ก อนการแยกต วเป นเอกราชประเทศในภ ม ภาคเอเช ยกลางอย ภายใต การปกครองประเทศใด

หากเทียบเคียงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเอกราชหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ (เป็นเอกราชในปี 1946) พม่า (1948) อินโดนีเซีย (1949) กัมพูชา (1953) ลาว (1953) มาลายา/มาเลเซีย (1957/1963) และสิงคโปร์ (1965) ‘บรูไน’ นับว่าเป็นประเทศที่ได้รับเอกราชค่อนข้างล่าช้า กล่าวคือเพิ่งได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี 1984 หรือกำลังจะมีอายุครบ 40 ปี ในช่วงต้นปี 2024 ที่กำลังจะถึงนี้เท่านั้นเอง

ทั้งที่จริงแล้ว บรูไนมีโอกาสได้รับเอกราชไล่หลังมาลายาไม่นานนัก หรืออีกนัยหนึ่ง มีการตกลงที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียที่ก่อตัวขึ้นในปี 1963 แต่ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งภายในและการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้สุลต่านบรูไนในขณะนั้นถอนตัวจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ทั้งยังชะลอเลื่อนการเป็นประเทศเอกราชออกไปก่อน

อะไรคือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เฉพาะในกรณีของสังคมบรูไนที่ทำให้ผู้ครองอำนาจตัดสินใจเช่นนั้น อะไรคือผลที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าใครคือผู้ชนะและผู้แพ้ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบรูไน

ประเทศบรูไน หรือชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันคือ ‘เนอการา บรูไน ดารุสซาลาม’ (Negara Brunei Darussalam) มีความหมายว่า ‘รัฐบรูไน บ้านแห่งสันติ’ บรูไนเป็นประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะขนาดใหญ่อย่างเกาะบอร์เนียว โดยเป็นประเทศเอกราชหนึ่งเดียวบนเกาะดังกล่าว เกาะบอร์เนียวยังประกอบด้วยดินแดนของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นั่นคือรัฐซาราวักและรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และห้าจังหวัดกาลีมันตันของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี ซาราวักเป็นเพื่อนบ้านแห่งเดียวที่มีอาณาเขตติดต่อกับบรูไน ทั้งยังล้อมรอบและตัดขาดดินแดนของบรูไนออกเป็นสองส่วน

แน่นอนว่า เส้นแบ่งเขตแดนประเทศบนเกาะบอร์เนียวในปัจจุบันล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ในสมัยอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิพลของชาวอังกฤษและชาวดัตช์ แต่ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นนั้น จะขอทบทวนกลับไปยังประวัติศาสตร์ช่วงยาวกว่านั้นก่อน

หลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราเชื่อได้ว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียวมาไม่ต่ำกว่า 40,000 ปี ขณะที่หลักฐานทางโบราณคดีสมัยต่อมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัตถุแบบฮินดูและพุทธที่กำหนดอายุได้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 ไปจนถึง 14 หรือ เครื่องเคลือบ เครื่องโลหะ จำพวกหม้อ ไห และจานชาม ตลอดจนเหรียญเงินตราจากจีนที่ระบุอายุได้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึง 12 ต่างก็ทำให้เห็นว่าบอร์เนียวไม่ได้เป็นเกาะที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ทว่ามีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับดินแดนที่ไกลออกไป

ในบันทึกของนักเดินเรือชาวจีน ชาวอาหรับ เรื่อยมาจนถึงชาวยุโรป ต่างก็มีการกล่าวถึงบอร์เนียวในฐานะดินแดนที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหายากมูลค่าสูง ทั้งเพชร ทองคำ ตลอดจนผลผลิตจากป่า ไม่ว่าจะเป็น ขี้ผึ้ง ยางไม้ ไม้หอม รังนกนางแอ่น รวมถึงสินค้าจำพวกเขาและกระดูกสัตว์ป่าต่างๆ โดยเฉพาะนอแรด เขากวาง และโหนกของนกชนหิน

แม้จะไม่ได้เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าที่คึกคักและเฟื่องฟูเท่ากับดินแดนสองฝั่งของช่องแคบมะละกา กระนั้นก็ตาม รัฐโบราณบนเกาะบอร์เนียวก่อตัวและเติบโตขึ้นมาจากฐานะของการเป็นเมืองท่าการแลกเปลี่ยนสินค้าเช่นกัน

เมืองท่าบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะอย่างซันตูบงและบรูไนก่อตัวขึ้นในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนและอินเดียกับผลผลิตจากป่าที่มาจากดินแดนที่สูงตอนใน แบบแผนการแลกเปลี่ยนดังกล่าวยังคงสืบเนื่องต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามขยายตัวและเริ่มลงหลักปักฐานบนเกาะบอร์เนียวช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 ดังปรากฏว่าบรรดาผู้ปกครองรัฐเมืองท่ารับศาสนาอิสลามจนกลายเป็นรัฐสุลต่าน (sultanate)

แบบแผนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้คนบนเกาะบอร์เนียวก่อนสมัยใหม่อาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่าดำเนินไประหว่างคนสองกลุ่ม คือผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งและที่ราบลุ่มฝ่ายหนึ่ง (coastal, lowland) กับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนในที่เป็นพื้นที่สูงต้นน้ำอีกฝ่ายหนึ่ง (upriver, interior) โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวยังสัมพันธ์กับแบบแผนการดำรงชีพและยังสัมพันธ์กับการก่อตัวของความเป็นชาติพันธุ์ตลอดจนพรมแดนทางชาติพันธุ์ด้วย นั่นคือกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นสังคมแบบรัฐเมืองท่าคือกลุ่มชาวมลายูและมลาเนา (Melanau) ซึ่งเป็นมุสลิม ส่วนกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงต้นน้ำอันอยู่ตอนในของเกาะ คือกลุ่มคนพื้นถิ่นที่มีวิถีการดำรงชีพแบบการเพาะปลูกแบบเคลื่อนย้ายหรือหมุนเวียน ประกอบกับการล่าสัตว์ เก็บหาอาหารและของป่าต่างๆ ทั้งเพื่อใช้เองและแลกเปลี่ยนกับชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานในที่ลุ่ม ในแง่นี้ ด้วยเหตุที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มปากแม่น้ำและชายฝั่ง ชาวมุสลิมเหล่านี้จึงสามารถสร้างสถานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าผู้คนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณตอนในผ่านระบบบรรณาการและภาษีอากร แต่ถึงกระนั้น รัฐชายฝั่งก็ไม่สามารถครองอำนาจทางการเมืองเหนือผู้คนพื้นถิ่นตอนในได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังจะพบว่ามีการต่อต้านอยู่เป็นระยะด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ตำนานกำเนิดว่าด้วยประวัติศาสตร์ของบรูไนเสนอว่า อาณาจักรบรูไนสถาปนาขึ้นในช่วงราว ค.ศ. 1363 เมื่ออาวังอาลักเบอตาตาร์ (Awang Alak Betatar) ผู้ปกครองบรูไนในขณะนั้นเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและสถาปนาราชวงศ์ใหม่โดยเริ่มนับเป็นสุลต่านรัชกาลที่หนึ่งแห่งบรูไนในนามมูฮัมหมัดชาห์ (Muhammad Shah) ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์กระแสหลักของบรูไนเสนอว่า อาณาจักรบรูไนเฟื่องฟูมากที่สุดในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึง 17 ในฐานะรัฐเมืองท่าที่เติบโตและเฟื่องฟูจากการค้าและการมีกองกำลังทางทะเลที่เข้มแข็ง กล่าวกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สุลต่านแห่งบรูไนมีอำนาจเหนือผู้คนและดินแดนเกือบจะทั่วทั้งเกาะบอร์เนียว ทั้งยังไกลไปถึงหมู่เกาะซูลูและปาลาวันทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เมื่อชาวยุโรปเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้น ไล่มาตั้งแต่ชาวโปรตุเกส สเปน ดัตช์ และอังกฤษ อิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐสุลต่านบรูไนก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลง

กระทั่งเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 19 อำนาจและอิทธิพลของสุลต่านบรูไนก็จำกัดอยู่ไม่เกินไปกว่าพื้นที่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว หรืออีกนัยหนึ่ง ดินแดนที่ในทุกวันนี้หมายถึงซาราวัก บรูไน ลาบวน และซาบาห์

ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1840 เป็นต้นมา บรูไนก็ ‘เสียดินแดน’ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผ่านการทำสนธิสัญญาที่ตกลงมอบสิทธิและอำนาจเหนือดินแดนหลายส่วนให้กับชาวอังกฤษ

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญคือ เจมส์ บรูก (James Brooke) นักเดินเรือชาวอังกฤษที่เกิดในบริติชอินเดีย กองเรือของเขาเดินทางมายังดินแดนแถบนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1830 และให้ความช่วยเหลือสุลต่านปราบปรามกลุ่มคนแถบลุ่มน้ำซาราวักที่ต่อต้านบรูไน สุลต่านแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ปกครองซาราวักในปี 1841 และต่อมาในปี 1842 สุลต่านก็ประกาศให้เจมส์ บรูกมีฐานะเป็น ‘รายา’ (Rajah) หรือกษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนแถบลุ่มน้ำซาราวัก

การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแร่พลวงตลอดจนการขยายพื้นที่เกษตรกรรมในซาราวัก ตั้งแต่สมัยของเจมส์ บรูก และสืบเนื่องมาถึงในสมัยหลานชายของเขา ชาร์ลส์ บรูก (Charles Brooke) ทำให้ซาราวักขยายอิทธิพลเหนือผู้คนและดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสุลต่านบรูไนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแลกกับการจ่ายค่าเช่าให้สุลต่าน จนถึงปี 1890 ชาร์ลส์ บรูก ก็สามารถครอบครองที่ราบลุ่มแม่น้ำลิมบัง พื้นที่เพาะปลูกสำคัญแห่งหนึ่งของบรูไน และทำให้ดินแดนของบรูไนแบ่งออกเป็นสองส่วนที่แยกขาดจากกัน ซึ่งแม้บรูไนจะคัดค้านแต่ก็ไม่เป็นผล

ส่วนเกาะลาบวนซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบรูไน ก็กลายเป็นอาณานิคมของราชวงศ์บริติช (Crown Colony of Labuan) โดยตรงหลังการทำสนธิสัญญาในปี 1848 ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ดินแดนทางฝั่งตอนเหนือของเกาะบอร์เนียวที่ต่อมากลายเป็นซาบาห์นั้น นอกเหนือจากอิทธิพลของสุลต่านบรูไนและเครือญาติแล้ว ในบางพื้นที่ยังเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลกันกับสุลต่านซูลู บุคคลที่มีส่วนสำคัญในทศวรรษ 1870 คือบารอน ฟอน โอเวอร์เบ็ก (Baron von Overbeck) ชาวเยอรมัน และเพื่อนชาวอังกฤษอีกสองคนของเขาซึ่งเป็นพี่น้องกันคือ อัลเฟรด เด็นต์ (Alfred Dent) และ เอ็ดเวิร์ด เด็นต์ (Edward Dent) สองคนหลังนี้จะกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบอร์เนียวเหนือ (British North Borneo Company) ในช่วงทศวรรษ 1880 โดยบริษัทนี้ได้กลายเป็นผู้ถือสิทธิในการแสวงประโยชน์หลักของดินแดนส่วนนี้ที่เรียกรวมว่า ‘บอร์เนียวเหนือ’

กล่าวได้ว่า เพียงชั่วระยะเวลาราวๆ 60 ปีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน บรูไน ‘เสียดินแดน’ จนเหลือไม่เกินหนึ่งในแปด กล่าวคือสูญเสียดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำกว่า 18 แห่งให้ซาราวัก และที่ราบลุ่มแม่น้ำอีกราว 30 แห่งให้กับบอร์เนียวเหนือ ถึงกระนั้นบรูไนก็ยังตกอยู่ในภาวะล้มละลายทางการเงินอีกด้วย

ในขณะที่ชาวดัตช์ก็พยายามขยายอิทธิพลในบริเวณหมู่เกาะในภูมิภาค ความพยายามต่อรองและแบ่งแยกพื้นที่แสวงผลประโยชน์ระหว่างชาวดัตช์และอังกฤษเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการทำสนธิสัญญาอีกสามฉบับในช่วงปี 1870–1871 ก็ทำให้ขอบเขตของอำนาจของแต่ละฝ่ายเริ่มชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 1888 ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ และบรูไน เปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ (protectorates) ขณะที่ดินแดนทางตอนใต้ที่อยู่นอกเหนือการมีสถานะเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษก็กลายไปเป็นดินแดนในอารักขาของดัตช์อย่างเป็นรูปธรรมในปี 1891 เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นักวิชาการทางรัฐศาสตร์อย่าง เอาเรล ครัวส์ซองต์ (Aurel Croissant) และ ฟิลิป ลอเร็นซ์ (Philip Lorenz) เห็นว่า การยินยอมทำข้อตกลงเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษในกรณีของบรูไนนั้น ทำให้บรูไนรอดพ้นจากภาวะที่เกือบจะล่มสลายอยู่รอมร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บรูไนเกือบจะถูกผนวกรวมโดยซาราวักภายใต้การนำของตระกูลบรูก ทั้งนี้ กลไกสำคัญคือระบบข้าหลวง (British Residency System) ที่มาจากความตกลงร่วมกันระหว่างอังกฤษกับบรูไนในปี 1906 และดำรงอยู่มาจนถึงปี 1959 ทำให้บรูไนตกอยู่ภายใต้อำนาจของการตัดสินใจของอังกฤษทั้งกิจการภายนอกและภายในประเทศเกือบทั้งหมด เว้นแต่เพียงเรื่องศาสนาอิสลามเท่านั้น

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและแผ่ขยายอิทธิพลบนเกาะบอร์เนียว ญี่ปุ่นผนวกให้ซาราวัก บรูไน ลาบวน และบอร์เนียวเหนือ เป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน โดยมีศูนย์การบัญชาการอยู่ที่เมืองหลวงของบอร์เนียวเหนืออย่างเจสเซิลตัน (Jesselton; ปัจจุบันคือ โกตากีนาบาลู [Kota Kinabalu]) เช่นเดียวกับในพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพญี่ปุ่นทำร้าย ข่มขวัญ และบังคับเกณฑ์แรงงานผู้คนพื้นถิ่นในโครงการต่างๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่พบการต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้นเสียแต่ช่วงก่อนสงครามจะสิ้นสุดในปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่นำโดยทอม แฮริสซัน (Tom Harrisson)

กองกำลังสำคัญที่ปลดปล่อยดินแดนบอร์เนียวจากการครอบงำของญี่ปุ่นคือกองทหารของออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา หลังสงครามสิ้นสุด ออสเตรเลียเข้ามาดูแลบรูไนในระยะแรกก่อนที่อังกฤษจะมารับช่วงต่อ แต่อังกฤษก็ดูจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนการป้องกันทางทหารมากนัก ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและการขนส่งที่เป็นไปอย่างยากลำบากจึงทำอะไรไม่ได้มากนักในระยะแรก จนดูราวกับว่าบรูไนจะบอบช้ำจากสงครามอย่างเงียบๆ และฟื้นตัวอย่างเงียบๆ

อาจกล่าวได้ว่า จุดหักเหหนึ่งในประวัติศาสตร์บรูไนสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อสุลต่านอะห์หมัดตายุดดีน (Ahmad Tajuddin) เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่สิงคโปร์ในช่วงกลางปี 1950 ในขณะที่กำลังจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลบริติชที่ลอนดอนเกี่ยวกับการแบ่งสรรผลประโยชน์จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมัน เพียงสองวันถัดมา น้องชายของเขา โอมาร์อาลีไซฟุดดีน (Omar Ali Saifuddin) ขึ้นครองราชย์แทน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดยข้าหลวงอังกฤษประจำบรูไน

ท่าทีและการตัดสินใจทางการเมืองของสุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดดีน ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะได้รับการขนานนามให้เป็น ‘สถาปนิกแห่งบรูไนสมัยใหม่’ มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงสังคมบรูไนนับแต่นั้นมา โดยเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ที่ร้อยรัดกันในช่วงทศวรรษ 1960 คือการเกิดขึ้นของข้อเสนอเพื่อก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย และการปฏิวัติประชาชนบรูไนในปี 1962

นอกจากสุลต่านโอมาร์อาลีแล้ว บุคคลที่สร้างจุดหักเหสำคัญต่อประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบรูไนอีกคนหนึ่งคือ อะห์หมัด อาซาฮารี (A. M. Azahari) อาซาฮารีเป็นชาวบรูไน (บางแหล่งระบุว่าเขาเกิดที่ลาบวน) ที่ถูกญี่ปุ่นส่งไปเรียนที่บันดุงในอินโดนีเซียระหว่างสงครามโลก เขากลับมายังบรูไนในปี 1952 สร้างเครือข่ายและเริ่มมีผู้ติดตามความคิดของเขามากขึ้นเป็นลำดับ ในปี 1956 เขาเป็นผู้นำในการก่อตั้ง ‘พรรคประชาชนบรูไน’ (Partai Rakyat Brunei: PRB) พรรคการเมืองพรรคแรกของบรูไน ทั้งยังเป็นพรรคแรกของดินแดนแถบบอร์เนียวเหนือทั้งหมดด้วย ว่ากันว่าอาซาฮารีเป็นคนทะเยอทะยานสูง หลายช่วงเวลาพบว่าเขาใกล้ชิดกับสุลต่านโอมาร์อาลีและมีความเห็นตรงกันในบางเรื่อง เขายังติดต่อและต่อรองกับตุงกูอับดุลเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีแห่งมาลายา ทั้งยังมีสายสัมพันธ์กับซูการ์โน (Sukarno) และโมฮัมหมัด ฮัตตา (Mohammad Hatta) แห่งอินโดนีเซีย และที่สำคัญ เขาจะมีบทบาทสำคัญในขบวนการปฏิวัติบรูไนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายปี 1962

ในบริบทของกระบวนการถอดถอนอาณานิคม หลังจากมาลายาได้รับเอกราชในปี 1957 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะฉุกเฉินสิ้นสุดลงราวปี 1960 กล่าวคือในช่วงกลางปี 1961 ตุงกูอับดุลเราะห์มานพยายามผลักดันให้มีการก่อตั้งสหพันธรัฐใหม่ที่จะรวมเอามาลายา สิงคโปร์ และดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของอังกฤษบนเกาะบอร์เนียวเข้าด้วยกัน

อันที่จริง ในปี 1959 บรูไนเพิ่งจะลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษ เพื่อให้กิจการภายในเกือบทั้งหมดดำเนินการโดยฝ่ายบรูไนเอง ส่วนอังกฤษจะยังคงรับผิดชอบการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บรูไนยังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในเดือนกันยายนปี 1959 อันเป็นการวางรากฐานให้กับกลไกทางรัฐสภา กระบวนการนิติบัญญัติ และการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญระบุให้สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 33 ตำแหน่ง โดยเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต 16 ตำแหน่ง แต่งตั้งโดยสุลต่านโดยตรง 9 ตำแหน่ง และเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งอีก 8 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในสองปี แม้กระทั่งในระหว่างนั้นเอง ชนชั้นนำบรูไนเองก็เริ่มวางแนวทางเพื่อจะประกาศเอกราชในช่วงปี 1965 ด้วยแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันจะครบกำหนดสองปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลบรูไนก็ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหนึ่งปี ด้วยเหตุที่ว่ากฎหมายเรื่องสัญชาติยังไม่เรียบร้อยดี ในบริบทเดียวกัน ฝ่าย PRB เริ่มขับเคลื่อนการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในบรูไน พร้อมกันนั้น อาซาฮารีและแกนนำ PRB ก็เดินทางพบปะกับผู้นำกลุ่มการเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งขบวนการฝ่ายซ้ายในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และซาราวัก รวมไปถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆ ในซาราวักและบอร์เนียวเหนือ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ปรากฏข้อเสนออย่างจริงจังในการผนวกรวมดินแดนของซาราวัก บรูไน ลาบวน และบอร์เนียวเหนือ เข้าเป็นหน่วยทางการเมืองเดียวกัน ซึ่งอาจจะใช้ชื่อว่าสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือ (North Borneo Federation)

ระหว่างช่วงเวลานั้น ดูเหมือนว่าจุดยืนของสุลต่านจะเห็นด้วยในเชิงหลักการกับการเข้าร่วมอยู่ในสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ยังลังเลในรายละเอียดปลีกย่อย จนถึงเดือนมกราคม 1962 สุลต่านตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้เรื่องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียขึ้นโดยมีอาซาฮารีอยู่ในคณะกรรมการด้วย คณะกรรมการพิจารณาดังกล่าวเห็นว่าประชาชนบรูไนดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับมาเลเซียนักและดูจะสนับสนุนแผนการก่อตั้งสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือมากกว่า กระนั้นสุลต่านเลือกที่จะลงนามในหลักการว่าด้วยการเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม สุลต่านแถลงต่อสภาเรื่องการลงนามในหลักการว่าด้วยสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ก็ยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของบรูไนเป็นที่ตั้ง

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อาซาฮารีหาเสียงด้วยการประกาศต่อต้านการเข้าร่วมสหพันธรัฐมาเลเซีย พร้อมผลักดันให้บรูไนเป็นเอกราชโดยเร็วที่สุดในปี 1963 ตลอดจนยืนยันจุดยืนเรื่องสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เชื่อว่าเขาเริ่มดำเนินการก่อตั้งกองกำลังทหารแห่งชาติกาลีมันตันเหนือ (Tentera Nasional Kalimantan Utara: TNKU) โดยมีทั้งชาวบรูไน และชาวซาราวักในเขตลิมบัง (Limbang) และลาวัส (Lawas) เข้าร่วม

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 1962 ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของบรูไนที่มีผู้ออกมาลงคะแนนกว่าร้อยละ 90 ออกมาที่พรรค PRB ชนะเลือกตั้งอย่าง ‘แลนสไลด์’ ได้รับเลือกผู้แทนแบบแบ่งเขตเป็นจำนวน 54 จากทั้งหมด 55 ที่นั่ง (และผู้สมัครอิสระที่ชนะในเขตที่เหลือก็ย้ายมาเข้าร่วมพรรค PRB ในทันทีหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ทำให้ถือว่า PRB ครองตำแหน่งทั้ง 55 ที่นั่ง) และจะทำให้ PRB ได้ครองที่นั่งในรัฐสภาส่วนที่มาจากการเลือกตั้งครบทั้ง 16 ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่ใช่เสียงส่วนมากในจำนวนทั้งหมด 33 ตำแหน่ง

กระนั้นก็ตาม การประชุมสภาผู้แทนชุดดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้น สภาควรจะได้เปิดประชุมในเดือนกันยายน 1962 แต่สุลต่านก็เลื่อนการเปิดสมัยประชุมออกไป จากกันยายนเลื่อนเป็นตุลาคม เลื่อนอีกครั้งเป็นพฤศจิกายน และเลื่อนเป็นธันวาคม เดิมทีกำหนดไว้ที่วันที่ 5 ธันวาคม แต่ก็มีการประกาศเลื่อนออกไปอีกเป็นวันที่ 13 และกลายเป็นวันที่ 19 ซึ่งในท้ายที่สุดก็ไม่มีการเปิดสมัยประชุม เพราะเกิดการปฏิวัติในวันที่ 8 ธันวาคม เสียก่อน

หลายฝ่ายเชื่อกันว่าเดิมทีฝ่ายปฏิวัติตั้งใจจะเปิดฉากโจมตีในวันที่ 19 ธันวาคม วันเดียวกับการเปิดสมัยประชุมสภา แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่แน่ชัด อาจเพราะเชื่อว่าข้อมูลถูกเปิดเผยและจะถูกสกัดกั้น การเปิดฉากโจมตีจึงเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 8 ฝ่ายปฏิวัติเปิดฉากโจมตีสถานีตำรวจหลายแห่งทั่วทั้งบรูไน พยายามจับกุมเจ้าหน้าที่อังกฤษ และที่สำคัญคือมุ่งจะจับสุลต่านเป็นตัวประกันเพื่อที่จะบังคับให้สุลต่านลงนามในประกาศเอกราชในฐานะผู้นำทางสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการรวมบรูไนกับซาราวักและบอร์เนียวเหนือ

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เมื่อฝ่ายปฏิวัติบุกไปถึงวังของสุลต่านแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เท่าที่ทราบคือสุลต่านปฏิเสธการเจรจาและไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายปฏิวัติ บ้างก็ว่าฝ่ายปฏิวัติล่าถอยไปเองหลังพบว่าสุลต่านไม่ยอมร่วมมือด้วย บ้างว่ามีการยิงตอบโต้กันชุดใหญ่แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ บ้างก็ว่ามีการยิงตอบโต้กันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ฝ่ายตำรวจเชื่อว่าฝ่ายปฏิวัติเองก็ไม่ต้องการทำร้ายสุลต่านจึงไม่มีปฏิบัติการที่รุนแรง

หนึ่งวันต่อมา สุลต่านแถลงประณามฝ่ายปฏิวัติ ในขณะที่กองกำลังกูรข่า (Gurkha) ซึ่งประจำการอยู่ที่สิงคโปร์เดินทางเข้ามาปราบปรามฝ่ายปฏิวัติและควบคุมสถานการณ์ในตัวเมืองบรูไน เซอเรีย (Seria) และเบอลาอิต (Belait) เอาไว้ได้ ฝ่ายกองกำลัง TNKU จำนวนหนึ่งล่าถอยไปยังฝั่งซาราวัก โดยเฉพาะแถบลิมบังและลาวัส ว่ากันว่าเพียงไม่ถึง 5 วัน กองกำลังทหารฝ่ายบริติชก็ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่บรูไนไว้ได้หมด พื้นที่ที่มีการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อแห่งเดียวคือที่ลิมบัง การสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม เมื่อฝ่ายกองกำลังปฏิวัติต้านทานไว้ไม่ไหวและพ่ายแพ้ไป และเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 1963 กองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็หลบหนีกันอย่างกระจัดกระจาย จนกระทั่งหน่วยรบของแกนนำกองกำลังอย่างยาสซิน อัฟเฟ็นดี (Yassin Affendi) ถูกโจมตีและจับกุมในช่วงกลางปี 1963 ก็ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวทางการทหารของ TNKU อีกต่อไป

ไม่มีการเปิดเผยว่าฝ่ายปฏิวัติถูกจับกุมไปทั้งหมดกี่คน ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ คาดว่าเป็นไปได้ตั้งแต่ราว 2,000 จนถึง 6,000 คน กล่าวกันว่า แทบทั้งหมดเป็นชายหนุ่มชาวมลายูบรูไน โดยไม่มีชาวจีนบรูไนเลย และสำหรับผู้ที่ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อสุลต่านก็จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ว่ากันว่า สำหรับผู้ต้องสงสัยว่ามีบทบาทนำและปฏิเสธการแสดงความจงรักภักดีนั้นเหลืออยู่ราวๆ 200 คน ซึ่งถูกคุมขังในระยะเวลานานกว่า โดยที่ราวๆ 30 คน ในจำนวนนั้นถูกคุมขังเกินกว่า 20 ปี ในทำนองเดียวกัน ไม่มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างชัดแจ้ง มีการประมาณว่าระหว่างวันที่ 9–20 ธันวาคม รวมเหตุการณ์ทั้งในบรูไนและซาราวัก กองกำลังฝ่ายความมั่นคงบริติชเสียชีวิต 7 คน ส่วนฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตราวๆ 20 คน และตลอดเวลา 5–6 เดือนของการสู้รบและการไล่ล่า ฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตไปเกินกว่า 100 คน อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางฝั่งอังกฤษเสนอว่าฝ่ายปฏิวัติน่าจะเสียชีวิตราวๆ 50–60 คน และถูกจับกุมราวๆ 600–700 คน เท่านั้น

ผลสืบเนื่องของการปฏิวัติที่ไม่สำเร็จคือ สุลต่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกกระบวนการทางรัฐสภา ตลอดจนปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคการเมืองและประชาชน ขณะเดียวกัน แม้ว่าการเจรจาเพื่อก่อตั้งมาเลเซียยังคงดำเนินต่อไป แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยเฉพาะหลังการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน 1963 สุลต่านตัดสินใจถอนบรูไนออก ทั้งเงื่อนไขว่าด้วยการแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันของบรูไน ตลอดจนการจัดลำดับการดำรงตำแหน่งราชาธิบดีของมาเลเซียซึ่งสุลต่านบรูไนถูกจัดไว้เป็นลำดับท้ายสุด ในท้ายที่สุด เมื่อสหพันธรัฐมาเลเซียประกาศตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กันยายน 1963 จึงประกอบด้วยมาลายา สิงคโปร์ ซาราวัก และซาบาห์ (บอร์เนียวเหนือ) แต่ไม่มีบรูไน

ท่ามกลางทางเลือกและแรงกดดันอันหลากหลาย การต้องเผชิญกับขบวนการปฏิวัติโดยประชาชนของตนเองในปี 1962 เรื่อยมาสู่บรรยากาศการเผชิญหน้าทางการทหาร (confrontation) ระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียระหว่างปี 1963–1966 สุลต่านบรูไนยังคงรักษาสถานภาพและอำนาจเอาไว้ได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ดี หลังจากสิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965 เรื่อยมาจนถึงการยกเลิกการใช้เงินริงกิตและใช้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์เองในปี 1967 ประเทศขนาดเล็กสองชาติอย่างบรูไนและสิงคโปร์จึงกลายมาเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นทั้งในทางเศรษฐกิจ และในเวลาต่อมา เพิ่มเติมเรื่องความมั่นคงเข้าไปด้วย

ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีแหล่งทรัพยากรอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมหาศาล สุลต่านและชนชั้นนำบรูไนจึงสามารถพัฒนาระบบสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการรักษาพยาบาล กระทั่งกล่าวได้ว่าทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ในขณะที่สามารถควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนไว้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความมั่งคั่งที่มาจากไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้จึงช่วยให้บรูไนสามารถสร้างรัฐสวัสดิการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (welfare monarchy) ให้เป็นรูปธรรมได้

ถึงที่สุดแล้ว เหตุการณ์การปฏิวัติในปี 1962 คงจะกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกทำให้เงียบงันไปจากดินแดนที่เรียกตัวเองว่า ‘บ้านแห่งสันติ’ (abode of peace) แห่งนี้ก็เป็นได้


แม้บรูไนจะไม่ได้เป็นประเทศเกิดใหม่เท่ากับติมอร์-เลสเตที่เพิ่งได้รับเอกราชในปี 2002 หรือเพิ่งครบรอบ 20 ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว ทว่ากรณีของบรูไนกับติมอร์-เลสเตก็มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน ในขณะที่ติมอร์-เลสเตแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซียที่เป็นประเทศหลังอาณานิคม บรูไนเป็นดินแดนอดีตอาณานิคมที่เพิ่งได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษโดยตรง

ดูเพิ่มเติม Eric Tagliacozzo, ‘Borneo in Fragments: Geology, Biota, and Contraband in Trans-National Circuits’, TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia 1, no. 1 (2013): 63–85, https://doi.org/10.1017/trn.2012.8.

Victor T. King, The Peoples of Borneo, The Peoples of South-East Asia and The Pacific (Oxford: Blackwell, 1993), 17–18, 104–6; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก: ภูมิทัศน์ทางกายภาพ ภูมิศาสตร์การเมือง และกระบวนการอาณานิคม’ (ต้นฉบับบทความ, การบรรยายสาธารณะ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์’, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562).

King, The Peoples of Borneo, 25–27, 112–21; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก’.

King, The Peoples of Borneo, 25–27, 125–34; อ้างจาก ณภัค เสรีรักษ์, ‘การเปลี่ยนความหมายของพื้นที่และดินแดนของซาราวัก’.

Aurel Croissant and Philip Lorenz, ‘Brunei Darussalam: Malay Islamic Monarchy and Rentier State’, in Comparative Politics of Southeast Asia: An Introduction to Governments and Political Regimes, ed. Aurel Croissant and Philip Lorenz (Cham: Springer International Publishing, 2018), 17–18, https://doi.org/10.1007/978-3-319-68182-5_2.

Marie-Sybille de Vienne, Brunei: From the Age of Commerce to the 21st Century, trans. Emilia Lanier (Singapore: NUS Press in association with IRASEC, 2015), 90.

Nicholas Tarling, ‘The Establishment of the Colonial Régimes’, in The Cambridge History of Southeast Asia, Volume Two: The Nineteenth and Twentieth Centuries, ed. Nicholas Tarling (Cambridge: Cambridge University Press, 1992), 24–25.

Croissant and Lorenz, ‘Brunei Darussalam’, 18.

Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei: The 1962 Revolt, Imperialism, Confrontation and Oil (London: I.B Tauris, 2007), 13–15.

Harun Abdul Majid, 16–19.

Harun Abdul Majid, 21–23.

Harun Abdul Majid, 56–57.

Vienne, Brunei, 112–13.

Vienne, 116–17.

Vienne, 117.

Vienne, 117.

Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 69.

Harun Abdul Majid, 83.

Harun Abdul Majid, 89–93.

Harun Abdul Majid, 93–98.

Vienne, Brunei, 118–19; Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 103–4.

Harun Abdul Majid, Rebellion in Brunei, 98–99, 117.

Vienne, Brunei, 119–20.

ณภัค เสรีรักษ์ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับผู้แพ้ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรูไน

ก อนการแยกต วเป นเอกราชประเทศในภ ม ภาคเอเช ยกลางอย ภายใต การปกครองประเทศใด

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่กลายมาเป็นนักเรียนมานุษยวิทยา สนใจความสัมพันธ์ระหว่าง 'ถ้อยคำ' 'สิ่งของ' และ 'ความคิด' ในวัฒนธรรมและข้ามวัฒนธรรม ที่ผ่านมามีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของความรู้ทางการแพทย์ว่า ด้วยเพศในสังคมไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันกำลังหาเรื่องศึกษานิเวศวิทยาการเมืองของการอนุรักษ์ธรรมชาติบนเกาะบอร์เนียวในบริบทหลังอาณานิคม