ประว ต ท มาและความสำค ญ ม.17 ของจอมพลสฤษด

หนังสือ “เนื้อในระบอบถนอม : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ.2506-2516” ของผม ที่พิมพ์ออกมาเมื่อตุลาคม 2566 ในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นการปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมเสนอเพื่อจบการศึกษามาเมื่อสิบห้าปีก่อนนั้น กล่าวได้ว่ายังคงเป็นงานวิชาการเพียงชิ้นเดียวที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” โดยตรง ศึกษาถึงการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง การรักษาอำนาจทางการเมือง และการสิ้นอำนาจทางการเมืองของจอมพลถนอม ด้วยการดูสัมพันธภาพทางอำนาจที่มีกับสถาบันการเมืองต่างๆ ในบริบทสงครามเย็นและบริบทสงครามเวียดนาม

เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำเมื่อพฤษภาคม 2557 นั้น ผมก็ได้ทดลองใช้แนวทางการวิเคราะห์วิธีการรักษาอำนาจของจอมพลถนอมมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การรักษาอำนาจ และคาดถึงการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งการจัดทำการวิจัยที่เผยแพร่ในนาม “ธำรงศักดิ์โพล” ถึงความนิยมในตัวประยุทธ์ และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. ที่สัมพันธ์กับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อพฤษภาคม 2565 และการเลือกตั้ง ส.ส. พฤษภาคม 2566 ดังนั้น ผมจึงคิดว่าผมควรนำเสนอการเปรียบเทียบระบอบถนอมกับระบอบประยุทธ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ถ้าตั้งคำถามว่า ใครคือนายกรัฐมนตรีทหารที่อยู่ยาวนานที่สุดในการเมืองไทย คนแรกที่ชัดเจนคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกฯ สองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกในทศวรรษ 2480 รวม 5 ปี 8 เดือน ช่วงสองทศวรรษ 2490 รวม 9 ปี 5 เดือน รวมสองช่วงก็ราว 15 ปี คนที่สองคือ จอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงแรกปี 2501 ราว 10 เดือน ช่วงที่สองปี 2506-2516 ราว 9 ปี 10 เดือน รวมสองช่วง 10 ปี 8 เดือน หรือเกือบ 11 ปี ส่วนคนที่สามเป็นคนที่เบียดแทรกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (4 ปี 10 เดือน) พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (5 ปี 3 เดือน) และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (8 ปี 5 เดือน) ขึ้นมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมระยะเวลาในอำนาจ 9 ปี 3 เดือนกว่า

เรียกได้ว่าประยุทธ์สามารถอยู่ยาวได้ใกล้เคียงกับการอยู่ยาวนานของจอมพลถนอมและจอมพล ป. อย่างน่าตะลึงงัน

บทความนี้เน้นศึกษาเปรียบเทียบการรักษาอำนาจให้อยู่ยาวนานในระยะ 5 ปีแรกของระบอบถนอม และระบอบประยุทธ์ โดยพิจารณาบางประเด็นเท่านั้น ได้แก่ การขึ้นสู่อำนาจ การควบคุมกองทัพและมหาดไทย ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ปฏิวัติและปฏิรูป คณะรัฐมนตรียุคเผด็จการทหารแบบเปิดเผย ร่างรัฐธรรมนูญและเลื่อนเลือกตั้ง สภาตรายางเพื่อค้ำจุนรัฐบาลทหาร

การขึ้นสู่อำนาจ ของผู้นำกองทัพ

ทั้งจอมพลถนอมและพลเอกประยุทธ์นั้นขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ต่างกันเพียงว่า ถนอมเป็นลูกน้องของจอมพลสฤษดิ์หัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

จอมพลสฤษดิ์ ผู้บัญชาการทหารบก รมว.กลาโหม หัวหน้ากลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็น ส.ส. กรุงเทพ (พระนคร) และเป็นหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา เมื่อ 16 กันยายน 2500 ด้วยบรรยากาศการเดินขบวนประท้วง “เลือกตั้งสกปรก” (26 กุมภาพันธ์ 2500) จากนิสิตจุฬาฯ นักศึกษาธรรมศาสตร์และขบวนการไฮด์ปาร์ก ภายใต้การคุ้มกันของจอมพลสฤษดิ์ ตามด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน หลังรัฐประหาร ส้มหล่นไปที่นายพจน์ สารสิน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ และเพิ่งได้เป็นเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อแสดงการรักษามิตรภาพกับสหรัฐฯ ภารกิจหลักสามเดือนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่และรัฐบาลชุดใหม่

หลังเลือกตั้งครั้งใหม่ (15 ธันวาคม 2500) จอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารและ ผบ.ทบ. ระดม ส.ส. ทั้งของตนและที่ดูดเข้ามาจัดตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคชาติสังคม กลายเป็นพรรคที่มี สส. มากที่สุด ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ฉับพลันนั้น จอมพลสฤษดิ์ป่วยหนัก ไม่อาจขึ้นเป็นนายกฯได้ ส้มจึงหล่นไปที่ลูกน้องอันดับสอง พลโทถนอม รองผู้บัญชาการทหารบก อดีต รมว.กลาโหม ชุดที่ผ่านมา

ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลถนอมคือคณะรัฐมนตรีมีมติส่งจอมพลสฤษดิ์ไปรักษาชีวิตที่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ ด้วยงบประมาณราว 1 ล้านบาทในนามเป็นผู้แทนไปดูงานด้านการทหารที่ต่างประเทศ

เมื่อจอมพลสฤษดิ์รักษาตัวหายดี แต่ได้รับแจ้งจากแพทย์ของสหรัฐฯว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงภายใน 5 ปี ในระหว่างพักผ่อนร่างกายที่สหรัฐฯและยุโรป สฤษดิ์ได้วางแผนรัฐประหารอีกครั้งเพื่อขึ้นสู่อำนาจ สฤษดิ์เดินทางกลับประเทศ ให้พลเอกถนอมลาออกจากนายกฯ เช้า 20 ตุลาคม 2501 และค่ำวันนั้นก็ประกาศทำรัฐประหาร

ยุคถนอมนายกฯราว 10 เดือนนี้ มีภาพลักษณ์ว่า เป็นผู้นำที่อ่อนแอ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่สามารถควบคุม สส. ได้ แต่อีกด้านก็ได้ภาพลักษณ์จากนักเขียนสารคดีการเมืองว่าเป็น “นายกฯคนซื่อ” ทว่าสภาพการบริหารงานที่เป็นจริงนั้น ถนอมเป็นเสมือน “นายกฯหุ่น” ที่ถูกควบคุมโดยสฤษดิ์จากทางไกล

ภายใต้ระยะภายใน 5 ปีที่สฤษดิ์จะต้องตาย หรือยุคเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์นี้ เราจึงได้เห็นการออกแบบให้นายกฯแบบสฤษดิ์มีอำนาจสุดๆ โดยมีมาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2502 ที่ระบุให้คำสั่งหรือการกระทำของนายกฯ ถือเป็นกฎหมาย

ดังนั้น เราจึงเห็นการสั่งสังหารคนกลางกองเพลิงด้วยมาตรา 17 สั่งสังหารครูครอง จันดาวงศ์ และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ที่สว่างแดนดิน สกลนคร และกวาดจับปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์และนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองคนสำคัญไปไว้ในคุกการเมือง

ยุคสฤษดิ์นี้ถูกเรียกว่า “ระบอบสฤษดิ์” หรือ “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” ที่หมายถึง สฤษดิ์เป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพ เป็น ผบ.ทบ. ผบ.ส.ส. และอธิบดีกรมตำรวจ มีถนอมเป็นมือขวาเป็น รมว.กลาโหม และรอง ผบ.ส.ส. มีประภาส จารุเสถียร เป็นมือซ้าย เป็น รมว.มหาดไทย และรอง ผบ.ทบ.

ภาพลักษณ์ถนอมดูจะเป็นอันดับที่สองในทางการเมืองรองจากสฤษดิ์ ทว่าในความเป็นจริงทางทหาร ถนอมถูกดีดออกจากกองทัพบก ไม่ได้เป็น รอง ผบ.ทบ. ซึ่งยุคนี้ทหารบก คือผู้นำแห่งอำนาจและการรัฐประหารที่แท้จริง สฤษดิ์ดุลถนอมออกไปเป็น รอง ผบ.ส.ส. ที่ในความจริงหน่วยบัญชาการทหารสูงสุด คือกรุกักขังนายพลทหารทั้งหลาย

ส่วนประภาส สฤษดิ์ก็ระแวงเสมอมาว่าอาจคิดยึดอำนาจจากตน ไม่ไว้วางใจ เคยย้ายประภาสออกจากกองทัพบก แต่เมื่อเคลียร์ใจกันได้ ก็ย้ายกลับมาเป็น รอง ผบ.ทบ. และสองเดือนสุดท้ายของชีวิตสฤษดิ์ ประภาสถูกย้ายออกจากรอง ผบ.ทบ. ไปเป็นผู้ช่วย ผบ.ส.ส. นั่นหมายความว่า ประภาสกำลังจะหมดอำนาจในกองทัพบก และอาจต่อเนื่องถึงตำแหน่งรัฐมนตรี

สฤษดิ์ตายเย็นวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ซึ่งเป็นไปอย่างใกล้เคียงตามที่แพทย์สหรัฐฯได้คาดไว้ ร่างของสฤษดิ์ที่นอนอสัญกรรมอย่างสงบในตึกหนึ่งของโรงพยาบาลพระมงกุฎ พลเอกถนอมในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกข้างๆ นั้น ซึ่งรัฐมนตรีต่างแต่งชุดขาวไว้อาลัย พร้อมมีภรรยารัฐมนตรีมาด้วย ถนอมประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าตนคือนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และแถลงข่าวดังกล่าวสู่สาธารณะ พร้อมใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจมาตรา 17 ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหาร วันต่อมาราชกิจจานุเบกษาก็พิมพ์พระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกถนอม เป็นนายกรัฐมนตรี

สรุปการขึ้นสู่อำนาจของถนอม มาจากการเป็นรองหัวหน้าคณะรัฐประหารซ้อนสองครั้งของปี 2500 และ 2501 แม้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2501 ก็ในฐานะ “หุ่น” และต้องอยู่ในสภาพผู้นำที่อ่อนแอ แต่แล้วความตายของสฤษดิ์ ถนอมก็ขึ้นสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจจากวงในคณะรัฐมนตรี

ส่วนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกมานานถึง 4 ปี ก่อนทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กล่าวได้ว่า มีแผนการยึดอำนาจมาหลายปีแล้ว ด้วยการประสานและบริบทการประท้วงกลุ่ม กปปส. ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ชัตดาวน์ประเทศไทย ทำให้ระบบราชการชะงักงัน ด้วยพลัง “มวลมหาประชาชน” แล้วยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

หากมองในภาพรวม การรัฐประหารของ คสช. เป็นการทำรัฐประหารซ้ำครั้งที่ 2 ต่อจากรัฐประหารคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 19 กันยายน 2549 นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ด้วยบริบท “ม็อบเสื้อเหลือง” และยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง แต่รัฐประหาร ซึ่งเป็นรัฐประหารที่ถูกพูดกันดังๆ ว่าเป็น “รัฐประหารเสียของ” ดังนั้น รัฐประหาร คสช. ของประยุทธ์ 2557 จึงต้อง “เอาของ” ให้ได้ทุกแรงความปรารถนา

ควบคุมกองทัพ และมหาดไทย แบบ Duo & Trio

เมื่อถนอมได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะอายุ 52 ปี สิ่งแรกที่ทำทันทีคือตั้งตนเองให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และยังคงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งได้รับยศ จอมพล คนเดียวในกองทัพไทย และตั้งพลเอกประภาส ขณะอายุ 51 ปี ให้คืนกลับมาเป็นรอง ผบ.ทบ.และยกระดับให้เป็น รอง ผบ.ส.ส.

จอมพลถนอมอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพียงปีเดียว จึงถ่ายโอนตำแหน่งนี้ให้พลเอกประภาสเป็น ผบ.ทบ. แทน โดยถนอมเป็น ผบ.ส.ส. แม้จะด้อยค่าเพราะไม่ได้คุมกำลังกองทัพบกที่แท้จริง แต่ก็วางใจให้เพื่อนต่างรุ่นและเป็นดองกันทางลูกชายลูกสาวคนโตควบคุมกองทัพแทน

แม้ว่าจะเสี่ยงต่อการถูกยึดอำนาจ เพราะถนอมหลุดออกจากเครือข่ายอำนาจในกองทัพบกมากว่าห้าปีแล้ว รวมทั้งภารกิจนายกฯ ที่มีมาก ทำให้มีเวลาจำกัด แต่ทว่านายกฯ มีอำนาจมาตรา 17 ที่สั่งเป็นสั่งตายได้เป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจ

นอกจากนี้ ถนอมยังคงนั่งเป็น รมว.กลาโหม ตลอดสมัยระบอบถนอม ส่วนประภาสนั่งเป็นรองนายกฯ และเป็น รมว.มหาดไทย ซึ่งตอนนั้นมีกรมตำรวจอยู่ในสังกัด ประภาสคุมทหารบกและความมั่นคงภายในผ่านตำรวจและผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ ถนอม และประภาส จึงกลายเป็นสองคู่หู Duo ที่ไม่อาจแยกจากกัน

หลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์เหลืออายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพียง 4 เดือน มีข่าวลือว่าประยุทธ์อาจใช้วิธีต่ออายุราชการทหารแบบจอมพลถนอม พลเอกประภาส และพลเอกเปรม

แต่เมื่อสิ้นกันยายน 2557 พลเอกประยุทธ์ไม่ต่ออายุ แต่เกษียณราชการ คำถามคือเขาจะควบคุมกองทัพบกได้อย่างไรผ่าน ผบ.ทบ. คนใหม่ๆ เพราะสมัยพลเอกเปรม มีกบฏทหารบกยังเติร์ก 2 ครั้ง คือปี 2524 กบฏเมษาฮาวายของ จปร.รุ่น 7 ที่ทหารระดับนายพันคุมกำลังรบจำนวนมากเป็นกบฏ และกบฏยังเติร์กกลุ่มเดิมปี 2528 รวมทั้งถูกกดดันในการบริหารประเทศและการวิจารณ์เปรมจากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. แม้ว่าพลเอกอาทิตย์จะพ่ายแพ้และถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ก็ตาม แต่กล่าวโดยสรุป กองทัพบกในรอบ 9 ปีของระบอบประยุทธ์ ผบ.ทบ.ทั้งหกคนนั้นเงียบสงบและเชื่อฟังนายกฯประยุทธ์อย่างไม่มีข้อแม้

สามพี่น้อง Trio อดีต ผบ.ทบ. แบ่งกันคุมงาน

พลเอกประยุทธ์ นายกฯ มีมาตรา 44 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่คนโต เป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่คนรอง เป็น รมว.มหาดไทย

แต่รัฐบาลหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯและควบ รมว.กลาโหม ขณะที่พลเอกอนุพงษ์ ยังคงเป็น รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็น รมว.มหาดไทย 9 ปี นับว่านานรองจากจอมพลประภาสที่เป็นถึง 16 ปี แต่พลเอกประวิตรถูกเด้งออกจากความสัมพันธ์กับกองทัพในฐานะ รมว.กลาโหม เหลือแค่ตำแหน่งรองนายกฯ ซึ่งหากไม่มีกระทรวงคุมก็แทบจะไม่มีอำนาจบทบาทอะไร (ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ผู้นำพรรคต่างๆ ร่วมรัฐบาลที่ได้เป็นรองนายกฯ ต้องควบ รมว.กระทรวงด้วย)

กรณีนี้ชี้ว่า ประยุทธ์ที่เกษียณมาแล้วห้าปี ยังต้องการสายสัมพันธ์กับน้องๆ ในกองทัพ เพราะอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 นั้นสิ้นสูญ

ดังนั้น ในช่วงท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ เราจึงเห็นความฝันของประวิตรที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีบ้างโดยชิงพรรคพลังประชารัฐมานำ ส่วนประยุทธ์ต้องไปสร้างพรรคใหม่เป็น “รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อลงสนามเลือกตั้งสืบต่ออำนาจของตนในปี 2566

ประชาธิปไตย แบบไทยๆ ปฏิวัติ & ปฏิรูป

ถนอมได้มรดกอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ม.17 มาจากระบอบสฤษดิ์ ดังนั้น การที่จะรักษาอำนาจนี้ไว้ คือการอ้างบทบาทของการรัฐประหารในนามภารกิจการ “ปฏิวัติ” ที่ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างขนานใหญ่ในทุกด้าน ถนอมสร้างวาทกรรมเรียกยุคสมัยของตนว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” คือระบอบช่วงเปลี่ยนผ่านที่แม้จะเป็นเผด็จการ แต่ก็จะค่อยๆ ส่งคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อที่อนาคตไทยจะได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ดังนั้น ยุคถนอมเกือบสิบปี จึงมีช่วงการเมืองออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นเผด็จการทหารแบบเปิดเผย (2506-2511) ช่วงสองมีรัฐธรรมนูญถาวรจัดแบ่งอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งบ้างพอเป็นพิธี (2512-2514) ช่วงสามรัฐประหารเป็นเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ (พ.ย. 2515-ธ.ค.2515) ช่วงที่สี่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นเผด็จการทหารแบบเปิดเผย (2516)

ประยุทธ์ได้มรดกอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ม.44 ที่มีบิดรคือ ม.17 จากยุคระบอบสฤษดิ์และระบอบถนอม ระบอบประยุทธ์สร้างวาทกรรม “ปฏิรูป” ประเทศในทุกด้านก่อนที่จะมีการคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเป้าหมายปลายทางที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ระบอบประยุทธ์เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข”

ยุคประยุทธ์ 9 ปีกว่าแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงสามเดือนแรกหลังรัฐประหารเป็นเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ ช่วงที่สองมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นเผด็จการทหารแบบเปิดเผย (2557-มีนาคม 2562) ช่วงที่สามมีรัฐธรรมนูญถาวรจัดแบ่งอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งบ้างพอเป็นพิธี (2562-2566 และยังต่อเนื่องไปอีก)

ทั้งระบอบถนอม ระบอบประยุทธ์ ต่างเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” ต่างกันสำคัญที่มีทหารเป็นผู้นำกับมีทหารเป็นผู้ตาม

คณะรัฐมนตรี ยุคเผด็จการทหาร แบบเปิดเผย

ระบอบสฤษดิ์ได้สร้างให้ทหารบกเป็นศูนย์อำนาจสำคัญ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสฤษดิ์ที่มีขนาดเล็ก 19 คน จึงมีแต่ทหารบก และข้าราชการพลเรือนเทคโนแครทระดับสูง ไม่จำต้องมี ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. มาร่วมเป็นรัฐมนตรี อันเท่ากับชี้ว่า การรัฐประหารของสฤษดิ์นั้นทหารบกสำคัญที่สุด ซึ่งถนอมที่อ้างความต่อเนื่องจากยุคสฤษดิ์ก็ยังคงอดีตรัฐมนตรีของสฤษดิ์ไว้เดิมทุกคน แต่เพิ่มเข้ามาในส่วนสร้างเสริมกำลังบารมีของถนอม เช่น นายพจน์ สารสิน อดีตนายกฯ ที่ยอมเข้ามาเป็น รมว.กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

ระบอบประยุทธ์เป็นระบอบที่อดีต ผบ.ทบ. เข้ามาเป็นรัฐมนตรีมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ อาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาล ผบ.ทบ. นั้นคือ พลเอกประวิตร ผบ.ทบ. 2547-48 พลเอกอนุพงษ์ 2550-53 พลเอกประยุทธ์ 2553-57 พลเอกอุดมเดช สีตบุตร 2557-2558 ได้เป็น รมช.กลาโหม เป็นผู้มีบทบาทในการสร้างอนุสาวรีย์ 7 มหาราช “อุทยานราชภักดิ์”

นอกจากนั้น ยังมีนายพลเอกทหารบกอีกหลายคนได้ร่วมรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ผู้นำทหารกองทัพอื่นที่ร่วมรัฐประหารก็ได้เป็นรัฐมนตรีด้วย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. เป็น รมว.ศึกษาธิการ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. เป็น รมว.คมนาคม พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะรัฐมนตรีมี 33 คน นอกจากทหารยังมีองค์ประกอบของข้าราชการพลเรือนชั้นสูง นักการเมืองและนักธุรกิจ แต่ในรอบ 5 ปี มีการปรับ ครม. ถึง 5 ครั้ง อันสะท้อนให้เห็นการตอบโจทย์ต่อผู้สนับสนุนที่หลากหลาย การไม่ลงตัวทางอำนาจ และการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน

บทสรุปยุคเผด็จการทหารแบบเปิดเผย ระบอบถนอมเน้นนายพลกองทัพบกเป็นศูนย์กลางอำนาจ ระบอบประยุทธ์ นายพล ผบ.ทบ. เป็นศูนย์กลางอำนาจ แต่ยังโอบรับทหารเรือทหารอากาศ ตำรวจ ให้ร่วมในอำนาจทางการเมือง

ร่างรัฐธรรมนูญ และเลื่อนเลือกตั้ง คือเครื่องมือรักษาอำนาจทางการเมืองที่ออกแบบเพื่อ “พวกเรา”

รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ให้คำอธิบายว่าอยากให้สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เต็มที่ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ให้สภานี้ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย เมื่อสฤษดิ์อสัญกรรมหรือ 5 ปีผ่านไป การจัดทำรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปสักเท่าใด การขึ้นมาของจอมพลถนอมดูจะสร้างความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะจัดสร้างได้เร่งรัดเร็วขึ้น แต่ทว่าในที่สุดก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

ในช่วงท้าย แรงกดดันจากรัชกาลที่ 9 ที่ทรงปรารถนาให้ชาติมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 รวมระยะเวลาในการจัดทำนานเกือบสิบปีด้วยกัน

รัฐธรรมนูญ 2511 นี้ได้ฉายาว่า “ฉบับฟันปลอม” มี 183 มาตรา (เดิมมี 180 มาตรา แต่ฝ่ายทหารเพิ่มฉับพลันอีก 3 มาตรา) โดยถูกแจกแจงว่ามีต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 ที่เป็นต้นกำเนิดวุฒิสภา และเกือบทั้งหมดของมาตราในรัฐธรรมนูญนี้มาจากฉบับปี 2492 ที่เป็นต้นกำเนิดองคมนตรี โดยแก้ไขปรับเปลี่ยนถ้อยคำหรือวลีเล็กน้อย มีเพียง 4 มาตราที่เขียนขึ้นใหม่ ทั้งสองฉบับนี้เป็นแม่แบบรัฐธรรมนูญราชาชาตินิยม ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเพิ่มและทรงมีพระราชอัธยาศัย ภายใต้การนำและปกป้องของทหาร

รัฐธรรมนูญ 2511 ถูกออกแบบมาเพื่อให้คณะทหารสืบทอดอำนาจต่อไปภายใต้เสื้อคลุมว่ามีการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้ข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมืองได้ คือเป็น นายกฯ เป็น รมต. และวุฒิสภาได้ แต่ห้าม ส.ส. และ ส.ว. เป็นนายกฯและรัฐมนตรี ซึ่งความจริงมุ่งกีดกัน ส.ส. ออกจากอำนาจฝ่ายบริหาร

ทั้งนี้ ส.ว. แต่งตั้งมีจำนวน 3 ใน 4 ของ สส. มีวาระ 6 ปี มีอำนาจหน้าที่เกือบเท่า สส. เช่น เข้าชื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้ เข้าชื่อเปิดอภิปรายทั่วไปได้ เข้าชื่อและร่วมอภิปรายในรัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ ซึ่งจำนวนและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. นี่คือเสียงค้ำจุนให้รัฐบาลทหารยังคงแข็งแกร่งอยู่ในอำนาจสืบไป

ยุทธวิธีที่ฝ่ายทหารใช้เพื่อรักษาอำนาจเพิ่มขึ้น คือ เมื่อรัฐธรรมนูญกำลังร่าง และพิจารณากันในสภาจะเสร็จสิ้นแล้ว คนในสังคมหวังว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้โดยเร็วเพื่อจะได้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง ที่พอจะเป็นเสียงของประชาชน รวมทั้งการมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เพิ่มขึ้น

จังหวะนี้ ฝ่ายทหารก็เสนอแก้ไขและเพิ่มเติมมาตราที่ตนต้องการทันที โดยสร้างความรู้สึกแก่สังคมว่าให้ยอมๆ ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขทีหลัง

สามมาตราที่ฝ่ายทหารเสนอเพิ่มใหม่เข้ามาในรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 178 และ 179 ที่ให้วุฒิสภาแต่งตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ทำหน้าที่รัฐสภา เริ่มประชุมภายใน 15 วันจนกว่าจะมี ส.ส. เลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าในระหว่างนี้รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมจะยังบริหารประเทศต่อไปได้ด้วยวุฒิสภาเป็นหลัก โดยที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่นั้นหรือจะมีหรือไม่นั้น ก็ยังเป็นที่น่าหวาดหวั่นไม่แน่นอน โดยฝ่ายทหารแก้มาตรากำหนดวันเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายร่างกำหนดให้ภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน ถูกแก้ไขเป็น 240 วันหรือ 8 เดือน พร้อมกับการนำเสนอของผู้นำทหารที่ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมือง

แม้แต่วันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 9 ทรงพิจารณาฤกษ์ว่าน่าจะเป็นวันที่ 10 มิถุนายน ฝ่ายรัฐบาลจอมพลถนอมก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และให้มีการเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเกือบ 8 เดือนเต็ม

รัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ ใช้วิธีจัดทำรัฐธรรมนูญสองครั้ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่าง ถูก “คว่ำ” โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อ 6 กันยายน 2558 บวรศักดิ์สรุปด้วยแนวคิดที่ชัดเจนว่าผู้นำทหาร คสช. นั้น “เขาอยากอยู่ยาว” จึงให้มีการร่างฉบับที่สองโดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่าง เมื่อจำต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ฝ่ายทหารก็ใช้กลยุทธ์ผลักดันที่ตนต้องการให้เป็นคำถามพ่วงข้อที่สองที่เขียนยาวเหยียดและซ่อนเงื่อนให้ประชาชนงงงวยที่ไม่เป็นไปตามหลักประชามติ ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

คำถามพ่วงนี้ ชี้ว่า ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ทั้งอยาก “อยู่ยาว” และอยาก “อยู่ต่อ” นั้นคือ เมื่อมี ส.ว. แต่งตั้ง มี ส.ส. เลือกตั้ง เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐประหารในอดีตไม่เคยกล้าทำ คือกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจำนวน ส.ว. ที่กำหนดให้มี 250 คน หรือครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ก็คือ พรรคทหารข้างมากในรัฐสภาอยู่แล้ว ทั้ง ส.ว. ที่มีวาระ 5 ปี ขณะที่ ส.ส. มีวาระ 4 ปี

ดังนั้น ส.ว. จะร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกครั้งเมื่อสิ้นปีที่สี่ ด้วยเหตุนี้ คาดได้ว่าการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร คสช. อาจจะสามารถอยู่ได้ยาวถึง 8 ปี ทั้งนี้ต้องทำให้เห็นด้วยว่าพรรคฝ่ายทหารได้จำนวน ส.ส. นำในสนามเลือกตั้งในแต่ละครั้ง

การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และครั้งก่อนหลังรัฐประหาร 2549 ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้รับการศึกษาว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายรัฐทหารที่มุ่งหวังสร้างความชอบธรรมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชน แต่กระบวนการนั้นเป็นแบบเผด็จการทหารที่ห้ามการรณรงค์ต่อต้านไม่รับรองรัฐธรรมนูญ หรือโหวต NO

ยิ่งไปกว่านั้น หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ 7 สิงหาคม 2559 (ผู้มีสิทธิ์ 50.07 ล้านคน คำถามข้อแรกรับรองรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นชอบ 16.82 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10.59 ล้านคน ไม่ออกเสียงเลือก 0.93 ล้านคน รวมมาใช้สิทธิ์ 29.74 ล้านคน คำถามพ่วงอำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกตั้งนายกฯ เห็นชอบ 15.13 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10.92 ล้านคน ไม่ออกเสียงเลือก 3.68 ล้านคน)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตราเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามการเสนอของคณะรัฐมนตรีและ คสช. โดย สนช. พิจารณาผ่าน 3 วาระรวดในวันเดียว 13 มกราคม 2560

รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ประกาศใช้ 6 เมษายน 2560 แต่ฝ่ายพลเอกประยุทธ์สามารถยืดการเลือกตั้งได้เกือบอีก 2 ปี คือให้มีการเลือกตั้ง สส. เมื่อ 24 มีนาคม 2562

ทั้งรัฐธรรมนูญของระบอบถนอมและระบอบประยุทธ์ที่เหมือนกันคือฝ่าย สส. ไม่สามารถที่จะบรรลุความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดๆ ได้ทั้งสิ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายรัฐบาลทหาร

สนช. ส.ว. สปช. สปท. “สภาตรายาง” เพื่อค้ำจุน รัฐบาลทหาร

การคิดค้นจากรัฐประหารปี 2490 คือ การมีวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งที่มีจำนวนเท่ากับจำนวน ส.ส. มาเป็นจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 และจำนวน 1 ใน 2 ของ ส.ส. ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยให้มีอำนาจหน้าที่เกือบเท่าเทียมกับ ส.ส. และมีวาระประชุมร่วมรัฐสภาจำนวนมาก เพื่อค้ำจุนรัฐบาลทหารในรัฐสภา รวมทั้งมาถึงร่วมโหวตเลือกนายกฯ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่สร้างกลยุทธ์ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้พรรคละไม่เกิน 3 คน

การคิดค้นจากรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ปี 2501 ที่ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้ง ทำหน้าที่รัฐสภาได้โดยไม่ต้องมี ส.ส. และการเลือกตั้ง คือความสำเร็จอีกระดับของฝ่ายทหาร

ดังนั้น การรัฐประหารครั้งต่อๆ มาจึงกลายเป็นระเบียบแบบแผนการรักษาอำนาจว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมี สนช.แต่งตั้ง เมื่อมี รัฐธรรมนูญถาวร จะมี ส.ว. แต่งตั้ง

สนช. ปี 2502 สฤษดิ์ตั้งทั้งหมดเป็นข้าราชการทหารและพลเรือนที่มีบทบาทชั้นสูงในการกุมกำลังและกระทรวงกรม สนช. 240 คน เป็นทหารบก 110 ทหารเรือ 26 ทหารอากาศ 26 ตำรวจ 18 พลเรือน 60 คน สมาชิก สนช. ชุดนี้จะอยู่ยาวทั้งยุคสฤษดิ์และยุคถนอม สิ้นสุดลงเพราะต้องตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2511

สนช. ธันวาคม 2515 ถนอมตั้ง 299 คน เป็นทหารบก 133 ทหารเรือ 30 ทหารอากาศ 23 ตำรวจ 12 พลเรือน 101 คน ส่วนใหญ่คือข้าราชการพลเรือน

สนช. แต่งตั้งเมื่อ 31 กรกฎาคม 2557 จนถึง 2 กุมภาพันธ์ 2560 ประยุทธ์ คสช. ตั้งรวม 250 คน เป็นทหาร 145 คน ร้อยละ 58 ตำรวจ 12 คน ร้อยละ 5 ข้าราชการพลเรือน 66 ร้อยละ 26 ภาคธุรกิจ 19 คน ร้อยละ 8 อื่นๆ 8 คน ร้อยละ 3 หรือรวมข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 223 คน รวม ร้อยละ 89

นอกจากนั้น คสช. ยังคิดค้นการดึงผู้มีบทบาทในสังคมพลเรือนด้านต่างๆ มาเป็นพวกสนับสนุน คสช. ด้วยการตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) 250 คน (2 ตุลาคม 2557) เพื่อตอบต่อข้ออ้างรัฐประหารเพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้งด้านต่างๆ โดยการได้เงินได้เกียรติได้ผู้ช่วยเช่นเดียวกับ สส. เมื่อครบวาระหนึ่งปี คสช.ได้สร้างสภาชุดใหม่ให้ชื่อว่า “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” (สปท.) อีก 200 คน (5 ตุลาคม 2558) ทำหน้าที่ต่อเนื่องจาก สปช. ชุดก่อน สปท. มีอายุ 1 ปี 9 เดือน ที่เสนอแนะการปฏิรูปกว่า 120 ฉบับ ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือตรึงรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ปีก คสช. ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยรวม สนช. คือการแจกจ่ายรายได้พิเศษ เป็นเงินเดือนเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทางค่ารักษาพยาบาลและเกียรติยศ ให้กับเครือข่ายทหารราชการของคณะรัฐประหารเป็นสำคัญ ขณะที่ คสช. สร้างโมเดลเพิ่มใหม่ด้วยการดึงผู้นำทางสังคมเศรษฐกิจและอดีตข้าราชการให้มาค้ำจุนสนับสนุน คสช. ด้วยการตั้ง สปช. และ สปท. ที่มีอายุรวมเกือบ 3 ปี ด้วยเงินภาษีประชาชน

แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยจากยุคระบอบถนอมได้เคลื่อนจากยุคทหารเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว มาสู่ยุคระบอบประยุทธ์ ที่ต้องดึงภาคส่วนต่างๆ ของพลเรือนให้ร่วมค้ำจุนระบอบเผด็จการทหารด้วยโดยการมอบเงินเดือนและเกียรติยศ

ส.ว. แต่งตั้งโดยถนอมกรกฎาคม 2511 และเพิ่มเติมกุมภาพันธ์ 2512 รวม 164 คน เป็นทหารบก 81 ทหารเรือ 15 ทหารอากาศ 9 ตำรวจ 12 พลเรือน 47 คน ส่วนใหญ่คือข้าราชการพลเรือน (สส. มี 219 คน)

ส.ว. แต่งตั้งโดยประยุทธ์ 11 พฤษภาคม 2562 รวม 250 คน มี 6 ผู้นำทหารและตำรวจที่เป็นโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผบ.ส.ส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. ปลัดกลาโหม รวมเป็นทหารตำรวจ 104 คน ที่เหลือเป็นอดีตข้าราชการ รัฐมนตรี นักธุรกิจ นักวิชาการ ตุลาการ ทนายความ

โดยสรุป สนช. ส,ว. คือกลไกค้ำจุนรัฐบาลทหารของระบอบถนอมและระบอบประยุทธ์ เป็นสภาตรายางที่ประทับการออกกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลทหารและกีดกันพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะมาเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่ระบอบประยุทธ์สร้างกลไกเพิ่มในยุคที่สังคมไทยภาคพลเรือนและเศรษฐกิจเติบใหญ่ขยายตัว ด้วยการตั้ง สปช. สปท. ตามวาทกรรมปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กล่าวได้ว่า ยุคเผด็จการทหารแบบเปิดเผยของระบอบประยุทธ์ต้องจ่ายเงินภาษีประชาชนเพิ่มอีกเท่าตัว

บทสรุป ระบอบ ถนอม – ประยุทธ์

ระบอบถนอม และระบอบประยุทธ์ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในด้านกลยุทธ์การรักษาอำนาจคณะรัฐประหาร โดยมีต้นแบบพัฒนาการมาจากรัฐประหาร 2490 และรัฐประหาร 2501 ทว่าแตกต่างกันอย่างสำคัญในภาพรวมของบทบาทผู้นำทหารในระบอบการเมือง

ระบอบถนอมเป็นระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอันมีทหารเป็นผู้นำ ระบอบประยุทธ์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอันมีทหารเป็นผู้ตาม

ประว ต ท มาและความสำค ญ ม.17 ของจอมพลสฤษด

ผู้เขียน :รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เป็นอาจารย์ที่รักในวิชา ประวัติศาสตร์ หลงใหลในวิชารัฐศาสตร์ ทำให้งานเขียนวิชาการ ด้านการเมืองไทยมีเสน่ห์ วิเคราะห์วิพากษ์ อย่างกระชับในประเด็น ด้วยข้อมูลที่อัดแน่นเต็มเปี่ยม ทั้งบรรยายการเมืองไทย ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะน้อยๆ สอนที่คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เป็นอาจารย์ มายาวนาน สามทศวรรษ ยังคงเดินหน้าในการศึกษา เพื่อฉีกโฉมหน้า รัฐธรรมนูญไทย และวงจรอุบาทว์รัฐประหาร ทั้งยังคงหลงใหล ในประวัติศาสตร์ ยุคสมัยพระเจ้าตาก แห่งกรุงธนบุรี นะออเจ้า!