พระพุทธ ศาสนา กับการแก้ปัญหา และการพัฒนา อย่าง ยั่งยืน

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติหรือเป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมุ่งเน้นที่การปฏิบัติเป็นสำคัญ การอ้อนวอนหรือการหวังผลดลบันดาลจากสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อให้ตนประสบความสุขหรือความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่แนวทางของพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาในแง่ของหลักธรรมจึงมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ และเป็นเรื่องใกล้ตัวมนุษย์ซึ่งสามารถสัมผัสรับรู้ได้ตลอดเวลา เพราะใจความสำคัญของหลักธรรมทางพุทธศาสนานั้น ไม่มีสิ่งใดเกินเลยไปจากเรื่องปัญหาชีวิตและวิธีการแก้ปัญหาชีวิตหรือที่เรียกว่า ทุกข์และความดับทุกข์นั่นเอง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำว่า ภิกษุทั้งหลาย ทั้งในกาลก่อนและในบัดนี้ เราสอนแต่เรื่องทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น

แม้ผลแห่งการแสวงหาทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า จะเป็นการบรรลุธรรมขั้นสูง คือ ความหมดกิเลสทั้งปวง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายขั้นโลกุตตระและอาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของปุถุชนหรือฆราวาสทั่วไปที่ยังต้องดำเนินชีวิตในวงจรของความอยาก ความต้องการ ความสะดวกสบาย การมีบ้าน มีรถ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี มีเครื่องอำนวยความสะดวกและอีกสาระพัดสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ แต่กระนั้น หากได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้จะพบว่า พุทธศาสนาไม่ได้ละเลยที่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของปุถุชนหรือฆราวาสเลย ทั้งยังมีหลักธรรมที่สนับสนุน ส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตเป็นไปในครรลองที่ดีอยู่มากมาย หรือแม้แต่หลักธรรมขั้นสูงก็ยังสามารถนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างสามัญได้ หลักธรรมทางพุทธศาสนาจึงมีความครอบคลุมทั้งในส่วนการปฏิบัติขั้นที่ยังเกี่ยวข้องกับกิเลสหรือขั้นสำหรับปุถุชน เรียกว่า โลกิยธรรม และขั้นที่บริสุทธิ์จากกิเลสหรือขั้นสำหรับพระอริยบุคคล เรียกว่า โลกุตตรธรรม

ลักษณะของหลักธรรมทางพุทธศาสนาทั้ง 2 ระดับนั้นอาจจำแนกได้ 2 ลักษณะกว้าง ๆ ดังนี้

1) หลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมหมายถึง ความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ

2) ข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาหมายถึง หลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข ความสะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้ (พระธรรมปิฎก, 2546 : 6)

ทั้งนี้ หากจะสรุปลักษณะทั้ง 2 นี้ด้วยคำสั้น ๆ ก็คือ หลักความจริงและหลักความดี นั่นเอง ประเด็นสำคัญของหลักธรรมตามนัยทั้ง 2 นี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว เพราะหลีกไม่พ้นไปจากเรื่องของการปฏิบัติ กล่าวคือ หลักความจริงก็เป็นจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อมาเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเรา ก็จำเป็นต้องวางท่าทีกับความจริงให้ถูกต้อง ดังเช่น เรื่องชีวิตที่เป็นองค์รวมของขันธ์ 5 ซึ่งต้องมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์และเป็นไปตามกฏแห่งกรรม เป็นความจริงที่บริสุทธ์ตามกระบวนการธรรมชาติ ไม่อาจปฏิเสธได้ หากพยายามปฏิเสธหรือวางท่าทีไม่ถูกต้อง เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ผลก็คือ ความทุกข์ แต่หากรู้ เข้าใจและยอมรับตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติถูก เมื่อปฏิบัติถูกก็เป็นหลักความดี ผลของการปฏิบัติถูก ก็คือ ความดับทุกข์หรือความสุข ความสำคัญอันเป็นบทสรุปหลักธรรมทางพุทธศาสนาจึงอยู่ที่เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขและความดีงามนั่นเอง ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

ธรรมนั่นแหล่ะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ข้อนี้เป็นประโยชน์ ในเมื่อประพฤติธรรมดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ตกไปสู่ที่ต่ำทราม

จะเห็นได้ว่า หลักธรรมทางพุทธศาสนาจึงมีลักษณะเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้บรรลุความสุข โดยอยู่บนฐานของการรู้เท่าทันความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักธรรมทางพุทธศาสนาย่อมเข้ากันได้กับทุกแนวคิดในโลกที่เป็นไปเพื่อความสุขและอยู่บนฐานของความจริง หรือมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาชีวิตให้มวลมนุษย์ด้วยวิถีทางที่ไม่ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นอีก จากการศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ทราบชัดว่า เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนเหมือนกัน ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า หลักธรรมทางพุทธศาสนากับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายและวิธีการที่สอดคล้องกัน แต่หากจะหามุมมองที่ต่างกันก็มีตรงที่พุทธศาสนามีหลักปฏิบัติขั้นสูงที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสด้วย ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางปฏิบัติของบรรพชิตที่มีลักษณะพิเศษ คือ มุ่งสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นสำคัญ ในขณะที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้มุ่งหวังถึงขั้นนั้น

2 หลักธรรมทางพุทธศาสนากับการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ในพุทธศาสนามีแนวคิดและหลักธรรมที่เกี่ยวกับความพอเพียงหลายประการ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในที่นี้จะได้สรุปในลักษณะแนวคิดเชิงประยุกต์ใช้มานำเสนอไว้เพียงบางประการที่เป็นหลักสำคัญและมีส่วนสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง ดังนี้

2.1 แนวคิดเรื่องทางสายกลางคำว่า ทางสายกลางนี้ ตรงกับภาษาบาลีว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นแนวทางการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่การแสดงธรรมครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตมีใจความว่าด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะว่า เป็นทางดำเนินชีวิตที่ไม่ข้องแวะที่สุดสองอย่าง ได้แก่ การหมกหมุ่นในกามสุขและการทรมานตนเอง เป็นทางที่นำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสรรพสิ่ง มุ่งสู่ความสงบและความรู้ยิ่ง จนถึงขั้นตรัสรู้และบรรลุนิพพาน ทางสายกลางที่ว่านั้น คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

จากแนวคิดนี้ อาจจะสรุปลักษณะของทางสายกลางในเชิงประยุกต์ใช้สำหรับชีวิตฆราวาสทั่วไปได้ว่า เป็นหนทางที่มุ่งตรงสู่จุดหมายที่ดีงาม โดยไม่ข้องแวะในทางสุดโต่ง 2 อย่าง ได้แก่ วัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม ที่ยึดเอาความสะดวก สบาย ความสวงาม ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความอร่อยหรือเปลือกนอกของวัตถุต่าง ๆ ที่น่าชอบใจ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจในลักษณะที่หย่อนเกินไป คือ ปล่อยให้ตนเป็นทาสของวัตถุเกินไป และไม่ทำตัวให้ลำบาก เช่น ตระหนี่ไม่ยอมกิน ไม่ยอมจ่าย ไม่ยอมใช้ ไม่ยอมแบ่งปัน ปฏิบัติตัวในสิ่งที่ก่อให้เกิดความลำบากโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นทางที่ตึงเกินไป เป็นลักษณะของความไม่พอดี แต่ให้ดำเนินชีวิตสายกลาง คือ ถือหลักความพอดี พอเหมาะ ถูกต้อง ตรงกับเป้าหมาย โดยมีองค์ประกอบแห่งความพอดี 8 ประการ คือ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง(สัมมาทิฏฐิ) ความคิดที่ถูกต้องสอดคล้องกับเป้าหมายที่ดีงาม (สัมมาสังกัปปะ) การสื่อสารกับผู้อื่นอย่างถูกต้อง(สัมมาวาจา) การปฏิบัติตัวกับผู้อื่นในทางไม่เบียดเบียน (สัมมากัมมันตะ) การเลี้ยงชีพตนในทางสุจริต (สัมมาอาชีวะ) ความเพียรพยายามเพื่อพัฒนาตนเอง ละชั่วสร้างเสริมความดี (สัมมาวายามะ) ความระมัดระวังยั้งคิด(สัมมาสติ) และความสงบใจ (สัมมาสมาธิ)

กล่าวโดยสรุป คือ การดำเนินชีวิตอย่างพอดี โดยมีความรู้ความเข้าใจเป็นแกนนำ สร้างสรรค์พฤติกรรมและจิตใจให้ดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเองนั่นเอง สามารถส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี เพราะมีความสอดคล้องกันทั้งในฐานะที่เป็นทางสายกลาง แนวคิดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและองค์ประกอบของทางสายกลางในพุทธศาสนา คุณธรรมทั้ง 8 ประการนั้น (มรรค 8) ก็เป็นองค์รวมแห่งธรรมที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคล พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคคลทั้งด้านความรู้ ความคิด พฤติกรรมและจิตวิญญาณ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ มีความเข้มแข็ง ยอมรับกับสถาพความเป็นจริงหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดดุลยภาพทางสังคมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมตามความมุ่งหมายของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี เพราะหัวใจสำคัญขององค์คุณธรรมทั้ง 8 ประการนั้นอยู่ที่ ความพอดี ความถูกต้อง ความเหมาะสม (สัมมา)

2.2 แนวคิดเรื่องความสันโดษ ความสันโดษในทางพุทธศาสนานี้ หลายคนในสังคมยังไม่มีความเข้าใจถึงความหมายหรือลักษณะดีเท่าที่ควร มีไม่น้อยคนเลยที่เข้าใจว่าความสันโดษ คือ ความขี้เกียจ การไม่ขวนขวายดิ้นรน ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนา ซึ่งเป็นเหตุให้ชีวิตตกต่ำ สังคมและประเทศชาติก็ไม่ได้รับการพัฒนา เพราะว่าหลักคำสอนเรื่องสันโดษ ทำให้คนงอมืองอเท้า เป็นคนเกียจคร้าน ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ เป็นต้น ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจให้กระจ่างเรื่องความสันโดษ อันนับได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่พอเพียง

คำว่า สันโดษ ตรงกับภาษาบาลีว่า สนฺตุฏฺฐิ มีความหมายดังที่ปรากฏในมังคลัตถทีปนี 3 นัย (มหามกุฏาราชวิทยาลัย, 2515 : 224) ได้แก่

1) สันโดษ แปลว่า ยินดีสิ่งที่เป็นของตน กล่าวคือ ความพอใจของซึ่งเป็นส่วนของตน ไม่แสดงอาการรังเกียจหรือดูถูกปัจจัยสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนเองหามาได้จากการทำหน้าที่การงานต่าง ๆ โดยชอบธรรม ทั้งในเวลารับ ทั้งในเวลาใช้สอย ไม่ว่าสิ่งที่ตนได้มาเป็นของตนนั้น จะเป็นสิ่งที่ดี ประณีตสวยงามหรือไม่ก็ตาม ก็ยินดีด้วยสิ่งนั้น ด้วยความรู้สึกที่ว่า เราได้มันมาเป็นสมบัติของเราโดยถูกต้อง ไม่ผิดศีลธรรม กฏหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณีต่าง ๆ

2) สันโดษ แปลว่า ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ กล่าวคือ มีความพอใจยินดีในปัจจัยสิ่งของทรัพย์สินเงินทองที่เราได้มาแล้ว โดยปราศจากความรู้สึกมักมาก เสียใจ มีอยู่เท่าใด ก็พอใจเท่านั้น ไม่ทะยานอยากได้ในสิ่งที่มีไม่ได้และไม่ได้มี ไม่ปรารถนามากเกินกำลังความสามารถของตน และไม่มีความทะยานอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ซึ่งหมายถึง รู้จักพอประมาณนั่นเอง

3) สันโดษ แปลว่า ยินดีด้วยใจที่เสมอ กล่าวคือ การละจากความรู้สึกยินดียินร้ายในสิ่งที่น่าชอบใจน่าปรารถนา และในสิ่งที่ไม่น่าชอบใจไม่น่าปรารถนาซึ่งในทางพระเรียกว่า อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ความสันโดษตามความหมายนัยนี้ มุ่งถึงการวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่าง ๆที่มากระทบ อันเป็นเรื่องของโลกธรรม ทั้ง 8 ประการ คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ ความไม่เอนเอียงในจิตใจนี้ เกิดจากการพิจารณาด้วยปัญญาเพื่อให้เข้าใจทุกสิ่งตามความเป็นจริงตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่นที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่แน่นอน(อนิจจัง) มีความเกิดขึ้น(อุปปาทะ) ในเบื้องต้น มีความตั้งอยู่ (ฐิติ) ในท่ามกลางและมีความดับสลายไป (ภังคะ) ในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีสิ่งใดคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้(ทุกขัง)และทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เราไม่สามารถบังคับให้เป็นไปดังใจเราปรารถนาได้ทุกอย่างไป (อนัตตา) ดังนี้ เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะทำให้มีจิตใจที่สม่ำเสมอในทุกอารมณ์ที่มากระทบจิต มีทัศนคติเห็นภาพรวมของสรรพสิ่งเสมอกัน ไม่เดือดร้อนใจกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ลิงโลดใจกับสิ่งที่น่าปรารถนา ลักษณะนี้เรียกว่า ผู้สันโดษด้วยใจที่เสมอ

จากความหมายของ สันโดษทั้ง 3 นัยนี้ สรุปได้ว่า ความสันโดษ หมายถึง ความพอใจยินดีในสิ่งที่ตนมี ตนได้ ด้วยจิตใจมั่นคง ความสันโดษในทางพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของการวางใจไม่ให้เป็นทุกข์ ยอมรับสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับการมีการได้นั่นเอง หากทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า มีจิตใจที่ดีงามและถือว่ามีทรัพย์ภายในอันสำคัญทีเดียว ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ทรัพยมีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง

ในยุคปัจจุบันนี้ มีปัญหาทางสังคมมากมายที่เกิดขึ้นเพราะขาดความสันโดษ แต่กลับมีธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสันโดษเข้าแทนที่ คือ ตัณหา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การพยายามทำความเข้าใจเรื่องสันโดษในสังคมไทย ให้เห็นว่า ความสันโดษเป็นเรื่องของสภาพจิตใจที่ยอมรับความเป็นจริงอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่การงอมืองอเท้า เกียจคร้านอย่างที่เข้าใจกันโดยมากนั้น เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และที่สำคัญต้องตระหนักเสมอว่า ความสันโดษมิใช่เป็นหลักธรรมที่จะปฏิบัติเพียงอย่างเดียวแล้วจะบรรลุคุณความดีได้ เพราะเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องสันโดษ พระองค์จะตรัสย้ำว่าให้มีความสันโดษในวัตถุที่เกินความจำเป็นแต่ไม่ให้สันโดษในธรรมและให้มีความเพียรพยายามกำกับในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เสมอ หลักสันโดษจึงเป็นอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งสามารถส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี

3.3 แนวทางการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน

แนวคิดเรื่องความสันโดษ จัดเป็นหลักธรรมพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตที่พอเพียง และเป็นเสมือนธรรมฝ่ายรับ คือ เป็นคุณธรรมที่มีไว้สำหรับรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยภาวะจิตที่เป็นสุข ซึ่งควรเชื่อมโยงกับหลักธรรมฝ่ายรุกอีกประการหนึ่ง อันเป็นหลักที่จะอำนวยสุขในชีวิตปัจจุบัน กล่าวคือ หลักทิฏฐธัมมิกัตถะ 4 (ประโยชน์ในภพปัจจุบัน) พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนแก่อุชชัยพราหมณ์ ในขณะที่เข้าไปเฝ้า เพื่อกราบทูลขอให้พระองค์แสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขภายหน้าให้ฟัง เนื่องจากตนจะย้ายไปอยู่ในต่างถิ่น พระพุทธองค์จึงตรัสสอน ดังความปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า

ดูฏ่อนพราหมณ์ ธรรม 4 ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน กล่าวคือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา และสมชีวิตา

(1) อุฏฐานสัมปทา คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงานเธอเป็นผู้ขยันชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้านในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวน ตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ สามารถทำ สามารถจัดการ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

(2) อารักขสัมปทา คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์มาก ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรแล้วเธอจัดการคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้โดยพิจารณาว่าทำอย่างไร พระราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคทรัพย์เหล่านั้นเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้ไปเสีย น้ำไม่พึงพัดพาไปเสีย นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

(3) กัลยาณมิตตตา คือ กุลบุตรเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือตำบลใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศัย ถกถ้อยปรึกษากับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธาศีลจาคะและ(ปัญญา)เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธาศีลจาคะ…(และ)ปัญญาของเขานี้เรียกว่า กัลยามิตตตา

(4) สมชีวิตาคือ กุลบุตรเป็นผู้เลี้ยงชีวิตเหมาะสม ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางเสื่อมถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งหรือลูกมือคนชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้วย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้ ถ้าหากกุลบุตรนี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ก็จะมีผู้กล่าวหาเอาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้สมบัติเหมือนกินมะเดื่อ ถ้ากุลบุตรนี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้คงจะตายอย่างคนอนาถา แต่ด้วยเหตุที่กุลบุตรเลี้ยงชีวิตเหมาะสมจึงเรียกว่า สมชีวิตา

ดูก่อนพราหมณ์ โภคะที่เกิดขึ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีช่องทางเสื่อม(อบายมุข) 4 ประการ คือ เป็นนักเลงเที่ยวผู้หญิง เป็นนักเลงดื่มสุรา เป็นนักเลงเล่นการพนันและคบคนชั่วเป็นมิตร …”

ต่อจากนั้น พระองค์ก็ได้ตรัสประโยชน์ที่ควรบำเพ็ญเพื่อผลในภพหน้าที่เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ 4 ประการ คือ สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) จาคะสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ)และปัญญาสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) แก่พราหมณ์

จากพระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้ ย่อมทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องประโยชน์สุขในปัจจุบันว่า การจะดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์สุข มีฐานะมั่นคง สมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีธรรม 4 ประการ ซึ่งโบราณท่านเรียกว่า หัวใจเศรษฐี (อุ อา ก ส) โดยสรุปคือ

(1) ขยันสรรหา (อุฏฐานสัมปทา) ได้แก่ ขยัน มานะ บากบั่น ต่อสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่เกียจคร้าน ในการทำกิจหน้าที่การงาน โดยทำงานต่าง ๆ ด้วยความชำนิชำนาญ ด้วยความรู้ความเข้าใจ

(2) รักษาดี (อารักขสัมปทา) ได้แก่ รู้จักเก็บออม คุ้มครองรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายหรือเสียหาย ด้วยกรณีต่าง ๆ

(3) มีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) ได้แก่ สมาคมกับมิตรที่ดี เพราะมิตรดีย่อมไม่ชักนำในทางเสื่อมเสีย และสามารถชี้แนะ ให้คติในการดำเนินชีวิตแก่ผู้อื่น

(4) เลี้ยงชีวิตพอเพียง (สมชีวิตา) ได้แก่ รู้จักจับจ่าย ใช้สอยให้เหมาะสมกับฐานะและความจำเป็น โดยมีหลักสันโดษเป็นพื้นฐาน

นอกจากนี้ การที่จะให้ฐานะชีวิตมั่นคง และมีชีวิตที่เป็นสุขได้นั้น ก็ต้องเลี่ยงอบายมุขให้ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในตอนท้ายของพระพุทธพจน์ข้างต้น เพราะอบายมุขนั้น ล้วนเป็นส่วนเกินของชีวิตและนำพาชีวิตให้มัวเมา จนต้องเสียหาย เสียศูนย์และสูญเสียในที่สุด ด้วยว่า การเป็นนักเลงเที่ยวผู้หญิงก็ดี เป็นนักเลงดื่มสุราก็ดี เป็นนักเลงเล่นการพนันก็ดี คบคนชั่วเป็นมิตรก็ดี ล้วนเกินมาจากตัณหา ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูลรากและมีความทุกข์เป็นดอกผล ทุกท่านผู้หวังความเจริญจึงควรหลีกเว้นให้ไกล ดุจหลีกหนีอสรพิษที่มีพิษร้าย ไม่ควรเข้าใกล้ ไม่ควรส้องเสพโดยเด็ดขาด

เราควรหันมาทำความศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้ชัดเจน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและนำไปประพฤติปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราได้ยินคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือ ชีวิตพอเพียง กันอยู่นี้ ถือเป็นช่วงโอกาสสำคัญ ที่เราจะได้เลือกดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเพื่อวิกฤติทางเศษฐกิจและสังคมจะได้ลดลง ที่สำคัญหากทุกคนจับประเด็นสำคัญของการดำเนินชีวิตทั้งในแง่เป้าหมาย และวิธีการได้ คือ มีความสันติสุขเป็นเป้าหมาย มีหลักการดำเนินชีวิตที่พอเพียงตามแนวพุทธศาสนา เป็นวิธีการที่อาศัยสันโดษเป็นพื้นฐาน อาศัยทิฏฐธัมมิกัตถะ 4 เป็นกระบวนการและอาศัยการเว้นจากอบายมุขทุกชนิดเป็นกำแพงกั้นความเสื่อม เชื่อแน่ว่า ความสันติสุขของบุคคลและสังคมอยู่จะเป็นจริงได้อย่างยั่งยืน

4. บทสรุป

วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาในสังคมโลกและสังคมไทย ถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ชาวไทยทุกคน ควรทำความเข้าใจ เพื่อสืบเสาะหาสาเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ แล้วดำเนินการหาวิธีแก้ไขปัญหา ตามหลักอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยมุ่งแก้ปัญหาที่สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา กล่าวคือ ความทะยานอยากหรือความต้องการที่ไม่รู้จักพอของมนุษย์ เพราะหากบรรเทาหรือหยุดอำนาจของตัณหาภายในบุคคลเสียได้ก็สามารถแก้ไขปัญหาทั้งมวลของมนุษย์ได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้มรรควิธี คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของความรู้และคุณธรรมตามหลักพุทธศาสนามาเป็นเครื่องขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่เกิดจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมุ่งหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้ โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2516 จากนั้น พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในแนวทางของความพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับ ทฤษฎีใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรในภาคเกษตรมีชีวิตที่พอเพียงอย่างประสบผลสำเร็จ ถึงแม้ว่าในระยะแรกภาครัฐยังไม่ได้สนใจทุ่มเทกับแนวพระราชดำริอย่างจริงจังมากนัก จนกระทั่งเกิดปัญหาภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2540 แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เติบโตและขยายผลออกไปจากภาวะที่เป็นปัญหา จนสามารถดำรงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก เพราะเป็นแนวคิดที่ได้อาศัยพื้นฐานจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยและแนวธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนามาเป็นแกนสำคัญ คือ ทางสายกลาง และความสันโดษ ซึ่งเป็นที่มาของความพอเพียง อันหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน โดยอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดีซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือ ศักยภาพในการพึ่งตนเองและดุลยภาพแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแล้วนำมาวิเคราะห์หลักธรรมทางพุทธศาสนาประกอบกัน พบว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาหลาย ๆ ประการ จึงอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา เพราะมีหลักธรรมทางพุทธศาสนาปรากฏในแนวคิด ช่วยส่งเสริม สนับสนุน สร้างความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การส่งเสริมให้มีการเผยแผ่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับการเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง พุทธศาสนิกชนก็จะได้รับประโยชน์จากการนับถือศาสนาได้อย่างเต็มที่ ในอีกด้านหนึ่ง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายอยู่นี้ก็จะมีความชัดเจนในเชิงนโยบายมากขึ้น และในทางปฏิบัติเมื่อนำพุทธศาสนามาควบคู่กันด้วยก็ยิ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งขึ้นด้วย