หน้าที่ของตลาดเงินตราต่างประเทศ

ตลาดเงินตราต่างประเทศ หมายถึงตัวกลางในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ โดยที่การซื้อขายหรือการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอาจทำโดยทางโทรเลข โทรศัพท์ หรือโดยการที่ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกันโดยตรงก็ได้

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดเงินตราต่างประเทศ

  • การซื้อขายเงินตราต่างประเทศมี 3 รูปแบบคือ การโอนเงินตราต่างประเทศ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในมือและเช็คเดินทาง การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
  • การโอนเงินกระทำได้ 3 วิธีคือ การออกดราฟต์ การโอนเงินทางไปรษณีย์ การโอนเงินทางโทรเลข

การรักษาเสถียรภาพในตลาดเงินตราต่างประเทศ

ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยการรับซื้อเงินตราต่างประเทศเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต่ำ และขายเงินตราต่างประเทศเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสูง

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คือราคาของเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่น 1 หน่วย

ตลาดเงินตราต่างประเทศ คือตัวกลางซึ่งทำหน้าที่ในการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

  • เงินตราต่างประเทศ หมายถึง เงินตราของประเทศอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชน และรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คือราคาหรือค่าของเงินตราต่างประเทศหนึ่งหน่วย
  • ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คืออุปทานอุปสงค์ของเงินตราต่างประเทศ
  • ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญมี 2 ทฤษฎีคือ ทฤษฎีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยดุลการชำระเงิน และทฤษฎีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยอาศัยอำนาจซื้อเปรียบเทียบ
  • อัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพ คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้อุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศในขณะใดขณะหนึ่ง เท่ากับอุปทานของเงินตราต่างประเทศในขณะนั้น

ความหมายของเงินตราต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

  1. เงินตราต่างประเทศ หมายถึงเงินตราของประเทศอื่นๆซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชนและรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง 1 หน่วย ตัวอย่างเช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐ เงินปอนด์สเตอร์ลิง เงินเยน ที่ไทยและรัฐบาลไทยมีไว้ในครอบครองถือว่าเป็นเงินตราต่างประเทศในทัศนของประเทศไทย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคือราคาหรือค่าของเงินตราต่างประเทศ 1 หน่วย เช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินริงกิตของประเทศมาเลเซีย คือ 10 บาทต่อ 1 ริงกิต เป็นต้น
  2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คือทำให้ผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสามารถรู้ได้ว่า เขาจะได้หรือเสียเงินตราต่างประเทศ และเงินตราต่างประเทศของเขาเองเป็นจำนวนเงินเท่าใดจากการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ เช่นพ่อค้าที่ส่งวิทยุจากประเทศสิงค์โปร์เข้ามาขายในประเทศไทย จะทราบว่าวิทยุราคา 100 ดอลลาร์สิงค์โปร์ ในประเทศสิงค์โปร์นั้นมีราคาเป็นเงินบาทเท่ากับ 2000 บาท ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สิงค์โปร์ในขณะนั้นคือ 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สิงค์โปร์

ปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตราแรกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

  1. อุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศหมายถึง ความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มาของอุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศ ได้แก่รายการที่อยู่ทางด้านเดบิตของบัญชีเดินสะพัด บัญชีทุน บัญชีการโอนของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น รายการสินค้าเข้า การจ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศ การส่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศ การบริจากเงินช่วยเหลือต่างประเทศ
  2. อุปทานของเงินตราต่างประเทศหมายถึง จำนวนเงินตราต่างประเทศที่มีผู้มาเสนอขายในตลาดเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้มาจากรายการซึ่งอยู่ทางด้านเครดิตของบัญชีเดินสะพัด บัญชีทุนและบัญชีการโอนของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การส่งสินค้าออก การที่ชาวต่างประเทศส่งเงินมาลงทุนในประเทศไทย
  3. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศ ได้แก่ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาของสินค้าและบริการนำเข้า ความยืดหยุ่นของอุปทานของสินค้าและบริการประเภทเดียวกันกับสินค้าเข้าที่ประเทศนั้นผลิตได้เองในประเทศ
  4. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดค่าความยืดหยุ่นของอุปทานของเงินตราต่างประเทศ ได้แก่ความยืดหยุ่นของเส้นอุปทานของสินค้าและบริการส่งออก และความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่ต่างประเทศมีต่อสินค้าและบริการส่งออกของประเทศ เป็นต้น

ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ทฤษฎีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยดุลการชำระเงิน ถือหลักว่าเมื่อใดที่ดุลการชำระเงินของประเทศอยู่ในภาวะสมดุล แสดงว่าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในภาวะที่เหมาะสม กล่าวคือ อุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศ ณ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะเท่ากันพอดี แต่ถ้าเมื่อใดที่ดุลการชำระเงินอยู่ในภาวะไม่สมดุล แสดงว่า ณ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ประเทศใช้อยู่นั้น อุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อขจัดความไม่สมดุลของการชำระเงินดังกล่าว อัตราแลกเปลี่ยนจึงต้องเปลี่ยน เช่น ถ้าดุลการชำระเงินในภาวะที่ขาดดุลแสดงว่าอุปสงค์ของเงินตราต่างประเทศ ณ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีมากกว่าอุปทาน อัตราแลกเปลี่ยนจึงจำเป็นต้องปรับให้สูงขึ้นเพื่อลดอุปสงค์ของเงินตราต่างประเทศ หรือเพื่อเพิ่มอุปทานของเงินตราต่างประเทศ จนถึงระดับที่อุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศเท่ากัน ทฤษฎีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยอำนาจซื้อเปรียบเทียบใช้ราคาของสินค้าและบริการในประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นหลักในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน โดยถือหลักว่าเมื่อได้รับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าหากอำนาจซื้อของเงินตราสกุลหนึ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อของเงินตราสกุลอื่นๆ อัตราแลกเปลี่ยนหรือราคาของเงินตราสกุลนั้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นจะต้องสูงขึ้นด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพ

อัตราแลกเปลี่ยนดุลภาพของเงินตราต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่ง ณ ตลาดเงินตราของประเทศใดก็ตาม หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้อุปสงค์ต่อเงินตราต่างประเทศสกุลนั้นเท่ากับอุปทานพอดี

อัตราแลกเปลี่ยนดุลยภาพที่เกิดขึ้น ณ ตลาดเงินตราต่างประเทศในประเทศใดประเทศหนึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ หรือสอดคล้องกับภาวะของดุลการชำระเงินของประเทศนั้นเสมอไป