แนวคิด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง

        การเรียนรู้ เป็นแนวคิดที่กว้างขวาง อาจมีหลายความหมายซึ่งขึ้นกับแนวคิดหลักของทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งมีผู้ให้นิยามไว้อย่างกว้างขวาง ดังต่อไปนี้

แนวคิดที่1 การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม
        "การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือจากการฝึกหัด
        "การเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ถาวรพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อม" (Driscoll, 1994)
        "การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อประสบการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เกี่ยวกับความรู้กับพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง"

        แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ ที่ 20 และทำการศึกษากับสัตว์ ในห้องทดลอง บทบาทของผู้เรียนจะเป็นการรับทั้งรางวัลและการลงโทษ ในขณะที่ครูเป็นผู้บริหารจัดการรางวัลและการลงโทษ ได้แก่ การฝึกหัด และฝึกปฏิบัติ บทบาทของนักออกแบบการสอน หรือครูผู้สอน จะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้ผู้เรียนต้องลงมือทำซ้ำๆ จะเป็นการชี้นำให้มีการตอบสนองที่ง่ายๆ ซึ่งติดตามด้วยการให้ผลย้อนกลับทันที

        แนวคิดที่ 2 การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีกลุ่มพุทธิปัญญานิยม
        "การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงความรู้ของผู้เรียน ทั้งทางด้านปริมาณและด้านคุณภาพ คือนอกจากผู้เรียนจะมีสิ่งที่เรียนรู้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถจัดรวบรวม เรียบเรียงสิ่งที่เรียนรู้เหล่านั้นให้เป็นระเบียบ เพื่อให้สามารถเรียกกลับมาใช้ได้ตามที่ต้องการ"(Mayer,2002)
        "การเรียนรู้ (Learning)ว่า เป็นการได้มา (Acquisition) หรือ การจัดระเบียบหรือหมวดหมู่ใหม่ (Reorganization) ของโครงสร้างทางปัญญา (Cognitive Structures) โดยผ่านกระบวนการประมวลผลของข้อมูลและการเก็บรักษาข้อมูล" (Good and Brophy,1990,PP,187)
        "การเรียนรู้ (Learning)ว่า เป็นการได้มา (Acquisition) ซึ่งความรู้ ซึ่งมาจากพื้นฐานที่ว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้นำข้อมูลข่าวสารใหม่ไปไว้ในความจำระยะยาว"(Mayer,2002)
        "การเรียนรู้ (Learning) เป็น ระดับของการถ่ายโยงความรู้และทักษะเดิม หรือสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วไปสู่บริบทและปัญหาใหม่ "

        แนวคิดดังกล่าวข้างต้นนี้เริ่มตั้งแต่ 1950s 1960s 1970s โดยทำการศึกษากับการเรียนรู้ของมนุษย์ในห้องทดลอง บทบาทของผู้เรียน เป็นผู้รับข้อมูลข่าวสาร งานของครูผู้สอนจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลข่าวสาร เช่น ตำราเรียน การบรรยาย ตามแนวคิดนี้ข้อมูลข่าวสารจะถูกถ่ายทอดโดยตรงจากครูผู้สอนไปยังผู้เรียน บทบาทของนักออกแบบการสอน หรือครู จะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนจะต้องดูดซับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เช่น ตำรา การบรรยาย โปรแกรมคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย(Mayer,2002)

        แนวคิดที่ 3 การเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิส
        "การเรียนรู้ (Learning) ว่า เป็นการสร้างความรู้(Knowledge construction) ซึ่งมาจากพื้นฐานที่ว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้สร้างสิ่งที่แทนความรู้ในความจำในระยะทำงาน(Working memory) อย่างตื่นตัว

        แนวคิดนี้ดังกล่าวข้างต้นเริ่มตั้งแต่ 1980s และ1990s โดยทำการศึกษากับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสภาพบริบทการเรียนรู้ที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น ภายใต้แนวคิดการสร้างความรู้ บทบาทของผู้เรียน เป็นผู้ที่ลงมือกระทำ ในขณะที่ครูผู้สอนเป็นผู้แนะแนวทางพุทธิปัญญา ซึ่งจะจัดแนะแนว และเป็นโมเดลในภารกิจการเรียนตามสภาพจริง บทบาทของนักออกแบบการสอน หรือครู จะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายกับเนื้อหาทางวิชาการ รวมถึงการทำให้เกิด กระบวนการในการเลือก จัดหมวดหมู่ และการบูรณาการ ข้อมูลข่าวสาร (Mayer, 2002)

จากแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามพื้นฐานทางทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆทั้ง 3 แนวคิดดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า งานที่สำคัญของครูก็คือช่วยนักเรียนแต่ละคนให้เกิดการเรียนรู้ โดยมีครูทำหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพที่ตอบสนองกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่เน้น

  • การพัฒนากระบวนการคิดอย่างอิสระ
  • สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง
  • เรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองโดยใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่ 
    คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมไทย คือสามารถคิดแบบองค์รวม เรียนรู้ร่วมกันและทำงานเป็นทีมเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย โดยมีเป้าหมายให้คนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและร่วมมืออย่างสร้างสรรค์

        เมื่อกระบวนทัศน์ (Paradigm) เกี่ยวกับ การสอน เปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้ มาสู่การเน้น 
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 
ดังนั้น เทคโนโลยี และนวัตกรรมการศึกษา ตลอดจน สื่อการสอนจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จากเดิมที่เป็น สื่อการสอน มาเป็น สื่อการเรียนรู้ และนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ เพื่อที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ การจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่ไม่ได้มุ่งเพียงเพื่อให้ผู้เรียนสามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมไทย ได้แก่ ความสามารถคิดแบบองค์รวม เรียนรู้ร่วมกันและทำงานเป็นทีม ตลอดจนความสามารถในการแสวงหาความรู้ และสร้างความรู้ด้วยตนเอง เพื่อทำให้เป็นสังคมที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อที่สามารถแข่งขัน และร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในสังคม

ข้อมูลจาก  http://www.thaiblogonline.com/AunZ.blog?PostID=12798