ใครมีอำนาจมากที่สุดในระบบการปกครองของประเทศญี่ปุ่นในอดีต *

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

‘ปฏิรูป’ (kaikaku) คำสั้นๆ คำนี้เปรียบเสมือนยักษ์ใหญ่ที่แผ่เงาทาบทั่วญี่ปุ่น ในห้วงเวลาที่ระเบียบดั้งเดิมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนกมลสำนึกของผู้คนพังทลายลงหลังการพ่ายแพ้สงครามแปซิฟิก (ค.ศ.1945) พลังที่ถูกกดทับมานานภายใต้สงครามและการปกครองที่ทหารเป็นใหญ่ ปะทุออกมาในรูปอุดมการณ์หลากหลายที่แก่งแย่งกันเสนอแนวทางปฏิรูปตามแบบของตน พลังเหล่านี้อาศัยโอกาสเคลื่อนไหวขณะที่ชาติผู้ยึดครองอย่างสหรัฐฯ ยังคงมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะเปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตย อันมีทั้งเสรีภาพและความเท่าเทียมแบบรัฐสวัสดิการตามหลักการ New Deal ของประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลท์ กลุ่มอุดมการณ์ที่ว่านี้รวมไปถึงกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ขยายตัวนับแต่นั้น และดำรงอิทธิพลต่อเนื่องมาในรูปพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น

การปฏิรูปทางการเมืองตามแนวนิติรัฐเป็นวาระต้นๆ ที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจและถือเป็นเป้าหมายการปฏิรูป การ ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ วางอยู่บน 3 ข้อเรียกร้องของพลเอกดักกลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดที่ยึดครองญี่ปุ่น โดยคำสั่งที่ ‘ไม่อาจต่อรอง’ นี้ ประกอบด้วยการให้ยึดหลักสันตินิยมเบ็ดเสร็จ หรือไม่ให้ญี่ปุ่นก่อสงครามได้อีก ให้เลิกระบบศักดินา (defeudalize) ที่ขัดขวางประชาธิปไตย และให้จักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) รัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายผู้ยึดครองเป็นผู้ร่างอาจถูกมองเป็นของ ‘ต่างชาติ’ หรือเป็นค่านิยมที่แปลกแยกไปจากแนวทางดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่หากไม่ใช่เพราะสิ่งที่นำเข้ามานี้สอดรับกับความต้องการที่มีอยู่เดิม หรือที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมญี่ปุ่น แนวทางเหล่านี้คงไม่อาจดำรงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ความรู้สึกเข็ดขยาดต่อสงครามและการมองทหารว่านำพาประเทศสู่หุบเหว ทำให้มาตรา 9 ที่ห้ามทำสงครามและมีกองทัพกลายเป็นหัวใจหลักของ ‘รัฐธรรมนูญสันติภาพ’ ที่คงอยู่มาโดยยังไม่มีการแก้ไข และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองนับจากรัฐธรรมนูญที่กำเนิดขึ้นสมัยเมจิ (1889) ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ละทิ้งสังคมแบบชนชั้นและการปฏิรูปสถานะของจักรพรรดิซึ่งเป็นหัวใจของ ‘การเป็นประชาธิปไตย’ ก็กลายเป็นหลักคุณค่าที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้นำพลเรือนและประชาชน แม้ว่าการปฏิรูปในข้อหลังว่าด้วยสถาบันจักรพรรดิจะหมายถึงการลดทอนแก่นค่านิยมเดิมที่ยึดถือมาก่อนสงคราม ทั้งในแง่ศูนย์รวมจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อศรัทธาแบบชินโตและตัวตนแห่งชาติ แต่ก็ช่วยทำให้สถาบันที่เคยแตะต้องมิได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยอย่างไม่ขัดแย้ง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิรูปสถาบันจักรพรรดิและใช่ว่ากฎหมายสูงสุดที่ต่างชาติกะเกณฑ์ให้ใช้จะปรับเปลี่ยนที่ทางของสถาบันนี้ในสังคมรูปแบบใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมองว่าจักรพรรดิกับประชาธิปไตยอาจตั้งอยู่บนหลักอุดมการณ์ที่ขัดกัน และเมื่อพิจารณาว่าสถาบันนี้ดำเนินสืบมาแต่โบราณนับจากตำนานการกำเนิดประเทศ โดยราชวงศ์ยะมะโตะครองราชย์ต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสายยาวนานที่สุดในโลก แต่กระแสต่อต้านสถาบันซึ่งมากับอุดมการณ์ยุคใหม่ (enlightenment) และสาธารณรัฐนิยม (republicanism) ที่ถาโถมไปทุกทวีปทำให้ระบอบจักรพรรดิถูกยกชูขึ้นมากกว่าช่วงไหนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จนกลายเป็นศูนย์รวมของ ‘ชาตินิยม’ และ ‘ลัทธิทหาร’ เพื่อประโยชน์ในการสงคราม กลายเป็นเป้าโจมตีและเรียกร้องให้ปฏิรูปจากภายนอกประเทศและภายในญี่ปุ่น

สังคมญี่ปุ่นทำอย่างไรให้สถาบันจักรพรรดิสามารถดำรงอยู่ต่อเนื่องมาได้ หลังจากเผชิญวิกฤตศรัทธาและถูกตั้งข้อกังขาหลังพ่ายแพ้ในสงครามใหญ่ที่กระทำในนามพระจักรพรรดิ ภายหลังยุคแห่งการถกเถียงที่มีข้อเสนอถึงขั้นให้ล้มล้าง เหตุใดสถาบันนี้ยังคงอยู่มาได้ด้วยความชอบธรรม อีกทั้งได้รับการอุ้มชู ความเห็นอกเห็นใจและใกล้ชิดจากสาธารณชน อย่างที่เห็นว่าในหน้าสื่อญี่ปุ่นเวลานี้ ‘ประเด็นดราม่า’ เรื่องอุปสรรคการเสกสมรสของเจ้าหญิงมะโกะ พระธิดาแห่งมกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ ได้รับความสนใจและเฝ้าติดตามเป็นอย่างมากไม่แพ้ความวิตกกังวลถึงจำนวนผู้สืบราชบัลลังก์ฝ่ายชายที่มีจำนวนร่อยหรอลง เนื่องจากสมาชิกฝ่ายหญิงของราชวงศ์เสกสมรสกับสามัญชนและต้องสละฐานันดรศักดิ์

ข้อเขียนนี้ต้องการชี้ให้เห็นกระบวนการที่ทำให้สถาบันจักรพรรดิอันเก่าแก่และอนุรักษนิยม คงอยู่ได้กับระบอบประชาธิปไตยซึ่งกลายเป็นแก่นคุณค่าใหม่ในสังคมญี่ปุ่นและในสากลโลกในยุคหลังสงคราม พร้อมทั้งสำรวจสถานะและบทบาทที่คลุมเครือของสถาบัน อันเกิดจากความพยายามประนีประนอมและ ‘หลอมรวมแบบญี่ปุ่น’ (Japanese-style synthesis) โดยผสมผสานความตั้งมั่นในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ความยืดหยุ่นทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออกและการตรวจสอบโดยกลุ่มอุดมการณ์ที่แบ่งขั้วค่อนข้างชัดระหว่างฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม) กับฝ่ายซ้าย (สังคมนิยม) ทำให้ ‘การถกเถียง’ เรื่องตำแหน่งแห่งที่ในระบอบประชาธิปไตยของจักรพรรดิมีพลวัตเรื่อยมา และอาจมองได้ว่าได้สร้างเอกลักษณ์และความพิเศษในแบบญี่ปุ่นให้แก่สถาบันนี้ด้วย

จักรพรรดิผู้ทรงครองราชย์แต่ไม่ทรงใช้อำนาจปกครอง

สถานะของสถาบันจักรพรรดิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเผชิญความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงและหนักหน่วงหลายระลอกระหว่างที่ญี่ปุ่นก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ จุดพลิกผันสำคัญอาจแบ่งคั่นด้วยการปฏิรูปในรัชสมัยเมจิ (1868-1912) ที่ปรับแปลงสถานะของจักรพรรดิให้ต่างจากที่เป็นมาก่อนยุคสมัยใหม่ จากนั้น การปฏิรูปยุคหลังสงคราม (1945 – ) ก็เป็นอีกวาระที่สถาบันนี้เผชิญความเปลี่ยนแปลง มองโดยผิวเผินแล้ว ช่วง 100 ปีนับแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 จักรพรรดิญี่ปุ่นได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น ‘องค์อธิปัตย์’ ผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมือง (imperial sovereignty) ก่อนที่จะถูกลดสถานะอย่างฉับพลันเป็น ‘สัญลักษณ์’ (symbol) แห่งชาติในทางขนบประเพณี โดยเทียบได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนและหลังสงคราม

รัฐธรรมนูญหลังสงครามกำหนดว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือประชาชน (popular sovereignty) และจำกัดพระราชอำนาจของจักรพรรดิ โดยให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสาธารณะได้เฉพาะที่กำหนดในรัฐธรรมนูญและด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มาตรา 4 ระบุว่า “จักรพรรดิไม่ทรงมีอำนาจเกี่ยวข้องกับการปกครอง” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสถานะในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ซึ่งบัญญัติให้ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจอธิปไตย และดำรงสถานะอัน ‘ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้’ (sacred and inviolable) อย่างไรก็ดี นอกจากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ นัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสถาบันคือการถูก ‘ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง’ เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งในสมัยเมจิและยุคหลังสงคราม

นับแต่อดีต จักรพรรดิดำรงสถานะสูงสุดในลำดับชั้นสังคมศักดินา ถึงกระนั้น พระองค์ทรงครองราชย์แต่ไม่ได้ทรงใช้อำนาจปกครอง (reign but not rule) ขณะที่ประทับในเกียวโต ทรงเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจ ความเป็นปึกแผ่นในทางวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อของคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นที่มาแห่งความชอบธรรมของอำนาจปกครองซึ่งมักตกอยู่ในมือตระกูลขุนนางหรือไม่ก็ทหาร ดังเช่นช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ‘โชกุน’ (แม่ทัพ) ตระกูลโตคุงะวะ กุมอำนาจอยู่ราว 250 ปี โดยปิดกั้นการติดต่อกับโลกภายนอก จนกระทั่งถูกชาติตะวันตกบีบให้เปิดประเทศ

ในสมัยเมจิ สถานะของจักรพรรดิข้างต้นก็ยังคงเดิม แม้จะมีความเคลื่อนไหว ‘ฟื้นฟูพระราชอำนาจ’ (Meiji Restoration) แต่นอกเหนือจากการดึงสถาบันจักรพรรดิที่เดิมเป็นเพียงสัญลักษณ์มาเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง และวาทกรรมสร้างรัฐสร้างชาติแล้ว อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ในมือเหล่าแกนนำผู้โค่นระบอบโตคุงะวะ อันได้แก่พันธมิตรซะมุไรแคว้นซัทสุมะและโจชู (Satcho Alliance) ซึ่งกลายมาเป็นคณะผู้นำสมัยเมจิ (Meiji Oligarchs) นั่นเอง

คณะผู้นำใหม่อาศัยค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงการต่อต้านระบอบโตกุงะวะ อย่างการ ‘เชิดชูจักรพรรดิ ขจัดพวกต่างชาติ’ (sonno-joi) เป็นฐานสร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปประเทศ จักรพรรดิได้รับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ใหม่ โดยให้ย้ายมาประทับยังศูนย์กลางการปกครองกรุงโตเกียว อันเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูพระราชอำนาจ คณะผู้นำได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นตามมาตรฐานโลกศิวิไลซ์ แต่ก็มองหาต้นแบบที่เชิดชูสถานะของจักรพรรดิให้ทรงเป็นองค์อธิปัตย์ในการปกครอง ด้วยเจตจำนงเช่นนี้ ความสนใจของผู้ร่างกฎหมายสูงสุดอย่าง อิโต ฮิโรบุมิ จึงมุ่งไปยังรัฐธรรมนูญตามแบบปรัสเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นชาติที่กำลังผงาดขึ้นมาในยุโรปหลังรวมชาติสำเร็จในเวลานั้น ยังสามารถคงระบอบกษัตริย์แบบอนุรักษนิยมไว้ได้

รัฐธรรมนูญเมจิบัญญัติให้จักรพรรดิดำรงสถานะสูงสุดในโครงสร้างทางการเมือง ขณะที่ระบบสองสภาและคณะรัฐมนตรีก็ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้แทนสำหรับสภาล่าง แต่โครงสร้างทั้งหมดไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลกันแบบประชาธิปไตย หากกลับทำหน้าที่รับใช้และให้คำปรึกษาแก่พระจักรพรรดิ จริงอยู่ว่านับจากปลายศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มอุดมการณ์และพรรคการเมืองเริ่มตื่นตัวมากขึ้น แต่กระบวนการประชาธิปไตยก็ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ และอำนาจในมือคณะผู้นำเมจิ

นอกจากสภาล่างที่มาจากการเลือกตั้งในแบบจำกัดแล้ว โครงสร้างสถาบันที่เหนือขึ้นไปล้วนครอบงำโดยคณะผู้นำเมจิ ไม่ว่าจะเป็นสภาสูง (House of Peer) องคมนตรี (Privy Council) ไปจนถึงคณะรัฐบุรุษอาวุโส (Genro) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากแก่จักรพรรดิ ทั้งที่ไม่มีองค์กรนี้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ โครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่กลับเป็นกลไกหลักในการตัดสินนโยบายและกำหนดความเป็นไปของประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องสะท้อนมติของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งอำนาจสั่งการกองทัพก็อยู่ในมือองค์พระจักรพรรดิใน ‘ฐานะจอมทัพของกองทัพบกและกองทัพเรือ’

ในช่วงการขยายจักรวรรดิหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือช่วง 20 ปีแรกของรัชสมัยโชวะ (1926-1989) สถานะของจักรพรรดิถูกปรับเปลี่ยนไปอีกรอบ โดยอาจมองว่าสถาบันนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายขวาจัด และให้ความชอบธรรมแก่ ‘ลัทธิทหาร’ ที่ต้องการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม ทั้งเพื่อกุมอำนาจภายในประเทศและขยายดินแดนออกไปยังภาคพื้นทวีปเอเชีย กองทัพได้สร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ขณะที่สร้างวาทกรรมและปลูกฝังทัศนคติว่าเหล่านักการเมืองและกลุ่มนายทุนต่างเป็นพวกทุจริตคิดแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน นั่นทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก สถาบันจักรพรรดิขณะนั้นไม่เพียงมีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังถูกตีความใหม่ให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกับชาติ และนำไปสู่การครอบงำของวาทกรรม kokutai (national body) ที่เปรียบจักรพรรดิเทียบเท่าองค์รวมของชาติ

สังคมที่ถูกปลุกปั่นให้เกิดชาตินิยมแบบสุดโต่งมักติดกับดักความเหือดหายของวิสัยทัศน์ จากการที่ความเห็นต่างถูกปิดกั้น หรือถูกบีบให้ต้องเงียบงันเพราะกลัวถูกครหาว่าบ่อนทำลายหรือขายชาติ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญคนสำคัญอย่าง มิโนเบะ ทัทสึคิจิ รู้ซึ้งถึงบทเรียนนี้จากการที่เขาเสนอว่าควรมองสถาบันจักรพรรดิเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชาติ มากกว่ามองเป็นตัวตนเดียวกับชาติอย่างที่รัฐบาลส่งเสริม Eri Hotta ในงานชื่อ Japan 1941 ซึ่งสำรวจการตัดสินนโยบายก่อนญี่ปุ่นเปิดฉากสงคราม ชี้ให้เห็นชัดว่าการที่ผู้กำหนดนโยบายไม่กล้าเสนอข้อโต้แย้ง ทำให้การตัดสินใจไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์หรือยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ในยามวิกฤต ‘ที่ประชุมต่อหน้าพระพักตร์’ (gosen kaigi) ซึ่งจักรพรรดิทรงร่วมและรับรองนโยบาย กลายเป็น ‘ตัวล็อก’ ทิศทางยุทธศาสตร์ที่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมนี้แล้วก็ไม่มีใครกล้าเสนอให้กลับลำ

นั่นคือปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสงคราม ซึ่งเมื่อหวนมองกลับไป หลายฝ่ายในญี่ปุ่นเชื่ออยู่ในใจว่าไม่อาจชนะสหรัฐฯ ได้ ระหว่างทำศึกสงครามที่ ‘ไม่ชนะแน่แต่ก็ไม่อาจเลี่ยง’ นี้ สถาบันจักรพรรดิกลายเป็นศูนย์กลางของวาทกรรมการสู้เพื่อชาติ และการสละชีพในการรบทั้งโดยส่วนตัวหรือโดย ‘ปฏิบัติการพลีชีพ’ (tokko) ซึ่งกลายเป็นยุทธวิธีในช่วงท้ายของสงคราม ก็เป็นไปเพื่อการปกป้องชาติที่เทียบเท่าสถาบันจักรพรรดิ แม้ชีวิตจะร่วงโรยดั่งกลีบดอกซะกุระที่โปรยปรายในสายลมฤดูใบไม้ผลิ การมองความตายเป็นเรื่องงดงามเช่นนี้ยังถูกส่งเสริมด้วยความเชื่อแบบชินโตว่า เมื่อดวงวิญญาณผู้สิ้นชีพในสงครามได้สถิตในศาลเจ้ายะสุคุนิแล้ว ก็จะมีสถานะหลังความตายใกล้ชิดกับองค์พระจักรพรรดิ จากความเชื่อที่ว่าพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากเทพีพระอาทิตย์และเป็นสมมติเทพตามคติชินโต

กอบกู้จักรพรรดิจากลัทธิทหาร

คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่าสถาบันจักรพรรดิยืนอยู่ใจกลางสงคราม นอกจากการสู้รบจะดำเนินไปเพื่อปกป้องสถาบันอันทรงคุณค่าสูงสุดนี้แล้ว เงื่อนไขที่ทำให้ญี่ปุ่นพยายามทอดเวลากว่าจะยอมแพ้แม้สถานการณ์จะไม่เป็นใจแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความพยายามธำรงสถาบันนี้ไว้หลังสงคราม ญี่ปุ่นมองปฏิญญาปอตสดัม (Potsdam Declaration) อันเป็นคำขาดสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่สั่งให้ญี่ปุ่น ‘ยอมแพ้แบบไม่มีเงื่อนไข’ (unconditional surrender) ว่าตนอาจไม่มีสิทธิต่อรองให้ยังคงสถาบันจักรพรรดิไว้ได้ ญี่ปุ่นพยายามหาหนทางที่จะวางเงื่อนไขในเรื่องนี้จนกระทั่งถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่าและนะงะซะกิ จากนั้นรัฐบาลจึงได้ออกอากาศพระสุรเสียงของพระจักรพรรดิที่ทรงประกาศให้ยุติสงคราม

ในที่สุดแล้ว การมองว่าภัยต่อสถาบันจักรพรรดิมาจากสหรัฐฯ ผู้จะเข้ามายึดครองญี่ปุ่น กลับกลายเป็นความหวาดระแวงเกินกว่าเหตุของฝ่ายขวา ในทางตรงข้าม สหรัฐฯ กลับเป็นตัวแปรสำคัญในการธำรงสถาบันให้ยังอยู่ยืนยงต่อมา แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการยึดครองคือการทำลายระบบศักดินาและสร้างประชาธิปไตย แต่สหรัฐฯ ก็ประนีประนอมให้สถาบันเก่าแก่นี้ยังคงอยู่ นอกจากนี้ การทำให้สถาบันนี้อยู่ต่อไปได้ ฝ่ายผู้สนับสนุนจำต้องปัดป้องกระแสโจมตีรอบด้านที่มองว่าจักรพรรดิไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของสงครามและจักรวรรดินิยม แต่เป็นหนึ่งในผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม อย่างที่เห็นว่าทรงรับทราบยุทธศาสตร์การทหารของญี่ปุ่นผ่านที่ประชุมหน้าพระพักตร์มาตลอด สิ่งที่ต้องทำก่อนเพื่อให้สถาบันอยู่รอดได้จึงเป็นการลบล้างภาพสงครามและลัทธิทหารออกจากสถาบันนี้

เสียงเรียกร้องให้ดำเนินการกับจักรพรรดิฮิโรฮิโต ไม่ว่าการนำขึ้นพิพากษาในศาลอาชญากรรมสงครามหรือล้มล้างสถาบันให้สิ้นไป ไม่ได้มีมาจากผู้คนในชาติที่เป็นเหยื่อการรุกรานของญี่ปุ่นเท่านั้น กระแสอุดมการณ์ภายในญี่ปุ่นที่ปะทุออกมาอย่างคับคั่งหลังลัทธิทหารสลายไป ตลอดจนจากการส่งเสริมของสหรัฐฯ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านการคงอยู่ของสถาบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยมผู้เป็นเหยื่อหรือเป็นนักโทษการเมืองภายใต้การปกครองของทหาร สหรัฐฯ มองกระแสแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย เสรีนิยมและสันตินิยม ในยามที่คอมมิวนิสต์ยังไม่กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ ในสงครามเย็น

ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญญี่ปุ่นต่างเข้าใจว่าสถาบันจักรพรรดิมีความสำคัญแค่ไหนในมุมมองของประชาชนญี่ปุ่นที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาตลอดยุคสมัยใหม่ และเมื่อพิจารณาจากมุมมองประโยชน์เชิงนโยบาย จะดีแค่ไหนที่จะให้สถาบันนี้เป็นเครื่องโน้มน้าวใจให้คนญี่ปุ่นยอมรับและสนับสนุนเป้าหมายการยึดครอง อีกระลอกของการให้ความหมายใหม่และใช้สถาบันนี้ในทางการเมืองจึงเกิดขึ้น โดยครั้งนี้ สถาบันถูกให้ภาพเป็นเครื่องหมายของ ‘การปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยและสันตินิยม’ นอกจากสหรัฐฯ จะกันพระจักรพรรดิออกจากการดำเนินคดีในศาลอาชญากรสงคราม โดยปล่อยให้บรรดาผู้นำทหารเล่นเป็นตัวละครหลักและถูกพิพากษารับโทษไปแทนแล้ว ยังไม่กดดันให้สถาบันแสดงความรับผิดชอบ หรือโอนอ่อนตามกระแสเรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด

ในทางกลยุทธ์สหรัฐฯ เกรงว่าการล้มล้างสถาบันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายภายในญี่ปุ่นขึ้น แต่จะให้คงสถานะและบทบาทของจักรพรรดิดังเดิมก็คงเป็นไปไม่ได้ แมกอาเธอร์มองว่าเพื่อให้เกิดความพอใจ โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ยังหวาดระแวงญี่ปุ่น และมองจักรพรรดิว่าต้องรับผิด การยังให้คงสถาบันนี้ไว้จึงต้องแลกกับการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐไร้ทหารและ ‘ละเลิกสงคราม’ ทั้งยังต้องยอมรับการปฏิรูปเพื่อลดทอนอำนาจและบทบาทของสถาบันลง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับความพยายามที่จะ ‘ล้างบาง’ (purge) บุคคลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีส่วนได้เสียในสงครามออกจากตำแหน่งที่มีหน้ามีตาในสังคมแล้ว การยังคงรักษาความต่อเนื่องของจักรพรรดิทั้งในแง่การคงสถาบันไว้และการไม่แตะต้องตัวบุคคล จึงดูเป็นความใจกว้างของสหรัฐฯ ไม่น้อย

สถาบันจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตย

นอกจากความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแยกจักรพรรดิออกจากลัทธิทหาร ในญี่ปุ่นเองก็มีกระแสในวงความคิดเห็นและวิชาการที่ตีความบทบาทช่วงสงครามของจักรพรรดิในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อการคงอยู่ของสถาบัน โดยมองว่าแม้พระองค์จะทรงรู้เห็นเรื่องการสงคราม แต่ก็ทรงวางตนไม่ก้าวก่ายหรือแสดงความเห็นที่ชัดแจ้ง ข้อเสนอลักษณะนี้จับเอาพระราชดำรัสมาแสดงให้เห็นว่าทรงพยายามสื่อให้เลี่ยงสงคราม และเน้นย้ำบทบาทของพระองค์ในช่วงยุติสงคราม ทั้งนี้เพื่อปัดป้องจักรพรรดิจากความรับผิดชอบใดๆ แนวการตีความเช่นนี้มองจักรพรรดิว่าไม่ประสงค์ที่จะแทรกแซงนโยบาย (passive) ตามธรรมเนียมและแบบแผนดั้งเดิม หรือทรงเป็นผู้ยึดมั่นในสันตินิยม (pacifist) เป็นสำคัญ

ในการปฏิรูปสถาบันสูงสุดให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใหม่บัญญัติให้จักรพรรดิทรงเป็น ‘สัญลักษณ์’ แห่งชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีที่มาจากเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้ว่าในคำสั่งของแมกอาเธอร์ตั้งใจให้จักรพรรดิทรงมีตำแหน่ง ‘ประมุขของรัฐ’ (head of state) แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติสถานะนี้ไว้ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน 13 ประการตามมาตรา 7 โดยไม่ให้มีอำนาจเกี่ยวข้องในการปกครอง แม้ว่าในเวลาต่อมา สถานะของสถาบันตามรัฐธรรมนูญนี้จะกลายเป็นที่ถกเถียงในวงนักกฎหมายและการเมืองภายในญี่ปุ่น ขณะที่พระราชกรณียกิจบางอย่างได้วิวัฒน์และขยายออกไปจากที่กำหนด บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังเป็นเกณฑ์ชี้วัดสถานะและบทบาทที่เหมาะสมตามหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย

เหตุการณ์อีกอย่างที่ส่งผลต่อสถานะของจักรพรรดิอย่างมากคือการประกาศตนเป็นปุถุชน (humanity declaration) ซึ่งเป็นการสลัดความเชื่อดั้งเดิมว่าจักรพรรดิเป็นสมมติเทพ คำประกาศนี้ที่ฝ่ายผู้ยึดครองจัดแจงให้เป็นใจความหนึ่งในพระราชดำรัชวันขึ้นปีใหม่ปี 1946 ขณะที่รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ตอกย้ำความพยายามปรุงแต่งความหมายของสถาบันที่เคยเชื่อมโยงกับระบบศักดินา ความเชื่อแบบญี่ปุ่น และถูกลัทธิทหารใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าชาตินิยม ให้เข้ามาสอดคล้องกับการปกครองสมัยใหม่ได้ ความเป็นปุถุชนนี้ถูกเน้นย้ำด้วยการส่งเสริมให้พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ดำเนินต่อเนื่องมา แม้ว่าจะไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ตาม

ในทางหนึ่ง การเสด็จเยี่ยมราษฎร (junko) ถือเป็นมิติใหม่ของสถาบัน โดยอาจถือเป็นวิธีประชาสัมพันธ์สถานะใหม่ให้ผู้คนได้รับรู้ ซึ่งฝ่ายผู้ยึดครองมองว่าสอดคล้องกับการปฏิรูป ทั้งยังทำให้เกิดภาพลักษณ์สถาบันที่ใกล้ชิดและเข้าถึงราษฎรยิ่งขึ้น ในอีกทาง ก็เป็นการกอบกู้ความชอบธรรมให้สถาบันจากวิกฤตศรัทธา ให้ยังคงได้รับการสนับสนุนต่อไป ขวัญกำลังใจที่ทรงให้แก่ราษฎรในยามทุกข์ยากช่วงหลังสงครามยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการร่วมทุกข์ร่วมสุขในฐานะเหยื่อของลัทธิทหารและสงครามเช่นเดียวกับประชาชน John Dower ชี้ว่า “ความเคลื่อนไหวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด ‘ระบบจักรพรรดิของมวลชน’ โดยเปลี่ยนสถานะกษัตริย์มาเป็นเหมือนดาราดัง” (transformation of monarch into celebrity)

งานศึกษาของ Kenneth Ruoff เรื่อง The People’s Emperor ได้สำรวจข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายเรื่องการจัดวางสถาบันจักรพรรดิในระบอบหลังสงคราม กระบวนการนี้ได้สร้างตรรกะและการตีความอันเป็นที่พอใจของทั้งสองขั้วอุดมการณ์ขึ้น โดยยอมรับสถาบันในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ สำหรับฝ่ายขวาผู้ปกป้องขนบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและต้องการให้สถาบันเป็นที่เทิดทูน พอใจกับการตีความว่า การปฏิรูปไม่ได้ทำลาย ‘เนื้อแท้’ (essence) ของสถาบันแต่อย่างใด จักรพรรดิยังคงเป็นที่นับถือบูชาไม่เปลี่ยนแปลง อันที่จริงจักรพรรดิที่เป็นสัญลักษณ์ถือเป็นสถานะและบทบาทดั้งเดิมที่เป็นมาแต่นมนานก่อนยุคสมัยใหม่ (premodern) นั่นคือทรงครองราชย์แต่ไม่ทรงปกครอง โดยมองสถานะตั้งแต่สมัยเมจิว่าผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมที่เป็นรากเหง้าเดิม

สำหรับฝ่ายซ้าย การลดอำนาจและจำกัดบทบาทลงอย่างมากช่วยลดความเสี่ยงที่สถาบันอาจถูกใช้ในทางการเมืองหรือปลุกเร้าชาตินิยมเหมือนแต่ก่อน ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนสันตินิยมของฝ่ายนี้ สถาบันที่กลายเป็นเครื่องหมายเชิงวัฒนธรรม ปราศจากอำนาจอธิปไตย ไม่ไช่ประมุขของรัฐ และไม่มีบทบาททางการเมือง ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ฝ่ายซ้ายมักคอยสอดส่องให้สถาบันดำรงอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ มีหลายครั้งที่ความเหมาะสมเรื่องบทบาทกลายเป็นข้อถกเถียงในรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลจำต้องอธิบาย อย่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรข้างต้น ฝ่ายซ้ายก็มองว่าเป็นปัญหา แต่รัฐบาลชี้แจงว่าเป็นพระราชกรณียกิจในฐานะสัญลักษณ์แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นบทบาทที่รัฐบาลเห็นชอบเพิ่มเติมจากที่มีในกฎหมาย การมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดสุดโต่งอีกขั้วจึงช่วยทำหน้าที่ถ่วงดุลกับสถาบันจักรพรรดิไปโดยปริยาย

โชวะ เฮเซ เรวะ

สถานะอันคลุมเครือของจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตยญี่ปุ่นดำเนินเรื่อยมาผ่านรัชสมัยโชวะ เฮเซ มาจนถึงเรวะ ความที่ดูไม่ลงตัวนี้ทำให้เกิดข้อคิดเห็นในวงวิชาการถึงขนาดที่ว่าแท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (republic) ที่มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยเช่นนั้นหรือไม่ แม้อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่กว่า 70 ปีญี่ปุ่นก็อยู่มากับความพิเศษและพิสดารนี้อย่างกลมกลืน แน่นอนว่าความตึงเครียดและประเด็นโต้แย้งอันเกิดจากความลักลั่นมีให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนความพยายามตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสถาบันการเมืองและกลุ่มอุดมการณ์ในสังคมแบบประชาธิปไตย

จักรพรรดิอะคิฮิโตะแห่งรัชสมัยเฮเซ (1989-2019) ที่เพิ่งสิ้นสุดไป ถือว่าเป็นจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว ด้วยไม่มีข้อติดค้างเรื่องความรับผิดชอบต่อสงคราม การอภิเสกสมรสกับสามัญชนยิ่งเพิ่มพูนภาพลักษณ์ของการเป็นจักรพรรดิของมวลชน แต่ความเคลื่อนไหวหลายอย่างของพระองค์ก็เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษนิยมไม่น้อย ไม่ว่าการทรงแสดงความเสียพระทัยและสำนึกกรณีสงครามที่กระทำในนามพระบิดาของพระองค์ในอดีต และการทรงเลี่ยงสักการะศาลเจ้ายะสุคุนิ อันเป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมของฝ่ายขวา

เมื่อไม่นานนี้ การแสดงพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติ ซึ่งส่งผลให้ต้องแก้กฎมณเฑียรบาลเพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปได้แม้จักรพรรดิยังไม่สิ้นพระชนม์ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมองเป็นการกดดันให้รัฐบาลแก้กฎหมาย อย่างไรก็ดี พระราชดำรัสที่พระองค์ทรงมีผ่านสื่อโทรทัศน์ก็เรียกความเห็นใจจากประชาชนได้เป็นอย่างมาก เนื้อหาของพระราชดำรัสนี้สะท้อนความคาดหวังของพระองค์ต่อสถาบัน โดยทรงเห็นว่าปัญหาสุขภาพอาจทำให้ไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้อย่างเก่า ทั้งยังทรงห่วงใยว่าการสิ้นพระชนม์ขณะยังทรงครองราชย์ อาจสร้างภาระหนักแก่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดพิธีตามขนบประเพณีที่ทำมา นี่สะท้อนให้เห็นการตีความ ‘สัญลักษณ์’ ในแบบของพระองค์ ที่ใช่ว่าจะหมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร และไม่ใช่การดำรงอยู่อย่างเป็นภาระ

เมื่อญี่ปุ่นสามารถธำรงสถาบันจักรพรรดิผ่านวิกฤตการณ์ใหญ่มาได้ถึงขนาดนี้ ด้วยการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขหลังสงครามที่มีประชาธิปไตยและสันตินิยมเป็นที่ตั้ง และทำให้สถาบันเป็นของประชาชน คำถามต่อไปคือ นับจากนี้ญี่ปุ่นจะจัดการกับอุปสรรคใหม่ๆ ที่ท้าทายความต่อเนื่องของสถาบันนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสมาชิกราชวงศ์ที่ลดน้อยลงจากการสละฐานันดรศักดิ์ และการขาดแคลนผู้สืบราชสมบัติฝ่ายชาย ประเด็นเหล่านี้เริ่มเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อยในทางการเมือง และคงไม่อาจจัดการได้หากไม่มีการปฏิรูปขนบและระเบียบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจและสมควรได้รับการจับตามองต่อไปจากนี้

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ธีวินท์ สุพุทธิกุล จักรพรรดิญี่ปุ่น ราชวงศ์ญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญสันติภาพ

อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้