เศรษฐศาสตร์ หมายถึง

ความหมายของเศรษฐศาสตร์   

            เศรษฐศาสตร์ หรือ  Economics มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Oikonomikos”  หมายถึง วิชาที่เกี่ยวกับการจัดการ ควบคุมดูแลภายในครัวเรือน ซึ่งในช่วงเวลาต่อมาสังคมและประเทศต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวทางด้านการผลิตการค้า การบริโภค และการแลกเปลี่ยนอย่างมากมาย จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้ให้ความหมายหรือคำนิยามของเศรษฐศาสตร์แตกต่างกันออกไป  แต่ความหมายของเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความนิยมใช้มาก  เพราะเป็นความหมายที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องแก้ไขตลอด ตั้งแต่อดีตถึง ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งให้ไว้โดยลีอองเนล รอบบินส์ (Lionel Robbins) โดยกล่าวว่า“เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมที่เกี่ยวกับการเลือกใช้ทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อผลิตสินค้าและบริการไปบำบัดความต้องการของมนุษย์อันมีอยู่อย่างไม่จำกัด” ความหมายนี้บอกให้ทราบว่าทรัพยากรมีอยู่เป็นจำนวนจำกัด จำเป็นต้องเลือกใช้หรือจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ ต้องใช้อย่างประหยัดที่สุด และให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

            วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ของการทำให้เกิดการกินดีอยู่ดีของมนุษย์ในสังคม เศรษฐศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์โดยตรง  เมื่อมีคนมาอยู่รวมกันมีการผลิตและแลกเปลี่ยนผลิตผลซึ่งกันและกัน

เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่มากมายไม่จำกัด  ในขณะที่โลกมีทรัพยากรที่ใช้ทำการผลิตอยู่อย่างจำกัด ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  โดยให้มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและบริการอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  และจำแนกแจกจ่ายให้ผู้คนใช้บำบัดความต้องการได้อย่างทั่วถึงกัน  เพื่อให้มนุษย์ได้มีความอยู่ดีกินดี  เนื่องจากในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยังอยู่ในสังคมที่แคบ การผลิตในสมัยนั้นเป็นการผลิตเพื่อใช้ในการบริโภคกันเองภายในครอบครัว สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นพวกอาหารและสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งการดำเนินการผลิตและบริโภคในสมัยนั้นกระทำโดยยึดหลักของความประหยัดเป็นสำคัญ  ในสมัยต่อมาเมื่อการผลิตขยายตัวกว้างมากขึ้น มีการแบ่งกันผลิตสินค้าตามความชำนาญของแต่ละคนแล้วนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน  ซึ่งการดำเนินการผลิตและแลกเปลี่ยนในระยะนี้ยังคงยึดหลักของความประหยัดเช่นเดียวกัน  นอกจากนั้นยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่านที่ให้นิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ต่าง  ๆ กัน ดังต่อไปนี้

เศรษฐศาสตร์ หมายถึง

            อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred  Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1842 - ค.ศ. 1924 ได้ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ Principles of Economics ว่า “Political  Economy or Economics is a study mankind in the ordinary business of  life, it examine that part of individual and social action which is most closely connected with the attendment and  with the use of the material requisites of well being”

เศรษฐศาสตร์ หมายถึง

            พอล แซมมวลสัน (Paul  Samuelson) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “Economic  is the study of how men and society end up choosing, with or without the use of  money, to employ scarce productive resources which could  have alternative uses, to produce various commodities and distribute them for  consumption, now or in the future among various people and groups in  society”

            จากข้อความข้างต้นอาจสรุปได้ว่า  “วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงวิธีการที่มนุษย์และสังคมตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่หาได้ยาก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ ทางไปผลิตสินค้าและบริการต่าง  ๆ ตลอดจนการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการเหล่านั้นไปยังบุคคลต่าง ๆ ในสังคม  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (รัตนา สายคณิต และชลลดา จามรกุล, 2550 :2)  

            ประยูร  เฉลิมศรี กล่าวว่า  เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่ศึกษาว่ามนุษย์เลือกตัดสินใจอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  เพื่อผลิตสิ่งของและบริการ และแบ่งปันสิ่งของและบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภคและบริโภคระหว่างบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ทั้งเวลาปัจจุบันและในอนาคต(จรูญ โกสีย์ไกรนิรมล, 2547 :  11)

การที่มนุษย์เราต้องเลือกใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและบริการก็เนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่างความต้องการในสินค้าและบริการของมนุษย์กับทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการนั้น กล่าวคือ  มนุษย์มีความต้องการสินค้าและบริการไม่จำกัดจำนวน และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆจะเห็นได้ว่ามนุษย์ในสมัยก่อนมีความเป็นอยู่อย่างง่าย  ๆ  ความต้องการของมนุษย์ในขณะนั้นจึงจำกัดอยู่เพียงแค่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต  ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  แต่ต่อมาเมื่อสังคมเจริญขึ้น วิวัฒนาการด้านการผลิตมีความก้าวหน้าขึ้น  มนุษย์สามารถนำทรัพยากร มาใช้ผลิตสินค้าและบริการได้มากชนิดขึ้น  ความต้องการในสินค้าและบริการของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน  นอกจากความต้องการในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพแล้ว  มนุษย์ยังมีความต้องการในสิ่งอำนวยความสะดวกและความสุขในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย  ๆ  เช่น  เมื่อยังไม่มีโทรทัศน์ จึงอยากได้โทรทัศน์ แต่เมื่อได้โทรทัศน์แล้ว  ยังอยากได้เทปและวิดีโอตามมาอีกมากมายไม่รู้จบสิ้น  ในขณะที่ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการเหล่านั้นมีจำนวนจำกัด  และนับวันยิ่งจะลดลงทุกที  ทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรขึ้นในสังคมทุกสังคมซึ่งหากมนุษย์ไม่รู้จักเลือกใช้ทรัพยากรที่จะนำมาบำบัดความต้องการของมนุษย์  จะทำให้ทรัพยากรหมดเปลืองไปโดยที่สังคมคงจะไม่ได้รับสินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการมากเท่าที่ควรจำเป็น ดังนั้น จึงจำเป็น ต้องหาวิธีที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการอย่างประหยัดที่สุด  หรืออย่างมีประสิทธิภาพทางเทคนิคสูงสุด  และหาวิธีจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปยังบุคคลต่าง  ๆ ในสังคมให้ได้รับความพอใจสูงสุดด้วย  ซึ่งถ้าการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทางเทคนิค และทำให้สังคมได้รับความพอใจสูงสุดแล้ว  ก็ถือว่าการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ          

จากความหมายต่าง ๆ  ที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า เศรษฐศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ศึกษาหาหนทางในการที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาทำการผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชนผู้บริโภค  

วิดีโอ YouTube