ชาผักเชียงดา ห้วย ฮ้อง ไคร้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ชาผักเชียงดา ห้วย ฮ้อง ไคร้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้) ตั้งอยู่เลขที่ 237 หมู่ 4 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ให้ใช้พื้นที่บริเวณป่าขุนแม่กวง ประมาณ 8,500 ไร่ พลิกฟื้นจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางทำการศึกษา ทดลอง วิจัย หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยวิสัยทัศน์การพัฒนาคือ “ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม” กล่าวคือ ต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ปลายทางเป็นการศึกษาการประมง ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านการตลาด

ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ได้พลิกฟื้นป่าให้คืนความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการพัฒนาป่าไม้ 3 วิธี คือ การพัฒนาป่าด้วยระบบคลองไส้ไก่ - คูคลองก้างปลา การพัฒนาป่าด้วยระบบฝายต้นน้ำลำธาร และการพัฒนาป่าด้วยระบบน้ำฝนตามธรรมชาติ รวมทั้งการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง โดยประโยชน์ที่ 4 คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยคงความชุ่มชื้นเอาไว้

สำหรับระบบบริหารจัดการของศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้ศูนย์ฯ ช่วยให้เกษตรกรได้รับความสะดวก ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่ายในคราวเดียวกัน ตลอดจนสามารถสร้างโอกาส สร้างสิ่งที่ดีและมีประโยชน์อย่างสูงสุดให้กับประชาชน จึงได้ให้ดำเนินการการทำงานแบบบูรณาการ ในลักษณะรวมศูนย์ คือการนำเอาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันดำเนินงานเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ดังมีพระราชดำริว่า

“ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “สรุปผลการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้”

โดยส่วนราชการที่เข้ามาดำเนินงานร่วมกัน มีจำนวน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ได้นำผลสำเร็จของงานวิจัยกว่า 250 เรื่อง มาคัดเลือกงานวิจัยที่โดดเด่น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ จัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมขยายผลให้แก่เกษตรกรและบุคคลที่สนใจ จำนวน 23 หลักสูตร ได้ดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำรงชีวิตและสามารถพึ่งตนเองได้ และในที่สุดสามารถพัฒนาศักยภาพจนประสบความสำเร็จเป็นเกษตรกรตัวอย่าง และยกระดับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในที่สุด

  • ผลสำเร็จของการพัฒนา...ขยายผลสู่ประชาชน

จากผลสำเร็จของการศึกษา ทดลอง วิจัย จนสามารถนำผลนั้นไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่ ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ จึงดำเนินงานสู่อีกหนึ่งขั้นตอน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของศูนย์ศึกษา คือการขยายผลสำเร็จสู่ประชาชน โดยการดำเนินการขยายผลของศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ได้ดำเนินการในลักษณะ 3 วิธี คือ:

1. การจัดทำแปลงสาธิต หรือการจัดแสดงตัวอย่างความสำเร็จ ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนา ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไว้แจกจ่ายแก่ประชาชนผู้สนใจที่เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้

2. การฝึกอบรมศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งได้รวบรวมผลสำเร็จที่โดดเด่น (High Light) ที่คัดเลือกจากผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้             อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีความโดดเด่น นำมาอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้ผู้เข้าอบรมได้รู้     ได้เห็น และได้สัมผัสองค์ความรู้ต่างๆ อย่างจริงจัง นำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม 23 หลักสูตร ดังนี้

1.หลักสูตรฝายต้นน้ำลำธารเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน

2. หลักสูตรการเพาะเลี้ยงปลานิลในกระชัง

3. หลักสูตรการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์กลม

4. หลักสูตรการเพาะเลี้ยงกบบูลฟร็อกโดยวิธีเกษตร   ธรรมชาติ

5. หลักสูตรการเพาะเลี้ยงกบนาโดยวิธีธรรมชาติ

6. หลักสูตรการเพาะเห็ดเศรษฐกิจทำง่ายรายได้ดี

7. หลักสูตรการเลี้ยงไก่ไข่

8. หลักสูตรการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ

9. หลักสูตรสุกรลูกผสม 3 สายพันธุ์

10. หลักสูตรการเลี้ยงแพะนมซาแนน-แองโกล

11. หลักสูตรการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะ

12.หลักสูตรผักปลอดภัยสารพิษเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

13. หลักสูตรการปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ และขาว

     ทองดี

14. หลักสูตรการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

15. หลักสูตรการฟื้นฟูดินด้วยปุ๋ยหมักใบไม้และน้ำ  

     หมักชีวภาพ เพื่อการผลิตพืช

16. หลักสูตรระบบนิเวศลุ่มน้ำที่ยั่งยืน

17. หลักสูตรการผลิตข้าวคุณภาพดี

18. หลักสูตรการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลุ่มน้ำ

19. หลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่

20. หลักสูตรการผลิตไม้ดอกเพื่อการค้า

21. หลักสูตรการปลูกพืชไร้ดิน (ไฮโดรโปนิกส์)

22. การผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์

23. การแปรรูปชาผักเชียงดา

3. การขยายผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อการต่อยอดอย่างยั่งยืน จากหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ นั่นคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ คนภายในชุมชน ให้มีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนา การขยายผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่ประสบผลสำเร็จแล้ว ไปสู่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจทั่วไป เริ่มจากเขตหมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ 18 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1-10 ตำบลแม่โป่ง หมู่ที่ 1 ตำบลเชิงดอย หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ฮ้อยเงิน หมู่ที่ 2 ตำบลป่าป้อง เขตอำเภอดอยสะเก็ด หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยแก้ว เขตอำเภอแม่ออน มีจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 4,003 ครัวเรือน ซึ่งแต่เดิมราษฎรส่วนใหญ่ เก็บของป่า ทำนา ทำสวน และรับจ้างทั่วไป โดยทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริม และปรับปรุงวิธีการดำเนินการอาชีพ ด้านการเกษตร ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผักปลอดสารพิษ เลี้ยงสัตว์ และอาชีพหัตถกรรม อย่างครบวงจร รวมทั้งเกิดการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพที่ดีขึ้น อันเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนกว่า จากผลสำเร็จของการขยายผลดังกล่าว ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และนานาชาติในปัจจุบัน

  • จากเกษตรกรตัวอย่าง สู่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ

ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ได้ดำเนินการคัดเลือกและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ในกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรหรือชุมชน ที่มีคุณสมบัติจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรด้านต่างๆ จากศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 23 หลักสูตร ใช้ระยะเวลาอบรม 1-3 วัน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

เกษตรกรหรือชุมชนใดที่ได้รับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้     อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ จะได้รับเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในแต่ละด้าน ที่แต่ละคนหรือแต่ละชุมชนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 34 แห่ง และเกษตรกรตัวอย่างจำนวน 119 ราย สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมี 4 แห่ง ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ 1 ตำบลแม่โป่ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่าไผ่ หมู่ 2 ตำบลแม่โป่ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านปางไฮ หมู่ 7 ตำบลเทพเสด็จ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มขนมทองม้วนสมุนไพร บ้านโป่งสามัคคี หมู่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง

ส่วนใหญ่เกษตรกรก่อนเข้าอบรมจากศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกกระเทียม หอมแดง ถั่วลิสง และทำนา   ซึ่งเกิดปัญหาลงทุนไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ทำให้รายได้และรายจ่ายในครัวเรือนไม่สมดุล

  • ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้...แหล่งเรียนรู้ดูงานจากภูมิภาค สู่นานาชาติ

จากความสำเร็จในการพัฒนาป่า การพัฒนาด้านการประมง การเกษตรกรรม การปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรมของศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ ทำให้ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น ในแต่ละปีจึงมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรทางด้านการศึกษามาศึกษาดูงาน และศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ยังได้รับเลือกให้เป็นที่ศึกษาดูงานของกลุ่มผู้นำต่างประเทศในการประชุมระดับ

นานาชาติ เช่น การประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (อาเซียนบวก 3) AMAF+3 ครั้งที่ 17 เป็นต้น

สถิติจำนวนคนศึกษาดูงานปีงบประมาณ 2555-2561

ปี พ.ศ. 2555 จำนวน 4,017 คน

ปี พ.ศ. 2556 จำนวน 4,409 คน

ปี พ.ศ. 2557 จำนวน 6,508 คน

ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 65,426 คน (เป็นชาวต่างชาติ 779 คน)

ปี พ.ศ. 2559 จำนวน 67,468 คน (เป็นชาวต่างชาติ 457 คน)

ปี พ.ศ. 2560 จำนวน 94,154 คน (เป็นชาวต่างชาติ 703 คน)

ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 80,396 คน (เป็นชาวต่างชาติ 811 คน)

***หมายเหตุ...สำหรับปี พ.ศ. 2561 สถิติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 - เดือนมิถุนายน 2561

  • ...ก้าวต่อไปกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (The Next Step with NARIT)

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ศูนย์ศึกษาฯ ห้วยฮ่องไคร้ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT - National Astronomical Research Institute of Thailand (Public Organization) ได้ลงนามโครงการความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ และส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ในรูปแบบการร่วมดำเนินการโครงการศึกษา การฝึกอบรม สัมมนา การจัดนิทรรศการ และการและเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ เนื่องจากพื้นที่ในศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นแนวป้องกันสัญญาณรบกวนช่วงคลื่นวิทยุ ซึ่งเอื้อประโยชน์ในการใช้เทคนิคทางดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ เพื่อศึกษาการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก โดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและโครงการน้อยที่สุด โดยโครงการดังกล่าว จะติดตั้งจานกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตรและ 13 เมตร แห่งแรกของประเทศไทย โดนจานกล้องฯ 40 เมตรจะเป็นแห่งแรก ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างและอาคาร คาดว่าจะติดตั้งเสร็จพร้อมใช้งานปี 2564

  • นวัตกรรมด้านการชลประทาน การทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่ : ปลูกหนึ่งเก็บเกี่ยวมากกว่าสาม

          ในประเทศไทยการปลูกข้าวแบบล้มตอซังแบบเดิม เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกษตรกรเป็นผู้ค้นพบโดยบังเอิญมานานแล้ว เป็นวิธีการปลูกแบบเก่าโดยไม่ต้องเตรียมดิน และไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก คือ เกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลง แล้วย่ำล้มตอซังให้ราบติดพื้นนา ในขณะที่ดินต้องมีความชื้นหมาดๆ การปลูกข้าววิธีนี้บางพื้นที่เรียกว่า “การปลูกข้าวด้วยตอซัง” และนักวิชาการด้านข้าวเรียกว่า “การปลูกข้าวข่มตอ หรือ Lodge Ratoon Rice” แต่วิธีการนี้มีข้อจำกัดคือ ดินนาจะหล่ม และสามารถปลูกได้เพียง 2-3 รุ่น แล้วก็ต้องกลับไปเผาตอซัง ทำเทือกและหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่อีกครั้ง

          ขณะที่การทำนาข้าวแบบล้มตอซังของประเทศอินโดนิเซีย เรียกว่า “การทำนาข้าวโดยวิธีซาลิบู หรือ Salibu Paddy Technique” เป็นนวัตกรรมการปลูกข้าวโดยไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ สามารถลดต้นทุนลงหลายอย่าง

เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเตรียมดิน ค่าหว่าน ค่าปุ๋ยและระยะเวลาการเพาะปลูกค่อนข้างสั้น ความต้องการน้ำน้อย และความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมของข้าวยังคงอยู่

สำหรับนวัตกรรมการทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่: ปลูกหนึ่งเก็บเกี่ยวมากกว่าสาม เป็นวิธีใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากวิธีการทำนาข้าวแบบซาลิบู โดยใช้พื้นที่แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ เป็นสถานที่แห่งแรกที่ดำเนินการโครงการวิจัยนี้

การดำเนินการ การทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่สนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯ 5 ลด 5 เพิ่ม

5 ลด (Reduces)

สามารถลดต้นทุนได้ประมาณ

860 บาท/ต่อไร่

1. เมล็ดพันธุ์ (seed)

2. น้ำ (Water)

3. ปุ๋ยเคมี (Chemical fertilizer)

4. ยาเคมี (Chemical substance)

5. แรงงาน (Labor)

1. การใช้เมล็ดพันธุ์ จะใช้เฉพาะตอนทำนาข้าวรอบที่ 1 โดยวิธีปกติ รอบต่อๆไปสามารถประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ได้ 100% หรือประมาณ 300 บาท/ต่อไร่

2. เทียบกับการทำนาแบบปกติซึ่งใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ การลดการใช้น้ำในการเพาะกล้าต้นข้าวจากเมล็ดพันธุ์จะเท่ากับ 10% หรือ 120 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ซึ่งในอนาคตหากใช้การทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่ ร่วมกับการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ 28 % หรือ 330 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ จะช่วยลดปริมาณน้ำในการทำนาข้าวได้มากขึ้นอีก

3. ลดค่าต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการไถกลบตอซังข้าวเดิมให้เป็นปุ๋ยบำรุงดินธรรมชาติ และลดค่าปุ๋ยในขั้นตอนการเพาะเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 500 บาท/ต่อไร่

4. ส่งเสริมให้งดการใช้ยาเคมีในการทำนาข้าว โดยใช้สารอินทรีย์ที่ปลอดภัยกว่าทดแทน

5. ลดค่าแรงในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 60 บาท/ไร่

5 เพิ่ม (Increases)

1. คุณภาพข้าว (Rice quality)

2. ปริมาณผลผลิต (yield)

นาปกติข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 = 624 กก./ไร่

นาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่ = 440-650 กก./ไร่

** ช่วงการทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่ อุณหภูมิลดต่ำจนเกิดผลกระทบต่อต้นข้าว และผลผลิตสูญหายจากสัตว์ศัตรู นก-หนู        

3. กำไร+สะสมทุน (profit+cumulated capital)

4. คุณภาพชีวิต (Quality of life)

5. ความสามัคคีชุมชน (Unity of community)

1. ความบริสุทธิ์ทางพันธุกรรมของข้าวจะยังคงอยู่และคุณภาพข้าวจะสูงเนื่องจากไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นเจือปน

2. ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณผลผลิต คือสภาพอากาศในพื้นที่การทำนาข้าว ซึ่งในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น จะกระทบต่อปริมาณผลผลิตของข้าวในรอบนั้นๆได้ แต่โดยรวมระยะเวลาการทำนาข้าว/รอบ จะลดลง 33 วันจาก 135 วันเหลือ 102 วัน ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึง 3 ครั้งต่อปี คิดเป็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่าการทำนาสองรอบได้มากกว่า 50% ต่อปี

3. สามารถเพิ่มผลกำไร+สะสมทุนได้มากขึ้นเนื่องจากต้นทุนและระยะเวลาในการทำนาข้าวที่ลดลง

4. เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากรายได้ที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าว และสุขภาพที่ดีจากการลดการใช้สารเคมี

5. การทำนาข้าวด้วยตอซังวิธีใหม่จะลดภาระการให้น้ำชลประทาน ช่วยเพิ่มหรือรักษาพื้นที่ชลประทานไว้ และทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชนที่ไม่ต้องแย่งน้ำกันอีกต่อไป