แนวคิด ในการปฏิบัติหน้าที่ครู

แนวคิด ในการปฏิบัติหน้าที่ครู

การปฏิบัติการสอน (Teaching Practice) คืออะไร

     การสอนเป็นงานของครู การปฏิบัติการสอน คือ การปฏิบัติงานของครู “ครูชำนาญการพิเศษ” หมายถึง ครูผู้สามารถปฏิบัติการสอนนักเรียนของครูทุกคนได้อย่างชำนาญเป็นพิเศษ กล่าวคือ ครูสามารถส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนและทุกๆ คนได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีเทคนิควิธี และเกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน คือ เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ขึ้นอย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ ทันที และพอดี นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพแห่งตน ทั้งในด้านความสุข ความดี และความเก่ง ดังนั้น เมื่อครูปฏิบัติการสอนจึงเป็นเวลาของการปฏิบัติงานตามพันธกิจแห่งวิชาชีพครู

การปฏิบัติการสอนสำคัญอย่างไร

     การสอนเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองของนักเรียนให้เต็มศักยภาพ คือ เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งทางร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และเป็นพลโลกยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษา ต่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต (กระทรวศึกษาธิการ, 2551) นักเรียนที่ด้อยโอกาสได้รับการสอนที่มีคุณภาพ โดยการเตรียมวิธีการสอน ประสบการณ์การเรียนรู้ ให้ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

     โอกาสและคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนได้รับจึงสืบเนื่องมาจากคุณภาพของการปฏิบัติการสอนของครูแต่ละคน ที่ได้สร้างสรรค์ให้แก่นักเรียนของครู ดังมีคำขวัญในวิชาชีพครูที่ว่า “ผลงานของครูต้องดูที่ศิษย์” ซึ่งอาจขยายความได้ว่า “ผลของการปฏิบัติการสอนของครูนั้น ประจักษ์แจ้งได้จากผลของการเรียนรู้อันเป็นพัฒนาการอย่างรอบด้านของนักเรียนแต่ละคนและทุกๆ คนที่ครูสอน”

     ดังนั้น การปฏิบัติการสอนของครูแต่ละครั้งจึงมีความสำคัญอย่างน้อยใน 4 นัยยะ กล่าวคือ (1) เป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน (2) เป็นโอกาสสำคัญสำหรับครูในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพของตนเอง (3) เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของโรงเรียนในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเจริญแก่ปวงชน และ (4) เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงคุณค่าและความสร้างสรรค์ในการปฏิบัติพันธกิจของวิชาชีพครูต่อการรังสรรค์สังคม

พื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการสอน

     พื้นฐานที่สำคัญของการปฏิบัติการสอน คือ ความเป็นกัลยาณมิตรของครู ดังคำขวัญในวิชาชีพครูที่ว่า “ครูคือกัลยาณมิตรของศิษย์” กัลยาณมิตร หมายถึง แหล่งปัญญา และแบบอย่างที่ดีที่จะมีอิทธิพลชักนำ และชักชวนให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา โดยเฉพาะให้เรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา มีศรัทธาที่จะดำเนินตามแบบอย่างที่ดี และรู้จักใช้ปัจจัยภายนอก ทั้งที่เป็นบุคคล หนังสือ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และความงาม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต แก้ปัญหา และทำการสร้างสรรค์ (พระพรหมคุณาภรณ์, ป.อ. ปยุตโต, 2548)

     องค์ประกอบของการปฏิบัติการสอนมี 5 องค์ประกอบ ตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) คือ

   องค์ประกอบที่ 1 ครูเป็นกัลยาณมิตร คือ ประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตร 7 ประการ คือ 

   องค์ประกอบที่ 2 ตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรมของผู้แสดงธรรม 5 ประการ คือ 

   (1) สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรม หรือเนื้อหาตามลำดับความง่ายยาก ลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ 

   (2) จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจง ยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่าง ๆ ให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล 

   (3) ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน 

   (4) ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือ ผลประโยชน์ตอบแทน 

   (5) วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสี ข่มขู่ผู้อื่น

   องค์ประกอบที่ 3 มีลีลาการสอนครบทั้งสี่ คือ 

   (1) ชี้ให้ชัด สอนอะไรก็ชี้แจงแสดงเหตุผล แยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา 

   (2) ชวนให้ปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรทำ ก็บรรยายให้มองเห็นความสำคัญ และซาบซึ้งในคุณค่า เห็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ 

   (3) เร้าให้กล้า คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก 

   (4) ปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่น แจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่น มีความหวัง มองเห็นผลดี และทางสำเร็จ ลีลาการสอนของครูทั้งสี่นี้จำง่าย ๆ ได้ว่า สอนให้แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

   องค์ประกอบที่ 4 มีหลักตรวจสอบสาม ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนของพระบรมครู 3 ประการ คือ 

   (1) สอนด้วยความรู้จริง ทำได้จริง จึงสอนเขา 

   (2) สอนอย่างมีเหตุผล ให้เขาพิจารณาเข้าใจแจ้งด้วยปัญญาของเขาเอง 

   (3) สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จความมุ่งหมายของเรื่องที่สอนนั้น ๆ เช่น ให้เข้าใจได้จริง เห็นความจริง ทำได้จริง นำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นต้น

   องค์ประกอบที่ 5 ทำหน้าที่ครูต่อศิษย์ ดังนี้ 

   (1) แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี 

   (3) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง 

   (4) ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ 

   (5) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริงและรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

     นอกจากแนวคิดตามภูมิปัญญาตะวันออกดังกล่าว นักการศึกษาของไทยในปัจจุบันยังได้มีการนำแนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอนของนักการศึกษาชาวตะวันตกเข้ามาบูรณาการในการจัดการศึกษาของไทย เช่น ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) ทฤษฎีกระบวนการทางสมองในการประมวลข้อมูล (Information Processing Theory) ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative Learning และแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-Based Learning Approach) (ทศนา แขมมณี, 2551; นริศรา เสื้อคล้าย, 2550; ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู 2551, http://www.edu.chula. ac.th/thinking) เป็นต้น

งานสำคัญในการปฏิบัติการสอน

     ในการปฏิบัติการสอนนั้นครูต้องทำงานเป็นระบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ระบบการทำงานจะเป็นแบบใดก็ได้แต่ต้องทำงานให้ครบทั้งระบบ เป็นกระบวนการปฏิบัติการควบคู่ไปกับการเรียนรู้และการพัฒนา เช่นการดำเนินการสอนตามระบบวงจรคุณภาพ PDCA หรือระบบในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามเกณฑ์การพิจารณามาตรฐานที่ 9 ในการประเมินคุณภาพภายนอก (สมศ., 2551) เป็นต้น

     ในการปฏิบัติการสอนตามระบบวงจรคุณภาพ PDCA ครูจะต้องปฏิบัติการสอนโดยมีการปฏิบัติงาน 4 ขั้นตอน เป็นวงจรต่อเนื่องเพื่อการปฏิบัติงาน การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ดังนี้ P ย่อมาจาก Plan คือ ครูต้องวางแผนการสอน D ย่อมาจาก Do คือ ครูต้องสอนตามแผนที่วางไว้ C ย่อมาจาก Check คือ ครูต้องตรวจสอบผลการปฏิบัติงานการสอนของตนเอง โดยสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน และความเชื่อมโยงกับสภาพการเรียนที่ครูจัดให้นักเรียน และA ย่อมาจาก Act คือ การกระทำเพื่อปรับปรุงพัฒนาตนเองในการปฏิบัติการสอนให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยใช้ความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์การวางแผนและดำเนินการและสารสนเทศ ตรวจสอบตนเองมาเป็นฐานในการพัฒนาตน

     ในการปฏิบัติการสอนแบบระบบการดำเนินงานตามมาตรฐานที่ 9 (สมศ., 2551) ครูต้องคำเนินการให้ครบทั้ง 7 งาน ดังนี้ (1) ครูต้องวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อให้เข้าใจในค่านิยมสังคมที่มุ่งปลูกฝังรวมทั้ง แนวคิด เป้าหมาย กระบวนการ และผลลัพธ์สำคัญของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) ครูต้องวิเคราะห์ศักยภาพ ความสนใจ ความถนัด ข้อจำกัด และโอกาสของผู้เรียนแต่ละคนและทุกคนเพื่อครูจะได้เข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล (3) ครูต้องออกแบบและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (4) ครูต้องใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและผู้เรียน (5) ครูต้องวางแผนและดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนการสอนอย่างรอบด้านคือทั้งความสุข ความดี และความเก่ง หรือ รอบด้านของมาตรฐานด้านผู้เรียนทั้ง 7 มาตรฐานตามการประเมินคุณภาพภายนอก (สมศ., 2551) และมีสมรรถนะสำคัญทั้ง 5 ประการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิตและการใช้เทคโนโลยีและสอดคล้องกับสภาพการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียน และอิงพัฒนาการของผู้เรียน (6) ครูต้องนำผลการประเมินมาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพและครบมาตรฐานของหลักสูตร และ (7) ครูต้องทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและเพื่อพัฒนาสื่อ และการเรียนรู้ของผู้เรียน และนำผลไปใช้พัฒนาผู้เรียนและการปฏิบัติงานการสอนของตนเอง

     ในการปฏิบัติการสอนแต่ละครั้งครูต้องจัดเวลาในการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องโดยปกติจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเป็นการเตรียมการก่อนการสอน ครูต้องเตรียมแผนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้ทั้งแผนการสอนระยะยาว แผนการสอนระยะสั้น แผนการสอนรายหน่วยและแผนการสอนรายคาบ และสื่อ ระยะที่สองเป็นการดำเนินการสอนตามแผนขณะสอนครูต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา และอารมณ์ที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนเรียนรู้นั้นต้องตั้งอยู่บนฐานอารมณ์แห่งความเมตตา และกรุณาต่อศิษย์ ในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ขั้นตอน คือ การนำ การสอน และการสรุปความรู้เพื่อการนำไปใช้ และระยะที่สามเป็นการดำเนินการหลังการสอน ครูต้องจัดเวลาหลังสอนมามีเวลาคิดทบทวนไตร่ตรองผลการเรียนการสอนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแนวคิด แนวปฏิบัติ และการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ครูต้องจัดเวลาคิดไตร่ตรองและการบันทึกหลังสอน รวมทั้งตรวจงานของนักเรียนและปรับปรุงแผนกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งต่อไป และการทำวิจัยปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองให้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติการสอนที่มีคุณภาพ ครูจำเป็นต้องใช้เวลา สติ สมาธิ ปัญญา และอารมณ์แห่งความเมตตาและกรุณาในการปฏิบัติการสอน

     ครูมืออาชีพของไทยหลายคน ท่านมีวิถีชีวิตในการดำเนินการปฏิบัติการสอนโดยให้คุณค่าแก่การพัฒนาลูกศิษย์ อุดมคติของท่านก็คือ “ครูคือกัลยาณมิตรของศิษย์” “ผลงานของครูต้องดูที่ศิษย์” “การปฏิบัติงานคือการปฏิบัติธรรม” และ “ชีวิตคือการเรียนรู้

     ทิศนา เขมมณี. (2551). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

     นริศรา เสือคล้าย. (2550). การวิจัยและพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด การเรียนรู้ โดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อพัฒนาความสามารถทางการคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

     พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2548). ธรรมนูญชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 36. กรุงเทพมหานคร: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์.

     รับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน), สำนักงาน. (2551). มาตรฐานตัวบ่งชี้และเกณฑ์การพิจารณาเพื่อประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรอบที่ 2 (2549-2553). พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: บริษัท จุดทอง จำกัด.

     ศึกษาธิการ, กระทรวง. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. แหล่งที่มา : http://www.curriculum2551.com

     ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู. (2551). รายงานการสังเคราะห์ รูปแบบ เทคนิค วิธีการ กระบวนการนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ. แหล่งที่มา : http://www.edu.chula.ac.th/thinking

     Cohen, L,. Manion, L., & Morrison, K. (2005). A Guide to Teaching Practice. 5th ed. RoutledgeFalmer: London..

สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 63-67.

การปฏิบัติงานในหน้าที่ของครูผู้สอนมีอะไรบ้าง

หน้าที่ของครูผู้สอน ปฏิบัติงานเกี่ยวการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดอบรมสั่งสอนและจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ปฏิบัติงานวิชาการของสถานศึกษา

บทบาทหน้าที่ของครูคืออะไร

๑. ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ก าลังใจในการศึกษา เล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า ๒. ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ ๓. ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ๔. ...

ครูควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งใด

1. ร่วมมือกันในการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติอย่างสม่ำเสมอ 2. ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางด้านวิชาการ เช่น การแนะนำการสอน, แนะนำเอกสาร หรือแหล่งวิทยาการให้ 3. ช่วยเหลืองานส่วนตัวซึ่งกันและกันเท่าที่โอกาสจะอำนวย 4. ทำหน้าที่แทนกันเมื่อคราวจำเป็น

ครูและนักเรียนควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร

3. บทบาทหน้าที่ต่อครู อาจารย์ และโรงเรียน 3.1 ให้ความเคารพและเชื่อฟังครู/ อาจารย์ทุกท่าน 3.2 ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน 3.3 รักและภาคภูมิใจ ในสถาบันการศึกษาของตน 3.4 ให้ความร่วมมือ กับครู/อาจารย์ และโรงเรียน ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ โรงเรียน