อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน

การรับประทานอาหารหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบถ้วนตามความต้องการถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะหากมีภาวะสุขภาพเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานอาจยิ่งต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจว่า คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร เนื่องจากอาหารบางชนิดอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนโรคเบาหวานที่เป็นอยู่อาจแย่ลงได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกชนิดของอาหารให้เหมาะสมและรับประทานอาหารให้อยู่ในปริมาณที่พอดี เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ป้องกันโรคลุกลามและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเท้าบวม แผลหายช้า เบาหวานขึ้นตา

คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร

ตัวอย่างอาหารที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้

คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล เป็นสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกายและมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากที่สุด เนื่องจากร่างกายจะย่อยสลายแป้งเป็นน้ำตาล และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวาน

คาร์โบไฮเดรตที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • ธัญพืชขัดสีหรือแปรรูป เช่น ข้าวขาว แป้งขาว ขนมปังขาว พาสต้า
  • ซีเรียลธัญพืชที่มีน้ำตาลมาก
  • ผักคาร์โบไฮเดรตสูง หรือผักมีแป้งมาก เช่น เผือก มันฝรั่ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักมีแป้งมาก เช่น มันฝรั่งทอด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Archives of Internal Medicine (Arch Intern Med) เมื่อพ.ศ. 2553 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานข้าวขาวและข้าวกล้องกับความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในประชากรชายหญิงชาวสหรัฐอเมริกา โดยการติดตามศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างชาย 39,765 คน และหญิง 157,463 คน อายุ 26-87 ปีที่รับประทานข้าวขาวและข้าวกล้องเป็นเวลา 20 ปี พบว่า ผู้ที่รับประทานข้าวกล้องและธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง ส่วนผู้ที่รับประทานข้าวขาวเป็นประจำมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น

อาหารไขมันสูง

การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันทรานส์ อาจส่งผลให้ควบคุมโรคเบาหวานยากขึ้น เพิ่มภาวะดื้อต่ออินซูลิน และไขมันหน้าท้อง นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดด้วย

อาหารไขมันสูงที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เค้ก คุกกี้ มาการีน เนยถั่ว ครีมเทียม
  • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู ไขมันจากสัตว์
  • เนื้อสัตว์ไขมันสูง เช่น ไก่ติดหนัง หมูสามชั้น เนื้อวัวติดมัน
  • เนื้อแปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก ลูกชิ้น
  • อาหารทอด เช่น มันฝรั่งทอด เต้าหู้ทอด เนื้อทอด ปลาทอด
  • ชีส ครีม นมไขมันสูง โยเกิร์ต ไอศกรีม

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Brazilian Journal of Medical and Biological Research เมื่อพ.ศ. 2555 ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณกรดไขมันทรานส์กับความไวของอินซูลิน พบว่า การรับประทานไขมันทรานส์ส่งผลต่อความไวต่ออินซูลินและอาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ แต่ยังไม่ยืนยันว่าไขมันทรานส์นั้นก่อให้เกิดการอักเสบได้หรือไม่

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Andrew Odegaard เมื่อพ.ศ. 2549 ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างกรดไขมันทรานส์กับภาวะดื้ออินซูลินและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ไขมันทรานส์สร้างขึ้นจากกรดไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อน จึงมีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับไขมันอิ่มตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไขมันเลือดสูงได้ นอกจากนี้ การบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากอาจกระตุ้นภาวะดื้ออินซูลินและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ผักและผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง

ผักและผลไม้มีไฟเบอร์และน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยขัดขวางการดูดซึมไขมัน และช่วยในการขับถ่าย แต่ผักผลไม้บางชนิดอาจมีแป้งและน้ำตาลสูง จนส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน

ผักและผลไม้ที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • ผักและผลไม้กระป๋องที่มีโซเดียมหรือน้ำตาลมาก
  • ผักและผลไม้ดอง
  • ผลไม้กวน แยมผลไม้ เยลลี่ผลไม้ ซอสแอปเปิ้ล
  • น้ำผลไม้ปั่น เครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่ผสมน้ำตาล
  • ผักปรุงกับเนย ชีส หรือซอสในปริมาณมาก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Diabetes เมื่อพ.ศ. 2557 ทำการวิจัยปริมาณโซเดียมในอาหารในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น และการรับประทานอาหาโซเดียมสูงอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The BMJ เมื่อพ.ศ. 2556 ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลไม้และความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า การรับประทานผลไม้สดทั้งผล (รับประทานทั้งเนื้อและเปลือก) โดยเฉพาะองุ่น แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

เครื่องดื่มบางชนิดอาจเติมน้ำตาลปริมาณมากเพื่อเพิ่มความหวานและความอร่อย แต่น้ำตาลปริมาณมากเกินไปในเครื่องดื่มอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้

เครื่องดื่มที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • เบียร์ ไวน์
  • เครื่องดื่มชูกำลัง
  • ชารสหวาน เช่น ชาเขียวเย็น ชานมเย็น ชานมไข่มุก
  • นมรสหวาน
  • กาแฟใส่น้ำตาลและครีม
  • เครื่องดื่มช็อคโกแลต
  • น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Nutrition เมื่อพ.ศ. 2559 ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและโซดากับภาวะดื้ออินซูลินและภาวะก่อนเบาหวาน พบว่า ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มรสหวานมีแนวโน้มในการเกิดภาวะก่อนเบาหวานและภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้น ทั้งยังอาจทำให้น้ำหนักเปลี่ยนแปลงและเสี่ยงเกิดโรคอ้วนได้ด้วย

งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Arch Intern Med เมื่อพ.ศ. 2552 ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้หญิงชาวแอฟริกันอเมริกัน โดยการติดตามผลตรวจสุขภาพจากผู้เข้าร่วมงานวิจัย 59,000 คนเป็นระยะเวลา 6 ปี พบว่า การบริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มผลไม้รสหวานที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูงเป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

เคล็ดลับการกินอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน

การเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ควรคำนึงถึงระดับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน โดยพลังงานที่ได้รับต่อวันไม่ควรน้อยกว่า 1,200-1,600 กิโลแคลอรี่ และอาจจัดเมนูอาหารตามเมนูตัวอย่างเหล่านี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล

  • คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 12-15 กรัม/วัน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต คีนัว ผักโขม มันเทศอบ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืชไม่ขัดสีไม่ปรุงแต่งน้ำตาล เช่น ขนมปังโฮลวีท ซีเรียลโฮวีท
  • ผักและผลไม้ ประมาณ 2.5 ถ้วย/วัน เช่น ผลไม้สด แยมไม่เติมน้ำตาล องุ่น แอปเปิ้ล บลูเบอร์รี่ ผักสด ผักย่างหรือปิ้ง คะน้า ผักปวยเล้ง ผักกระป๋องโซเดียมต่ำหรือรสจืด
  • โปรตีน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น เนื้อวัว ไก่ ปลา หมู ไก่งวง อาหารทะเล ถั่ว ชีส ไข่ ถั่วและเต้าหู้ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำ
  • ไขมัน ไม่ควรเกินร้อยละ 25-30 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน หรือควรน้อยกว่า 70 กรัม/วัน เช่น ไขมันจากถั่วหรือเมล็ดพืช อะโวคาโด น้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดองุ่น หรือน้ำมันมะกอก กรดไขมันไอเมก้า 3 จากสัตว์อย่างปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาแมคเคอเรล
  • เครื่องดื่ม ผู้ป่วยเบาหวานควรดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาลเพิ่ม