การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตของคนในครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน

เคล็ดลับสร้างสุขภาพจิตในครอบครัว หลังน้ำท่วม

นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล   จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี

หลายๆท่านที่ประสบปัญหาอุทกภัย คงต้องประสบกับภาวะเครียดไปตามๆกัน  การดูแลสุขภาพจิตใจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ  โดยเฉพาะการสร้างสุขภาพจิตที่ดีของคนในครอบครัว    เสมือนเป็นภูมิต้านทานต่อแรงกดดันที่กระทบต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว  ครอบครัวที่มีสุขภาพจิตดีย่อมช่วยให้ทุกคนมีกำลังใจดี และพร้อมเผชิญวิกฤตในชีวิตได้ดี   วิกฤตการณ์อาจทำให้บางคนและบางครอบครัวอาจล้มป่วยหรือครอบครัวล่มสลายสิ้นสภาพไป  แต่สำหรับครอบครัวที่มีสุขภาพจิตดี วิกฤตกลับทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคน ร่วมแรง ร่วมใจ สามัคคี ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน  และมีวุฒิภาวะมากขึ้น ทั้งส่วนบุคคลและครอบครัว  
 

การสร้างสุขภาพจิตในครอบครัวมีเคล็ดลับหลายประการ 

เคล็ดลับ 1

คือ การมีความรู้  ความเข้าใจ และปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพครอบครัว  สังคมไทยในอดีตเป็นแบบเกษตรกรรม  ครอบครัวมีขนาดใหญ่โดยมีสมาชิกมาก  คนในครอบครัวมีเวลาให้แก่กันมาก  อบอุ่นใกล้ชิด  มีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี  อีกทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กัน  ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนมาเป็นแบบตะวันตก ครอบครัวไทยจึงมีขนาดเล็กลง โดยมีจำนวนสมาชิกน้อยลง  เวลาที่ให้แก่กันน้อยลง  อีกทั้งสังคมมีการแข่งขันสูง  ชีวิตเร่งรีบและบีบคั้น กดดันสูง  ปัจจุบันจึงพบว่าอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นมาก  และอัตราการแต่งงานที่ลดต่ำลง สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของครอบครัว  และความศรัทธาที่มีต่อครอบครัวลดลง 
 

เคล็ดลับข้อ 2 

สมาชิกในครอบครัว ควรมีเวลาให้แกกันและมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย  ทำครัว  ช่วยกันทำความสะอาด  เยี่ยมญาติมิตร  กิจกรรมทางศาสนา  ทัศนาจรร่วมกัน  เป็นต้น
 

เคล็ดลับข้อ 3

ควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาของคนวัยต่างๆ  ตั้งแต่   ทารก  เด็กเล็ก   เด็กโต  วัยรุ่น  วัยทำงาน  วัยทอง  วัยสูงอายุ  เพื่อที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว

เคล็ดลับข้อ 4  

การสร้างนิสัยที่ส่งเสริมสุขภาพจิต  ได้แก่  ความคิดเชิงบวก  เป็นคนอารมณ์ดี  รู้จักปรับความคาดหวังให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  ไม่ใช่มุ่งเป้าหมายที่เกินความสามารถ โดยคิดผิดว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องเอาชนะให้ได้  ซึ่งทำให้เครียดโดยไม่จำเป็น
 

เคล็ดลับข้อ 5

ควรสนใจธรรมมะ เป็นการสร้างความต้านทานและทุกข์ให้สมาชิกแต่ละคน  โดยเฉพาะการฝึกสมาธิ  ฝึกสติ  และรู้จักให้อภัย  การตั้งสติได้ดี  ทำให้รู้การควรไม่ควร สามารถลดข้อผิดพลาดทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจได้มากๆ  เมื่อตั้งสติได้ก็จะไม่เผลอเป็นเหยื่อความเครียด  ความโกรธ  เกลียด  ท้อแท้  ความคิดลบ  และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ   ผู้ที่ตั้งสติได้ดีย่อมรู้จักการให้อภัยและให้อภัยได้  แม้แต่ผู้เผลอสติกลายเป็นเหยื่อดังกล่าวแล้ว
 

โดยสรุป  ครอบครัวจะเป็นสถาบันที่สร้างความสุขให้ทุกคน  ถ้าสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีก็จะทำให้สามารถผ่านวิกฤตต่างๆไปได้ด้วยครับ 

วรรษชล ศิริจันทนันท์, ปวเรศ วงศ์เพชรขาว

      ไม่ได้ดีลงานกัน ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้หรอ? มองตาเพื่อนร่วมงานสักนิด เพื่อสุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน

     อะไรบ้างที่ทำให้ใครบางคนอยากลาออกจากงาน? คำตอบยอดฮิตคงหนีไม่พ้น “งานที่ทำมันไม่ใช่” “มันไม่ท้าทายแล้ว” “มีแต่งานเดิมๆ อยากลองอะไรใหม่ๆ” “หัวหน้าไม่โอเคเลย”

     แต่รู้ไหมว่า มีคำอธิบายทางจิตวิทยาที่ซับซ้อน แอบซ่อนอยู่ภายใต้เหตุผลเหล่านั้น

     หลายคนอาจคิดว่า ออฟฟิศก็เป็นที่สำหรับทำงานไปวันๆ มาหาเงิน รับเงินเดือน แล้วเอาไปใช้เพื่อให้ความสุขกับตัวเอง เราอาจคิดว่าถ้าเนื้องานสนุก ท้าทาย ทำให้เราชอบ ทำให้ใครบางคนมีแพสชั่น ก็จะช่วยสร้างพลังและกำลังใจในการทำงานได้ แต่อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะนอกจากเรื่องงานแล้ว ความสัมพันธ์ และสังคมในที่ทำงานก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

     หากคำนวณจำนวนชั่วโมงในชีวิตของเราต่อสัปดาห์ ไม่นับเวลานอนซึ่งเป็นเวลาที่เราไม่รู้ตัว จะพบว่าเราใช้เวลาอยู่กับงานและเพื่อนร่วมงานมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเวลาชีวิตทั้งหมดเสียอีก ซึ่งหมายความว่า เราใชเวลากับเพื่อนร่วมงานมากกว่าคนใกล้ชิด อย่างครอบครัว หรือแฟนของเราเสียอีก!

 

การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตของคนในครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน

     เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ตั้งแต่เรียนจบเริ่มทำงาน เวลานัดเจอเพื่อนเก่าเป็นกลุ่ม เรื่องที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุดอันดับต้นๆ รองลงมาจากเรื่องความรัก ก็มักจะเป็นเรื่องงาน ถ้าไม่ใช่ตัวเนื้องาน ก็อาจเป็นเรื่องคนที่ทำงาน เช่น ความสัมพันธ์กับหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานที่สนิท ในหลายครั้งความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ใครบางคนตัดสินใจย้ายที่ทำงาน หรือเลือกที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป มากกว่านั้น ความสัมพันธ์ในที่นี้อาจรวมไปถึงการติดต่อกับหน่วยงานภายนอกด้วย

     ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า ในออฟฟิศนั้นมีความสัมพันธ์รูปแบบไหนกันบ้าง

ทำไมต้องแคร์ด้วย ไม่ได้ทำงานด้วยกัน ต่างคนต่างอยู่ก็พอแล้วนี่?

     ก็จริงอยู่ว่า เราอาจไม่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรกับคนที่ไม่ได้ร่วมงานด้วย แต่การมีอยู่ของคนบางคน ต่อให้ไม่ได้สื่อสารกัน ก็อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของเราได้ ผลจากงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การอยู่ใกล้คนที่มีอารมณ์สุดขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดาทางไม่ค่อยถูก อาจทำให้เรามีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว เช่น หากเราต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานแผนกเซลส์คนหนึ่ง ที่ขี้ประจบและโมโหร้าย บางทีก็หงุดหงิดแบบไร้สาเหตุ การมีอยู่ของเขาอาจทำให้เราต้องระวังพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น หรือทำให้เกิดความรำคาญใจ พอสะสมมากๆ เข้า ก็กลายเป็นความกังวล หรือบางครั้งก็ส่งผลทำให้เราไม่กล้าแสดงความเห็นของตัวเองเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลเสียต่อการใช้ความคิด และบุคลิกในที่ทำงานของเราไปอีก ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง และจัดการความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตของคนในครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน

ความสัมพันธ์แบบหัวหน้า - ลูกน้อง

     ความสัมพันธ์แบบนี้อาจแลดูไกลตัวสำหรับบางคน และทำให้คิดว่าหัวหน้าหน่วยงานไปจนถึงเจ้าของบริษัท ไม่ได้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในที่ทำงาน หรือสุขภาพจิตเรามากนัก แต่ความจริงแล้ว บุคลิกของพวกเขาเหล่านี้ล้วนมีผลกับเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มทำงาน กว่าจะรู้ตัวอีกที เราอาจเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เพราะบุคลิกของบอสก็เป็นได้ ยิ่งถ้าเราชื่นชอบเขาแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่เราจะมองเขาเป็นแบบอย่างในด้านต่างๆ
นี่จึงเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ที่จะชี้เป็นชี้ตาย หรือทำให้เราตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ต่อไปหรือไม่ หัวหน้าของบางบริษัทเลือกที่จะสร้างความกลัวให้กับพนักงาน เพราะพวกเขาเชื่อว่า การที่จะทำให้บริษัทพัฒนา และสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความยำเกรงอาจช่วยเสริมในจุดนี้ได้

     แต่งานวิจัยเกี่ยวกับสภาวะผู้นำ (Leadership) บอกเราว่า แม้ความกลัวอาจทำให้พนักงานในบริษัทสร้างความร่วมมือร่วมใจกันได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันไม่เคยทำให้บริษัทรอดพ้นจากความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน หรือขยายตัวยิ่งใหญ่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะ ‘ความเคารพยำเกรง’ กับ ’ความกลัว’ ห่างกันเพียงเส้นกั้นบางๆ การอยู่กับหัวหน้าที่สร้างความกดดันและความกลัวตลอดเวลา ทำให้เราจำเป็นต้องเก็บอารมณ์ และกดข่มความไม่พอใจของเราไว้

     ในบางสถานการณ์ เมื่อรู้ว่าผลลัพธ์ของงานไม่ดีเท่าที่ควร หรือมีข้อบกพร่องที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า พนักงานจำนวนมากจึงเลือกที่จะใช้วิธีหันเหความสนใจของหัวหน้างาน หรือกลบเกลื่อนด้วยอารมณ์ขันแทน และเมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ให้เหล่าหัวหน้างาน หรือเจ้าของบริษัทเลือกใช้วิธีแสดงตนเป็นแบบอย่าง (Role Model) จะดีที่สุด เพราะนอกจากมันจะทำให้พนักงานจริงใจกับหัวหน้างานมากกว่าแล้ว มันยังทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับงาน และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากกว่าด้วย

 

การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตของคนในครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน

ความสัมพันธ์เกาะกลุ่ม ที่บางครั้งก็ไม่มีเราอยู่ด้วย!

     เคยรู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน หรือถูกกันให้อยู่นอกกลุ่มบ้างไหมล่ะ? ลองนึกภาพใครบางคนอยู่ในบริษัท แล้วไม่มีกลุ่มไหนให้เกาะ หันไปทางหนึ่งก็เป็นกลุ่มสาวๆ บ้าเกาหลี อีกทางหนึ่งก็เป็นกลุ่มป้าๆ ลุงๆ บ่นเรื่องการเมืองกับเด็กรุ่นใหม่ กลุ่มนั้นก็เป็นผู้ชายแมนๆ เตะบอล ส่วนอีกกลุ่มก็เนิร์ดเกม โอตาคุ ส่วนเราไม่มีความสนใจร่วมกับใครทั้งสิ้น

     ถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้ คุณอาจจะมีอาการ FOMO (Fear of Missing Out) อย่างเช่น ถ้าอยู่ดีๆ คนอื่นก็หัวเราะพร้อมกัน เพราะกำลังส่งอะไรบางอย่างใน LINE กลุ่มที่ไม่มีเราอยู่ นอกจากมันจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดในบางครั้งแล้ว มันยังส่งผลกระทบต่ออารมณ์การทำงานของเราโดยรวมอีกด้วย บางคนอาจคิดว่า แค่มาทำงานแล้วกลับบ้านไปก็ได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร แต่ความจริงแล้ว สถานการณ์แบบนี้มักบั่นทอนแพสชั่นในการทำงานของเราไปเรื่อยๆ จนบางคนอาจต้องย้ายที่ทำงานในที่สุด เพราะความอึดอัดลึกๆ นี้

     อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะลองจัดการกับเรื่องนี้นั้นไม่ยากเลย แค่เพียงเราลองถามไถ่เพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาสนใจดูบ้าง ไม่จำเป็นต้องทำถึงขั้นฝืนตัวเอง หรือสร้างบุคลิกอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ได้รับความสนใจ แค่เพียงตระหนักไว้ว่า ไม่มีใครไม่อยากได้ความจริงใจ และเลือกแสดงตัวตนในด้านที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ แค่นี้ก็ทำให้คุณสามารถมีความสุขระหว่างวัน อีกทั้งยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานไว้ได้ด้วย!

 

การดูแลและสร้างเสริมสุขภาพจิตของคนในครอบครัว/เพื่อนร่วมงาน

อะไรก็กลางๆ ไม่อินกับใครสักคนเลย!

     จากที่พูดมาทั้งหมด แม้เราจะพยายามทุกวิถีทาง บางครั้งก็ดูเหมือนว่า เราจะไม่สนิทกับใครในที่ทำงาน รู้สึกโดดเดี่ยวเอามากๆ แต่อย่าเพิ่งท้อไป เพราะเชื่อเถอะว่า ในที่แห่งนั้นจะต้องมีคนที่รู้สึกคล้ายกันกับเราอยู่แน่ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับความผูกผันที่พนักงานมีต่อองค์กร (Intimacy and Organization) ชี้ให้เห็นว่า การที่ใครบางคนจะรู้สึกดีกับที่ทำงาน บางครั้งต้องอาศัยทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างทัศนคติองค์กรและทัศนคติส่วนบุคคล อีกทั้งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ที่มากกว่าการนั่งทำงานไปให้จบวัน

     องค์กรและผู้บริหารต้องแสดงออกถึงการยอมรับเป้าหมายที่บุคลากรมีต่อองค์กร ทำให้เห็นว่าความพยายามและความทุ่มเทของพวกเขามีความหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความต้องการ และความสนใจระดับบุคคล ซึ่งการสร้างความเข้าใจแบบนี้ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่า ความผูกพันที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการบังคับ ความจำเป็น หรือความรู้สึกคล้อยตามเพื่อนร่วมงานส่วนมาก

     จากตรงนี้ สิ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนที่เหลือในองค์กร รวมถึงบรรยากาศที่ดีในออฟฟิศ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคน ‘ใช้เวลา’ ร่วมกันมากพอ ในความหมายที่ว่าแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนสื่อสารกันระหว่างช่วงเวลานั้นด้วย ไม่ใช่แค่นั่งร่วมห้องกันเฉยๆ

     เมื่อเวลาที่เรามีถูกใช้ไปกับการทำความเข้าใจกัน เราก็จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความชอบส่วนตัวที่คล้ายคลึงกัน หรืออารมณ์ความรู้สึกที่สอดคล้องกัน เท่านั้นแหละ ถึงจะทำให้ทุกคนสามารถรู้สึกว่าที่ทำงานเป็นเหมือน ‘บ้าน’ อีกหลังหนึ่ง ที่พวกเขาจะไม่ละทิ้งคนที่เหลือไว้ข้างหลัง

     ดังนั้นจะเห็นได้เลยว่า อารมณ์ของเราและของทุกคนในที่ทำงานนั้นสำคัญเท่ากัน หากคนอื่นมีความสุข แต่เรามีความทุกข์ ก็จะพาลทำให้บรรยากาศบนโต๊ะทำงานของเราหม่นหมอง หรือหากเรามีความสุข แต่คนอื่นมีความทุกข์ ก็คงจะเรียกว่าเป็นครอบครัวไม่ได้

     ไม่ว่าเราจะกำลังสนุกกับงาน หรือรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังขนาดไหน แต่ถ้าเราลองมองตาคนข้างๆ ให้มากขึ้น บางทีอาจจะเจอความสัมพันธ์ดีๆ ที่กำลังตามหาอยู่ก็ได้นะ!