วิธีการศึกษาศาสนามีกี่ประการ

         กล่าวโดยสรุป การศึกษามีหน้าที่สร้างสรรค์ทั้งสองด้านไปพร้อมกัน คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้ถึงความสมบูรณ์และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ส่งเสริมให้ระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งเจริญงอกงามไปในวิถีทางที่เกื้อกูลกันยิ่งขึ้น ๆ การศึกษาที่แท้คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้สมบูรณ์พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยื่น นักการศึกษาที่ยึดมั่นในหลักของพระพุทธศาสนา ก็พยายามพิจารณาตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ใช้หลักศาสนานำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา เราก็เริ่มเห็นปัญหาและสาเหตุแห่งปัญหาอย่างชัดเจนว่า การศึกษาที่ขาดดุลยภาพเป็นสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์ในด้านต่าง ๆ จึงได้หันกลับมาพิจารณากันว่า การจัดการเรียนการสอนในอนาคตมีความจำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นจึงมีความเห็นพ้องกันว่าควรจะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยได้นำเอาหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในด้านการเรียนการสอน ด้วยตั้งความหวังร่วมกันว่า การจัดการเรียนการสอนอันมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เพราะพระพุทธศาสนาเหมาะสมอย่างยิ่งกับสังคมไทย ก็จะก่อให้เกิดดุลยภาพแห่งการศึกษา และการพัฒนาสังคมเพราะพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่แน่นอนเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น ศีล 5 ก็ควบคุมการ ดำรงชีวิตของแต่ละบุคคลและเชื่อมั่นว่าการศึกษาที่สมดุลและการพัฒนาที่สมบูรณ์ เช่นนี้จะเป็นพลวปัจจัยให้เกิดสังคมที่ปกติสุขที่ มนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จะอยู่ร่วมกัน และพึ่งพาอาศัยกันด้วยสันติ บนพื้นฐานแห่งความเมตตาธรรม อันเป็นแกนนำแห่งสัมพันธภาพที่ไร้พรมแดนก็เพราะอาศัยหลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางนำมาซึ่งสุขของสรรพสิ่งทั้งปวง การศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาระบบกัลยาณมิตรระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งในปัจจุบันครูกับศิษย์มีความปฏิสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ห่างกันมาก ครูทำหน้าที่เพียงบรรยาย (สิปปทายก) แล้วก็จบออกไป โอกาสที่ครูและศิษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ทางความรู้ก็ไม่มี ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาสมัยก่อนแบบตะวันออก เช่น การเรียนแพทย์ แพทย์ที่มีชื่อเสียง เช่น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ไปเรียนที่เมืองตักสิลา หลักสูตร 14 ปี ต้องเรียนวิชาการแพทย์ 7 ปี อยู่ปรนนิบัติรับใช้อาจารย์อีก 7 ปี ได้รับการถ่ายทอดความรู้ความประทับใจในจรรยาบรรณต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ รวมทั้งศีลธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาด้วยนี้คือการสอนแบบตะวันออกและเป็นระบบที่ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน ระบบกัลยาณมิตรได้พังทลายแล้ว เพราะแนวคิดและค่านิยมแบบตะวันตก และการศึกษาสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทโดยเน้นปรัชญาการศึกษาตามรูปแบบทางตะวันตกมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคมไทย ทำให้เกิดการทวนกระแสระหว่างปรัชญาการศึกษาตะวันตกและวัฒนธรรมไทย

จากข้อความที่กล่าวมานี้ จะมองเห็นต่อไปอีกว่า งานหลักหรือภารกิจสำคัญของสถาบันสงฆ์ ก็คือการศึกษา ระบบการต่างๆ ที่จัดขึ้นในทางการปกครองก็ดี ทางการเลี้ยงชีพก็ดี ทางชีวิตสังคมก็ดี ล้วนมุ่งให้เป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนระบบการศึกษาอบรมทั้งนั้น กล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นความหมายหรือเป็นตัวแท้ของชีวิตพรหมจรรย์ คำสอนและบทบัญญัติต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา มีสาระสำคัญที่ส่งเสริมการศึกษาอบรม หลักฐานสำหรับยืนยันหรือสนับสนุนความข้อนี้ จะเห็นได้ทั้งในทางธรรม และทางวินัย

ในทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่ปฏิบัติถูกต้องแล้ว เข้าอยู่ในแนวทางถึงขั้นที่ยอมรับได้ ท่านเรียกชื่อว่า เสขะ แปลว่าผู้กำลังศึกษา พระเสขะ เป็นพระอริยบุคคล คือเป็นบุคคลที่เข้าสู่แนวทางที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาแล้ว เสขะ หรือ พระเสขะ ก็คือนักศึกษา เมื่อศึกษาจบแล้วไม่ต้องศึกษาอีก ก็เรียกว่า อเสขะ ซึ่งมีประเภทเดียว ได้แก่ พระอรหันต์เท่านั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการศึกษาและจบลงด้วยการจบการศึกษา กระบวนการทั้งหมด ก็เรียกว่า สิกขา อย่างนี้ จึงกล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา

อีกคำหนึ่งที่ใช้มากคือ ภาวนา แปลว่า การฝึกฝน อบรม การทำให้เกิดให้มีให้เป็น ให้เจริญขึ้น เป็นความหมายหนึ่งของการปฏิบัติหรือกระบวนการปฏิบัติ และอีกคำหนึ่งคือ ทมะ แปลว่าการฝึกฝน โดยมากใช้บรรยายคุณสมบัติของบุคคลว่า คนที่ฝึกฝนตนดีแล้วจะเป็นผู้ประเสริฐสุดในมนุษย์ทั้งหลาย ดังคำบาลีที่กล่าวว่า ทนฺโต เสฏฺโ มนุสฺเสสุ ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแปลอย่างภาษาสมัยใหม่ก็คือ คนที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ก็คือคนที่มีการศึกษา พระพุทธเจ้าได้พระนามว่า อตฺตทนฺโต แปลว่า ผู้ที่ฝึกตนแล้ว(ทมะ)บ้าง ว่า ภาวิตตฺโต แปลว่า ผู้ที่ได้ฝึกอบรมตนแล้ว(ภาวนา)บ้าง รวมแล้วก็เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น คำว่า สิกขา ทมะ และ ภาวนา เป็นคำประเภทไวพจน์ มีความหมายใช้แทนกันได้ทั้งหมด ดังนั้น การที่ได้มาพูดถึงเรื่องการศึกษานี้จึงเป็นการเข้าสู่เรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรง

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในประเทศไทย บางทีเราใช้คำว่า "ศึกษา" สับสน เช่นใช้คำว่า "ศึกษา" คู่กับคำว่า "ปฏิบัติ" กลายเป็นว่า ศึกษาอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นการใช้อย่างภาษาชาวบ้าน แต่บางทีใช้เป็นทางการก็มี ทำให้เกิดการสับสน ศึกษากลายเป็นเรียนหนังสือ และยังไม่ได้ทำ ถ้าทำเรียกว่าปฏิบัติ จึงเรียกกันว่า ศึกษาและปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จะต้องทำความหมายของสิกขา หรือศึกษาให้ชัดขึ้น ที่จริง คำว่าศึกษาเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่เล่าเรียน เล่าเรียนเป็นเบื้องต้นของการศึกษา ถ้าพูดให้เต็มก็คือ เรียนให้รู้เข้าใจ และทำให้ได้ทำให้เป็น หรือเรียนรู้และฝึกทำให้ได้ผล จึงจะเรียกว่าการศึกษา ไม่ใช่เรียนแต่เนื้อหาวิชาอย่างเดียว ดังตัวอย่างความหมายของสิกขาในคัมภีร์มหานิเทศ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"บุคคลย่อมศึกษาอธิศีล คือศึกษาเรื่องความประพฤติดีทางกายวาจาให้สูงขึ้นไปบ้าง ศึกษาในการฝึกอบรมจิตใจให้ดีขึ้นบ้าง ศึกษาในการอบรมปัญญาให้เจริญขึ้นไปบ้าง เมื่อหน่วงจิตคำนึงถึงการศึกษา ๓ อย่างนี้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อเห็นคือเข้าใจก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งจิตกำหนดแน่วแน่ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อน้อมจิตกำหนดไปก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อประคองความเพียรก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อเอาสติกำหนดก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งจิตมั่นก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ทั่วชัดด้วยปัญญาก็เรียกว่าศึกษา เมื่อรู้สิ่งที่พึงรู้จำเพาะก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อกำหนดรู้สิ่งที่ควรกำหนดรู้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อละสิ่งที่พึงละก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อประจักษ์แจ้งสิ่งที่ควรประจักษ์แจ้งก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อฝึกอบรมเจริญสิ่งที่ควรปฏิบัติควรฝึกอบรมก็ชื่อว่าศึกษา"

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า

"ภิกษุเล่าเรียนพระสูตร เล่าเรียนพระวินัย เล่าเรียนพระอภิธรรม ถือปฏิบัติเป็นผู้อยู่ป่าเป็นประจำ ถือปฏิบัติเป็นผู้ฉันอาหารบิณฑบาตเป็นประจำ ถือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เอามาซักเอามาย้อมทำเองเป็นประจำ ถือมีจีวรแค่ ๓ ผืนเป็นประจำ เป็นต้น ก็ชื่อว่าศึกษา"

ตามหลักฐานนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า คำว่าศึกษามีความหมายอย่างไร ฉะนั้น ที่เราเรียกกันว่าปฏิบัติก็คือศึกษา การใช้คำว่าศึกษาเข้าคู่กับคำว่าปฏิบัติ จึงไม่ถูกต้อง คำว่า ปฏิบัตินั้น ที่จริงต้องคู่กับคำว่า ปริยัติ กล่าวคือ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหมวดหนึ่งท่านเรียกว่า สัทธรรม ๓ มี ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติคือเล่าเรียน ปฏิบัติคือลงมือทำ ปฏิเวธคือประจักษ์แจ้งผล สามอย่างนี้ เป็นการครบวงจรของการศึกษา คือต้องมีการเล่าเรียน การปฏิบัติ และการประจักษ์แจ้งผล ส่วนที่เรียกว่าเล่าเรียนคือ ปริยัติ และทำคือปฏิบัติ สองอย่างรวมกันเรียกว่า ศึกษา ฉะนั้น ศึกษาก็คือปริยัติและปฏิบัตินั้นเอง เมื่อรวมกันแล้ว ออกผลก็คือ ปฏิเวธ

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบคำสอนของพระองค์ว่า เหมือนมหาสมุทร ซึ่งมีคุณสมบัติ ๘ ประการ ใน ๘ ประการนี้ มีข้อหนึ่งกล่าวว่า มหาสมุทรนั้นค่อยๆ ลาดลึกลงไปตามลำดับ เหมือนกับพระธรรมวินัยนี้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติลุ่มลึกลงไปตามลำดับ เรียกว่า อนุปุพฺพสิกขา แปลว่าศึกษาไปตามลำดับ เช่นเป็นศีล สมาธิ ปัญญา คำไวพจน์ของอนุปุพฺพสิกขาก็คือ คำว่า อนุปุพฺพกิริยา แปลว่า การกระทำไปตามลำดับ และอนุปุพฺพปฏิปทา แปลว่า การปฏิบัติไปตามลำดับ ดังนั้นคำว่า สิกขา (ศึกษา) กิริยา (กระทำ) ปฏิปทา (ปฏิบัติ) จึงเป็นคำที่ใช้แทนกันได้โดยส่วนมาก และผลที่ได้จากสิกขา กิริยา หรือปฏิปทานั้น ก็คือ ปฏิเวธ ได้แก่การประจักษ์แจ้งผลดังที่กล่าวแล้ว โดยนัยนี้ ความหมายของการศึกษาจึงคลุมไปหมด คือทั้งเรียนให้รู้เข้าใจ คิดได้ ทำเป็น หรือ คิดเป็น ทำเป็น ก็รวมอยู่ในความหมายของการศึกษาทั้งหมด

ข้อที่พึงสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาเป็นเรื่องในชีวิตจริง หรือ สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่น เมื่อคนจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเขาประสบปัญหา ก็มีครูหรือกัลยาณมิตร ซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ก็ได้ มาแนะนำชี้แจง นี้เรียกว่า เป็นส่วนแรกของการศึกษา คือ ปริยัติเกิดขึ้น และในขณะที่เขาได้รับการแนะนำชี้แจงนั้น ก็มีปัญหาที่เขาประสบรออยู่เฉพาะหน้า ซึ่งเขาจะต้องแก้ ต้องลงมือทำ เมื่อลงมือแก้ ลงมือทำ เห็นผลปฏิบัติขึ้นมา ก็เป็นปฏิเวธ กระบวนการศึกษาจึงเกิดขึ้น แต่การศึกษาจะไม่เต็มกระบวน ถ้าอยู่ในวงจำกัดอย่างที่เราทำมา คือมาเรียนในห้อง เรียนแต่เนื้อหา ซึ่งลอยตัวอยู่ไม่สัมพันธ์กับการปฏิบัติ จึงไม่ครบกระบวนการ การศึกษาที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อประสบปัญหา หรือสถานการณ์ที่จะต้องลงมือทำ แล้วได้เรียนรู้และนำมา ปฏิบัติแก้ไขปัญหา แล้วประจักษ์แจ้งผลขึ้นมา

เรื่องความหมายของการศึกษา เป็นปัญหามาเรื่อย ดังที่ปรากฏว่า ตั้งแต่สมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว คนก็เข้าใจการศึกษาในความหมายแคบๆ ว่าเล่าเรียนหนังสือ และการพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็ได้มีมานานแล้วเช่นกัน เช่น ในหนังสือลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๕๐ ได้พบว่า มีรายงานของพระเถระผู้ใหญ่ที่ไปจัดการศึกษาในต่างจังหวัด แล้วกราบทูลมาว่า ชาวบ้านไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าจะเรียนหนังสือไปทำไม พระองค์จึงมีลายพระหัตถ์ชี้แจงไป ความตอนหนึ่งว่า

"การเรียนหนังสือนั้นไม่ใช่ตัวศึกษา เป็นแต่เอกเทศของศึกษา การฝึกหัดให้มีความคิด สามารถประกอบกิจนั้นๆ ได้ นั่นแลเป็นตัวศึกษาโดยตรง. . . ถึงลูกชาวบ้านที่สำเหนียกในการทำกินตามตระกูล ก็ได้ชื่อว่าศึกษาเหมือนกัน"

นี่แสดงว่าปัญหาไม่ใช่เกิดเฉพาะบัดนี้ เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วก็มีเหมือนกัน และก็ต้องชี้แจงกันมาอย่างนี้ อีกแห่งหนึ่ง พระองค์มีพระดำริในการจัดการศึกษาว่า

"คำว่าศึกษา หมายความกว้างไม่เฉพาะแต่เรื่องหนังสือ เรียนให้รู้จักอะไรๆ เช่นรู้จักผิด รู้จักชอบ หัดทำอะไรๆ เป็น เช่นปรุงเครื่องเรือนเป็น จัดว่าศึกษาทั้งนั้น" เป็นอันว่า เราจะต้องทำความเข้าใจความหมายของการศึกษาให้ถูกต้อง