การ ลงทุน โดยตรง จากต่างประเทศ bot

ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเป็นที่สนใจของเหล่าบรรดานักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 2000 ที่มีเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 12 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ FDI ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องมาจากในปี 2528 ญี่ปุ่นร่วมลงนามข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) กับทางสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ผลกระทบนี้ทำให้ญี่ปุ่นต้องลดต้นทุนการผลิตสินค้า จึงย้ายฐานการผลิตมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำให้เงินลงทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต เพราะผลักดันให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ จนถึงอาหารแปรรูปนานาชนิด โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นมูลค่าสูงถึง 22.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.57 ของจีดีพี (UNCTAD, 2021) นอกเหนือจากเม็ดเงินลงทุนปริมานมากแล้ว บริษัทข้ามชาติยังนำเทคโนโลยี ระบบการจัดการองค์กร อีกทั้งสร้างตำแหน่งงานจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติจึงเป็นปัจจัยที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ล้วนให้ความสำคัญ

บทความนี้จะกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเงินลงทุนโดยตรงของไทย ทั้งจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย และบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างชาติ เปรียบเทียบกับในอดีต แล้วจึงอธิบายว่าเพราะเหตุใดแนวโน้มเงินลงทุนไหลเข้าไทยจึงลดลง แล้วค่อยอธิบายความสัมพันธ์ของระดับหนี้กับการลดลงของเงินลงทุนโดยตรงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้าย จึงพูดถึงปัจจัยกำหนดเงินลงทุนโดยตรงของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระดับหนี้ในประเทศที่สูงขึ้นส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงในไทยลดลงจริงหรือไม่ และภาครัฐควรมีแนวทางจัดการเรื่องนี้อย่างไร

แนวโน้มเงินลงทุนโดยตรงของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

แม้ว่าไทยจะเคยประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากชาติ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยมีปริมาณเงินลงทุนไหลเข้าโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 1.83 ของจีดีพี จากที่เคยคิดเป็นสัดส่วนสำคัญถึง ร้อยละ 3.23 ของจีดีพีในช่วงทศวรรษ 2000 เมื่อเทียบกับ 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) ไทยเคยมีสัดส่วนของการดึงดูด FDI สูงถึงร้อยละ 44 ของเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน ในช่วงปี 2544-2548 แต่สัดส่วนดังกล่าวกลับลดเหลือเพียงร้อยละ 14 ในช่วงปี 2559-2561 เท่านั้น โดยเฉพาะ FDI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลงไปกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับช่วงปี 2549-2553 ทั้ง ๆ ที่อุตสาหกรรมการผลิตเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (UNCTAD, 2021)

ในขณะเดียวกัน เราเห็นแนวโน้มที่นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างชาติอย่างชัดเจนในทศวรรษ 2010 หรือเงินลงทุนในต่างชาติของไทยเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.44 ของจีดีพีในทศวรรษ 2000 กลายเป็นร้อยละ 2.18 ของจีดีพีในทศวรรษ 2010 (เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว) และปัจจุบัน นักลงทุนไทยยังคงนำเงินออกไปลงทุนในต่างชาติสูงอย่างต่อเนื่อง หรือในปี 2563 มีเม็ดเงินลงทุนในต่างชาติของไทยสูงถึง 16.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศอาจแสดงถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ แต่อีกนัยหนึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าการขยายกิจการในประเทศไทยถึงจุดอิ่มตัวแล้ว หรือผู้ผลิตคนไทยไม่สามารถแสวงหาโอกาสที่น่าสนใจเพียงพอต่อการลงทุนภายในประเทศ เรื่องดังกล่าวเป็นที่น่าขบคิดว่าเหตุใดความน่าสนใจของการลงทุนในประเทศไทยจึงลดลงในปัจจุบัน

การ ลงทุน โดยตรง จากต่างประเทศ bot

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียนจากการใช้ฐานข้อมูล CEIC, UNCTAD, 2021.

สถานการณ์หนี้ในประเทศไทยและบทบาทที่มีต่อ FDI

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการสั่งสมหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน หนี้สาธารณะคงค้างของไทย ณ เดือนมิถุนายน 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.06 ของจีดีพี หรือคิดเป็นประมาณ 9 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่หนี้ส่วนใหญ่กลับเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และไม่ได้ก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ขึ้นมากนัก

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน หนึ่งในห้าของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) กำลังเผชิญความเปราะบางทางปัญหาหนี้สิน และเช่นเดียวกับความเปราะบางในภาคครัวเรือน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 90.5 ของจีพีดี ที่สำคัญ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังติดอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก หรืออยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย ดังนั้น การก่อหนี้ดังกล่าวสร้างความน่ากังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของคนในประเทศ และอาจเป็นปัจจัยทางลบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ (สภาพัฒน์, 2564)

ทั้งนี้ ระดับหนี้มีบทบาทสำคัญต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ เนื่องจากหนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้ดี  หากการก่อหนี้เป็นไปในปริมาณที่เหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากการก่อหนี้ในปริมาณที่มากเกินจำเป็นอาจสร้างความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรืออาจก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อหนี้ของภาครัฐ นอกจากจะสร้างภาระทางภาษีให้ประชาชนแบกรับ และยังไปเบียดเบียนการลงทุนของภาคเอกชนโดยสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน ทำให้มีต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น (Asogwa & Okeke, 2013) จึงกระทบต่อผลผลิตโดยรวมในระยะยาว แม้การกู้ยืมในแต่ละภาคส่วนจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ก็เพิ่มความผันผวนและสร้างความเปราะบางทางการเงินให้กับประเทศเช่นกัน เมื่อภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ จนนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และท้ายในที่สุดย่อมส่งผลต่อการลดลงของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้

หนี้มีผลต่อการการดึงดูด FDI ในไทยหรือไม่

จากงานวิจัย “ปัจจัยกำหนดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย: บทบาทของหนี้ประเภทต่างๆ” ที่ใช้ฐานข้อมูล CEIC และธนาคารแห่งประเทศไทยรายไตรมาสในช่วงปี 2540 ถึงปี 2563 พบว่า การก่อหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และหนี้ครัวเรือนล้วนส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดึงดูด FDI ในระยะยาวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าการก่อหนี้ดังกล่าวเป็นการก่อหนี้ภายในประเทศก็ยังสามารถกระตุ้น FDI ได้ในระยะสั้น ถึงแม้จะส่งผลทางลบในระยะยาวก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบว่า หากระดับหนี้น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพีจะไม่ส่งผลทางลบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ ในระยะยาว ตัวแปรที่สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในประเทศ ระดับการศึกษา ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยกำหนดสำคัญต่อการดึงดูด FDI เข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐาน ดังเช่น การพัฒนาทางด้านอินเตอร์เน็ตกลับเป็นปัจจัยที่ส่งผลทางลบต่อการดึงดูด FDI เหตุผลส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ไม่เพียงพอ และไม่ตรงจุดต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

บทส่งท้าย: แนวทางการจัดการของภาครัฐ  

แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การก่อหนี้ในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ภายในประเทศ และไม่น่าจะกระทบต่อการดึงดูด FDI มากนัก และที่สำคัญ ขนาดการก่อหนี้ของไทยในช่วงปี 2564-65 ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักไว้ คือ การก่อหนี้ต่าง ๆ เป็นปัจจัยทางลบต่อการดึงดูด FDI ในระยะยาว และกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการรักษาระดับการก่อหนี้ของประเทศให้อยู่ในระดับเหมาะสม หรือไม่ให้เกิดหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะเติบโตมากเกินไป หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่อยู่ในระดับสูงอย่างยาวนาน นอกเหนือจากระดับการก่อหนี้แล้ว การสร้างศักยภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญยิ่งและควรเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาการศึกษาที่ช่วยเพิ่มทักษะแรงงาน การรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทยได้ดีขึ้น

  • กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม. (2564). ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 19(4). https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=12051&filename=social_outlook
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2565). ตารางเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จำแนกตามประเภทธุรกิจในประเทศไทย (ดอลลาร์ สรอ.) (รหัสตาราง: EC_XT_059). https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=656
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ. (2565). ภาพรวมหนี้สาธารณะ – ข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง. https://www.pdmo.go.th/th/public-debt/debt-outstanding
  • Asogwa, F. O., & Okeke, I. C. (2013). The crowding out effect of Budget Deficits on Private Investment in Nigeria. International Journal of Business and Management, 20(5).
  • Cecchetti, S. G., Mohanty, M. S., & Zampolli, F. (2011). The Real Effects of Debt. Political Economy: Budget. Dell'Erba, S., & Reinhardt, D. (2015). FDI, debt and capital controls. Journal of International Money and Finance, 58, 29-50. https://doi.org/10.1016/j.jimonfin.2015.07.017 
  • Hunady, J., & Orviska, M. (2014). Determinants of Foreign Direct Investment in EU Countries – Do Corporate Taxes Really Matter? Procedia Economics and Finance, 12, 243–250. https://doi.org/10.1016/S2212-5671(14)00341-4 
  • Khrawish, H., & Siam, W. (2010). Determinants of direct foreign investment: Evidence from Jordan. Business and Economic Horizons, 1(1), 67-75. https://doi.org/10.15208/beh.2010.10
  • Nunnenkamp, P., Semple, M., & Semple, M. (1991). Developing Countries' Attractiveness for Foreign Direct Investment — Debt Overhang and Sovereign Risk as Major Impediments? [with Comments]. The Pakistan Development Review, 30(4), 1145-1158. http://www.jstor.org/stable/41259527
  • Oche, M. O., Mah, G., & Mongale, I. (2016). The effects of public debt on foreign direct investment in South Africa (1983-2013): an empirical analysis. Risk Governance and Control: Financial Markets and Institutions, 6(4), 448-456.
  • Onyeiwu, S., & Shrestha, H. (2004). Determinants of foreign direct investment in Africa. Journal of Developing Societies, 20(1-2), 89-106. https://doi.org/10.1177/0169796X04048305
  • Ouhibi, S., Zouidi, N., & Hammami, S. (2017). The Nexus between Foreign Direct Investment, Economic Growth and Public Debt in the Southern Mediterranean Countries: Evidence from Dynamic Simultaneous-Equation Models. Journal of Economics and Economic Education Research, 18(1), 1-14.
  • UNCTAD. (2021). World Invest Report 2021.  https://unctad.org/system/files/official-document/wir2021_en.pdf
  • Yasmin, B., Hussain, A., & Chaudhary, M. A. (2003). Analysis of factors affecting foreign direct investment in developing countries. Pakistan Economic and Social Review, 59-75.

[1] ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานศึกษาความสัมพันธ์ของการก่อหนี้และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความสำคัญและได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ Nunnenkamp et al. (1991), Yasmin (2003), Onyeiwu and Shrestha (2004), Khrawish and Siam (2010), Hunady and Orvisca (2014), Dell'Erba and Reinhardt (2015), Oche et al. (2016), Ouhibi et al. (2017) อย่างไรก็ตามงานศึกษาเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา งานศึกษาความสัมพันธ์ของการก่อหนี้และการลงทุนโดยตรงของไทยในอดีตจึงพบว่ามีอยู่อย่างจำกัด