การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย แต่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาประหารชีวิต พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ และจำเลยอีก 5 คน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากมีการเยียวยาโดยจ่ายค่างานศพ และมอบค่าเสียหายให้พ่อแม่ผู้เสียชีวิตคนละ 3 แสนบาท รวม 6 แสนบาท

ส่วนจำเลยที่ 6 คือ ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น เป็นเพียงคนเดียวที่ศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าฯ แต่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี แต่มีเหตุให้ลดโทษเหลือ 5 ปี 4 เดือน

  • เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ตำรวจที่กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ
  • ผู้กำกับโจ้: ตร. เผยผลชันสูตรศพ ผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ
  • ผบ.ตร. ให้ "ผู้กำกับโจ้" ออกจากราชการ-ศาลออกหมายจับข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณ

พ.ต.อ. ธิติสรรค์หรือ "ผู้กำกับโจ้" และตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา 6 คน ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานก่อเหตุทำร้ายร่างกายโดยการทรมานนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ วัย 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะจนผู้ต้องหาเสียชีวิต เหตุเกิดที่ สภ. เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564

พ.ต.อ. ธิติสรรค์และพวกได้หลบหนีไปซ่อนตัวหลังคลิปจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย แต่ต่อมาทั้งหมดก็ทยอยติดต่อขอมอบตัวหรือถูกจับกุม

หลังถูกจับกุม ตำรวจได้นำตัวอดีตผู้กำกับโจ้มาแถลงข่าว เขารับสารภาพว่าทรมานผู้ต้องหาจริง แต่ไม่มีเจตนาทำให้เสียชีวิต และเหตุที่ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ต้องหาก็เพื่อไม่ให้เห็นหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้เขายังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าตำรวจรีดไถเงิน 2 ล้านบาทจากผู้ต้องหาและให้เงินพ่อผู้เสียชีวิตเพื่อไม่ให้เอาเรื่อง

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

เรือตรีจักรกฤษณ์ กลั่นดี และนางจันจิรา ธนะพัฒน์ พ่อและแม่ของผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 1.55 ล้านบาท แต่ศาลระบุว่าต้องไปฟ้องร้องเอากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลย

สำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์กับพวกรวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 ใน 4 ข้อหา หนึ่งในนั้นคือ ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต

4 ข้อหาที่อัยการยื่นฟ้องอดีตผู้กำกับโจ้กับพวก ได้แก่

  • เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
  • เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
  • ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
  • ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 288, 289(5), 309 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 และ 172

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางใช้เวลาไต่สวนและพิจารณาคดีกว่า 6 เดือน และนัดอ่านคำพิพากษาในเวลา 09.30 น. วันนี้ (8 มิ.ย.) โดยจำเลยฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำกลางคลองเปรม ขณะที่เรือตรีจักรกฤษณ์ กลั่นดี และนางจันจิรา ธนะพัฒน์ พ่อและแม่ของผู้เสียชีวิตเดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เรื่องยุติการซ้อมทรมานกล่าวว่า "คำพิพากษาคดีนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของรัฐในการนำคนผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และให้ได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด ลดสภาวะของสังคมไทยที่มักมีการปล่อยให้คนผิดลอยนวลพ้นผิดเหมือนดังกรณีอื่น ๆ ในอดีต รวมทั้งน่าตั้งคำถามว่าจะมีการเยียวยาผู้เสียหายและญาติอย่างเหมาะสมหรือไม่"

สรุปคำพิพากษา

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจัดทำเอกสารสรุปคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 180/2564 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 โจทก์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน บีบีซีไทยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-7 ว่าร่วมกันใช้ถุงคลุมศีรษะนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนขยายผล เพื่อให้บอกที่ซ่อนยาเสพติดให้โทษจนกระทั่งนายจิระพงศ์ถึงแก่ความตาย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด และฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทาทารุณโหดร้าย

บิดาและมารดาของนายจิระพงศ์ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและมีคำขอให้จำเลยที่ 1-7ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,550,000 บาท ศาลอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พ.ต.อ. ธิติสรรค์ "ผู้กำกับโจ้" ถูกนำตัวจาก จ.ชลบุรี มาที่กองบังคับการปราบปราม หลังติดต่อเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564

พ.ต.อ.ธิติสรรค์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เว้นแต่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ส่วน พ.ต.ต.รวีโรจน์ จำเลยที่ 2, ร.ต.อ.ทรงยศ จำเลยที่ 3, ร.ต.อ.ธรณินทร์ จำเลยที่ 4, ด.ต.วิสุทธิ์ จำเลยที่ 5, ด.ต.ศุภากร จำเลยที่ 6 และ ส.ต.ต. ปวีณ์กร จำเลยที่ 7 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ศาลนัดสืบพยานทั้งหมด 8 นัด มีพยานรวม 23 ปาก เป็นพยานโจทก์ 12 ปาก โจทก์ร่วม 2 ปาก และพยานจำเลยรวม 9 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่รู้เห็นเกี่ยวข้องในเหตุการณ์และเป็นผู้บันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช

ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 มีความผิดดังนี้

  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) เจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปใช้อาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
  • ความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ให้ลงโทษจำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (โดยเป็นเจตนาเล็งผลตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง) โดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษประหารชีวิต

ส่วนจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรคสอง, พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จำคุก 8 ปี

เหตุบรรเทาโทษ

ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 รับข้อเท็จจริงบางส่วนและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง

หลังเกิดเหตุจำเลยทั้ง 7 พยายามช่วยเหลือนายจิระพงศ์โดยการปั๊มหัวใจและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล จนแพทย์ช่วยรักษาผู้ตายมีสัญญาณชีพและหัวใจกลับมาเต้นก่อนที่นายจิระพงศ์จะถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา รู้สึกความผิดช่วยค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 30,000 บาท และวางเงินบรรเทาผลร้ายให้แก่พ่อและแม่ของผู้ตายคนละ 300,000 บาท นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1,2,3,4,5 และ 7 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน

คำร้องของพ่อแม่ให้จ่ายค่าชดเชย 1.55 ล้านบาท

ศาลพิพากษาว่าในส่วนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยกระทำทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดา แต่เมื่อจำเลยทั้ง 7 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของตน กรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ บิดามารดาของนายจิระพงศ์จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่ต้องไปเรียกค่าเสียหายเอากับหน่วยงานของรัฐที่จำเลยทั้ง 7 สังกัดอยู่คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ปฏิกิริยาหลังคำพิพากษา

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความเจ้าของเพจเฟซบุ๊กทนายคลายทุกข์กล่าวว่าในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในคนที่เปิดประเด็นนี้หลังจากได้รับหลักฐานจากตำรวจที่เห็นเหตุการณ์ เขาเห็นว่าคดีนี้หลักฐานค่อนข้างแน่นหนา คือ มีทั้งภาพจากกล้องวงจรปิด ประจักษ์พยานและรายงานผลการชันสูตรพลิกศพ แต่จำเลยก็ยังสู้คดีและถูกศาลพิพากษาลงโทษสถานหนัก

"คดีนี้เป็นบทเรียนสำหรับตำรวจว่าในการสืบสวนสอบสวนนั้นจะใช้ความรุนแรง จะใช้วิธีการทรมานไม่ได้ จะต้องถูกลงโทษสถานหนัก ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน นี่ขนาดเป็นถึงผู้กำกับสถานีตำรวจยังไม่รอด

ด้านนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน ซึ่งเป็นผู้นำภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์นี้มาเผยแพร่เมื่อ 24 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กสรุปคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ และให้ความเห็นว่า "หากระหว่างการจำคุก (จำเลย) ประพฤติดี ติดอีกไม่กี่ปีก็ออกมาชิลล์บนถนน ไม่ได้ว่าศาลเอื้อประโยชน์นะครับ แต่ตามข้อกฎหมายมันมีเหตุบรรเทาโทษอยู่แล้วครับ มันเศร้าตรงนี้"

ลำดับเหตุการณ์คดี "ผู้กำกับโจ้"

  • วันก่อเหตุ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 ที่อาคารหลังหนึ่งที่เรียกว่า "บ้านกาแฟ" ในบริเวณ สภ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ นายจิระพงษ์ วัย 24 ปี ถูกจับและควบคุมตัวมาที่นี่ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด เขาถูกทรมานร่างกายจนถึงแก่ความตายขณะอยู่ในความความควบคุมของเจ้าพนักงาน นำโดย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์

  • เผยคลิปคลุมถุงดำ

วันที่ 22 ส.ค. 2564 นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ทนายคลายทุกข์" ระบุว่าได้รับข้อมูลจากตำรวจชั้นผู้น้อยที่อยู่ในเหตุการณ์ทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิตที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนติดตามเรื่องนี้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายจิระพงศ์ ต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ 24 ส.ค. 2564 นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอโดยระบุว่าได้รับจากตำรวจชั้นผู้น้อยที่รับไม่ได้กับพฤติกรรมของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ คลิปดังกล่าวมีความยาว 1.21 นาที เป็นภาพเหตุการณ์ที่มีชายกลุ่มหนึ่งแต่งกายคล้ายตำรวจ คนหนึ่งนำถุงคลุมศีรษะของผู้ชายที่นั่งอยู่โดยถูกใส่กุญแจมือไว้ ชายที่นั่งอยู่พยายามดิ้นรนจนกระทั่งหมดสติล้มลงบนพื้น

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, Facebook/ษิทรา เบี้ยบังเกิด

คำบรรยายภาพ,

ภาพจากคลิปที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายวาม นำมาโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 ส.ค.

  • ให้ออกจากราชการ

หลังจากคลิปถูกเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้แถลงข่าวด่วนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลว่าได้มอบหมายให้เรตำรวจแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด และต่อมา ผบ.ตร. ได้ลงนามในคำสั่งให้ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 นายออกจากราชการมีผลตั้งแต่ 24 ส.ค. 2564 ได้แก่ พ.ต.อ. ธิติสรรค์, พ.ต.ต. รวิโรจน์ ดิษทอง, ร.ต.อ. ทรงยศ คล้ายนาค, ร.ต.ท. ธรณินทร์ มาศวรรณา, ด.ต. วิสุทธิ์ บุญเขียว, ด.ต. ศุภากร นิ่มชื่น และ ส.ต.ต. ปวีณ์กร คำมาเร็ว

  • ออกหมายจับ-มอบตัว-ฝากขัง

25 ส.ค. 2564 ศาลจังหวัดนครสวรรค์อนุมัติหมายจับ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และพวกรวม 7 คน ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย วันรุ่งขึ้นตำรวจเปิดเผยว่าจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 5 ราย อีก 2 คน คือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์และ ร.ต.ท. ธรณินทร์ รองสารวัตรป้องกันปราบปราม ยังหลบหนี

26 ส.ค. 2564 พ.ต.อ. ธิติสรรค์ติดต่อขอมอบตัวและถูกควบคุมตัวจาก สภ.เมืองแสนสุข จ.ชลบุรี มาแถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปราม ขณะที่ ร.ต.ท. ธรณินทร์ถูกจับกุมวันนี้เช่นกัน

27 ส.ค. 2564 ตำรวจนำตัว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ และ ร.ต.ท. ธรณินทร์ ไปสอบปากคำที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นได้ขออำนาจฝากขังพร้อมคัดค้านกันประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอดีตตำรวจ ถ้าหากได้รับการประกันตัว อาจจะออกมายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทำให้ส่งผลกับรูปคดี ศาลอนุญาต ส่งตัวเข้าเรือนจำกลางพิษณุโลก

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, Royal Thai Police Handout

คำบรรยายภาพ,

พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้" (เสื้อเขียว ซ้ายสุด) เข้ามอบตัวที่จังหวัดชลบุรี ก่อนถูกควบคุมตัวมาที่กองบังคับการกองปราบ

  • ค้นบ้าน-พบ ผกก.โจ้ครอบครองรถหรูในคดีเลี่ยงภาษี

พ.ต.อ. ธิติสรรค์ มีฉายาในวงการคนเล่นรถหรูว่า "โจ้ เฟอร์รารี" หลังเกิดเหตุ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าตรวจค้นบ้านของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ในกรุงเทพฯ จากนั้น พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ว่ารถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กินีที่อยู่ในความครองของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์เป็นรถที่อยู่ในคดีเลี่ยงภาษีรถหรูที่ดีเอสไอสอบสวนและสรุปสำนวนส่งอัยการไปตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท. กรวัชร์ชี้แจงว่า พ.ต.อ. ธิติสรรค์ ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ เนื่องจากเป็นเพียงผู้ซื้อตามปกติ ซึ่งมีการผ่อนชำระ การสอบสวนพบว่าไม่มีชื่อเกี่ยวข้องกับการรู้เห็นการนำเข้า ซึ่งในคดีนี้จะเอาผิดเฉพาะกับผู้นำเข้า หากผู้ซื้อไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นการซื้อตามขั้นตอนก็จะไม่ถูกดำเนินคดี

การกดแชร ข อม ลท ม ผลกระทบผ อ น

ที่มาของภาพ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ

คำบรรยายภาพ,

อธิบดีดีเอสไอแถลงชี้แจงผลการตรวจสอบการครอบครองรถหรูของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์

  • เปิดผลชันสูตรพลิกศพ

30 ส.ค. 2564 โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้ส่งรายงานการชันสูตรพลิกศพนายจิระพงศ์ให้ชุดสอบสวนคดีที่นำโดย พล.ต.อ. สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. ระบุสาเหตุการตายว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจ

นพ. ณัฐพงษ์ ตุลาพันธุ์ แพทย์นิติเวช รพ.สวรรค์ประชารักษ์ แถลงชี้แจงรายละเอียดตอนหนึ่งว่า "เมื่อเราพิจารณาจากในคลิปประกอบกับการไปดูที่เกิดเหตุและประวัติเพิ่มเติมอีกหลายอย่างทำให้ทราบได้ว่าผู้เสียชีวิตได้ถูกกระทำหลายประการ ตั้งแต่การคลุมด้วยถุงหลายชั้น เท่าที่ทราบคือ 6 ชั้น ประกอบกับในขณะที่ผู้เสียชีวิตพยายามดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดยังถูกตรึงพันธนาการด้วยการจับกด ประกอบกับการกดคอพับลงยิ่งทำให้หายใจได้ยากขึ้น หลังจากนั้นก็ถูกกดลงกับพื้นนานกว่า 6 นาที" และ "แม้ผลการผ่าพิสูจน์ศพ หรือการตรวจเลือดพบว่ามีสารเสพติดในร่างกายในระดับที่เป็นพิษได้ก็จริง แต่การกระทำเช่นนี้ ก็สามารถทำให้ตายได้แล้ว และขอฟันธงว่าเป็นการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการใช้ถุงพลาสติกคลุม"

  • ย้ายผู้ต้องหาทั้ง 7 เข้ากรุงเทพฯ

3 ก.ย. 2564 พ.ต.อ.ธิติสรรค์และผู้ต้องหาอีก 6 คน ถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพฯ ตามคำขอของ ตร. หลังจากมีการโอนคดีให้กองบังคับการปราบปรามรับผิดชอบ

  • อัยการสั่งฟ้อง 4 ข้อหา โทษสูงสุดประหารชีวิต

หลังจากได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 สำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์กับพวกต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 ทั้งหมด 4 ข้อหา โดยข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

  • ศาลไต่สวน

คดีนี้ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมดรวม 6 วันในช่วงต้นปี 2565 คือ 19 -20 ก.พ. 5-6 และ 12-13 มี.ค. ระหว่างนี้ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เรื่องยุติการซ้อมทรมาน ได้ทำหนังสือขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่สาธารณะชนให้ความสนใจและเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิในชีวิตอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐ แต่ศาลไม่อนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์คดี อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯ ได้รับอนุญาตให้เข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาคดีในวันนี้ (8 มิ.ย.)