การออมสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร

​นางสาวธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์
ฝ่ายนโยบายการเงิน

          ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นปัญหาต่อทั้งเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะคนที่เป็นหนี้จะมีกำลังซื้อน้อยลง ผู้ที่มีหนี้จำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้จะเพิ่มความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง (Income Shock) ทั้งนี้ สามารถแบ่งสาเหตุของปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เป็น 2 ส่วนหลัก คือ ปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้ และวินัยทางการเงินของครัวเรือน

ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้คนก่อหนี้

          ที่ผ่านมาปัจจัยแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของครัวเรือนมากขึ้น อาทิ (1) ผู้ให้กู้ การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่สูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งจำเป็นต้องออกโปรโมชั่นต่าง ๆ หรือผ่อนมาตรฐานการให้สินเชื่อลง เพื่อรักษารายได้และส่วนแบ่งทางการตลาด (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น ที่ผ่านมามีมาตรการรถยนต์คันแรกหรือบ้านหลังแรก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากกว่าความจำเป็น และ (3) การเข้าถึงเทคโนโลยี ที่มีอิทธิพลมากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะการซื้อของออนไลน์ และการโฆษณาสินค้าเชิงรุกผ่าน social media ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เราใช้จ่ายมากขึ้นและเป็นหนี้ง่ายขึ้น

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการกำกับดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเพื่อลดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้ แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการบรรเทาไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วการก่อหนี้มาจากการตัดสินใจของครัวเรือนเป็นหลัก

วินัยทางการเงินที่ดี ช่วยลดหนี้ครัวเรือน

          หากครัวเรือนมีวินัยทางการเงิน บริหารรายรับ-รายจ่ายอย่างเหมาะสม และตัดสินใจก่อหนี้เมื่อพร้อมหรือจำเป็น โดยตระหนักถึงฐานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้และการรองรับความเสี่ยงทางการเงินในกรณีฉุกเฉิน การก่อหนี้นั้นก็จะไม่สร้างปัญหาในระยะยาว เช่น เราจะไม่ตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพียงเพราะมีโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม หากรู้ว่ายังไม่จำเป็นหรือรู้ว่าภาระผ่อนต่อเดือนสูงจนอาจกระทบต่อเงินที่เราใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ความร่วมมือจากภาคครัวเรือนโดยเฉพาะการมีวินัยทางการเงินที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มาตรการต่าง ๆ มีประสิทธิผลเต็มที่ ซึ่งวินัยทางการเงินที่ดีนั้นส่วนหนึ่งสามารถพิจารณาได้จาก “พฤติกรรมการออม”

ออมก่อนก่อหนี้

          เมื่อพูดถึงการออม หลายคนอาจนึกถึงการออมเพื่อเกษียณและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากพูดถึงการออมเพื่อซื้อรถยนต์ บ้าน หรือเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน การออมนั้นก็อาจกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ถือได้ว่า “การออมเป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน” เพราะถ้าออมไว้ไม่เพียงพอก็จะทำให้ครัวเรือนต้องกู้เต็มมูลค่า (เป็นหนี้สูง) เมื่อมีหนี้สูงก็จำเป็นต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระให้นานขึ้น (เป็นหนี้นาน) เพื่อไม่ให้ภาระผ่อนต่อเดือนสูงเกินไป (รูปที่ 1) นอกจากนี้ การมีเงินออมที่เพียงพอก็ทำให้ครัวเรือนมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินอีกด้วย 

          ปัจจุบันสถานการณ์การออมของครัวเรือนไทยค่อนข้างน่ากังวล เมื่อพิจารณาข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน แม้รายได้ของครัวเรือนจะปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ แต่การใช้จ่ายต่อเดือนกลับปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า ทำให้อัตราการออมโดยรวมปรับลดลง (รูปที่ 2) ขณะเดียวกันก็เห็นการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ สะท้อนว่าการออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นานมีความสัมพันธ์กัน


ดาวน์น้อย ผ่อนนาน

          ลองมาดูตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น สมมติว่าเราต้องการกู้ซื้อบ้านมูลค่า 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้ 20 ปี และอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 7% 

          กรณีแรก ไม่มีเงินออม จึงต้องกู้เต็มมูลค่า + เสียค่าดอกเบี้ยสูง หากเราไม่มีเงินออมตั้งต้น ทำให้ต้องกู้ซื้อบ้านเต็มมูลค่าโดยไม่วางเงินดาวน์ ในกรณีนี้ยอดผ่อนชำระจะอยู่ที่ 23,259 บาทต่อเดือน จะต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดระยะเวลากู้สูงถึง 2,582,152 บาท เมื่อรวมกับค่าบ้าน 3,000,000 บาท ก็ต้องจ่ายทั้งหมดถึง 5,582,152 บาท

          กรณีที่สอง มีเงินออม จึงไม่ต้องกู้เต็มมูลค่า + ชำระหนี้หมดเร็วขึ้น + จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง หากเรายึดยอดผ่อนชำระต่อเดือนเท่าเดิมที่ 23,259 บาท แต่เพิ่มเงินดาวน์ตั้งต้น 10% หรือ 300,000 บาท จะพบว่ายอดหนี้ที่ลดลงทำให้เราผ่อนชำระหมดเร็วขึ้นจากเดิม 20 ปี เหลือเพียง 16 ปีเศษ และทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 1,821,109 บาท หรือประหยัดได้ถึง 761,043 บาทเลยทีเดียว

          จากทั้ง 2 กรณีข้างต้น บทความนี้จึงขอฝากให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการออมที่เป็นจุดตั้งต้นของปัญหาหนี้ครัวเรือนและยังเป็นทางออกสำคัญที่ช่วยไม่ให้ครัวเรือนเป็นหนี้สูง ติดอยู่ในกับดักหนี้นาน และยังช่วยลดรายจ่ายดอกเบี้ยจากการก่อหนี้ลงอีกด้วย นอกจากนี้ การออมยังทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้การก่อหนี้ของครัวเรือนก่อให้เกิดปัญหาทางการเงิน ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ทั้งในวันนี้และอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้