ท ไม ใช แต ม ระยะห างจาก0เป นระยะ-4 หน วย

ผู้ฝากเงินกับธนาคารเข้าใจรายละเอียดและเงื่อนไขการฝากเงินมากน้อยแตกต่างกันไป และอาจมีบางส่วนเชื่อมั่นว่าเมื่อฝากเงินก็ต้องได้รับดอกเบี้ยตามที่โฆษณาเป็นผลตอบแทนอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากมีหลากหลายรูปแบบ และบางรูปแบบมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ถ้าถอนก่อนกำหนดจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินประกาศ หรือถ้าถอนเงินมากกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดใน 1 เดือนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอน เราจึงควรศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อช่วยทำให้เราได้รับผลตอบแทนจากการฝากเงินตามเป้าหมายที่เราวางไว้ หรือไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโดยไม่ได้ตั้งใจ

ลองใช้ Ch​eck​-list ที่จะทำให้การเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเรื่องง่ายและได้ประโยชน์ คลิก

ประเภทของบัญชีเงินฝาก

​​

บัญชีเงินฝากแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันแต่โดยปกติจะมีลักษณะพื้นฐานดังนี้​

​​1. บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Savings Account) ​​​​​​​​​​​​​​

​เป็นบัญชีที่มักไม่กำหนดระยะเวลาและจำนวนครั้งในการฝากถอน มักใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และสามารถใช้หักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

บัญชีประเภทนี้มักกำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่สูงนัก แต่ผลตอบแทน (อัตราดอกเบี้ย) ค่อนข้างต่ำ และคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน​ (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์) ดังนั้นบัญชีประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะสั้น มีสภาพคล่องเผื่อไว้กรณีต้องทยอยถอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ใช้ทำรายการผ่านบัญชีธนาคาร เช่น รับโอนเงินเดือนและชำระค่าสาธารณูปโภค

คำแนะนำ

1. ควรปรับสมุดบัญชีและตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมที่เกิดขึ้นในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต และหากพบว่ามีรายการที่ไม่ถูกต้องก็ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่อขอตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วน

2. ควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละประเภทบัญชีให้ละเอียดก่อนเลือกใช้บริการ เนื่องจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บางประเภทอาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะจำนวนครั้งที่ผู้ฝากจะถอนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เช่น กรณีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบธรรมดา อาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าค่าธรรมเนียมการถอนฟรี 2 รายการแรกต่อเดือน รายการต่อไปเสียค่าธรรมเนียม 500 บาทต่อรายการ ​​​​​​

3. ควรเลือกเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพราะหากมีหลายบัญชีเกินความจำเป็นและไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ เช่น บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวเกินเวลาหรือมียอดเงินคงเหลือในบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี นอกจากนั้น ธนาคารมักแนะนำให้ลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตควบคู่ด้วยเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม เช่น ถอนหรือโอนเงิน แต่ที่จริงแล้วเรายังคงสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยไม่จำเป็นต้องทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต เพราะเมื่อเราตกลงทำบัตรเราก็จะมีภาระที่ต้องจ่าย ซึ่งจะมีทั้งค่าธรรม​เนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรด้วย โดยแต่ละธนาคารจะกำหนดไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้หรือมีบัตรอยู่แล้ว เราก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ทำบัตร

2. บัญชีเงินฝากประจำ (fixed deposit account)​

มีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และมีการจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบออมทรัพย์ธรรมดา (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยเงินฝากประจำ) โดยธนาคารจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์หรือลงทุนได้ตามระยะเวลาการรับฝาก โดยไม่ต้องสำรองไว้เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากหากผู้ฝากต้องการได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไข ก็จะต้องไม่ถอนเงินออกจากบัญชีนี้ก่อนกำหนด คือ จะไม่สามารถใช้เงินจำนวนที่ฝากประจำอยู่ในระยะเวลาหนึ่งได้

บัญชีประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงิน​แต่ยังไม่ต้องการใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เงินเย็น) หรือต้องการออมเงินระยะยาวและหวังผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์

ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากประจำ

1. หากถอนก่อนครบกำหนดก็อาจได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่สถาบันการเงินประกาศไว้

2. การนับวันครบกำหนดระยะเวลาการฝากประจำ โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่เดียวกันแต่เป็นเดือนถัด ๆ ไป เช่น ถ้าเริ่มฝากประจำ 3 เดือนวันที่ 5 มกราคม ก็จะครบกำหนดวันที่ 5 เมษายน

3. ธนาคารบางแห่งจะกำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเปิดบัญชีออมทรัพย์ด้วย เพื่อที่ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจโอนเงินต้นเข้าไปด้วยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ​

3. บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (current account)

บัญชีประเภทนี้ถือว่าเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินของบริษัทหรือร้านค้า เพราะสามารถใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงินได้ ช่วยลดปริมาณเงินสดที่บริษัทหรือร้านค้าต้องเก็บไว้ เพื่อใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังสามารถขอใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (overdraft) หรือที่เรียกว่าเงิน O/D ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในกรณีเงินขาดบัญชีและช่วยลดปัญหาเช็คเด้งได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเฉพาะเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีตามระยะเวลาที่เบิกเกินบัญชี บัญชีประเภทนี้ไม่มีสมุดคู่ฝาก แต่สถาบันการเงินจะจัดส่งสเตทเมนท์ (statement) ทางไปรษณีย์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแจ้งยอดเคลื่อนไหวของบัญชีให้ลูกค้าทราบ และโดยทั่วไปมักไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้บัญชีเงินฝากประเภทนี้

คำแนะนำ

1. ก่อนเลือกเปิดบัญชีกระแสรายวันควรพิจารณารายละเอียดปลีกย่อยและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างละเอียด เช่น จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ เงื่อนไขการใช้วงเงิน O/D หรือบางแห่งสามารถใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการเงิน

2. ในการใช้เช็คจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าซื้อเช็ค และอาจมีความเสี่ยงต่อการสูญหาย เช่น การส่งเช็คไปชำระเงินผ่านช่องทางไปรษณีย์ ถ้ามีการสูญหายระหว่างทางเจ้าขอ'บัญชีต้องรีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเช็คดังกล่าว และต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการสั่งจ่ายเช็คให้แก่ลูกค้าก็ควรเก็บหลักฐานประกอบการสั่งจ่าย รวมทั้งต้นขั้วเช็ค ซึ่งต้องระบุว่าสั่งจ่ายให้ใคร เป็นค่าใช้จ่ายอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบกับ statement และการทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย และหากคุณไม่ได้ใช้วงเงิน O/D ก็ควรเตรียมเงินในบัญชีให้เพียงพอสำหรับการชำระเงินตามวันที่ระบุในเช็คด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเรียกเก็บเงินตามเช็คเปลี่ยนมาใช้ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค หรือ ICAS ​ซึ่งจะช่วยให้การเรียกเก็บเงินเร็วขึ้นกว่าเดิม หากเงินในบัญชีมีไม่เพียงพออาจทำให้เช็คเด้งและมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเราในฐานะผู้สั่งจ่ายด้วย

​นอกจากบัญชีเงินฝากหลัก 3 ประเภทนี้แล้วยังมีบัญชีประเภทอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น

1. บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนแบบปลอดภาษี

เป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องฝากเงินทุก ๆ เดือนเป็นจำนวนเท่ากันตลอดอายุสัญญา ซึ่งระยะเวลาอาจกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละธนาคาร เช่น 24 เดือน 36 เดือนและมักกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ดังนั้น คนที่อยากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ควรมีรายได้ประจำ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีได้อย่างสม่ำเสมอ โดยแต่ละคนมีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนี้ได้เพียงคนละ 1 บัญชีเท่านั้น ซึ่งหากเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารใดแล้วจะเปิดกับธนาคารอื่นหรือธนาคารเดียวกันอีกไม่ได้ เรียกว่า 1 คน 1 สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน เพราะหากสรรพากรตรวจพบว่ามีการเปิดมากกว่า 1 บัญชี เราจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวเลย ดังนั้น จึงควรเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง และข้อสำคัญต้องคำนึงถึงความสะดวกในการนำเงินเข้าบัญชีด้วย เพราะถ้าขาดฝากเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารประกาศ หรือได้รับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรืออาจต้องเสียภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละธนาคารจะแตกต่างกัน จึงควรศึกษาเงื่อนไขอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิที่พึงจะได้รับจากการฝากเงินประเภทนี้

2. บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันได (step-up account)

บัญชีเงินฝากแบบขั้นบันไดจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันเป็นช่วง ๆ เช่น ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนขั้นบันไดและโฆษณาจูงใจว่าได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยสูงแต่มักเป็นเพียงช่วงเดือนสุดท้ายเท่านั้น (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันได) หากคิดจะฝากต้องดูที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการ ซึ่งสถาบันการเงินต้องแจ้งให้เราทราบด้วยเพราะข้อมูลและการเปรียบเทียบดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่แท้จริงต่อปีของทั้งโครงการของแต่ละธนาคารที่มีบริการบัญชีประเภทนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกฝากเงินของเราที่ตรงกับความต้องการของเราได้

3. บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ

เป็นบัญชีเงินฝากที่เหมาะกับผู้ที่มีรายรับหรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ สามารถใช้เงินในบัญชีมาทำธุรกรรมทางการเงินได้เลยโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินบ่อย ๆ ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดได้ทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากกระแสรายวัน โดยดอกเบี้ยรับที่ได้จะต้องเสียภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม การฝากเงินเป็นเงินตราต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และค่าบริการในการทำธุรกรรมสำหรับบัญชีประเภทนี้อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับ คุณสามารถศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้ที่หัวข้อ บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ

ต้องรู้อะไร...เมื่อไปฝากเงิน

1. อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่แท้จริง

ในการเลือกเปิดบัญชีเงินฝากไม่ว่าจะเป็นประเภทใด สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาและเปรียบเทียบคือดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งสถาบันการเงินต้องเปิดเผยเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยให้เราทราบ เช่น วิธีการคำนวณดอกเบี้ย ความถี่ในการจ่าย จำนวนวันต่อปีที่ใช้ในการคิดดอกเบี้ย ซึ่งต้องปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการทุกแห่ง และเผยแพร่ในเว็บไซต์ด้วย และอย่าลืมสังเกตวันที่อัตราดอกเบี้ยมีผลบังคับใช้ด้วยซึ่งหากต้องการข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากเปรียบเทียบสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของแบงก์ชาติ

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกฝากเงินในบัญชีประเภทใดหรือธนาคารใด นอกจากผู้ฝากเงินต้องเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของประเภทบัญชีแต่ละประเภทและแต่ละธนาคารแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงภาษีหัก ณ ที่จ่าย ด้วย เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่เราจะได้รับลดลงไป ตัวอย่างบัญชีเงินฝากที่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ บัญชีเงินฝากประจำ ซึ่งเมื่อเราได้รับดอกเบี้ยเราก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยรับ

นอกจากนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเราได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์รวมกันทุกบัญชีจากธนาคารเดียวกันเกิน 20,000 บาทในปีภาษีนั้น เราก็จะถูกธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารหลาย ๆ แห่งรวมกันเกิน 20,000 บาทในปีภาษีนั้น ผู้ฝากมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่าย (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์)

3. ค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับ

การฝากเงินและทำธุรกรรมผ่านบัญชีเงินฝากอาจมีค่าธรรมเนียม ทั้งค่าธรรมเนียมปกติหรือเบี้ยปรับหากคุณไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ​ - ค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินฝาก ที่คุณจะถูกเรียกเก็บโดยหักเงินออกจากบัญชีของคุณหากจำนวนเงินในบัญชีมียอดต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ซึ่งก่อนที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประเภทนี้ธนาคารจะมีหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยต้องแจ้งยอดเงินคงเหลือ เงื่อนไข และอัตราค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บ ซึ่งคุณจะมีเวลาในการจัดการกับบัญชีของตัวเอง โดยอาจปิดบัญชีหรือนำเงินไปฝากเพิ่มเพื่อให้บัญชีเคลื่อนไหวหรือมีเงินอยู่ในบัญชีตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด

- ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต เช่น ค่าทำบัตรใหม่ ค่าบริการรายปี รวมทั้งค่าธรรมเนียมการทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็ม ไม่ว่าจะเป็นการถอนหรือโอนข้ามเขต ต่างธนาคาร ต่างประเทศ รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่อาจเกิดขึ้นหากถอนเกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนด

- ค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับอื่น ๆ เช่น การรับฝากเหรียญกษาปณ์ การโอนเงินอัตโนมัติ การขอ statement ย้อนหลัง การขอตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีเงินฝากที่เกิดจากการทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็ม การปิดบัญชีหรือถอนก่อนครบกำหนด และอื่น ๆ

ทั้งนี้ ธนาคารต้องเผยแพร่ข้อมูลค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับต่าง ๆ ไว้ในที่เปิดเผยสังเกตเห็นง่ายไว้ที่ทำการทุกแห่ง รวมทั้งในเว็บไซต์ของธนาคารเอง หรือหากต้องการเปรียบเทียบข้อมูลค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคาร ก็สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของแบงก์ชาติ

4. เงื่อนไขการคุ้มครองเงินฝาก

หากคุณออมเงินในรูปของบัญชีเงินฝาก บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท และฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เงินในบัญชีของคุณจะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Ag​ency: DPA) โดยจำนวนเงินฝาก (รวมดอกเบี้ย) จะได้รับการคุ้มครองตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้

ที่มาภาพ: สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

หมายเหตุ: จำนวนเงินฝากที่เกินความคุ้มครองจะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมจากการชำระบัญชีจากสถาบันการเงินที่ปิดกิจการเงินฝากที่ DPA ไม่คุ้มครอง เช่น เงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากในสหกรณ์ เงินฝากในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งเงินฝากที่อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายเฉพาะ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภทที่บางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเงินฝาก เช่น ตั๋วแลกเงิน (หรือที่รู้จักกันว่า BE) ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ เงินลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร เช็ค ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก DPA เช่นกัน ข้อมูลเพิ่มเติม: สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

5. การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่

หากเปลี่ยนแปลงที่อยู่ต้องแจ้งให้ธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ทราบด้วย เพราะหากธนาคารเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น แจ้งบัญชีเงินฝากไม่เคลื่อนไหวก่อนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี หรือแจ้งให้ลูกค้าทราบสถานะทางบัญชีเนื่องจากขาดการติดต่อเป็นระยะเวลานาน ธนาคารจะแจ้งเป็นจดหมายลงทะเบียนให้ลูกค้าหรือทายาทเพียง 2 ครั้ง และจะใช้ที่อยู่ที่ลูกค้าแจ้งตอนเปิดบัญชี หรือที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้อย่างเป็นทางการเท่านั้น ไม่ว่าจะติดต่อได้หรือไม่ได้ก็ตาม จะถือว่าสถาบันการเงินได้แจ้งให้ลูกค้าทราบแล้ว

ดังนั้น หากเปลี่ยนแปลงที่อยู่และสถาบันการเงินไม่สามารถติดต่อได้ก็อาจทำให้เราไม่ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่สำคัญ หรือไม่สามารถดำเนินการกับบัญชีของตัวเองได้ภายในเวลาที่ธนาคารกำหนด ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรืออาจเกิดความเสียหายอื่น ๆ ได้

6. โทษตามกฎหมายสำหรับการรับจ้างเปิดบัญชี

การรับจ้างเปิดบัญชีเพื่อหวังค่าตอบแทนอาจนำภัยมาสู่ผู้รับจ้างอย่างคาดไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ว่าจ้างคือกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งจะนำเงินที่ได้จากการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น เงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด การหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แชร์ลูกโซ่ บ่อนการพนัน และอื่น ๆ มาผ่านบัญชีของผู้รับจ้างซึ่งถูกใช้เป็นบัญชีผู้รับโอนเงินต้นทาง ก่อนที่จะให้ผู้รับจ้างโอนเงินต่อไปยังบัญชีอื่น หรือให้ผู้อื่นใช้บัตรเอทีเอ็มที่เชื่อมโยงกับบัญชีนั้นไปกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็มเพื่อโยกย้ายเงินออกจากบัญชีของผู้รับจ้าง ซึ่งการโยกย้ายเงินออกจากบัญชีในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ยากต่อการตรวจสอบและการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่

การรับจ้างเปิดบัญชีหรือการหลอกให้ผู้อื่นโอนเงินให้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทหรือสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การเห็นแก่ค่าจ้างเพียงไม่กี่บาทจึงอาจทำให้คุณต้องตกเป็นผู้ต้องหาและไปใช้ชีวิตในเรือนจำได้ จึงไม่ควรหลงเชื่อหรือรับจ้างเปิดบัญชีโดยเด็ดขาด

ในกรณีที่ได้รับจ้างเปิดบัญชีและได้มอบสมุดคู่ฝากและบัตรเอทีเอ็มให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ให้รีบติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัญชีโดยด่วน เพื่อสอบถามถึงวิธีปฏิบัติในการขอปิดบัญชีและยกเลิกการใช้บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้รับจ้างไปแจ้งความก่อน แล้วจึงนำบัตรประจำตัวประชาชนเข้าไปติดต่อยังสาขาที่เปิดบัญชี นอกจากนั้น หากพบเห็นข้อมูลเกี่ยวกับการว่าจ้างเปิดบัญชีควรแจ้งเบาะแสไปยังตำรวจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทางการ และมีส่วนช่วยยับยั้งมิให้กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน และก่ออาชญากรรมทางการเงินได้

สิทธิหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

สิทธิในการเลือกที่จะทำบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต หรือปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการใช้​

เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากเจ้าหน้าที่ธนาคารมักจะแนะนำให้ลูกค้าทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต โดยความแตกต่างระหว่างบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มคือ บัตรเดบิตนอกจากจะใช้ในการฝาก ถอน โอนเงินจากบัญชีได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มแล้วยังสามารถรูดซื้อสินค้าได้อีกด้วย หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารบางแห่งอาจแนะนำให้ทำบัตรเดบิตที่พ่วงมากับประกันชีวิตและ/หรือประกันอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมในการทำบัตรที่แพงกว่าบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบปกติ ถ้าเราต้องการบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบปกติที่ไม่พ่วงประกันก็สามารถเลือกได้ หรือหากไม่อยากทำบัตรประเภทใดเลยก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ และหากรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำบัตรดังกล่าวก็สามารถร้องเรียนได้ที่ call center ของธนาคารนั้น ๆ หรือที่ ศคง. โทร. 1213

อย่างไรก็ตาม การมีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตก็ช่วยเพิ่มความสะดวกในการถอนเงินหรือโอนเงินจากบัญชีผ่านตู้เอทีเอ็ม เพราะทำให้เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคาร หรือการมีประกันก็ช่วยผ่อนภาระค่าใช้จ่ายของเราหากเกิดเหตุขึ้นได้ ซึ่งหากสนใจจะใช้บัตรก็ควรทำความเข้าใจในข้อตกลง เงื่อนไขการให้บริการ รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บก่อนตัดสินใจเลือกเพื่อให้ได้บัตรที่มีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรามากที่สุดด้วย ซึ่งเราสามารถอ่านสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงิ​นได้ที่หัวข้อ

สิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน

สิทธิในการหักเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้​

ธนาคารอาจใช้สิทธิในการหักเงินในบัญชีของเราเพื่อชำระหนี้ที่เรามีอยู่กับธนาคารได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า หากได้ลงนามในข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งข้อตกลงนี้มักจะอยู่ในข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการเงินฝากที่ได้ลงนามยินยอมรับข้อตกลงนั้นแล้วตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีเงินฝาก หรือในเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ดังนั้น หากค้างชำระหนี้ ธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของเราเพื่อชำระหนี้นั้นได้โดยไม่ต้องแจ้งอีก

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้