การวิจัยเชิงเอกสาร ตัวอย่าง

Documentary Research - การวิจัยเอกสาร

         

ความจริงประการหนึ่งของการค้นพบความจริงก็คือว่า มีวิธีหลากหลายวิธีที่จะทำให้มนุษย์สามารถที่เข้าใจปรากฏการณ์ของชีวิตและโลก  ซึ่งวิธีวิจัยก็เป็นวิธีการหนึ่งในนั้น  เราสามารถค้นพบความจริงจากการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามเมื่อเราต้องการค้นพบความจริง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการศึกษา  ครูภาษาไทยหลายคนเข้าใจว่า การค้นพบความจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่จะพัฒนาการเรียนรู้และทักษะของภาษาได้ก็คือการทดลอง ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็เป็นหนึ่งในวิธีการศึกษาความจริง ซึ่งหากจะพิจารณาพื้นฐานของการทดลองแล้ว จะพบว่า เป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน  ด้วยเหตุนี้ ในเบื้องต้นเราสามารถที่จะค้นพบความจริงอันเป็นปรากฎการณ์ทางภาษาและวรรณคดีได้ไม่ยากนัก  จากการวิจัยเอกสาร(documentary resesrch) ซึ่งเป็นการวิจัยที่สามารถจะทำให้ได้ข้อค้นพบความจริงบางอย่าง ภายในระยะเวลาอันสั้น   

ดังที่ทราบแล้วว่า  การวิจัยคือความพยายามที่จะแก้ปัญหา  เพื่อได้ข้อค้นพบที่เป็นองค์ความรู้ใหม่  ซึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาหรือกระบวนการวิจัยทั่วไป ก็อาจใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ  การทดลอง  การลงพื้นที่ศึกษา การสนทนาหรือการสัมภาษณ์  ที่ผู้วิจัยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูลบุคคล  อย่างไรก็ตาม การสร้างความรู้ใหม่มิได้เกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลจากบุคคล ดังที่ใช้อยู่ในการวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเท่านั้น      แต่ในเชิงมนุษยศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ ยังมีการวิจัยที่ผู้วิจัยสร้างปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มิใช้บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกสารหรือข้อความที่เขียนขึ้นอีกด้วย     การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อความรู้ใหม่จากเอกสารต่างๆ ดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของการวิจัยที่เรียกว่า “การวิจัยเอกสาร” (documentary  research)

1.  ความเป็นมาของการวิจัยเอกสาร

          การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยประเภทหนึ่งในการวิจัยเชิงบรรยาย  ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่า  มีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้สามารถทำได้ในหลายลักษณะ  อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้จะต้องสามารถตอบคำถามว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาวิธีการศึกษาข้อมูลที่นำมาใช้ใน    การวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสืบค้นข้อมูลเอกสาร การวิจัยเอกสารจึงเป็นสาขาหนึ่งของ  การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาอย่างกว้าง ๆ เพื่อสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะทั่ว ๆ ไปของสิ่งที่วิจัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทราบปัญหา อันจะเป็นแนวทางสำหรับแก้ปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ลักษณะของการวิจัยเอกสารคือ การสำรวจสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งข้อมูลในรูปแบบต่างๆ  ที่มีบุคคลอื่นได้บันทึกหรือตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ ซึ่งลักษณะของการค้นคว้าข้อมูลนี้ ได้มีผู้เรียนการวิจัยเอกสารว่าเป็น “การวิจัยห้องสมุด” (library research) เพราะนักวิจัยไม่ต้องลงพื้นที่สนามเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล  แต่จะไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งค้นคว้าซึ่งรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อยู่แล้ว  โดยทั่วไป การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยที่มุ่งสำรวจข้อบกพร่องของเนื้อหา กิจกรรม โครงสร้างของหลักสูตร บทเรียน ตำรา กฎหมาย ระเบียบราชการหรือคำสั่ง เป็นต้น เพื่อช่วยในการปรับปรุงให้เหมาะสม  อีกทั้งยังทำให้ทราบแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

2.  ความหมายของการวิจัยเอกสาร

          การวิจัยเอกสารมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ไว้อยู่แล้ว  ด้วยเหตุนี้ การวิจัยเอกสารจึงเป็นการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ  (secondary data)  หลากหลายแหล่ง อย่างไรก็ตาม จากชื่อของการวิจัยเอกสาร อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลเฉพาะข้อมูลในรูปแบบเอกสารหรือสิ่งที่เขียนขึ้นโดยใช้ตัวอักษรเท่านั้น  แท้ที่จริงแล้ว การวิจัยเอกสาร หมายถึง  การแสวงหาคำตอบหรือการสร้างองค์ความรู้ด้วยการใช้หนังสือ  (text) และเอกสาร (document)  ต่างๆ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์  วีดิทัศน์  ภาพวาด  สมุดบันทึก  ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Scott, 2006) ด้วยเหตุนี้  คำว่าเอกสารจึงมิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น  กล่าวโดยสรุป  ในทางการวิจัยถือว่า การวิจัยเอกสารเป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์อย่างหนึ่ง (social research)  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ  เอกสาร รายงานหรือสื่ออื่นๆ  แล้วเสนอผลการศึกษาในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้  ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร ผู้วิจัยสามารถใช้ทั้งวิธีเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ส่วนใหญ่แล้ว การวิจัยเชิงเอกสารได้รับความนิยมมากในการศึกษาระดับโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเขียนในรูปแบบของรายงานการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ ที่มีการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารหรือสื่อต่างๆ อย่างหลากหลาย 

การศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นเอกสารมีข้อที่ควรพิจารณา ซึ่งนักวิจัยควรกำหนดเป็นแนวทางในการวิจัยก็คือ เอกสารส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเขียนชึ้นโดยบุคคลหรือคณะบุคคลก็ตาม ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเฉพาะสำหรับเอกสารชิ้นนั้น ตัวอย่างเช่น นวนิยาย ผู้เขียนก็ต้องแต่งขึ้นตามจินตนาการเพื่อนำเสนอสารบางอย่าง โดยมีจุดเน้นเพื่อสร้างความบันเทิงหรือให้ข้อคิด ดังนั้น การนำนวนิยายมาวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์สภาพสังคม ประวัติศาสตร์ ค่านิยมหรือความเชื่อบางอย่างในนวนิยาย เป็นการวิเคราะห์ทางอ้อม เพราะในนวนิยายอาจจะมิได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนนัก วัตถุประสงค์ของเอกสารที่นำมาศึกษากับวัตถุประสงค์ของการวิจัยจึงอาจจะไม่สอดคล้องกัน  ดังที่  Mogalakwe (2006: 222) ได้อธิบายในประเด็นนี้สรุปได้ว่า  เอกสารแต่ละฉบับนั้นเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายหรือยู่บนสมมติฐานที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังนำเสนอในวิธีและรูปแบบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย การนำข้อมูลจากเอกสารต่างๆ มาวิเคราะห์  นักวิจัยจึงต้องให้ความสำคัญ โดยจะต้องสนใจอย่างยิ่งต่อเป้าหมายที่แท้จริงของเอกสาร  รวมถึงผู้ที่เป็นผู้ใช้ข้อมูลจากเอกสารนั้นอย่างแท้จริงด้วย 

3.  ประเภทของแหล่งข้อมูลเอกสาร

เอกสารที่นำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ใหม่นั้น       ตามความหมายของนักวิชาการดังที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ามิได้หมายถึงแต่เฉพาะสื่อที่เป็นอักษรหรือเผยแพร่ด้วยการพิมพ์เท่านั้น  สื่อภาพเคลื่อนไหว สื่อเสียง สื่อภาพนิ่ง เหล่านี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการวิจัยเอกสารทั้งสิ้น  โดยทั่วไปนักวิชาการได้แบ่งประเภทของเอกสารไว้เป็นสองประเภท ได้แก่ เอกสารชั้นต้นและเอกสารชั้นรอง ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้  (Bailey, 1994: 194) 

1.  เอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิ  (primary  document)  เอกสารชั้นต้น หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่เรียกว่า ประจักษ์พยาน  (eye-witness)  ที่อยู่ในเหตุการณ์ ณ ขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ตัวอย่างเช่น  บันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น  หรือบันทึกส่วนตัว (diary)         ที่ผู้เขียนแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเองในบันทึกนั้น  ซึ่งหากจะศึกษาบุคคล นักวิจัยก็สามารถศึกษาได้จากบันทึกส่วนตัวของบุคคลที่ตนเองสนใจ เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษามากที่สุด

2.  เอกสารชั้นรองหรือเอกสารทุติยภูมิ (secondary document)  เอกสาร     ชั้นรอง หมายถึง เอกสารที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่มิได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่รับทราบข้อมูลจากประจักษ์พยาน  ด้วยการสนทนาหรือ   การบอกเล่าสืบต่อๆ กันมา  หรือได้เคยอ่านผลงานการเขียนของประจักษ์พยาน ข้อมูลจากเอกสารชั้นรองนี้จึงอาจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่าเอกสารชั้นต้น 

นอกจากเกณฑ์การแบ่งตามประสบการณ์หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้เรียนแล้ว   เรายังสามารถแบ่งประเภทของเอกสารได้ตามแหล่งผลิตเอกสารฉบับนั้นๆ ด้วย กล่าวคือ แบ่งเป็น  เอกสารสาธารณะและเอกสารส่วนบุคคล ดังนี้

1.  เอกสารสาธารณะ (public document)  หมายถึง เอกสารที่เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่โดยหน่วยงานสาธารณะ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูล นโยบาย แนวทาง หรือข้อความรู้ต่างๆ ตัวอย่างของเอกสารสาธารณะ เช่น  กฎหมายในรูปพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง รายงานประจำปี  หรือเอกสารที่แสดงค่าสถิติต่างๆ ที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้  เอกสารสาธารณะเหล่านี้เป็นเอกสารที่จัดพิมพ์ขึ้นเป็นประจำตามวาระของหน่วยงานราชการ

2.  เอกสารส่วนบุคคล (personal document)  หมายถึง เอกสารที่มิได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ  ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลภายในของหน่วยงาน หรืออาจจะเป็นข้อมูลที่บุคคลเขียนขึ้นจากบันทึกส่วนตัว  จดหมายเตือนความจำ  หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในลักษณะอื่นๆ  เช่น  ภาพถ่าย  บันทึกทางการแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพ  บันทึกประจำวัน  จดหมายส่วนบุคคล 

4.  เกณฑ์ในการเลือกเอกสาร

ข้อมูลในการวิจัยเอกสารทั้งหมดย่อมได้มาจากการศึกษาจากสื่อเอกสารในลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย ด้วยเหตุนี้ การคัดเลือกเอกสารเพื่อนำมาวิเคราะห์จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการวิจัยย่อมมีมาก อีกทั้งเอกสารบางชนิดยังมีความซับซ้อนของข้อมูล ผู้วิจัยย่อมไม่อาจที่จะศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ครบทุกชิ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกเอกสารมาใช้ในการวิจัย ซึ่งเกณฑ์ที่สำคัญประกอบด้วย  1)  ความจริง  2)  ความถูกต้องน่าเชื่อถือ  3)  การเป็นตัวแทน และ 4)  ความหมาย ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์ต่างๆ สรุปได้ดังนี้  (Scott, 1990: 1-2)

1.  ความจริง (authenticity)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารที่เป็นเอกสารที่แท้จริง (origin)  ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การพิจารณาว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลแท้จริงหรือไม่  จะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนหรือหน่วยงานที่เขียนเอกสารว่ามีความน่าเชื่อถือถือไม่ อย่างไร  รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนั้น สอดคล้องกับข้อมูลในบริบทอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่มีการเขียนเอกสารนั้นอย่างไร   

2. ความถูกต้องน่าเชื่อถือ  (credibility)  หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องคัดเลือกเอกสารด้วยการพิจารณาว่า  เอกสารนั้นจะต้องไม่มีข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เอกสารจำพวกหนังสือพิมพ์หรือบทวิจารณ์ต่างๆ เพราะเป็นการเขียนข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองประกอบเข้าไปด้วย ข้อคิดเห็นเหล่านี้ หากผู้วิจัยมิได้สนใจศึกษา อาจจะทำมีอิทธิพลที่ทำให้ข้อมูลโดยภาพรวมเกิดการบิดเบือนไป 

3.  การเป็นตัวแทน (representativeness)  ในการคัดเลือกเอกสาร ผู้วิจัยจำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า  เอกสารดังกล่าวมีความเป็นตัวแทนหรือไม่ ในที่นี้ การเป็นตัวแทนมีหลายระดับ  ระดับแรก  หมายถึง  การที่เอกสารนั้นสามารถใช้แทนหรือเป็นแบบฉบับที่แทนเอกสารประเภทเดียวกันได้หรือไม่  และระดับที่สองคือ ข้อมูลในเอกสารที่จะนำมาวิเคราะห์นั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรได้  ตัวอย่างเช่น รายงานการวิจัยที่ได้มีการสุ่มตามวิธีวิทยาการวิจัย และใช้สถิติวิเคราะห์ที่ถูกต้อง ย่อมถือว่าข้อมูลหรือผลที่เสนอในงานวิจัยนั้นเป็นตัวแทนข้อมูล ที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อได้  

4. ความหมาย  (meaning)  การใช้เกณฑ์ความหมาย หมายถึง การคัดเลือกเอกสารที่มีความชัดเจนและสามารถที่จะเข้าใจได้ง่าย  ผู้วิจัยจะต้องตรวจสอบเอกสารในเบื้องต้น ด้วยการพิจารณาข้อมูลคร่าวๆ ว่า เอกสารที่นำมาพิจารณานั้น มีข้อมูลใดที่เป็นนัยสำคัญหรือจะสร้างความหมายให้กับการวิจัยหรือไม่  การตีความเอกสารบางประเภท      จึงสามารถที่จะตีความทั้งในระดับที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือการสรุปสาระสำคัญที่ปรากฏ      อีกระดับหนึ่งคือ การตีความข้อมูลที่เป็นนัยที่ซ่อนแฝงอยู่  การตีความนัยค่อนข้างจะทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตีความ 

นอกจากการวิจัยเชิงเอกสารจะได้มีการนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อหาจุดบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงแก่นโยบายหรือโครงการต่างๆ แล้ว  การวิจัยเชิงเอกสาร ยังเป็นการวิจัยที่ได้รับความนิยมในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับความคิด ทรรศนะและค่านิยมของบุคคล ซึ่งปรากฏในงานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางอักษรศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี    อีกด้วย  ข้อดีของการวิจัยเชิงเอกสารคือ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือทรัพยากรในการวิจัยมาก ประหยัดเวลา และสามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับเอกสารสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลครบถ้วน อย่างไรก็ตาม การวิจัยเชิงเอกสารย่อมมีข้อจำกัดอันเนื่องมาจากธรรมชาติของการวิจัยเอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องอาศัยการตีความ ทั้งนี้เพราะการตีความเป็นพฤติกรรมทางสติปัญญา  ที่ค่อนข้างเป็นอัตวิสัย (subjective)  กล่าวคือ  ผู้วิจัยจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาภายใต้กรอบความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง ซึ่งผลของการตีความนั้นอาจจะไม่ตรงกับการตีความที่แท้จริง      ก็เป็นได้  อีกทั้งความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลในเอกสารที่นำมาวิเคราะห์ ก็เป็นตัวแปรสำคัญ  ที่ทำให้การวิจัยเชิงเอกสารมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้วิจัยไม่ได้คำตอบของปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้   

________________________________

 รายการอ้างอิง

Mogalakwe, M.  2006.  The use of documentary research methods in social research.

African sociological review. 10 (1): p. 221-230.

Scott, J.  1990.  A matter of record: Documentary sources in social research. Polity press:       Cambridge.

Scott, J. 2006.  Documentary research.  London: Sage. 

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้