ผลกระทบของมลพ ษทางอากาศท ม ต อหญ งต งครรภ และทารกในครรภ

ฤดูกาลฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานกำลังกลับมาอีกครั้งในกรุงเทพมหานครในช่วง 3-5 พ.ย. นี้ และอีกไม่กี่เดือนในเขตภาคเหนือของบ้านเราก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงที่มีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมที่อาจนำมาสู่วิกฤตหมอกควันพิษเหมือนเช่นทุก ๆ ปี บีบีซีไทย ชวนอ่านรายงานวิจัยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร ที่เปิดเผยผลการศึกษาเมื่อเดือน เม.ย. 2023 ว่ามลพิษทางอากาศนั้นทำอันตรายต่อมนุษย์ในทุกช่วงวัยของชีวิต

กลุ่มงานวิจัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ได้ทำการศึกษาหลักฐานจากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศทั่วโลกกว่า 35,000 ชิ้น ในช่วงกว่า 10 ปี ทั้งจากองค์การอนามัยโลก, คณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบทางการแพทย์ของมลพิษทางอากาศ, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์, สถาบันผลกระทบทางสุขภาพ และศูนย์วิจัยมะเร็งนานาชาติ

งานวิจัยเรื่องมลพิษทางอากาศที่ว่าจ้างโดยสำนักบริหารมหานครลอนดอน (Greater London Authority) พบว่า การรับมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย อาจนำไปสู่การแท้งลูกในหญิงตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของภาวะสเปิร์มลดปริมาณลง และยับยั้งการเจริญเติบโตของปอดในเด็ก ส่วนอันตรายต่อสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ มลพิษทางอากาศอาจเป็นสาเหตุของการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มะเร็ง สโตรกหรือภาวะสมองขาดเลือด

มาดูกันว่ามลพิษทางอากาศทำอันตรายต่อมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยอย่างไรบ้าง

ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด

รายงานทบทวนการศึกษาชิ้นนี้พบว่า มลภาวะทางอากาศทำอันตรายต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ในช่วงการตั้งครรภ์ของแม่ และเป็นสาเหตุทำให้เด็กแรกเกิดที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย เพิ่มโอกาสในการแท้งลูก และส่งผลกระทบให้ปริมาณสเปิร์มของผู้ชายลดลงด้วย

ผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ มลพิษในอากาศจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนของเลือดระหว่างสายสะดือและรก ทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง ซึ่งประเด็นนี้มีการเสนอว่าเป็นกลไกที่ทำให้ทารกเจริญเติบโตช้าหรือเริ่มมีพัฒนาการช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ภาวะที่ทารกคลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อย งานวิจัยได้ทบทวนรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2017 พบว่า การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ตามแบบจำลอง (ที่บ้าน) มากกว่า 13.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในระหว่างตั้งครรภ์ สัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเติบโตของทารกในครรภ์ที่ช้าลง ซึ่งมีส่วนทำให้ทารกที่เกิดในลอนดอนประมาณ 3% มีภาวะน้ำหนักตัวน้อยตอนแรกเกิด

ด้านผลกระทบต่ออายุครรภ์และภาวะคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2017 พบว่า เด็กที่คลอดก่อนครบอายุครรภ์ทั่วโลก 18% มีปัจจัยที่สัมพันธ์กับการที่แม่สัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

มลพิษทางอากาศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเกิดกับผู้ชายด้วย

ผลศึกษาในผู้ชายกว่า 4,562 คน ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ พบว่า การยิ่งอยู่ในที่ที่มลพิษทางอากาศสูงจะยิ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำอสุจิ ความเข้มข้นของตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวและรูปร่างของตัวอสุจิ

การศึกษาในผู้ชายจีนกว่า 30,000 คน เมื่อไม่นานมานี้ ยังพบว่าคุณภาพของอสุจินั้นสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 และการเคลื่อนที่ของอสุจิด้วย

ผลกระทบของมลพ ษทางอากาศท ม ต อหญ งต งครรภ และทารกในครรภ

ที่มาของภาพ, getty images

วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น

ผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงวัยรุ่น มลพิษทางอากาศอาจหยุดยั้งการเจริญเติบโตของปอดเด็ก เป็นสาเหตุของโรคหอบหืด ส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต ความสามารถในการคิดและเรียนรู้ ภาวะขาดสมาธิหรืออยู่นิ่งไม่ได้ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิต

งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ศึกษาผลกระทบของมลพิษทางอากาศจากการจราจรว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด พฤติกรรม และพัฒนาการของทักษะพิสัยในเด็กอย่างไร พบว่า มลพิษจากการจราจรมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการของส่วนต่าง ๆ ในสมอง โครงการที่ชื่อว่า BREATHE project ในบาร์เซโลนาของสเปน ได้ศึกษาระดับของมลภาวะทางอากาศในโรงเรียนว่ามีผลกระทบต่อสมองของกลุ่มตัวอย่างเด็ก 263 คน อย่างไร โดยผลการศึกษาพบว่า ขนาดของสมองที่เล็กลงของเด็กสัมพันธ์กับระดับการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่มากขึ้น

นักวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งมาจากท่อไอเสียของรถยนต์ คือสาเหตุที่อันตรายอย่างยิ่ง และไม่มีหลักฐานใดที่ชี้เลยว่า ฝุ่น PM2.5 ในปริมาณแค่ไหนที่จะไม่เป็นอัตรายต่อสุขภาพ เพราะแม้กระทั่งคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มลพิษน้อยที่สุดในกรุงลอนดอนก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

ผลกระทบของมลพ ษทางอากาศท ม ต อหญ งต งครรภ และทารกในครรภ

ที่มาของภาพ, getty images

วัยผู้ใหญ่

ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปัญหาสุขภาพของหัวใจ สโตรกหรือภาวะสมองขาดเลือด สุขภาพจิตและสมอง สุขภาพของระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังหลายโรค

ในด้านระบบทางเดินหายใจ รายงานทบทวนงานศึกษาจำนวน 22 ชิ้นในประเทศรายได้สูง 12 ประเทศทั่วโลก ซึ่งศึกษาการไปโรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 267,413 ครั้ง ในแผนกฉุกเฉิน การโทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน และการนอนโรงพยาบาลเพราะอาการหอบหืด พบว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกับมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่น PM2.5 และก๊าซโอโซน อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้วพบว่า มลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดโรคหอบหืดในผู้ใหญ่ยังมีความรุนแรงน้อยกว่าหอบหืดในเด็ก

ส่วนโรคมะเร็ง ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของสหภาพยุโรป ซึ่งรวบรวมข้อมูลจาก 10 ประเทศรวมทั้งสหราชอาณาจักร พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งปอดกับมลภาวะขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาด PM10 หรือ PM2.5

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันฟรานซิส คริก ในลอนดอน เมื่อปี 2022 ซึ่งค้นพบการอธิบายกลไกของมลพิษทางอากาศขนาดเล็กที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดในคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยมลพิษทางอากาศได้เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในปอด ซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เป็นพาหะกลายพันธุ์ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง

ผลกระทบของมลพ ษทางอากาศท ม ต อหญ งต งครรภ และทารกในครรภ

ที่มาของภาพ, getty images

สถานการณ์ในสหราชอาณาจักร

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ระบุด้วยว่า ขณะที่ตัวเลขเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพเน้นไปที่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ผลกระทบของมลพิษที่กว้างกว่านั้น คือ ภาระงบประมาณด้านสุขภาพที่รัฐใช้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

เมื่อปี 2018 กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษประเมินว่า มีประชากรในสหราชอาณาจักรถึง 43,000 คน เสียชีวิตจากสาเหตุที่มาจากมลพิษทางอากาศในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2035 ประเทศต้องสูญเสียถึง 18.6 พันล้านปอนด์ หากไม่แก้ไขเรื่องนี้

คณะนักวิจัยยังชี้ด้วยว่า การออกนโยบายของรัฐควรมุ่งไปที่การลดอันตรายที่กำลังเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ และลดปัจจัยที่ทำให้สุขภาพของประชาชนแย่ลง รวมทั้งปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในที่ที่มลพิษทางอากาศหนาแน่น

ทั้งนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เปิดให้มีการปรึกษาหารือร่างยุทธศาสตร์คุณภาพทางอากาศไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา