เพลง round คือ เพลงที่ร้องคนละท่อนและร้องพร้อมกัน

เริ่มกันด้วยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ฉบับปี พ.ศ. 2537 (รวมไปถึงพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 กับ ฉบับที่ 3 ที่อัพเดทขึ้นในปี พ.ศ. 2558) ได้มีกล่าวไว้ชัดเจนว่า การทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปค้าขายต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดแน่นอน

และในส่วนที่คนส่วนมากน่าจะรู้กันดีก็คือ เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หรือ ‘ดนตรีกรรม’ นอกจากจะพูดถึงเรื่องการทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปขายโดยไม่ได้รับอนุญาต (สั้นๆ คือ แผ่นเถื่อน) แล้ว ในตัวบทกฎหมายยังมีการขยายความเพิ่มเติมให้รวมถึง “จัดลำดับเรียบเรียงเสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่” ดังนั้นด้วยพื้นเพของพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์แล้ว การ Remix โดยที่เจ้าของไม่โอเคเซย์เยสก็จะเป็นความผิดโดยอัตโนมัตินั่นเอง (แต่ถ้าเกิดกรณีไม่เคลียร์ขึ้นมาก็ต้องไปสู้คดีกันในศาลต่อ ดังนั้นอัลบั้มรีมิกซ์สามช่าที่ทำกันเองอาจจะต้องระวังกันนิดนะจ๊ะ)

 

การ Sampling เพลงคืออะไร ทำได้แค่ไหน

คราวนี้วนมาถึงเรื่อง Sampling ของฝั่งวงการดนตรีกันต่อ การ Sampling คือการหยิบยกเอาทำนองบ้าง ท่อนร้องบ้าง มาใช้เป็นท่อนหนึ่งหรือส่วนหนึ่งของเพลง ซึ่งการกระทำแบบนี้ในฝั่งเพลงฝรั่งทำกันจนเป็นเรื่องปกติระดับหนึ่งแล้ว ตัวอย่างเพลงดังก็อย่างเช่น เพลง Right Round ของ Flo Rida กับ Ke$ha ได้ยกท่อนสร้อยของเพลง You Spin Me Round (Like a Record) มาใช้เป็นท่อนเปิด หรือท่อนสร้อยของเพลง Don’t โดย Ed Sheeran ก็ใช้ Sampling มาจากทำนองของเพลง Don’t Mess with My Man ของ Lucy Pearl หรือแม้แต่เสียงสัญญาณเตือนภัยในซีรีส์ Star Trek ก็ยังกลายไปเป็น Sampling ในเพลง Problem ของ Ariana Grande อีกที

การ Sampling ในฝั่งต่างประเทศนั้น มีทั้งข้อดีที่ทำให้เกิดท่อนที่น่าจดจำของเพลงดังเกิดขี้นมาหลายๆ เพลง (ในแง่มุมขำๆ ก็คือทำให้เครดิตของเพลงหลายๆ เพลงยาวขึ้นมาก… ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีนะเพราะเขาลงรายละเอียดครบ) แต่หลายครั้งการ Sampling ก็เกิดเป็นคดีความขึ้นมาเช่นกัน ตัวอย่างเพลงเก่าหน่อยที่กลายเป็นคดีก็เช่นเพลง Ice Ice Baby ของ Vanilla Ice ที่มีท่อนการเดินเบสในเพลงคล้ายกับเพลง Under Pressure ของวง Queen และ David Bowie แต่ในอัลบั้มของ Vanilla Ice ไม่ได้ลงเครดิตใดๆ (หรือจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์) ว่าเขาเอาท่อนนี้มาจากไหน และหลังจากสู้คดีกันหลายครั้ง สุดท้ายเพลงดังข้างต้นก็ต้องใส่ชื่อของ Freddy Mercury (จากวง Queen) และ David Bowie ลงไปในเครดิตเพลง

หรือถ้าอย่างดราม่าหนักๆ อีกกรณีก็คือเพลง Blurred Line ที่ครอบครัวของ Marvin Gaye ฟ้องทาง Robin Thicke, T.I., กับ Pharrell Williams ที่ก่อเกิดบรรทัดฐานใหม่ว่าเพลงที่มี ‘บรรยากาศคล้ายกัน’ ก็เอาชนะคดีความได้ จนทำให้นักร้องนักดนตรีฝั่งอเมริการวมตัวประท้วงขึ้นมา ว่าถ้าเคสนี้สิ้นสุดลงอาจจะกลายเป็นการปิดกันการสร้างดนตรีใหม่ๆ ไปโดยปริยาย

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคดีใดเลยที่มีคนนำทำนองเพลงไปใช้แล้วสามารถสู้คดีจนหลุดพ้นข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างเช่นคดีของวง 2 Live Crew ที่ทำเพลง Pretty Woman ออกมาเป็นเพลงแซว ‘Oh, Pretty Woman’ (เพลงที่ใช้ประกอบในภาพยนตร์ ผู้หญิงบานฉ่ำ เรื่องนั้นล่ะครับ) ที่ทางวงไม่ได้แต่งทำนองใหม่เลยแม้แต่เมโลดี้เดียว แต่เนื้อหาของเพลงนั้นเป็นการเล่นมุกสวนกับเพลงต้นฉบับ และทางวงก็สามารถเอาชนะคดีนี้ได้ โดยที่ทางศาลสูงของอเมริกาได้ตัดสินว่า วงดังกล่าวทำเพลงออกมาอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ Fair Use จึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับใดๆ

เพลง round คือ เพลงที่ร้องคนละท่อนและร้องพร้อมกัน

อัลบั้มของ 2 Live Crew ที่มีเพลง Pretty Woman /  gangstaraptalk.com

 

แล้ว Fair Use ล่ะ เล่าซิ

คำว่า Fair Use ที่ถูกกล่าวถึงตะกี้นี้ มีนิยามกันในวิกิพีเดียประเทศไทยว่า การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ เป็นหลักการที่อนุญาตให้ใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์โดย ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ใช้ในการวิจารณ์ เสิร์ชเอนจิน การล้อเลียน การรายงานข่าว งานวิจัย การเรียนการสอน การเก็บ
งานเอกสาร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ถ้าคุณเข้ามาดูใน Youtube จึงได้เห็นคลิปแนว Parody หรือแนวรีวิววิเคราะห์หนังแบบชัดแจ้งชัดเจนอยู่มากมายด้วยข้ออนุญาตจากกฎหมายตัวนี้ ซึ่งในประเทศอื่นหลายๆ แห่งก็อาจจะมีมาตรากฎหมายที่ใกล้เคียงกันออกมา

งั้นเราจะลองพิเคราะห์ไปยังตัวบทกฎหมายในปัจจุบันของไทยเรา ที่มีข้อยกเว้นละเมิดลิขสิทธิ์ระบุไว้ใน พรบ. ลิขสิทธิ์ ถ้าเอาในส่วนของเพลงที่มีการยกเว้นละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจนมีเพียงกรณีตาม มาตรา ๓๖ ระบุไว้ว่า

“การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมและนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์”

 

ดังนั้นสำหรับในประเทศไทย ณ เวลา นี้ การนำเพลงที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาตไปสร้างรายได้ไม่ว่าจะในช่องทางไหนก็ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จนกว่าจะมีคดีซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ (กระนั้นในกรณีเปิดเพลงตามร้านค้า หรือร้องเพลงตามร้านอาหาร หรือ ผับ ก็มีเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงหลายเพลงยินดีที่จะให้นำไปใช้กันฟรีๆ ขอให้เช็กข้อมูลกับทางเจ้าของเพลงด้วยจ้ะ)

 

ในช่วงนี้อย่างที่ทุกท่านน่าจะได้ยินเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่บ่อยครั้ง เพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงนั้น ลิขสิทธิ์ถือว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเอง และมีระเบียบสำนักราชเลขาธิการ ว่าด้วยการเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้ ที่ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกต่างหาก

คือสามารถนำเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ไปทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ แต่ให้ลงรายละเอียด แบบละเอียดมาก อย่างเช่น แจ้งวัตถุประสงค์และจำนวนเพลงที่ใช้แสดง หรือ บันทึกอย่างชัดแจ้ง  ถ้าจะทำการ Arrange เพลงใหม่ต้องส่งทั้ง Score เพลง หรือตัวอย่าง Part ที่มีตัวอย่างแล้ว แจ้งจำนวนที่ประสงค์จัดจำหน่าย (ยอดผลิต) ลง Copyright หรือข้อความแสดงลิขสิทธิ์ของเพลงให้ถูกต้อง ฯลฯ

เมื่อได้รับอนุญาต ทางสำนักราชเลขาธิการก็จะส่งจดหมายเวียนแจ้งหน่วยงานต่างๆ ในกรณีของสินค้าที่ได้รับอนุญาต เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วต้องส่งตัวอย่างกลับไปจำนวนหนึ่ง และการพระราชทานพระบรมราชานุญาตมีผลครั้งเดียวเท่านั้น หากต้องการผลิตซ้ำก็ต้องขออนุญาตใหม่ (อันเป็นเหตุว่า อัลบั้มเพลงพระราชนิพนธ์บางอัลบั้ม ผลิตแค่ไม่กี่ครั้งแล้วหาได้ยากยิ่ง) ส่วนในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ ของเพลงพระราชนิพนธ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นตัวแทนในการตรวจสอบและประสานงานดำเนินกฎหมายต่อไป (สามารถโหลดอ่านรายละเอียดดังกล่าวได้ที่นี่ )

 

ขอบเขตของการนำคลิปและภาพมาใช้อยู่ตรงไหน

มากันที่เรื่องลิขสิทธิ์ในการใช้ภาพ กับคลิปวิดีโอ ที่ชวนมึนมากกว่าเพลงนิดหน่อย เพราะเพลงนั้นส่วนใหญ่ก็ทำมาเพื่อจัดจำหน่ายต่อ แต่ในเคสของรูปถ่าย หรือ คลิปวิดีโอ มีความซับซ้อนนิดหน่อย

ถ้าภาพหรือคลิปเหล่านั้นตั้งใจถ่ายทำมาเพื่อซื้อขายต่ออยู่แล้ว อย่างภาพ หรือคลิปในเว็บไซต์ Shutterstock ถ้าคุณไปได้ภาพเหล่านั้นแบบไม่มีลายน้ำ ไม่มีการเซ็นเซอร์ แล้วเอามาใช้งานแบบมั่วๆ เมาๆ ไม่ได้ใช้แบบที่เขาอนุญาตให้ใช้ในลักษณะ Fair Use หรือ Creative Commons แบบนี้คนใช้คนนั้นก็โดนคดีละเมิดแบบนอนแน่

เพลง round คือ เพลงที่ร้องคนละท่อนและร้องพร้อมกัน

ตัวอย่างภาพ Public Domain โดย Carol M. Highsmith ถ่าย Nelson Atkins Art Museum ไว้แล้วอุทิศให้สาธารณะ /  Library of Congress

อีกกรณีที่ในยุคนี้มีปัญหามากขึ้น อันเนื่องจากที่หลายท่านพกกล้องติดตัวจนสามารถถ่ายภาพหรืออัดคลิปแล้วอัพขึ้นสื่อสังคอมออนไลน์ที่สมัครกันไว้ หลายๆ ครั้งภาพของช่างกล้องสมัครเล่นนี้ สดกว่า ดิบกว่า และออกมารวดเร็วกว่าตากล้องมืออาชีพ แน่นอนว่า คลิปหรือภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายด้วยอุปกรณ์ทันสมัย มักจะไม่อยู่ในสภาพ ‘สมบัติสาธารณะ’ (Public Domain) ที่ใครก็สามารถหยิบภาพเอาไปใช้ได้อย่างที่คนบางกลุ่มเข้าใจกัน เพราะคลิปในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่นี้ก็ถือว่าลิขสิทธิ์จะตกอยู่กับผู้ถ่ายนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าอยากใช้ภาพหรือคลิปเหล่านี้ก็ควรขออนุญาตเจ้าของโดยตรง แล้วแชร์พร้อมระบุแหล่งที่มาอย่างชัดแจ้งเอาไว้โดยไม่มุบมิบโมเมว่าเราถ่ายมาเอง (ส่วนการจะให้สินน้ำใจเจ้าของไฟล์ภาพต้นทางเหล่านี้หรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคนที่นำไปใช้ต่อล้วนๆ)

แต่ก็ใช่ว่ารูปที่อยู่ในเว็บขายรูปเหล่านั้นจะถูกต้องเสมอไปเช่นกัน อย่างในปีนี้ก็มีคดีอันเกิดจากบริษัทดูแลลิขสิทธิ์รูปภาพให้เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Getty Image ไปขายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคนถ่ายที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริง (ภาพตัวอย่างดังกล่าวอยู่ด้านบน และคดียังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด)

 

อีกส่วนหนึ่งที่น่าจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ทั้งต่อผู้เขียน และคนที่ศึกษาเรื่องลิขสิทธิ์ก็คงไม่พ้นการนำเอา ภาพ หรือ คลิป มายำกัน จนกลายเป็นภาพใหม่ คลิปใหม่ จะถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่… ส่วนนี้จากข้อมูลหลายๆ ทาง เรื่องนี้ถือว่าชวนสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะหลายๆ ท่านนำเอาประเด็นการใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ หรือ Fair Use มาอ้างอิง บางท่านอ้างว่าขึ้นอยู่กับ ‘ความยาว’ ของคลิปบ้าง (บ้างก็อ้างไป 6, 7, 28, 30 วินาที ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เป็นอาทิ)

ตัวอย่างคลิป Mash-Up ที่ยำทั้งภาพและเพลง

Youtube เองก็อธิบายเรื่องการ Remix หรือ Mash-Up คลิป ว่าสามารถทำได้โดยอ้างองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งการที่ต้นฉบับที่ถูกนำมายำอนุญาตให้คนอื่นไปยำไหม, คลิปที่โดนยำแล้วถูกทำขึ้นมาในเชิงโฆษณาการค้าหรือไม่, ใจความของคลิปที่โดนยกไปจะทำให้คลิปต้นทางเกิดปัญหาไม่ว่าจะในแง่มุมใดหรือเปล่า? ซึ่งถ้าคลิปของผู้ที่นำมายำข้ามพ้นประเด็นเหล่านี้ได้ ก็ถือว่าเป็นคลิปที่อยู่ในภาวะ Fair Use

เมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าฝ่ายกฎหมายในหลายๆ แห่ง ให้ความเห็นที่เห็นพ้องและสอดคล้องกันกับ อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องลิขสิทธิ์ก็จะกลับมาที่บทสรุปว่า ตราบใดที่เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์หรือทำข่าว ก็สามารถนำเอาภาพตัดต่อใหม่ หรือ คลิปยำ มานำเสนอได้โดยไม่ผิดลิขสิทธิ์ (แต่ก็ควรจะให้เครดิตต้นทาง) กระนั้นถ้าเจ้าของสิทธิ์ในภาพกับคลิปเหล่านั้นไม่พึงพอใจกับภาพหรือคลิปใหม่ก็สามารถดำเนินเรื่องฟ้องร้องได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท Nintendo ของญี่ปุ่นที่ไม่โอเคกับการที่มีคนเอาคลิปมาเล่นเกมโชว์บน Youtube จึงมีการขอให้ลบคลิปแทบทุกคลิปที่มีการยำเนื้อหาเกมมาแสดง รวมถึงพยายามหาทางฟ้องร้อง Game Caster หลายท่าน

 

ส่วนบทความที่แปลจากต่างประเทศที่ดราม่ากันบ่อยๆ ตามเว็บแนว Clickbait นั้น อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เคยกล่าวไว้ว่า

การแปลข่าวจากเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีการ re-write หรือ เรียบเรียงใหม่ (แน่นอนว่าต้องลงที่มาด้วย) ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเว็บไหนที่ก็อปแปะเนื้อหากันดื้อๆ โดยไม่ได้แก้ พิมพ์ผิดแบบไหนไว้ก็พลาดมันตรงนั้น แบบนี้มีสิทธิ์โดนฟ้องได้โดยผู้ที่ถือสิทธิ์บทความนั้นแน่ๆ

 

สำหรับประเทศไทย ในแง่รายงานข่าว หรือการวิจารณ์ และวิจัยนั้น ตามจริงใน พรบ. ลิขสิทธิ์ เขียนระบุไว้ในข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรา 32 อยู่แล้วว่าสามารถกระทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหยิบจับเอาเพลงพวกนี้มายัดไส้ตอนไหนก็ได้ตามใจฉัน เพราะในบทบัญญัติเหล่านั้นเขียนระบุไว้ชัดเจนว่า การเอาเพลง หนัง หรือภาพ มาตัดต่อ สามารถนำเสนอรายงานได้ “โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น” ด้วยเหตุนี้เองถ้าคุณสังเกตตามรายการข่าวตามทีวีในยุคนี้ (รวมถึง The MATTER เอง) จะพยายามระบุว่า เอาเพลงมาจาก Youtube User ไหน Facebook Fan Page ใด หรือถ้า เอาภาพมาจากเว็บใด ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะรายงานนำเสนอไม่ได้กะเอาของมาใช้ฟรีนั่นแล