แนวโน้มราคามันสําปะหลัง 2565

วิจัยกรุงศรีคาดว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในปี 2565-2567 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ตามทิศทางการขยายตัวของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศ (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเอทานอล) และตลาดส่งออก (สัดส่วน 67% ของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ) ตามการขยายตัวของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก ผลจาก (1) ความต้องการในจีนมีทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเอทานอล และ (2) สต๊อกข้าวโพดในจีนซึ่งเป็นสินค้าทดแทนปรับลดลง จากการเร่งระบายสต๊อกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวโพดยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมมันสำปะหลังยังมีปัจจัยท้าทายด้านปริมาณผลผลิตที่มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด (โรคใบด่างมันสำปะหลัง) และด้านการตลาดที่ยังต้องพึ่งพาตลาดจีนสูง โดยต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในการแย่งตลาดจีน

 

ข้อมูลพื้นฐาน


มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีปริมาณแป้งสูง (Carbohydrate-rich crops) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน 4 ด้านหลัก (4F) ประกอบด้วย 1) Food อาหารสำหรับมนุษย์ 2) Feed อาหารเลี้ยงสัตว์ 3) Fuel วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ และ 4) Factory ภาคอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ กรดมะนาว เครื่องนุ่งห่ม ยา กระดาษ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันสำปะหลังมักมีราคาถูกกว่าพืชอาหารที่ให้แป้งประเภทอื่น อีกทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และมันฝรั่ง

ในปี 2562 ผลผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกมีประมาณ 304 ล้านตัน (รูปที่ 1) ทวีปแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของโลก มีผลผลิตคิดเป็น 63.3% ของผลผลิตทั่วโลก รองลงมาคือทวีปเอเชีย[1] (28.0%) อเมริกา (8.6%) และโอเชียเนีย (0.1%) หากพิจารณาเป็นรายประเทศ ไนจีเรียเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก (สัดส่วน 19.5% ของผลผลิตทั่วโลก) รองลงมาเป็นคองโก (13.2%) ไทย (10.2%) กานา (7.4%) บราซิล (5.8%) และอินโดนีเซีย (4.8%) (รูปที่ 2) ขณะที่กัมพูชาและเวียดนามมีผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ผลจากการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการจากประเทศไทยและจีน

แม้กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาจะเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก แต่ยังเน้นผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ หัวมันสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป ขณะที่ไทยเน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญในตลาดโลก (รูปที่ 2) โดยความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังของโลก ส่วนใหญ่มาจากประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งมีปริมาณการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50.0% ของปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังทั่วโลก (รูปที่ 3)

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังตามความต้องการในตลาดส่งออก ในปี 2563 พื้นที่เพาะปลูกมีขนาดประมาณ 8.9 ล้านไร่ ให้ผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 29.0 ล้านตัน[2] (รูปที่ 4) โดยกระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 16.0% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ รองลงมาเป็นกำแพงเพชร (7.8%) ชัยภูมิ (6.4%) และกาญจนบุรี (5.7%)

ในปี 2563 โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,210 โรงงาน[3]  ซึ่งมักตั้งอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกเพื่อความสะดวกและประหยัดต้นทุนการขนส่ง ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนโรงงานแปรรูปมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 161 โรงงาน รองลงมาเป็นกำแพงเพชร (150 โรงงาน) นครสวรรค์ (90 โรงงาน) ชัยภูมิ (63 โรงงาน) ขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มเลือกที่ตั้งโรงงานใกล้เคียงแหล่งวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปขั้นต้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ อาทิ อุบลราชธานี (75 โรงงาน) กาญจนบุรี (61 โรงงาน) และศรีสะเกษ (33 โรงงาน) รวมถึงการตั้งโรงงานใกล้ท่าเรือขนส่งเพื่อการส่งออกได้แก่ ชลบุรี (26 โรงงาน) ระยอง (16 โรงงาน) ฉะเชิงเทรา (15 โรงงาน) (รูปที่ 5)


ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ผลิตในไทยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตากแห้ง (Dried Cassava) ผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ มันเส้น (Cassava Chip) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ แอลกอฮอล์ และกรดมะนาว โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานมันเส้น 1,042 โรงงาน คิดเป็น 96% ของจำนวนโรงงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ทั้งหมด ที่เหลือได้แก่ โรงงานมันอัดเม็ด 29 โรงงาน (2.7%) ลานตากมันสำปะหลัง 12 โรงงาน (1.1%) มันสำปะหลังแปรรูปประเภทอื่นๆ 2 โรงงาน (0.2%)
  • ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง (Cassava Starch) ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น คือ แป้งมันสำปะหลังดิบ (Native Starch) สามารถใช้บริโภคโดยตรงในครัวเรือน (เพื่อประกอบ/ปรุงอาหาร) และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified Starch)[4]  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลาย อาทิ ผงชูรส สารให้ความหวาน ซอสปรุงรส เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น ปัจจุบันโรงงานแป้งมันสำปะหลังดิบในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 104 โรงงาน และโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 21 โรงงาน โดยทั่วไปการผลิตมันสำปะหลังแปรรูปขั้นต้นส่วนใหญ่จะดำเนินการในช่วงปลายปีถึงต้นปีถัดไปโดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของผลผลิตมันสำปะหลัง สะท้อนจากดัชนีการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตมันสำปะหลังแปรรูปที่อยู่ในระดับสูงสุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของแต่ละปี (รูปที่ 6)
 

เมื่อพิจารณาโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย พบว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังใช้วัตถุดิบที่มาจากผลผลิตในประเทศ 82.1% ที่เหลืออีก 17.9% นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามันเส้น 2.3 ล้านตัน[5] และหัวมันสด 0.7 ล้านตัน (สัดส่วนรวมกัน 95% ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด) ทั้งนี้ 67% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังจะถูกใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ (รูปที่ 7)
 

จากความพร้อมด้านแหล่งผลิตวัตถุดิบมันสำปะหลังของไทย ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ที่ 66% มันเส้น 59% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 31% ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์มันอัดเม็ดมีปริมาณน้อยมาก ผลจากการที่สหภาพยุโรปซึ่งนำเข้ามันอัดเม็ดเป็นหลัก และเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีนโยบายลดการนำเข้ามันอัดเม็ดและหันไปใช้ธัญพืชอื่นทดแทนตั้งแต่ปี 2548[9] (รูปที่ 8) และส่งผลให้มูลค่าส่งออกมันอัดเม็ดของไทยลดลงเป็นลำดับ โดยโครงสร้างตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปัจจุบันพึ่งพาตลาดภูมิภาคเอเชียเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 72% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย (รูปที่ 9)

 
  • มันเส้น มีสัดส่วน 43.0% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทยในปี 2563 (รูปที่ 8) โดยส่งออกไปจีนเกือบทั้งหมด (สัดส่วน 99% ของปริมาณส่งออกมันเส้นทั้งหมดของไทยในปี 2563) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เอทานอล อาหารสัตว์[10] และกรดมะนาว จากโครงสร้างตลาดส่งออกที่กระจุกตัวทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าต่ำและมีความเสี่ยงด้านตลาดสูงหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561-2563 จีนลดการนำเข้ามันเส้นโดยหันไปใช้ข้าวโพดในประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก
  • แป้งมันสำปะหลังดิบ มีสัดส่วน 39.0% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกหลักคือ จีน (สัดส่วน 63% ของปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบของไทย) รองลงมาเป็นไต้หวัน (8%) อินโดนีเซีย (5%) ญี่ปุ่น (4%) และสหรัฐอเมริกา (4%) ทั้งนี้ความต้องการขึ้นอยู่กับทิศทางอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ เครื่องดื่ม และสิ่งทอ เป็นต้น
  • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร มีสัดส่วน 14.6% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ความต้องการบริโภคในตลาดโลกขยายตัวค่อนข้างดีตามทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ยา และเครื่องสำอาง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 28% ของปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของไทยในปี 2563) ตามด้วยจีน (25%) อินโดนีเซีย (10%) และเกาหลีใต้ (8%)
  • มันอัดเม็ด มีสัดส่วนเพียง 0.2% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ผลจากการที่สหภาพยุโรปมีนโยบายลดการนำเข้ามันอัดเม็ดจากไทยตั้งแต่ปี 2548[11] ทำให้ปริมาณส่งออกลดลงเป็นลำดับ
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทอื่นๆ มีสัดส่วน 3.2% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ประกอบด้วย หัวมันสำปะหลัง สาคูที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง และกากมันสำปะหลัง ตลาดส่งออกสำคัญ คือ นิวซีแลนด์ (สัดส่วน 37% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ของไทยในปี 2563) ตามด้วยเกาหลีใต้ (36%) จีน (16%) และบังกลาเทศ (3%)

สำหรับความต้องการใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ นอกจากจะใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงในครัวเรือนและเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายมีการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจโดยการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง รวมถึงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากกากมันสำปะหลังและของเสียจากโรงงานเพื่อใช้เองและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (ตารางที่ 1)
 


สถานการณ์ที่ผ่านมา


ในปี 2563 ผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศอยู่ที่ 29.0 ล้านตัน หดตัว 6.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบหลายด้าน ได้แก่ (1) ภัยธรรมชาติ ทั้งจากภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง (2) เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกจากทิศทางราคาหัวมันสดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 มาอยู่ที่ 1.80 บาท/กิโลกรัม (-4.9%) ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต[12] (รูปที่ 10) อย่างไรก็ตาม ปริมาณและมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังโดยรวมขยายตัวได้ที่ 7.1 ล้านตัน (+8.1%) และ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+2.7%) ตามลำดับ (รูปที่ 11) ตามการขยายตัวของการส่งออกมันเส้นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักโดยเฉพาะตลาดจีน โดยมีแรงหนุนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้ความต้องการพืชพลังงาน (อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง) เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ และเอทานอลเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับการส่งออกแป้งมันสำปะหลังที่ลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักหันไปนำเข้าจากประเทศ CLMV มากขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม
 

ปี 2564 อุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีทิศทางขยายตัว โดยอุปทานเพิ่มขึ้นจากราคาที่จูงใจ มาตรการสนับสนุนภาครัฐฯ และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่วนอุปสงค์ได้แรงหนุนจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

  • ผลผลิตมันสำปะหลังมีทิศทางเพิ่มขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ 30.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.8% ในปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตในปี 2564 อยู่ที่ 9.16 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2563 เนื่องจากเกษตรกรได้รับแรงจูงใจจาก (1.1) การปรับขึ้นของราคามันสำปะหลังตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 (รูปที่ 10) (1.2) โครงการสนับสนุนภาคเกษตรจากรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ และ (2) ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มเป็น 3,286 กิโลกรัม (+1.0%)
  • คำสั่งซื้อจากตลาดหลักขยายตัว โดยเฉพาะจีนที่มีความต้องการมันเส้นมากขึ้น เพื่อชดเชยสต๊อกข้าวโพดในจีนที่ลดลงจากการนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและเอทานอลซึ่งมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นผลจากการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับระดับราคาข้าวโพดที่เพิ่มสูง ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยปี 2564 จะขยายตัว 39.0% อยู่ที่ 9.9 ล้านตัน (เทียบกับ 7.1 ล้านตันในปี 2563) แบ่งเป็น
    • แป้งมันสำปะหลังดิบ: ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปริมาส่งออณกอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน มูลค่า 831.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 34.3% YoY และ 47.4% YoY ตามลำดับ เนื่องจากราคาแป้งธัญพืชอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ ราคาข้าวฟ่าง (+82.4% YoY ) ข้าวโพด (+69.0% YoY) และข้าวสาลี (+26.0% YoY) (รูปที่ 12) ขณะที่ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า ทำให้ผู้นำเข้าหลัก อาทิ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์  และมาเลเซีย หันมานำเข้าแป้งมันสำปะหลังดิบมากขึ้น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ กาว สิ่งทอ และไม้อัด เป็นต้น ส่งผลให้ราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.0% YoY อยู่ที่ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2564 จะสูงถึง 3.6 ล้านตัน (+28.3%)
    • มันเส้น: ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน มูลค่า 712.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 55.9% YoY และ 85.0% YoY ตามลำดับ ปัจจัยหนุนมาจาก (1) การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้มันเส้นผลิตเป็นแอลกอฮอล์ และเอทานอลในจีนเพิ่มขึ้น และ (2) สต๊อกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชที่จีนใช้ทดแทนมันสำปะหลังในช่วงปี 2561-2562 ลดลง ส่งผลให้ราคาส่งออกมันเส้นเพิ่มขึ้น 18.5% YoY อยู่ที่ 250_ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกมันเส้นทั้งปี 2564 จะปรับระดับได้ถึง 4.8 ล้านตัน (+55.5%)
    • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 0.6 ล้านตัน มูลค่า 416.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15.3% YoY  และ 7.2% YoY ตามลำดับ ตามการเติบโตของความต้องการในตลาดจีน อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางที่กำลังขยายตัว อย่างไรก็ตาม แป้งมันสำปะหลังดัดแปรเผชิญการแข่งขันด้านราคากับแป้ง (Starch) จากธัญพืชอื่นๆที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากขึ้น (รูปที่ 13) ทำให้ราคาส่งออกหดตัว 4.3% YoY เฉลี่ยที่ 698 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดัดแปรทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านตัน (+12.0%)
    • มันอัดเม็ด: ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 7,459 ตัน มูลค่า 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 12.6% YoY และ 7.7% YoY ตามลำดับ เนื่องจากตลาดยุโรปยังคงลดการนำเข้ามันอัดเม็ดจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยหันไปนำเข้าธัญพืชอื่นภายในภูมิภาคเดียวกัน ขณะที่ตลาดหลักที่เหลือคือญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯซึ่งยังมีความต้องการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงานอยู่บ้าง ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมการส่งออกมันอัดเม็ดทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ 1.1 หมื่นตัน (-11.0%)
 

  • ความต้องการในประเทศมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และเอทานอล ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้หัวมันสดปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 1.8% อยู่ที่ 11.6 ล้านตัน แบ่งเป็น (1) 8.0 ล้านตัน ใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อฆ่าเชื้อโรคซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ (2) 3.6 ล้านตัน สำหรับใช้ในภาคพลังงาน โดยความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนใช้เอทานอลในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานเอทานอลได้หันมาใช้มันสำปะหลังทดแทนอ้อยและกากน้ำตาลที่มีปริมาณลดลงและมีราคาสูงเนื่องจากภาวะภัยแล้งในปี 2562-2563 (รูปที่ 14)
 
 
  • ราคาหัวมันสดในประเทศในช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่กระเตื้องขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 2.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 12.7% YoY ตามความต้องการทั้งจากในประเทศที่มากขึ้นเพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์และเอทานอล ประกอบกับพืชพลังงานทดแทนอย่างอ้อยและกากน้ำตาลที่ขาดแคลน และจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนที่ต้องการนำไปเป็นวัตถุดิบทดแทนสต๊อกข้าวโพดที่ลดลงและมีราคาสูง คาดราคาเฉลี่ยปี 2564 จะอยู่ที่ 2.1-2.2 บาท/กก.


แนวโน้มอุตสาหกรรม


ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปี 2565-2567 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การผลิต: คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะขยายตัวเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี ตามแนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำ การจัดการโรคระบาดใบด่างมันสำปะหลัง และปริมาณฝนที่น่าจะเอื้ออำนวยมากขึ้น (รูปที่ 15) ประกอบกับเกษตรกรมีแรงจูงใจด้านราคา อานิสงส์จากตลาดส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และมาตรการจากภาครัฐโดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ ส่งผลให้ราคาหัวมันสดมีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.2-2.4 บาท/กก. ซึ่งสูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ 1.9 บาท/กก. (รูปที่ 16)

ตลาดในประเทศ: ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนหลักมาจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.0% ต่อปี ในช่วงปี 2565-2567 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง (ข้อมูลจาก Euromonitor) (2) ความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ E20 และ E85 จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ประกอบกับการให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยที่มากขึ้นของประชาชน ซึ่งกระตุ้นความต้องการแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ และ (3) อุตสาหกรรมเอทานอลที่หันมาใช้มันสด มันเส้น และน้ำแป้งมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบมากขึ้นแทนปริมาณอ้อยและกากน้ำตาลที่ลดลงและมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

ตลาดส่งออก: คาดว่าปริมาณส่งออกโดยรวมจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี (รูปที่ 17) โดยรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกเติบโตเฉลี่ย 5.0-5.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญปัจจัยท้าทายจาก (1) การแข่งขันด้านราคาจากแป้งธัญพืชอื่น (เช่น แป้งข้าวโพด ข้าวสาลี) ที่ราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน (2) จีนสามารถใช้ผลผลิตข้าวโพดในประเทศเพื่อทดแทนหรือสลับกับการใช้มันสำปะหลังมากขึ้น (รูปที่ 18) และ (3) การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน[13] กลุ่ม CLMV ซึ่งจีนได้เข้าไปลงทุนพื้นที่เพาะปลูกและโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังขั้นต้น
  • มันเส้น: ปริมาณส่งออกจะขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) ความต้องการจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำไปผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงาน อาหารสัตว์จากสถานการณ์โรคระบาดในสุกรที่ทยอยปรับดีขึ้น (2) ผลของสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มกักตุนสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นในอนาคต และ (3) เศรษฐกิจทั่วโลกที่ทยอยปรับดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โรค COVID-19 ที่คลี่คลาย ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั่วโลกที่มีทิศทางดีขึ้นตามไปด้วย
  • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกจะเติบโต 3.0-3.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมขั้นปลาย อาทิ เครื่องสำอาง อาหาร และยา
  • มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัวได้ราว 4.0-5.0% ต่อปี จากการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์ที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกมันอัดเม็ดยังคงอยู่ในระดับต่ำและไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีความต้องการเฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนธัญพืชชนิดอื่นๆ



 

จากทิศทางดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้างต้นมีแนวโน้มขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (อาทิ โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานไฟฟ้าชีวมวล) รวมทั้งการปรับปรุงสายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อลดต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการบางรายจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตมันสำปะหลังอัดเม็ดอาจยังคงเผชิญความเสี่ยงจากความต้องการของตลาดส่งออกที่ไม่แน่นอน


ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 


ปัจจัยบวก

  • ระยะสั้น (ปี 2565-2566) ความตื่นตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ (1) คำสั่งซื้อมันสำปะหลังเร่งตัวขึ้นตามความต้องการเพื่อนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ (2) ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเอทานอลเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนวัตถุดิบ (อ้อย และกากน้ำตาล) ที่ขาดแคลนและมีต้นทุนสูง และ (3) ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสำรองไว้สำหรับความมั่นคงทางอาหาร
  • ระยะยาว (ปี 2567 เป็นต้นไป) ความต้องการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับ (1) การผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และ (2) แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในจีนตามทิศทางการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลาง


ปัจจัยท้าทาย

  • ระยะสั้น ประกอบด้วย (1) ผลผลิตมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย (a) ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ (รูปที่ 19) และ (b) ความเสี่ยงจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง (2) ความผันผวนของราคา และ (3) จีนลดการนำเข้าและหันไปใช้พืชชนิดอื่นทดแทน
  • ระยะยาว ได้แก่ (1) ปัญหาแย่งชิงวัตถุดิบหัวมันสดเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมที่รัฐให้การสนับสนุน (2) การพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูงทำให้ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของจีน และ (3) ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะจากเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาส่งออกและโอกาสในการทำกำไรของธุรกิจ
 


 

โครงการ / มาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ปี 2563-2564

1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2563/2564: มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังด้วยวงเงินรวม 9,790 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เกษตรกรที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการมีจำนวน 5.24 แสนราย โดยมีรายละเอียดดังนี้

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้