2024 ทำไม ผ หญ ง ไปทำงานต างประเทศต องเจอคนใหมา

ถ้าหลังเลือกตั้งแล้วได้ “คนแบบนี้” จะโหวตเยส หรือโน!?

เผยแพร่: 5 เม.ย. 2554 07:11 โดย: MGR Online

ผ่าประเด็นร้อน

นาทีนี้ถ้าหากพิจารณาจากบรรยากาศโดยรวมแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง เพราะแม้ว่าจะมีหลายคนโดยเฉพาะคนในรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์พยายามเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หวั่นไหวพร้อมทั้งสร้างกระแสให้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยอ้างว่านี่คือการพัฒนาประชาธิปไตย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยระบุและให้ข้อมูลในความเชื่อที่ว่าอาจจะมี “อุบัติเหตุ” ทางการเมืองเกิดขึ้น และความเชื่ออย่างหลังก็เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางการเมืองและหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันหน้า

นอกจากนี้ยังมีกระแส “โหวตโน” เพื่อประท้วงไม่เอานักการเมือง “ขี้โกง-ห่วยแตก” ที่คาดว่าจะกลับเข้ามามีอำนาจบริหารบ้านเมือง หรือใช้อำนาจแทนชาวบ้าน เพราะดูจากหน้าตาและพฤติกรรมในอดีตแล้วนักการเมืองที่ว่านั้นชวน “สะอิดสะเอียน” อย่าว่าจะให้กลับมาเป็นผู้แทนฯ เลย คนพวกนี้ต้องกระทืบให้จมดินเสียด้วยซ้ำ

นั่นคือกระแสหลักๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ต่างฝ่ายต่างรณรงค์สร้างบรรยากาศเพื่อให้สังคมส่วนใหญ่ได้เห็นคล้อยตาม

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพก็ต้องอธิบายแจกแจงแยกเป็นกลุ่มๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มมีความมุ่งหวังอย่างไรกันแน่

กลุ่มแรกก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มนักการเมือง หรือ “นักเลือกตั้ง” ที่มีให้เห็นอยู่ดาษดื่นในสังคมไทย เพราะคนพวกนี้จะเวียนว่ายวนเวียนไม่รู้จบ และที่สำคัญคนพวกนี้ เป็น “นักธุรกิจการเมือง” เป็นนักลงทุนทางการเมือง เพราะถือว่า ได้กำไรคืนทุนเร็ว มีทั้งอำนาจ บารมี แถมเงินทองยังไหลมาเทมา ไม่ว่าใครลองหลงเข้ามาแล้วย่อมติดใจจนถอนตัวไม่ขึ้นแทบทั้งสิ้น

หากสำรวจบรรดานักธุรกิจการเมือง นักเลือกตั้ง ซึ่งในปัจจุบันมีการแตกตัวออกเป็นประเภทที่คอย “ชักใย” อยู่ข้างหลัง เนื่องจากตัวเองถูกสั่งห้ามยุ่งการเมืองอยู่หน้าฉากทำให้คนพวกนี้ต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ แต่กิเลศและความ “อยาก” ยังมีอยู่เต็มเปี่ยมเช่นเดิม

เมื่อสนามการเลือกตั้งใกล้เปิดก็เริ่มมีบรรดานักการเมือง นักเลือกตั้งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ รวมไปถึงพวกหน้าเก่าที่หายเงียบไปพักหนึ่ง แต่เมื่อได้โอกาส ได้จังหวะก็รีบกระโดดออกมาจากที่ “ซ่อนแอบ” โผล่หัวออกมาให้ชาวบ้านได้พิจารณา พร้อมกับโฆษณาตัวเองว่านี่คือ “ทางเลือกใหม่” เข้าไปโน่น

อย่างไรก็ดี เมื่อบรรยากาศเริ่มเปิดเราก็เริ่มเห็นนักการเมืองพวกนี้โผล่หน้าออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานี้ หัวขบวนก็ยังเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการ “เชิด” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค มีเป้าหมายในการเลือกตั้งคราวหน้าต้องได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียงขึ้นไป แต่ผลงานที่ผ่านมากว่า 2 ปี ล้วนแล้วแต่สร้างความผิดหวังให้กับคนที่เคยสนับสนุนเอาใจช่วย และเคยแม้กระทั่งเคยเสียสละชีวิต เลือดเนื้ออุ้มชูให้นักการเมืองพวกนี้ขึ้นมามีอำนาจ เพราะหลงเข้าใจว่า คนพวกนี้จะตั้งใจบริหารบ้านเมืองเพื่อความถูกต้องเป็นธรรม ที่สำคัญหวังว่าจะเป็นรัฐบาลที่ไม่คอร์รัปชัน

แม้ว่าในเบื้องต้นคนพวกนี้จะไปจับมือ กอดคอกับนักการเมือง “สีเทา” ที่ตลอดชีวิตมีแต่ข่าวอื้อฉาว อย่าง เนวิน ชิดชอบ ที่พอมีการเลือกตั้งต้องเปลี่ยนพรรคสังกัดทุกครั้ง หรือไปจับมือกับ พรรคการเมืองภายใต้การอุปถัมภ์ของ บรรหาร ศิลปอาชา ชาวบ้านก็ยอม “หลิ่วตา” ให้ เพราะอาจมองเห็นถึงความจำเป็นเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลผ่านพ้นไปให้ได้เสียก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมีแต่ข่าวคราว มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ตัวผู้นำหรือนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกเปรียบเปรยเย้ยหยันว่า “พายเรือให้โจรนั่ง” หรือไม่ก็ “ร่วมลงเรือไปกับโจร” หน้าตาเฉย ความเลวร้ายไม่ต่างจากยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลไม่มีผิด หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป กว่าสองปีที่ผ่านมาสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนนี้ทำได้ก็คือ “ดีแต่พูด” เท่านั้น ปฏิบัติจริงไม่ได้สักอย่าง

ขณะที่หันมาพิจารณาอีกขั้วหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทย ก็เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าอยู่ภายใต้การ “ชักใย” ของเจ้าของพรรคอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการ “ชี้นิ้ว” ของเขาเท่านั้น ว่าจะไฟเขียวให้ใครเป็น “หุ่นเชิด” ดังนั้น คำตอบก็ย่อมมีอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าหลังเลือกตั้งหากพรรคนี้ได้เป็นรัฐบาลเป้าหมายหลักก็คือต้อง “นิรโทษกรรม” ให้เขาพ้นผิดทุกกรณี และล่าสุดเมื่อผลสำรวจที่ออกมาปรากฎว่าความนิยมของชาวบ้านออกมาสูสีกับฝ่ายประชาธิปัตย์ทำให้ต้องไปดึงเอา “เฒ่าทารก” อย่าง เสนาะ เทียนทอง กลับมาร่วมงานหวังเสริมจำนวน ส.ส.ให้มากขึ้น ทั้งที่ในอดีตเคยขัดแย้งด่าทอจนไม่เผาผีกันมาแล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อผลประโยชน์ลงตัว “ตัวเลข” โอเคก็หันกลับมาจับมือกันหน้าตาเฉย และยังกล้าบอกว่านี่คือการ “เสียสละเพื่อชาติและประชาชน” เสียอีก

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังเบื่อทั้งสองกลุ่มแรก โดยกลุ่มนี้ชู ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ขึ้นมาโดยอ้างว่า “นี่คือทางเลือก” ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากผลงานในอดีตและต่อเนื่องมาในยุคที่เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จับมือกับกลุ่มนายตำรวจเพื่อนทักษิณ ปกป้อง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในทุกทาง และมาวันนี้ทั้งคู่ก็รวมกลุ่มกันในนามพรรครักษ์สันติ โดยมีอดีตนายตำรวจ “ก๊วนเดิม” มากันครบครัน

นี่ยังไม่นับข่าวการ “หักดิบ” กับกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคประชาสันติ ซึ่งมีการระบุว่าได้ตกปากรับคำกันไปแล้วว่าจะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและจะเปิดตัวเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

ทั้งหมดคือตัวเลือกของนักการเมืองที่บังอาจ “เสนอหน้า” หรือ “ชักใย” ให้ชาวบ้านได้เลือกเข้าไปเป็นตัวแทนอำนาจ ซึ่งหากไม่คิดอะไรมาก หรือไม่สนใจภูมิหลังของแต่ละคนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันมันอาจเกิดความเคยชินไม่ต่างจากที่ทำมา แต่เมื่อใดก็ตามที่ติดตามข้อมูลและความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเมื่อสังคมเปลี่ยนไปชาวบ้านมีความตื่นตัว รู้ทัน และที่สำคัญเริ่มฉลาดกว่านักการเมือง “กระจอก” ดังกล่าวมากขึ้นทุกวันมันก็ยิ่งเกิดอาการสะอิดสะเอียน บางครั้งแค่เดินผ่านยังอยากถ่มถุยน้ำลายใส่หน้าด้วยซ้ำไป