คํา นํา หน้า พระนาม ของพระ มหา กษัตริย์ สุโขทัย มีความ เปลี่ยนแปลง อย่างไร ตาม ลํา ดับ

คำว่า “พ่อขุน” มีใช้อยู่ในจารึกสุโขทัยเพียงสองหลักเท่านั้น คือ หลักที่ 1 และหลักที่ 2 และไม่ปรากฏที่ใช้ในเอกสารเก่าของไทยอีกเลย

“พ่อขุน” มีคำแปลของนักปราชญ์ เป็นสองนัยยะ

1) เป็นชื่อตำแหน่งของอธิราชซึ่งปกครองเมืองหลวง (สุโขทัยศรีสัชนาลัย) ในสมัยต้นราชวงศ์พระร่วง ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบการปกครองแบบพ่อเป็นใหญ่ในครัวเรือน

คําว่า “พ่อ” ในที่นี้จึงมีความหมายที่สัมพันธ์กับคำว่า “พ่อ” ที่เป็นผัวของแม่

บางทีก็บัญญัติศัพท์เรียกการปกครองอย่างนี้ว่า ปิตาธิปไตย แม้ว่ามีทั้งศัพท์และรากศัพท์ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้อธิบายระบบปกครองดังกล่าวให้กระจ่างอะไรขึ้นมาสักหน่อย

อาจเป็นได้ว่า ระบบการปกครองของสุโขทัยในต้นราชวงศ์พระร่วงได้พัฒนามาจากการปกครองในครัวเรือน แต่ข้อความในจารึกหลักที่ 1 ซึ่งมีคำว่า “พ่อขุน” นั้น ปรากฏขึ้นหลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้ว คือเริ่มต้นว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง…”

เชื่อกันอย่างมีเหตุผลว่า ข้อความนับจากนี้ไปน่าจะจารึกขึ้นหลังรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง และก็เชื่อกันอย่างมีเหตุผลด้วยว่า น่าจะจารึกขึ้นในรัชกาลพระเจ้าลิไท

ถ้าอย่างนั้นต้องไปดูว่าคำที่มีความหมายว่า กษัตริย์เอกราชในสมัยพระเจ้าลิไท จารึกเรียกว่าอะไร?

น่าประหลาดว่า ไม่มีจารึกสมัยลิไทเรียกกษัตริย์เอกราชหรืออธิราชว่า “พ่อขุน” อีกเลย แม้ในจารึกหลักที่ 1 นี้เอง เมื่อกล่าวว่า ราษฎรที่มีเรื่องเดือดร้อน “มันจักกล่าว เถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้” เพราะสามารถไปสั่นกระดิ่งที่พระเจ้ารามคำแหงแขวนไว้ที่ปากประตูได้

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการนับถือพระขพุงว่า “ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้” บำบวงบูชาไม่ถูกก็ไม่เจริญแก่บ้านเมือง ในอีกที่หนึ่งก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า “พ่อขุนพระรามคำแหงลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” คือพระเจ้ารามคำแหงเป็นขุนในสุโขทัยไม่ใช่เป็นพ่อขุนในสุโขทัย

ในจารึกหลักที่ 3 พระเจ้าลิไทได้ทรงเล่าว่า เมื่อใครก็ไม่ทราบ “เป็นเจ้าเป็นขุนอยู่ บ้านเมืองขาด…” เมืองต่าง ๆ พากันแยกตัวออกเป็นกษัตริย์เอกราชคือ “หาเป็นขุนหนึ่ง”

สรุปได้ว่าจากหลักฐานร่วมสมัยกับจารึกหลักที่ 1 ตอนที่ใช้คำว่า “พ่อขุน” นั้น ชื่อตำแหน่งของกษัตริย์เอกราช และ/หรืออธิราชนั้น ล้วนเรียกว่า “ขุน” ไม่ใช่ “พ่อขุน”

2) สืบเนื่องจากนัยยะของความหมายข้างต้น จึงแปลคำว่า “พ่อขุน” อีกนัยยะหนึ่งให้กว้างขึ้นว่า กษัตริย์ทั่วไปมีชื่อตำแหน่งว่า “ขุน”

แต่กษัตริย์ที่ครองศรีสัชนาลัยสุโขทัย เป็นกษัตราธิราช คือเป็นขุนเหนือขุนทั้งหลาย จึงเรียกว่าพ่อขุน เพราะฉะนั้น “พ่อขุน” จึงเป็นชื่อตำแหน่งของอธิราชที่เป็นขุนเหนือขุนทั้งหลายและเป็นกษัตราธิราชของราชอาณาจักรสุโขทัย

แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่า คำ “พ่อขุน” ในจารึกสุโขทัยนั้นไม่เคยมีที่ใช้ว่าเป็นชื่อตำแหน่งเลย ทุกครั้งที่ปรากฏคำนี้ก็จะมีชื่อบุคคลต่อท้ายอยู่เสมอไป ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดที่กล่าวถึงชื่อตำแหน่งกษัตราธิราชแห่งสุโขทัย ก็ใช้คำว่า ขุนเฉยๆ หรือคำอื่นๆ ทุกทีไป

ยังมีข้อที่น่าสงสัยในทางภาษาอีกอย่างหนึ่งว่า ในภาษาไทยเมื่อจะต้องการให้หมายถึงผู้เป็นหลักหรือเป็นประธานของกลุ่มหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักใช้ำว่า “แม่” ำหน้านามนั้นแทน เช่น แม่ทัพ, แม่กอง, แม่น้ำ

เพราะฉะนั้นหากจะหมายว่าเป็นหลัก เป็นประธานของบรรดาขุนทั้งหลายของสุโขทัยแล้วก็น่าจะเรียกว่า “แม่ขุน” มากกว่า “พ่อขุน”

การใช้คำ “พ่อ” นำหน้ากลุ่มหรือ สิ่งที่ต้องการให้ “พ่อ” เป็นประธานนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคำที่พบในสมัยหลัง เช่น พ่อครัว, พ่อบ้าน, พ่อเมือง, หรือแม้แต่คำว่า “พ่อแกว้น” ในภาษาเหนือ ก็ดูเหมือนไม่เคยพบในเอกสารเก่า ซึ่งมักจะเรียกว่า “แกว้น” เฉยๆ เท่านั้น

การใช้พ่อนำหน้านามเพื่อให้หมายถึงเป็นใหญ่เป็นประธานในเอกสารเก่านั้นมียกเว้นอยู่สองคำ หนึ่งคือคำว่า “พ่เรือน” ซึ่งแปลว่า “พลเรือน” และพบได้ในกฎหมายตราสามดวง แต่พลเรือนก็ไม่ได้หมายว่าเป็นหลักเป็นประธานของเรือน เพียงแต่หมายความว่า ไม่ใช่ทหารซึ่งเป็นประชาชน (หรือไพร่) อีกประเภทหนึ่งของสังคมไทยโบราณเท่านั้น อีกคำหนึ่งพบในเอกสารโปรตุเกสว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีชื่อเรียกกันแล้ว (น่าจะเดาเป็นภาษาไทยได้ว่า) “พ่ออยู่หัว” และคลับคล้ายคลับคลาว่า ในเอกสารไทยจะเรียกเจ้าเมืองพัทลุงในสมัยหนึ่งว่า “พ่อ” อะไรสักอย่างเหมือนกัน

คำ “พ่อ” ในประการหลังนี้ไม่ตรงกับคำ “พ่อ” ในคำว่า “พ่อขุน” ทีเดียวนัก เพราะ “พ่ออยู่หัว” จะแปลว่า เป็นหลักเป็นประธานของหัวก็ไม่ค่อยถนัด แต่ก็นับว่า เฉียดๆ ไปกับคำ “พ่อขุน” มากที่สุดแล้ว

ข้อสงสัยนัยะของความหมายคำว่า “พ่อขุน” ซึ่งนักปราชญ์ท่านเห็นว่าเป็นชื่อตำแหน่งดังที่กล่าวแล้วนี้ ชวนให้คิดได้ว่า บางที่ “พ่อขุน” จะไม่ใช่ชื่อตำแหน่งเสียดอกกระมัง

ชื่อตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้ในภาษาปากอย่างน้อยก็ในปลายอยุธยานั้นคือ “ขุนหลวง” (ไม่ใช่ “ในหลวง” ซึ่งใช้เฉพาะข้าทูลละอองฯ ในวังเท่านั้น) “ขุนหลวง” น่าจะแปลว่า ขุนผู้ใหญ่ คือเป็นขุนที่ใหญ่กว่าขุนผู้อื่นใดทั้งหมด คำนี้ต่างหากที่น่าจะตรงกับความหมายอย่างที่สองของ “พ่อขุน” ดังที่กล่าวแล้วและน่าสังเกตด้วยว่า เพื่อขยายคำ “ขุน” ว่าใหญ่กว่าขุนอื่นนั้น คนอยุธยาเอาคุณนามว่า “หลวง” ไปต่อท้ายตามลักษณะการขยายคำแบบไทย

คำ “ขุนหลวง” นี้ชวนให้คิดไปถึงคำ “ขุนลู”, “ขุนลอ”, และอาจมี “ขุนเลอ” ซึ่งพบในตำนานไทยถิ่นต่างๆ เป็นไปได้ว่า มีความหมายเดียวกันคือขุนที่อยู่ “เหนือ” ขุนอื่นๆ เข้าเค้าเดียวกับ “ขุนหลวง” นั่นเอง

แต่ขุนหลวง, ขุนลอ, ขุนลู ก็เป็นการสร้างคำคนละลักษณะกับ “พ่อขุน” พวกแรกเป็นและน่าจะเป็นชื่อตําแหน่ง แต่ “พ่อขุน” อาจจะไม่ใช่

คํา นํา หน้า พระนาม ของพระ มหา กษัตริย์ สุโขทัย มีความ เปลี่ยนแปลง อย่างไร ตาม ลํา ดับ
จารึกหลักที่ 1 (ภาพจากhttps://www.matichon.co.th)

ถ้าอย่างนั้น “พ่อขุน” คืออะไร?

ทั้งในจารึกหลักที่ 1 และหลักที่ 2 ซึ่ง ใช้คำนี้ผู้เขียน (สมมุติว่าผู้เขียนจารึกหลักที่ 1 หลังบรรทัดที่ 17 เป็นต้นไปคือพระยาลิไท) ใช้คำ “พ่อขุน” เรียกกษัตริย์ที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของตนทั้งสิ้น และน่าจะเข้าใจได้ด้วยว่าได้สวรรคตไปหมดแล้ว

จารึกหลักที่ 2 ของมหาเถรศรีศรัทธาฯ นั้นท่านเล่าลำดับวงศ์ของท่านและสัมพันธ์ กับวงศ์พระร่วงมาตั้งแต่ปู่ของท่านซึ่ง “ชื่อ พระยาศรีนาวนำถม” หรือ “พ่อขุนนำถม” หรือ “พ่อขุนศรีนาวนำถม” โอรสของ “พ่อขุนศรีนาวนำถม” องค์หนึ่งนั้น ท่านออกชื่อไว้ในที่แรกว่า “พระยาผาเมือง เป็นขุนในเมืองราด” เช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นก็เอ่ยอ้างถึงว่า “พ่อขุนผาเมือง”

ส่วนกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงที่สวรรคตไปแล้วนั้น ท่านเอ่ยถึงไว้สององค์คือ “พ่อขุนบางกลาวหาว” หรือ “พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์” องค์หนึ่ง และ “พ่อขุนรามราช” อีกองค์หนึ่ง

แต่ครั้นเมื่อท่านมหาเถรกล่าวถึงกษัตริย์สุโขทัยอีกองค์หนึ่ง ซึ่งน่าจะทรงพระชนม์อยู่ขณะที่เขียนหรืออาจนับได้ว่าอยู่ใน “ชั่วอายุคน” เดียวกับท่าน มหาเถรกลับไม่ได้เรียกกษัตริย์องค์นั้นว่า “พ่อขุน” ดังความ ว่า “หลานพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อธรรมราชา…” และ “สมเด็จธรรมราชา”

ส่วนจารึกหลักที่ 1 นั้น คำ “พ่อขุน” มีใช้แต่หลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้ว และน่าจะเขียนขึ้นเมื่อพระยารามราชได้สวรรคตไปแล้ว (“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง”)

สรุปก็คือ คำ “พ่อขุน” ไม่เคยใช้เรียกกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ และผู้ใช้คำนี้ล้วนอาจนับตนเป็นญาติกับผู้ที่ถูกเอ่ยถึงได้ทั้งสิ้น

ถ้าอย่างนั้นคำ “พ่อขุน” คงเป็นคำที่ใช้เรียกผีของอดีตกษัตริย์โดยคนในวงศ์วาน เป็นคำเรียกที่ให้ความยกย่องแก่ “ผี” เหล่านั้นด้วย เพราะถึงอย่างไรคนเหล่านั้นก็เคยเป็น “ขุน” จริง และผู้เรียกก็ยกขึ้นไว้เป็นบรรพบุรุษของตน

หากความหมายของ “พ่อขุน” เป็นดังที่กล่าวนี้ คำ “พ่อ” ในที่นี้ก็มีความหมายที่เหลื่อมกับคำนับญาติ แต่ใช้ในเชิงยกย่อง เทิดทูนโดยไม่จำเป็นว่าจะสัมพันธ์กับผู้เรียกในฐานะผัวของแม่ผู้เรียกเสมอไปอย่างเดียวกับที่นักเล่นหวยทุกวันนี้ยกย่อง “เจ้าพ่อ” และ “หลงพ่อ”

น่าสังเกตวิธีผูกศัพท์คำนี้ด้วย “พ่อขุน” เกิดจากคำสองคำผสมกันคือ คำนับญาติในเชิงยกย่อง ผสมกับชื่อตำแหน่งกษัตริย์คือ “ขุน” ใช้เรียกบรรพบุรุษกษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

แต่คำนี้ก็ดูเหมือนจะฮิตกันเฉพาะในราวสมัยพระยาลิไทเท่านั้น จารึกรุ่นหลังจากนั้นจะเรียกผีบรรพบุรุษที่เป็นกษัตริย์ว่า “ปู่พระยา” การประกอบศัพท์ของคำนี้ก็เหมือนกับคำ “พ่อขุน” คือเอาคำนับญาติเชิงยกย่องผสมกับชื่อตำแหน่งกษัตริย์คือ “พระยา” และใช้เรียกผีเหมือนกัน (จารึกหลักที่ 40 พิเศษ, 45 และ 53)

แต่มีข้อยกเว้นอยู่ที่หนึ่งคือจารึกสาบานหลักที่ 64 อันเป็นการสาบานทำพันธมิตรกันระหว่างสุโขทัยและน่าน กษัตริย์สุโขทัยเรียกกษัตริย์น่านที่ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า “ปู่พระยา” เช่นกัน แต่ข้อยกเว้นนี้ก็พอเข้าใจได้ เนื่องจากในคำสาบานของกษัตริย์น่านนั้น ทรงเรียกพระองค์เองว่า “ปู่” ฝ่ายหลานซึ่งเป็นกษัตริย์สุโขทัยก็ย่อมต้องเรียกกษัตริย์น่านว่า “ปู่” ด้วยเช่นกัน และ “ปู่” องค์นี้เป็น “พระยา” จึงเป็นปู่พระยา

เพราะฉะนั้น “ปู่พระยา” ในจารึกหลักที่ 64 จึงไม่ใช่คำผสมเหมือน “ปู่พระยา” หรือ “พ่อขุน” ในจารึกหลักอื่น กล่าวคือ ไม่ได้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมากว่าความหมายของคำสองคำต่อกัน เหมือนที่เราเรียกน้าหรือลุงของเราที่ไปบวชว่า “หลวงน้า” หรือ “หลวงลุง”

เมื่อพูดถึงเรื่อง “พ่อขุน” แล้วทำให้ นึกถึงพระนาม “รามคำแหง” ด้วย

นอกจากในจารึกหลักที่ 1 และที่หัวหมากแล้ว พระนามนี้ไม่มีที่ใช้ในที่ใดอีกเลย จารึกหลักอื่นล้วนออกพระนามว่า “รามราช” ทั้งสิ้น แม้แต่จารึกของพระยาลิไทเองคือจารึกหลักที่ 3 ก็ยังออกพระนามว่า “พระยารามราช”

ทำไมจารึกหลักที่ 1 จึงออกพระนามว่า “รามคำแหง” อยู่ที่เดียว?

หากเชื่อว่าจารึกหลักที่ 1 หลังบรรทัดที่ 17 ไปแล้วเขียนขึ้นในสมัยพระยาลิไท ก็ดูเหมือนจะมีคำอธิบายได้ว่า เพื่อให้ความต่อจากนั้นสืบเนื่องกับความใน 17 บรรทัดแรก เนื่องจากใน 17 บรรทัดแรกได้ระบุพระนามของพระยารามราชเมื่อยังไม่ได้เสวยราชย์ไว้แล้วว่า “พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง”

พระนาม “รามราช” นั้นน่าจะเป็นพระนามที่ทรงใช้เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ดังจะเป็นการออกพระนามกษัตริย์ในราชวงศ์ พระร่วงในจารึกหลักที่ 45 ตอนหนึ่งว่า “ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ ปู่พระยาพระยาบานเมือง ปู่พระยารามราช ปู่ไสสงคราม ปู่พระยาเลอไท ปู้พระยางัวนำถม ปู่พระยามหาธรรมราชา” น่าสังเกตว่าใช้พระนามศรีอินทราทิตย์ไม่ใช่พระนาม “บางกลางหาว” และ ใช้พระนาม มหาธรรมราชา ไม่ใช่พระนาม “ลิไท” อันล้วนเป็นพระนามที่ใช้ในการครองราชสมบัติ เพราะฉะนั้น พระนามรามราชก็น่าจะเป็นพระนามที่ทรงใช้ในการครองราชสมบัติเหมือนกัน

ถ้าอย่างนั้นคาอธิบายว่า จารึกหลักที่ 1 ใช้พระนาม “รามคำแหง” เพื่อให้เนื้อความสืบเนื่องกับความในตอนต้นก็ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนัก จารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงพระยารามราชด้วยความยกย่องเทิดทูน ก็น่าจะถือธรรมเมียมการออกพระนามด้วยความเคารพดังจารึกร่วมสมัยอื่นๆ (เช่นหลักที่ 2 ) ว่า “พ่อขุนรามราช”

ความสืบเนื่องของเนื้อความในจารึกหลักที่ 1 นั้นไม่ค่อยจำเป็นแก่ผู้เขียนและผู้อ่านในสมัยนั้นเท่าใดนัก หากจะเปลี่ยนไปออกพระนาม “พระรามคำแหง” ว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามราช” คนที่ผู้เขียนหวังจะให้อ่านก็ไม่มีเหตุที่จะต้องงง พวกเราในสมัยนี้ซึ่งไม่ได้อยู่ในสุโขทัยแล้วต่างหากที่อาจจะงงได้ว่า “พ่อขุนรามราช” เป็นใคร

แต่คนอ่าน (หรือคนฟังผู้อื่นอ่าน) ในสมัยสุโขทัยไม่มีเหตุจะต้องงงโดยสิ้นเชิง

และอย่าลืมว่าผู้เขียนจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้คิดจะเขียนไว้ให้คนรัตนโกสินทร์อ่าน ฉะนั้น จึงยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจว่าเหตุใดจารึกหลักที่ 1 จึงเป็นที่เดียวซึ่งออกพระนาม พระยารามราชว่า “รามคำแหง”