน  และกลางทางโดยกลุ่มคนอาชีพซาเล้งเก็บขยะและพนักงานเก็บขนขยะ  ทำให้ส่วนหนึ่งของวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ถูกเก็บออกไป  ขยะที่เหลือในขั้นสุดท้ายในรถเก็บขนขยะจึงประกอบด้วยขยะอินทรีย์มากกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก

     แต่เดิมการกำจัดขยะในประเทศไทยใช้วิธีการเทกองแล้วกลบหรือเผา ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง ต่อมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับเทศบาลหลายแห่งในการกำจัดขยะมูลฝอยตามเกณฑ์มาตรฐานและตามแนวทางการจัดการมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างหลุมฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล  เมื่อเทศบาลใดมีสถานที่กำจัดขยะแล้ว เทศบาลข้างเคียงที่ไม่มีที่กำจัดจะนำขยะมาร่วมฝังกลบด้วยทำให้ปริมาณขยะที่เข้าฝังกลบสูงกว่าที่ออกแบบไว้ จึงทำให้หลุมฝังกลบเต็มเร็วกว่าที่กำหนด  อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างนั้นให้แต่เพียงหลุมฝังกลบชั้นแรก เมื่อต้องก่อสร้างคันดินเพื่อทำการฝังกลบในชั้นถัดขึ้นไป (หรือต้องฝังกลบในเฟสที่สอง) เทศบาลจะต้องหางบประมาณก่อสร้างเอง และด้วยการจัดเก็บค่ากำจัดขยะสูงสุดเพียง 40 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน จึงทำให้เทศบาลส่วนใหญ่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ และรัฐบาลไม่มีนโยบายให้งบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องสำหรับโครงการที่ได้จัดสรรไปแล้ว  นอกจากนี้ในการดำเนินงานฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล  ผู้ปฏิบัติงานจะต้องบดอัดขยะโดยใช้รถแทรกเตอร์หรือรถบดอัดขยะวิ่งทับขยะที่นำมาฝังกลบไปมาหลายๆ เที่ยวทำให้ปริมาตรขยะลดลง (เพิ่มความหนาแน่น) เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบ  แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเทศบาลหลายแห่งจึงไม่ดำเนินงานฝังกลบอย่างถูกต้อง ทำให้หลุมฝังกลบเต็มอย่างรวดเร็ว

     ต่อมาด้วยนโยบาย 3 R ของรัฐบาลทำให้มีการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะอย่างครบวงจร ได้แก่โรงคัดแยกขยะและหลุมฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล   โดยให้โรงคัดแยกขยะทำการคัดแยกองค์ประกอบที่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบ และคาดว่าจะทำให้หลุมฝังกลบมีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยไม่มีการคัดแยกขยะต้นทางและไม่มีการแยกเก็บขน ด้วยพฤติกรรมการทิ้งขยะรวมและการทิ้งขยะอินทรีย์โดยไม่มีการแยกของเหลวออก แต่กลับใช้ถุงพลาสติกห่อทั้งของเหลวและของแข็งไว้หลายชั้น จึงทำให้ขยะรวมที่เก็บขนมีความชื้นสูงมากกว่าร้อยละ 50 จากคุณลักษณะของขยะชุมชนดังกล่าวจึงทำให้ประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะที่โรงคัดแยกทำได้ยาก เครื่องฉีกถุงไม่สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบ โรงคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพต่ำ นอกจากวัสดุที่คัดแยกได้จะมีจำนวนน้อยแล้ว ยังมีการปนเปื้อนสูง จำหน่ายได้ราคาต่ำ ทำให้ไม่ได้รายรับตามเป้าที่กำหนดไว้ในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ นอกจากนี้กระบวนการคัดแยกบางประเภท เช่น การคัดแยกประเภทวัสดุด้วยลมไม่สามารถคัดแยกพลาสติกที่เปียกชื้นได้ ขยะที่เข้าโรงคัดแยกมีกลิ่นเหม็นรุนแรง (เนื่องจากการจัดเก็บขยะสัปดาห์ละครั้งเป็นส่วนใหญ่) เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน การคัดแยกด้วยคนมีประสิทธิภาพต่ำ  เครื่องจักรและอุปกรณ์ชำรุดเสียหายจากน้ำขยะที่เป็นกรด  เป็นต้น    ทำให้โรงคัดแยกของเทศบาลหลายแห่งต้องปิดตัวลง    เพราะขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมบำรุง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก กระบวนการคัดแยกขยะที่ใช้ในโรงคัดแยกเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับองค์ประกอบขยะที่ผ่านการคัดแยกประเภทขยะทิ้งบางส่วนที่ต้นทางและแยกเก็บขน ซึ่งเป็นการดำเนินการในต่างประเทศ และในขยะจะประกอบด้วยวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จำนวนมากและมีขยะอินทรีย์ปนเปื้อนจำนวนน้อย

     ในยุคที่ราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้น ทำให้เชื้อเพลิงทุกชนิดมีราคาแพง และด้วยนโยบายส่งเสริมการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของรัฐบาล ทำให้เกิดโครงการกำจัดขยะที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะมาเป็นพลังงาน จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโครงการจัดการขยะที่ยังดำเนินงานอยู่และสามารถนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานได้จริงในปัจจุบัน สามารถแบ่งเทคโนโลยีที่ใช้ออกเป็น 4 ประเภทคือ (1) การใช้เตาเผา (2) การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ส่วนที่เหลือนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) (3) กระบวนการบำบัดเชิงกล-ชีวภาพและผลิตเชื้อเพลิง RDF และ (4) การฝังกลบขยะและการวางท่อดึงก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า ( ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความสถานภาพการผลิตพลังงานจากขยะ http://webkc.dede.go.th/)

     แต่ละเทคโนโลยีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน มีงบลงทุนและค่าดำเนินงานที่แตกต่างกัน และมีความเหมาะสมกับปริมาณขยะและขนาดพื้นที่ที่มีอยู่ที่แตกต่างกัน แนวทางในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่พื้นที่จึงต้องพิจารณา (1) ปริมาณขยะที่เก็บขนและรวบรวมได้ต่อวัน (2) สภาพของพื้นที่และขนาดพื้นที่ที่มีอยู่สำหรับการกำจัดขยะ และ (3) ความสามารถในการบริหารจัดการและงบประมาณของท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐ

     โครงการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพดำเนินงานอยู่ที่เทศบาลนครนครราชสีมา ออกไว้สำหรับขยะอินทรีย์ที่แยกเก็บขน 40 ตันต่อวันและคัดแยกขยะอินทรีย์ให้ได้ 40 ตันจากขยะชุมชน 180 ตันต่อวัน ด้วยตะแกรงหมุน ขยะที่ผ่านช่องตะแกรงถูกนำไปคัดแยกขยะอินทรีย์ด้วยน้ำ วัสดุหนัก เช่น กรวดทรายจะตกลงด้านล่าง ส่วนวัสดุเบา เช่น พลาสติกจะลอยอยู่ด้านบน น้ำที่ผสมขยะอินทรีย์จะถูกนำเข้าเครื่องย่อยละเอียดแล้วนำเข้าถังหมักก๊าซชีวภาพแบบ anaerobic digestion และส่วนขยะที่ไม่ผ่านช่องตะแกรงถูกนำไปผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF พบว่า RDF ที่ได้มีค่าความร้อนประมาณ 1,500 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม กากตะกอนจากการหมักก๊าซชีวภาพนำเข้าสู่กระบวนการต่อเนื่องคือไปหมักทำปุ๋ย แม้ว่าจะเป็นวิธีที่สอดคล้องกับการจัดการขยะเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดวิธีหนึ่ง   แต่เนื่องจากพฤติกรรมการทิ้งขยะรวมของคนไทยและการไม่แยกประเภทขยะเก็บขนของเทศบาล จึงทำให้ขั้นตอนการคัดแยกมีความยุ่งยาก ต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมากและมีประสิทธิภาพต่ำ โรงคัดแยกประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีขยะปริมาณไม่มาก เพื่อให้สามารถจัดการโรงคัดแยกได้อย่างเหมาะสม ในความเป็นจริงแล้วโครงการในลักษณะนี้จะเหมาะสมกับเทศบาลที่สามารถรณรงค์ให้ประชาชนแยกประเภทขยะอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทางและแยกเก็บขนมาสู่โรงงาน

โครงการกำจัดขยะเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์อีกเทคโนโลยีหนึ่งคือการนำขยะรวมที่เก็บขนมาผ่านขั้นตอนการย่อยอย่างหยาบเบื้องต้น เพื่อทำให้ถุงพลาสติกแตกออกและย่อยวัสดุขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นนำไปผ่านตะแกรงหมุนเพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่า 3 – 4 ซม. ขยะที่ไม่ผ่านช่องตะแกรง จะมีความชื้นลดลงและมีค่าความร้อนเพิ่มขึ้น สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF สำหรับนำขยะอินทรีย์ที่คัดแยกได้นำเข้าห้องหมักแบบแห้ง สเปรย์น้ำชะขยะจากด้านบนลงบนขยะ ให้น้ำไหลซึมผ่านขยะและรวบรวมไว้ด้านล่าง ทำการหมุนเวียนน้ำชะขยะเป็นเวลา 20 วัน ทำให้น้ำชะขยะที่มีความเข้มข้นสารอินทรีย์สูง นำน้ำชะขยะเข้าสูงถังหมักก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตก๊าซมีเทนต่อไป กากตะกอนหลังจากการหมักนำไปตั้งกองเพื่อหมักทำปุ๋ย จากนั้นร่อนด้วยตะแกรงหมุนจะได้ปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงดินที่มีขนาดเล็ก และพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF โครงการนี้ดำเนินงานอยู่ที่เทศบาลตำบลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และออกแบบไว้ที่ 50 ตันต่อวัน ขั้นตอนดำเนินงานในลักษณะนี้เหมาะสำหรับขยะที่ไม่มีการคัดแยกต้นทางและปริมาณขยะมีไม่มาก

โครงการกำจัดขยะเทศบาลตำบลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

กระบวนการบำบัดเชิงกล-ชีวภาพ ที่เทศบาลนครพิษณุโลก เป็นกระบวนการที่นำขยะรวมมาผ่านการย่อยให้มีขนาดเล็กลง แล้วนำไปตั้งกองให้เกิดกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพเป็นระยะเวลารวม > 5 เดือน จากนั้นนำกองขยะที่ได้มาร่อนแยกองค์ประกอบตามขนาดด้วยตะแกรงหมุน ขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนสูงประมาณ 5,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม กระบวนการกำจัดขยะในลักษณะนี้เหมาะสำหรับปริมาณขยะที่ไม่สูงมาก เพราะต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก

     สำหรับการฝังกลบขยะควรเป็นวิธีสุดท้ายที่จะนำมาพิจารณาใช้กำจัดขยะ วิธีนี้เหมาะสำหรับเทศบาลที่มีที่ดินขนาดใหญ่ สามารถรองรับขยะที่สะสมเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลานาน และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เป็นวิธีที่มีราคาถูกที่สุด แต่การฝังกลบขยะของเทศบาลที่ผ่านมาหลายแห่งเป็นการเทกองลงบนพื้นที่ที่มีการก่อสร้างเป็นหลุมฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ไม่มีการบดอัดขยะและไม่มีการกลบทับทั้งรายวัน หรือกลบทับรายชั้นฝังกลบ รวมถึงไม่มีการสร้างคันดินสำหรับการฝังกลบในชั้นที่สองและสาม ทำให้หลุมฝังกลบเต็มอย่างรวดเร็ว เทศบาลส่วนใหญ่ไม่มีทั้งกำลังคนและงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้างเฟสต่อเนื่องเพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหลักของโครงการก่อสร้างหลุมฝังกลบขยะคือการหาที่ดินสำหรับการฝังกลบที่หาได้ยากในปัจจุบัน เกิดปัญหาการต่อต้านของประชาชน เนื่องจากการจัดการฝังกลบที่ผ่านมาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดสภาพน่ารังเกียจทั้งภายในพื้นที่ฝังกลบเอง และสภาพโดยรอบโครงการที่มีขยะปลิวกระจาย ผลกระทบของการเข้ามาของรถขนขยะจำนวนมาก และมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดการฝังกลบขยะที่ไม่ถูกต้องได้แก่ กลิ่น น้ำชะขยะที่ปนเปื้อนลงสู่น้ำใต้ดิน รวมถึงก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก

     ดังนั้นการเลือกใช้เตาเผาจะเหมาะสำหรับเทศบาลที่รวบรวมเก็บขนขยะได้เป็นจำนวนมาก หรือเป็นศูนย์กำจัดขยะ และเทศบาลมีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการ เนื่องจากค่าลงทุนและค่าดำเนินงานที่สูง และด้วยปริมาณขยะที่มากกว่า 250 ตันต่อวัน จะต้องใช้เตาเผาขนาดมาตรฐานที่มีขนาดใหญ่ และมีระบบกำจัดมลพิษที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม รวมถึงจะต้องจัดจ้างเอกชนมาดำเนินงานแทนพนักงานของเทศบาล หรือให้เอกชนลงทุนและดำเนินงาน แม้ว่าค่าความร้อนของขยะในประเทศไทยมีค่าต่ำ ทำให้การใช้เตาเผาขยะประสบปัญหาต้องใช้เชื้อเพลิงเสริมเพี่อรักษาอุณหภูมิของการเผาให้อยู่ในค่ามาตรฐานก็ตาม จากข้อมูลสำรวจการดำเนินงานพบว่าผู้ประกอบการเตาเผาขยะที่จังหวัดภูเก็ตสามารถเผาขยะได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในบ่อพักที่เหมาะสมเพื่อลดความชื้นก่อนป้อนขยะเข้าเตาเผา

แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ปัญหาหลักของการใช้เตาเผาในการกำจัดขยะในประเทศไทยคือการไม่ยอมรับของประชาชน จากความกังวลว่าโครงการเตาเผาขยะจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรง และเนื่องจากการดำเนินงานเตาเผาขยะที่มีอยู่ 2 แห่งที่ผ่านมา ไม่มีข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่แสดงว่ามลพิษที่เกิดจากเตาเผาขยะมีค่าต่ำอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมลพิษสิ่งแวดล้อมจากโครงการทำได้ยาก นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงเตาเผา จนทำให้เตาเผาทั้งสองแห่งต้องปิดตัวลง เป็นปัญหาที่แสดงถึงความไม่พร้อมสำหรับการใช้เทคโนโลยีเตาเผาในการกำจัดขยะ จึงทำให้โครงการเตาเผาขยะไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งประชาชน นักวิชาการและ NGO 

3. การมีส่วนร่วมและการยอมรับ สาเหตุ ปัญหา แนวคิดจากญี่ปุ่นในการใช้เตาเผาขยะ

เนื่องจากขาดแคลนพื้นที่สำหรับการฝังกลบ และปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นกำจัดขยะร้อยละ 75 ด้วยการใช้เตาเผา ผู้เขียนได้เคยถามผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นที่เคยมาทำงานด้านการจัดการขยะในประเทศไทยด้วยกันว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงยอมรับการใช้เตาเผาในการกำจัดขยะ ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของชุมชน  และปกติโครงการในลักษณะนี้จะได้การต่อต้านจากประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ และได้รับคำตอบว่าในตอนแรกประชาชนในพื้นที่ไม่อนุญาตให้สร้างเช่นเดียวกัน  ในบางพื้นที่เขาต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการเจรจากับทุกบ้านในเขตพื้นที่ตั้งเตาเผ า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานราชการจะต้องตอบคือความมั่นในในการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นและประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรในการตอบแทนอะไรบ้าง เช่น  ในบางพื้นที่มีการก่อสร้างโรงยิม  พร้อมสระว่ายน้ำ ที่สามารถใช้ได้ฟรีตลอดปี  ในบางพื้นที่ต้องการการรักษาพยาบาล เป็นต้น 

ดังนั้นสำหรับประเทศไทยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการประเภทที่จะก่อให้เกิดมลพิษ เช่น การก่อสร้างเตาเผาขยะนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากความเชื่อใจในด้านเทคโนโลยี การกำกับดูแล ควบคุมดูแลของภาครัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการจะได้รับสิ่งใดตอบแทนจากการยินยอมให้มีการนำขยะมาเผาและก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่

การจัดการขยะมูลฝอยมีกี่แบบ

- Reduce การลดปริมาณขยะ โดยลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลือง - Reuse การนำมาใช้ซ้ำ เช่น ขวดแก้ว กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์หน้าหลัง เป็นต้น - Repair การซ่อมแซมแก้ไขสิ่งของต่างๆ ให้สามารถใช้งานต่อได้ - Reject การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ประเภทของขยะมีอะไรบ้าง

ขยะเปียก หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก เปลือกผลไม้ เป็นต้น ขยะแห้ง หมายถึง ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เศษผ้า ไม้ ยาง เป็นต้น ขยะอันตราย ได้แก่ สารเคมี วัตถุมีพิษ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล แหล่งก าเนิดขยะมูลฝอย

ขยะมูลฝอยจัดการอย่างไร

แนวทางการจัดการขยะมูลฝอย.
(ดูวิธีกำจัดขยะ).
- Reduce การลดปริมาณขยะ โดยลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลือง.
- Reuse การนำมาใช้ซ้ำ เช่น ขวดแก้ว กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์หน้าหลัง เป็นต้น.
- Repair การซ่อมแซมแก้ไขสิ่งของต่างๆ ให้สามารถใช้งานต่อได้.
- Reject การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ.