อาเซียนเป็นดินแดนปลอดสิ่งใด

No. 9/2565 | กันยายน 2565

อาเซียน: ความคาดหวังกับความเป็นจริง
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ**

(Download .pdf below)

          ค.ศ. 2022 เป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 55 ปี โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับนับตั้งแต่ก่อตั้ง แรงผลักดันจากทั้งบริบทสถานการณ์ระหว่างประเทศในขณะนั้นและบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของประเทศสมาชิกหลักเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อาเซียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่ง อาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่สมรรถนะแท้จริงของอาเซียนไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ บทความนี้ต้องการสะท้อนความคาดหวังต่ออาเซียนจากมุมมองของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการพิจารณานโยบายเกี่ยวกับอาเซียน พร้อมกับนำเสนอแนวทางพินิจอาเซียนที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นโอกาสสำหรับตัวแสดงต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากอาเซียนให้มากขึ้น

ความคาดหวังต่ออนาคตของอาเซียน

          เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก อาเซียนไม่อาจหลีกหนีผลกระทบจากบริบทความพลิกผันต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวทางเทคโนโลยี ประเด็นเหล่านี้เป็นบริบทตั้งต้นสำคัญหากจะพิจารณาถึงบทบาทและแนวทางการทำงานของอาเซียนในทศวรรษหน้า ในโลกที่ “พลิกผัน” มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

          ประเด็นหนึ่งที่กล่าวถึงกันมากในวงวิชาการคือคำถามต่อหลักการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกันและการตัดสินใจแบบฉันทมติของอาเซียนว่าทำให้การขับเคลื่อนประเด็นและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ล่าช้าเกินไปหรือไม่ มีความคาดหวังจากภายในและภายนอกภูมิภาคว่า อาเซียนควรจะเป็นองค์กรที่ช่วยระงับหรือลดความขัดแย้ง และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันได้มากกว่านี้ อาเซียนจึงควรมีกลไกหรือมาตรการในการบังคับประเทศสมาชิกอาเซียนให้ปฏิบัติตามหลักการในกฎบัตรโดยเคร่งครัดกว่านี้

          ประเด็นต่อมาคือ อาเซียนยังไม่เข้าถึงและตอบสนองข้อเสนอของภาคประชาชนเท่าที่ควร อาเซียนมีเวทีสำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะนั่นคือ ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples’ Forum แต่ผู้นำของประเทศในอาเซียนรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเพียงใด ในระดับประชาชน คนในภูมิภาคอาเซียนยังไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนมากนัก ในขณะที่อาเซียนเน้นย้ำเสมอถึงการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและความหลากหลายที่เป็นคุณค่าสำคัญของภูมิภาคซึ่งสะท้อนการดำรงอยู่หรือการมีตัวตนของอาเซียนเอง อาเซียนควรให้ความสำคัญแก่การเข้าถึงประชาชนในระดับต่าง ๆ มากกว่านี้

          ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศอาเซียนควรคำนึงถึงความยั่งยืนของการค้า การลงทุน และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาเซียนควรเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันในอาเซียน (intra-ASEAN trade) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สามารถขยายผลไปสู่การสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งของประชาคมในมิติอื่น ๆ ได้ ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งวาระที่อาเซียนต้องเร่งสร้างศักยภาพ ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็น “ผู้รับ” เทคโนโลยี หรือ “ผู้รอ” การลงทุนจากประเทศภายนอกเป็นหลัก หากอาเซียนสามารถช่วยเหลือกันในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีได้ย่อมส่งผลให้ความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ที่หมายถึงการพึ่งพากันภายในภูมิภาคและลดอิทธิพลของภายนอกที่จะมีผลต่อการดำเนินกิจการของอาเซียน มีความเข้มแข็งมากขึ้น

           ประเทศและประชาชนอาเซียนสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังมากมายเพียงนี้อย่างไร? ผู้เขียนเสนอให้ (1) เรียนรู้จากทศวรรษแรกของอาเซียน และ (2) ใช้ประโยชน์จากอาเซียนในฐานะ “เครื่องมือ” ในการบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากอาเซียนมีวิถีการทำงานที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถปรับปรุงหรือเพิ่มเติมรูปแบบ กลไก ข้อเสนอ และแนวทางการทำงาน โดยสอดคล้องกับบรรทัดฐานและโครงสร้างการทำงานที่เป็นกรอบกว้าง ๆ และตัดสินใจโดยใช้ฉันทมติ

เรียนรู้จากทศวรรษแรกของอาเซียน

          ข้อสังเกตเรื่องช่องว่างระหว่างความคาดหวังที่ตัวแสดงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมีต่ออาเซียนกับความเป็นจริงที่อาเซียนเป็นหรือทำได้มีมาตั้งแต่ทศวรรษแรกของการก่อตั้งอาเซียนใน ค.ศ. 1967 แล้ว ดร. ฐากูร พานิช เล่าไว้ในหนังสือ ASEAN’s First Decade ซึ่งพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านใน ค.ศ. 1980 ว่า เพิ่งลงนามก่อตั้งอาเซียนกันได้ไม่ทันไร ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งก็กลับไปอ้างสิทธิเหนือดินแดนรัฐซาบาห์ในปีต่อมาทันที แต่อาเซียนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้แม้ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันในบรรดาประเทศก่อตั้งยังคงอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ในระยะแรกเริ่ม สิ่งที่อาเซียนทำสำเร็จไม่ใช่การสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ Carlos P. Romulo กล่าวไว้อย่างน่าสนใจใน ค.ศ. 1971 ว่า

            มีคนกล่าวว่า อาเซียนนั้นเชื่องช้า-ทั้งในการกำหนดนโยบายและการทำนโยบายให้เกิดผลจริง ผมคิดว่าไม่เกินความจริงหรอก แต่ที่อาเซียนช้าเพราะตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อะไรที่ทำเร็วเกินไปอาจสร้างปัญหาที่หากเราไม่ระวังแล้ว คงจะฟื้นคืนได้ยาก ในมุมมองของอาเซียน การทำงานแบบจำกัดแต่ทำให้สำเร็จดีกว่าทำอะไรใหญ่โตแต่เสี่ยงล้มเหลวมากนัก

          ดร. ฐากูร ชี้ให้เห็นว่า การทำงานของอาเซียนที่กำหนดเป้าหมายและมีผลผลิตอย่างจริงจังเริ่มต้นใน ค.ศ. 1972 ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีหลายการประชุมมีนโยบายและแนวทางการทำกิจกรรม/โครงการร่วมกันในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าของอาเซียนคือ ชาตินิยมแบบคับแคบที่มองเฉพาะผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐตนเป็นใหญ่ซึ่งยังมีอยู่มากในช่วงแรกของการก่อตั้ง และลักษณะทางสังคม-การเมืองของแต่ละประเทศเองที่มีความหลากหลายในรูปแบบของการจัดการปกครองซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจที่อาจจะช้าหรือเร็วด้วย

          แต่ในความโชคร้ายมีความโชคดี สถานการณ์ระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่มีความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต การถอนตัวของประเทศโลกตะวันตกหลังจากสงครามเวียดนาม วิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาอินโดจีน กลับกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ช่วยผลักดันความร่วมมือของอาเซียนให้ก้าวหน้ามากขึ้น ประเทศสมาชิกต่างตระหนักว่า ไม่อาจพึ่งพามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งได้ตลอดไป อย่างน้อยการมีอาเซียนทำให้อุ่นใจในระดับหนึ่งว่า หากเกิดวิกฤต จะยังพอมีกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้

          หนังสือของ ดร. ฐากูร ให้ข้อเสนอแนะในการบูรณาการภูมิภาคให้กระชับยิ่งขึ้นไว้ 3 แนวทางซึ่งปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอในหมู่ผู้ปฏิบัตินโยบายและวงวิชาการอาเซียนศึกษา แนวทางแรก สร้างสถาบันระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยจำกัดหรือปรับรูปแบบของการลงมติแทนที่จะใช้ฉันทมติ (consensus) ในทุกเรื่อง ให้ใช้เฉพาะเรื่องสำคัญระดับนโยบายเท่านั้นซึ่งประเทศสมาชิกมีสิทธิยับยั้ง (veto rights) ส่วนบริหารหรือระดับปฏิบัติการอาจใช้การตัดสินใจแบบเสียงข้างมาก (majority rule) แนวทางที่สองที่ ดร. ฐากูร เห็นว่าอาจใช้ต้นทุนต่ำกว่าคือ การเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียนให้แพร่หลายซึ่งมีข้อจำกัดอย่างมากในขณะนั้น และแนวทางสุดท้ายที่น่าจะมีประสิทธิภาพคือ การเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนสู่ประชาชนผ่านกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดเช่นกันเพราะในเวลานั้นบางประเทศยังอยู่ในกระบวนการเริ่มสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ และกิจกรรมลักษณะนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ยังดีที่มีผู้เล่นภายนอกอย่างญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง

          จะเห็นได้ว่า บริบททั้งภายนอกและภายในภูมิภาคมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางของอาเซียนในทศวรรษแรก อาเซียนเป็นองค์กรที่ “ช้าแต่หนักแน่น (slow but steady)” ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยความตระหนักว่า หากขับเคลื่อนประเทศที่มีความแตกต่างกันสูงมากในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเร็วเกินไป อาเซียนอาจพบจุดจบไปแล้วก็เป็นได้ และสถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่อาจรับประกันได้เช่นกันว่าจะดีหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือ

          การกำเนิดของอาเซียนสะท้อนเจตนาของประเทศสมาชิกที่จะใช้องค์กรอาเซียนเพื่อสนองวัตถุประสงค์ร่วมและวัตถุประสงค์ของแต่ละประเทศ กรณีของอาเซียนเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เรียกว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาค หรือ ภูมิภาคนิยม หรือการบูรณาการในระดับภูมิภาคเป็นเครื่องมือ (means) ให้ประเทศสมาชิกบรรลุผลประโยชน์และวัตถุประสงค์แห่งชาติของตน ซึ่งไม่ใช่เป้าประสงค์ในตัวอาเซียนเอง (not an end in itself) อาเซียนเป็นเพียงอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยดำเนินงานให้ประเทศสมาชิก

          ข้อความข้างต้นจากเอกสารศึกษาของ ดร. ฐากูร แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาเซียนเป็น “วิธีการ/กระบวนการ” สอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการอย่าง Jones and Smith ที่ตั้งชื่อบทความของทั้งสองว่า “Making Process, Not Progress” โดยเฉพาะ (1) บทบาทในการส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียใน ค.ศ. 1997 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพร้อม ๆ กับการระดมความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค อาทิ ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI) (2) การบูรณาการสาขาความร่วมมือและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในภูมิภาค บทความยกตัวอย่างความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งในขณะนั้นประเทศสมาชิกอาจมีมุมมองและแนวปฏิบัติภายในประเทศที่แตกต่างกัน แต่กลับสามารถหาจุดยืนร่วมกันในประเด็นดังกล่าวได้ และ (3) การขยายขนาดของประชาคมที่เปิดโอกาสให้ประเทศคู่เจรจาสามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคในด้านต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ผ่านเวทีการประชุมในระดับต่าง ๆ และเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF)

          สถานการณ์การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นมีความเข้มข้นและรุนแรงไม่แตกต่างไปจากบริบทที่อาเซียนก่อตั้งในทศวรรษแรกมากนัก มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันสร้างอำนาจนำและแสวงหาพันธมิตรในภูมิภาคด้วยวิธีการต่าง ๆ รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดในอาเซียน The State of Southeast Asia 2022: Survey Report จัดทำโดย ASEAN Studies Centre, ISEAS-Yusof Ishak Institute นำเสนออย่างสนใจว่า ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สิ่งที่อาเซียนควรทำคือ เพิ่ม resilience หรือความยืดหยุ่นตั้งมั่น และความเป็นเอกภาพ (unity) เพื่อลดแรงกดดันจากสองมหาอำนาจ อันดับรองลงมาคือ รักษาจุดยืนที่ไม่เลือกข้าง และหาฝ่ายที่สามเพื่อเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า อาเซียนเองยังมีความหมายในสายตาของผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่ตอบแบบสำรวจดังกล่าวในฐานะ “เครื่องมือ” ของการต่อรองกับผู้เล่นภายนอก อาเซียนยังมีเอกสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ที่ประเทศภายนอกอาเซียนหรือองค์กรระหว่างประเทศจะต้องลงนามภาคยานุวัติสารหากประสงค์จะมีความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นทางการ อาเซียนมีปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration: ZOPFAN) สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ) หรือแม้แต่เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ที่ไทยผลักดันในปีที่เป็นประธานอาเซียน ใน ค.ศ. 2019 ที่สามารถเป็น “หลังพิง” ในเชิงหลักการเกี่ยวกับความเป็นกลาง การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน และการลดแรงจูงใจในการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศสมาชิกอาเซียน

          ในระดับปฏิบัติการ อาเซียนมีกลไกการประชุมและแผนงานจำนวนมาก แผนงานที่ผู้เขียนประทับใจและเห็นว่าสำคัญที่สุดในบริบทที่ความคาดหวังต่ออาเซียนมีอยู่สูงกว่าสมรรถนะแท้จริงที่อาเซียนมี สมควรที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาเซียนควรได้อ่านทุกคนคือ แผนงานว่าด้วยการสื่อสารของอาเซียน (ASEAN Communication Master Plan: ACMP) ที่มีการจำแนกกลุ่มเป้าหมาย ข้อความและวิธีการที่ควรใช้สื่อสาร โดยกำหนดสาระหลักคือ อาเซียนคือประชาคมแห่งโอกาสของทุกคน (ASEAN: A Community of Opportunities for All) และนำเสนอสาระย่อยที่สอดคล้องกับใจความในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ได้แก่ (1) อาเซียนมีอัตลักษณ์ของตนเอง (อาจแปลได้ว่า อาเซียนไม่ใช่และจะไม่เป็นแบบสหภาพยุโรป) และแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่ออยู่รวมกันเป็นประชาคม (2) การบูรณาการที่มากขึ้นจะนำโอกาสมาสู่ทุกคน และ (3) สันติภาพและความมั่นคงเป็นหนึ่งในคุณประโยชน์ของอาเซียน พร้อมกับให้ตัวอย่างข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์สนับสนุน

          นอกจากแผนงานการสื่อสารแล้ว กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) หมวด 8 ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทยังเปิดช่องสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอมไกล่เกลี่ย การใช้กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท หรือบทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติและกระบวนการระหว่างประเทศอื่น ๆ ไว้ด้วย การเปิดช่องทางไว้เช่นนี้ทำให้อาเซียนมีโอกาสที่จะใช้เครื่องมือหรือกลไกทางกฎหมายได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเทศใดประสงค์จะมีบทบาทนำในรูปแบบใด และสามารถโน้มน้าวให้สมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เชื่อถือและยอมรับได้มากเพียงใด ประเทศไทยเองเคยเสนอ ASEAN Troika ใน ค.ศ. 1999 เป็นกลไกเฉพาะกิจในระดับรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที นอกจากการใช้โอกาสจากกลไกรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ระบุในกฎบัตรแล้ว สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ควรเป็นอีกหน่วยงานที่ต้องเร่งปรับตัวให้ตอบสนองบริบทความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น และประเทศไทยควรส่งเสริมให้คนไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปมีบทบาทในตำแหน่งระดับบริหารต่าง ๆ ของสำนักเลขาธิการมากขึ้น

          ในระดับประชาชน อาเซียนสามารถเป็น “เครื่องมือ” ในการบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน ในช่วงที่ผู้เขียนศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Seoul National University ได้มีโอกาสจัดตั้ง “โต๊ะกลมอาเซียน (ASEAN Roundtable)” ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาชาวอาเซียนและผู้ที่สนใจอาเซียนจากภูมิภาคอื่น ๆ ได้แสดงความคิดเห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศคู่เจรจาและเพิ่มสถานะและเกียรติภูมิให้นักศึกษาชาวอาเซียน ที่สำคัญ โต๊ะกลมนี้ได้เป็นสะพานเชื่อมนักศึกษาชาวอาเซียนกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่ปกตินักศึกษาจะไม่มีโอกาสได้เข้าพบ อาทิ สถานเอกอัครราชทูต สำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (Trilateral Cooperation Secretariat) และศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Centre) ด้วย

          กล่าวโดยสรุป การทำงานและการดำรงอยู่ของอาเซียนจะมีเงาของความคาดหวังจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกอาเซียนติดตัวไปด้วยเสมอ แต่อาเซียนยังมีความจำเป็น ยิ่งในบริบทของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจด้วยแล้ว อาเซียนจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบรรลุเป้าหมายได้ อย่างน้อยที่สุด การมีเครื่องมือนี่ไว้กับตัวย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย

เนื้อหาส่วนนี้เรียบเรียงขึ้นจากการสัมมนาในหัวข้อ “เข้าใจความท้าทายในอนาคตของอาเซียน: มุมมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ในงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียน จัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2022

Thakur Phanit, ASEAN’s First Decade (Bangkok: International Studies Center, 2021), 255-256.

ฐากูร พานิช, กว่าจะมาเป็นประชาคมอาเซียน (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ), 14.

David Martin Jones and Michael L. R. Smith, “Making Process, Not Progress: ASEAN and the Evolving East Asian Regional Order,” International Security 32, no. 1 (Summer 2007): 160-180.

คำแปลของ รองศาสตราจารย์ ดร. ม.ล. พินิตพันธุ์ บริพัตร ที่กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ ASEAN’s First Decade และการเสวนา ASEAN’s Next Decade เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 จัดโดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) ร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย

ISEAS-Yusof Ishak Institute, The State of Southeast Asia 2022: Survey Report (Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute, 2022), 31.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโต๊ะกลมอาเซียนได้ที่ Seksan Anantasirikiat, “Branding ASEAN, Bridging People in South Korea,” Blog, USC Center on Public Diplomacy, January 21, 2019, //uscpublicdiplomacy.org/blog/branding-asean-bridging-people-south-korea.

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้