อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ วัตถุประสงค์

ความเป็นมาของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
          ใน ปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) ได้มีการยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น โดยองค์กรพัฒนาเอกชน IUCN (The World Conservation Union) และในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้รับการลงนามจาก 157 ประเทศ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development; UNCED) ในระหว่างวันที่ 5-14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ ริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล หลังจากนั้น อนุสัญญาฯ ได้เปิดให้ลงนามจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ซึ่งมี 167 ประเทศ และสหภาพยุโรป ได้ลงนามรับรองในอนุสัญญาฯ

วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
อนุสัญญาฯ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ประการ คือ
เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

          อนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่ยอมรับกันในแวดวงของนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนักกฎหมายระหว่าง ประเทศว่า เป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของความหลากหลายทาง ชีวภาพ ครอบคลุมการอนุรักษ์ทั้งชนิดพันธุ์ พันธุกรรม และระบบนิเวศ

ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับระบบนิเวศ ซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพคือต้นทางของแหล่งอาหารซึ่งจะกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น รวมถึงใช้เป็นแหล่งยารักษาโรคและประโยชน์ด้านต่างๆ อีกนานัปการ

พื้นที่ป่าตามธรรมชาติในประเทศไทย มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เป็นอย่างยิ่งเพราะตั้งอยู่ในโซนร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตร ติดทะเล ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ความอุดมสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย สามารถนำมาใช้เป็นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ 

ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ดำเนินงานด้านต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดตามอนุสัญญาฯ ร่วมกับประเทศภาคีอนุสัญญาฯ เช่น การจัดทำกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 จัดกิจกรรมวันสากลความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2020 รายงานสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ฉบับที่ 5 (The Fifth Global Biodiversity Outlook: GBO5) การประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Summit on Biodiversity) รวมถึงการประชุมต่าง ๆ ของอนุสัญญาฯ

ด้านการดำเนินงานภายในประเทศ สผ.ได้ปฏิบัติงานในฐานะฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) มีหน้าที่ในการเสนอแนวทางและนโยบาย มาตรการ และแผนงานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบูรณาการเชื่อมโยงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ภายใต้แผนให้บรรลุเป้าหมาย ขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ปีพ.ศ. 2558 – 2564 ซึ่งเป็นแผนหลักด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ โดยนำแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพปี ค.ศ. 2011-2020 (พ.ศ.2554 – 2563) ซึ่งเป็นแผนระดับโลก มาเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงาน มุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าว มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 2 6 14 และ 15 ที่ให้ความสำคัญกับการดำรงรักษา ปกป้อง ฟื้นฟู และหยุดยั้งการคุกคาม ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม รวมถึงสนับสนุนการบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก และทะเลอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น สผ. ยังได้จัดทำทะเบียนสถานภาพของชนิดพันธุ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย เพื่อปรับปรุงทะเบียนสถานภาพของชนิดพันธุ์สัตว์กลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง และจัดทำทะเบียนสถานภาพของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในกลุ่มมอลลัสกา กลุ่มครัสเตเชียน และกลุ่มปะการัง เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลสถานภาพสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลังที่มีความครอบคลุมและเป็นปัจจุบัน รวมถึงให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการประกอบการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่ออนุรักษ์ชนิดพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ….. เพื่อใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้เป็นเอกภาพ ที่ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นการปิดช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่นโยบายของภาคส่วนต่างๆ

ทั้งนี้ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯมีสาระครอบคลุมการส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างสมรรถนะและแรงจูงใจ รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม การป้องกันและลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) ตลอดจนการป้องกัน เยียวยา หรือแก้ไขในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

สผ. ได้จัดทำมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ควบคุม กำจัด เฝ้าระวัง และติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานและยังไม่รุกรานเข้ามาในประเทศ พร้อมกับได้จัดทำทะเบียนรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย

รวมทั้ง ได้จัดลำดับความสำคัญของชนิดพันธุ์ที่รุกราน และเส้นทางการแพร่ระบาด พร้อมแนวทางการควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญลำดับสูง และในปีพ.ศ. 2564 สผ. ได้ดำเนินโครงการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูงในระดับพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงสร้างความเข้าใจ และความตระหนักในบทบาทของหน่วยงาน และชุมชนในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในระดับพื้นที่

สผ. ได้ศึกษาประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เพื่อศึกษาและประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ ได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา พื้นที่แห้งแล้งกึ่งชื้น แหล่งน้ำในแผ่นดิน เกษตร ทะเลและชายฝั่ง และนิเวศเกาะ สถานภาพชนิดพันธุ์ (สัตว์ พืช จุลินทรีย์) สถานภาพการสูญเสียทรัพยากรพันธุกรรมและประเด็นสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกลไก มาตรการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และคาดการณ์สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

จัดทำและเผยแพร่โดย : กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม