ตัวอย่าง ผล งาน ดี เด่น สามัญ วิศวกร โยธา

“วุฒิวิศวกรโยธา (สอบสัมภาษณ์)” ขออนุญาตเล่าประสบการณ์บรรยากาศการสัมภาษณ์สอบเลื่อนระดับเป็น “วุฒิวิศวกรโยธา” เนื่องจากที่กระผมได้แชร์ตัวอย่างเขียนรายงานของกระผมเอง แล้วมีเพื่อนๆวิศวกรสนใจ และโทรมาสอบถามเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการเตรียมผลงาน การเขียนรายงาน และคำถามต่างๆขณะที่สัมภาษณ์ ซึ่งผมได้รวบรวมคำถามต่างๆมาตอบกันชัดๆอีกครั้งในเพจนี้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับวิศวกรท่านอื่นๆที่สนใจ แต่ต้องเรียนตามตรงก่อนว่า สิ่งที่เขียนเผยแพร่ไปทั้งหมดนี้ เป็นเพียงประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกระผมคนเดียวนะครับ ซึ่งท่านจะนำไปเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ แต่พอจะทำให้มองเห็นภาพรวมๆกว้างๆได้ครับ

1. เตรียมตัวสร้างผลงานเพื่อเป็น วุฒิวิศวกรโยธา (วย.)

หลังจากที่กระผมได้เลื่อนระดับจาก ภาคีวิศวกรโยธา (ภย.) เป็น สามัญวิศวกรโยธา (สย.) แล้ว กระผมจะต้องเป็น สย. ไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะเลื่อนระดับเป็นวุฒิวิศวกรโยธา (วย.) ได้ ตามข้อกำหนดของสภาวิศวกร และต้องใช้ผลงานดีเด่น 2-3 โครงการเพื่อใช้เขียนรายงาน ดังนั้นกระผมมีเวลา 5 ปี ในการรวบรวมผลงานที่เหมาะสมในการเลื่อนระดับครั้งนี้ กระผมได้สรุปขั้นตอนการรวบรวมผลงานเป็นข้อๆดังนี้

1.1 ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น วุฒิวิศวกรโยธา (วย.) - ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะมันเป็นการกำหนดทิศทาง และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ

1.2 ศึกษาการเขียนรายงานผลงานดีเด่น, รายละเอียดแค่ไหน (ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป)

1.3 โครงการที่รับผิดชอบ ควรมีโครงสร้างอาคารเข้าข่ายวิศวกรรมควบคุม ซึ่งมีการใช้ความรู้ทางวิศวกรรมค่อนข้างมาก เป็นโครงสร้างไม่ปกติ ควรมีความพิเศษบางประการที่ไม่ค่อยได้พบทั่วไป

1.4 มีส่วนร่วมในโครงการในฐานะผู้ออกแบบโครงสร้าง หรือผู้ควบคุมงาน

1.5 เก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เพื่อใช้เขียนรายงานจะต้องครบถ้วน ซึ่งรวมไปถึงภาพรวมของโครงการ เช่น การประกอบธุรกิจของเจ้าของโครงการ เงินทุน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน ฯลฯ (ถ้ามี) เป็นต้น

1.6 ถึงแม้จะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง จำเป็นต้องดูแลหน้างานอย่างใกล้ชิด ออกหน้างานบ่อยๆ คอยสอดส่องดูแลปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น คอยให้คำแนะนำ และติดตามการแก้ปัญหาต่างๆ

1.7 ถ่ายรูปเก็บไว้ทุกขั้นตอนในการก่อสร้าง และการแก้ไขปัญหาต่างๆ คือ เมื่อเกิดปัญหา ขณะแก้ปัญหา ผลของการแก้ปัญหา และวิธีทดสอบ (ถ้ามี)

1.8 บันทึกทางเลือกในการแก้ไขปัญหา อย่างน้อยปัญหาละ 2-3 ทางเลือก ในแต่ละทางเลือกใช้หลักวิชาการอะไร คำนวณอย่างไร และเหตุผลที่ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกใดๆเพราะอะไร ข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร ซึ่งเกี่ยวข้องกับ คุณภาพ เวลา วัสดุ เงิน คนงาน หรือเงื่อนพิเศษอื่นๆ อย่างไร

1.9 ดำเนินการข้อที่ 1.6-1.8 อย่างเคร่งครัดจนกว่าจะจบโครงการ และเปิดใช้บริการ

หมายเหตุ โครงการอื่นๆที่ไม่ใช่โครงการเป้าหมายในการเขียนรายงาน ก็ยังคงต้องเก็บข้อมูลต่างๆด้วย แต่อาจจะลดความละเอียดลงได้ เพราะอย่างไรก็ต้องนำมาใช้แสดงในรายการบัญชีแสดงปริมาณ และคุณภาพผลงานฯ

2. เตรียมตัวเขียนรายงาน

จากการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบตามขั้นตอน 1.5-1.9 จำนวน 2-3 โครงการ ก็นำมาสังเคราะห์ เรียบเรียง แล้วเขียนเป็นรายงานที่จะใช้ในการยื่นขอเลื่อนระดับเป็นวุฒิวิศวกรโยธา โดยเนื้อหาในรายงานควรประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้

2.1 รายละเอียดโครงการ - เขียนข้อมูลให้ละเอียด พร้อมทั้งแนบหนังสือรับรองผลงานจากบริษัทต้นสังกัด (พิจารณาได้จากเอกสารตัวอย่าง)

2.2 ตำแหน่งหรือหน้าที่ที่ปฏิบัติในโครงการทางด้านวิศวกรรมโยธา - ส่วนนี้ต้องระบุให้ชัดเจนถึงบทบาทหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติจริงๆ ซึ่งสามารถใส่ได้มากกว่า 1 หน้าที่

2.3 ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา ที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน - ส่วนนี้ให้ระบุรายการปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการก่อสร้างเป็นข้อๆให้ชัดเจน

2.4 การแก้ไขปัญหา – ส่วนนี้เป็นส่วนที่กรรมการสนใจมากที่สุด ต้องอธิบายขยายจากข้อ 2.3 ให้ละเอียด ชัดเจน พยายามใช้รูปภาพประกอบในการอธิบายทุกขั้นตอน มีข้อความประกอบการอธิบายในรูปด้วย อาจจะใช้ภาพถ่ายจริง ภาพ Model ภาพสเก็ตมือ ภาพหลักฐานบางอย่างที่สำคัญที่ใช้ในหน้างานจริง ระบุทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างน้อย 2-3 ทางเลือก อธิบายหลักวิชาการของแต่ละทางเลือก อธิบายเหตุผลที่เลือกทางเลือกใดๆ เพราะอะไร ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ และแสดงรูปภาพ ขณะเกิดปัญหา ขณะแก้ปัญหา ผลของการแก้ปัญหา และวิธีทดสอบ (ถ้ามี) เน้นอธิบายด้วยภาพเป็นหลัก เพราะกรรมการจะเข้าใจ และพิจารณาตามได้ง่าย

2.5 ประมวลภาพต่างๆของโครงการตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดโครงการ

2.6 รายการคำนวณ - อาจจะนำเสนอเฉพาะส่วนที่สำคัญ หรือส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ควรนำ results จากโปรแกรมมาใส่

2.7 แบบก่อสร้าง – ควรมี Layout, Key plan, Plan, Elevation, Detail เฉพาะที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาของกรรมการ

2.8 ภาคผนวก คือ เอกสารอื่นๆประกอบ เช่น รายการผลงานที่เคยทำทั้งหมดตั้งแต่ ภย. จนกระทั่งปัจจุบัน, วุฒิการศึกษาควรเป็นปริญญาโท (กำลังเรียนอยู่ก็ได้), กิจกรรมอาสา หรือเพื่อสาธารณะ (ถ้ามี), เกียรติบัตรต่างๆ, หนังสือรับรองการอบรมต่างๆ และสุดท้ายคือภาพโครงการอื่นๆที่เคยทำทั้งหมดตั้งแต่ ภย. จนกระทั่งปัจจุบัน หน้าละ 1 โครงการ เพื่อแสดงให้กรรมการท่านทราบถึงศักยภาพ, ความรู้ และความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

หมายเหตุ การเข้าเล่มเอกสารรายงาน ควรเข้าเล่มสันกระดูกงู เพื่อความง่ายต่อการเปิดอ่านของกรรมการ อีกประการคือ ควรใช้กระดาษคุณภาพดี เพื่อพิมพ์ภาพที่มีความละเอียด ชัดเจน สวยงาม

3. เตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์

หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ของสภาวิศวกรโทรนัดเข้าสัมภาษณ์ การเตรียมตัวควรปฏิบัติดังนี้

3.1 รวบรวม จัดกลุ่มข้อมูลรูปภาพ คลิปวิดีโอ แบบ รายการคำนวณ ของแต่ละโครงการให้เป็นหมวดหมู่ เป็นระบบ อยู่ในโฟลเดอร์ที่เปิดหาได้ง่าย และรวดเร็ว

3.2 การนำเสนอไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ แต่จะใช้คอมพิวเตอร์ก็ต่อเมื่อต้องการอธิบายบางสิ่งที่ไม่ได้ใส่ไว้ในตัวรายงาน หรืออาจต้องเปิดไฟล์วิเคราะห์โครงสร้าง หรือไฟล์ CAD เป็นต้น

3.3 เตรียมสำเนารายงานไว้ 1 เล่ม พร้อมทั้งใช้ Post-it แปะทำเครื่องหมายหน้าที่สำคัญๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเปิดหา

3.4 เตรียมแบบ A3 ของแต่ละโครงการ เพื่อความสะดวกในการใช้ประกอบการอธิบาย

3.5 วิธีการนำเสนอโดยการเปิดเล่มรายงานทีละหน้า ทีละหัวข้อ ถ้าเปิดข้ามก็เพียงแต่แจ้งกรรมการว่าข้ามไปหน้าที่เท่าไร กรรมการทุกๆท่านก็จะเปิดตาม ไม่มีการใช้ Projector

3.6 แต่งกายสุภาพ ให้เหมาะสมกับความเป็น ว่าที่วุฒิวิศวกรโยธา แต่ไม่จำเป็นต้องใส่เน็คไท

3.7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีทั้งหมด 3 ท่าน บรรยากาศสบายๆ ไม่ตึงเครียด (จากประสบการณ์ได้พบกรรมการใจดี เป็นกันเองทั้ง 3 ท่าน) ระหว่างการนำเสนอ กรรมการสามารถสอบถามได้ตลอดเวลา ดังนั้นการนำเสนออาจจะต้องเปิดคอมฯเพื่ออธิบาย แล้วก็อาจจะหลงประเด็นได้ ดังนั้นตั้งสติให้ดี

3.8 การอธิบาย และการตอบคำถาม ต้องตอบแบบวิศวกร ต้องตอบแบบมีขั้นตอน ต้องตอบแบบมีหลักวิชาการ ต้องตอบให้เหมาะสมกับ วุฒิวิศวกรโยธา เพื่อแสดงถึงวุฒิภาวะนั่นเอง

3.9 บางกรณีกรรมการต้องการปรับทัศนคติ หรือสอน หรือตำหนิ หรือทดสอบภาวะความเป็นผู้นำ ต้องน้อมรับด้วยความสุภาพสถานเดียว เพราะนั่นเป็นการแสดงถึงวุฒิภาวะของคนที่กำลังจะเป็น วุฒิวิศวกรโยธา นั่นเอง

3.10 ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ กรรมการท่านจะถามถึงจรรยาบรรณของวิศวกร ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวศึกษา "ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพวิศวกรรม" มี 25 ข้อ (คลิกลิ้งด้านล่าง) และกรณีศึกษาในการตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณด้วย อีกทั้งควรเตรียมกรณีของเราเองสัก 1-2 กรณี เป็นการยกตัวอย่าง

3.11 การสัมภาษณ์จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชม. ถ้าการนำเสนอเป็นที่น่าพอใจ ทางประธานกรรมการท่านก็จะประกาศผลให้เราทราบในช่วงท้าย และแสดงความยินดีกับ วุฒิวิศวกรโยธา คนใหม่ อีกทั้งอาจจะให้โอวาทอีกนิดหน่อยด้วย

4. เตรียมตัวเป็นวุฒิวิศวกรโยธา

เมื่อสัมภาษณ์เสร็จ แม้จะรู้ผลแล้วก็จะต้องรออีกประมาณ 1-2 เดือน แล้วทางสภาก็จะติดต่อให้ไปชำระค่าบัตร กว. และออกเลขที่บัตร กว. ให้ และแล้ว ณ วินาทีที่ได้รับใบ กว. วุฒิวิศวกรโยธา เป็นวินาทีที่น่าภูมิใจ แต่มันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น และความใส่ใจในเรื่องของจรรยาบรรณก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าทวีคูณด้วยเช่นกัน ก่อนลงลายมือชื่อรับรองอะไรก็ตาม ต้องตรวจให้แน่ใจว่า ปลอดภัย ไม่ผิดหลักวิศวกรรม ไม่ผิดหลักวิชาการ และไม่ผิดจรรยาบรรณ

สุดท้ายนี้กระผมก็หวังว่า เนื้อหาเรื่องเล่าจากประสบการณ์ทั้งหมด อาจจะคลายข้อสงสัย และอาจจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนวิศวกรไม่มากก็น้อย บางท่านมีโอกาสที่ดีในการเก็บผลงานก็ยินดีด้วย แต่อีกหลายๆท่านยังไม่มีโอกาสที่จะเก็บผลงาน ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจ อย่าท้อถอย และขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่เขียนเผยแพร่ไปทั้งหมดนี้ เป็นเพียงประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกระผมคนเดียว ซึ่งท่านจะนำไปเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ แต่พอจะทำให้มองเห็นภาพรวมๆกว้างๆได้ครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม