นโยบายต่างประเทศของไทยในยุค ปัจจุบัน

นโยบายการต่างประเทศ นับว่าเป็นอีกกุญแจสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยรักษาที่ทางของตนท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความร่วมมือตลอดเวลา

แต่เมื่อวิกฤตโรคระบาดเข้ามาปั่นป่วน ระเบียบโลกที่ระส่ำระสายจากความขัดแย้งพันลึกระหว่างสองมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ อยู่แล้ว ก็ถูกตอกย้ำให้ตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพมากกว่าเดิม

โจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องตอบให้ได้คือ นโยบายการต่างประเทศแบบไหนที่จะพาไทยให้รอดท่ามกลางสภาวะเช่นนี้

101 ชวน พรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้า, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Pre-Doctoral Fellow จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สรัสนันท์ อรรณนพพร พรรคเพื่อไทย และอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมหาที่ทางในฝันของไทยในระเบียบโลกใหม่ ตอบโจทย์สำคัญว่านโยบายการต่างประเทศแบบ ‘ไผ่ลู่ลม’ จะยังคงเป็นทางออกหนึ่งเดียวของยุทธศาสตร์การต่างประเทศไทยหรือไม่ ความมั่นคงรูปแบบไหนที่จะทำให้ไทยอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายใหม่ อาเซียนในฐานะกลไกในระดับภูมิภาคต้องปรับตัวอย่างไร และประชาชนจะมีส่วนร่วมในนโยบายการต่างประเทศได้อย่างไร ใน 101 Policy Forum นโยบายต่างประเทศไทยในระเบียบโลกใหม่

 

 

ระเบียบโลกและภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่หลังโควิด-19

 

พรรณิการ์: โควิด-19 ส่งผลกระทบให้ระเบียบโลกใหม่ตกอยู่ในสภาวะไร้ระเบียบ (‘new world order is no world order’)

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ระเบียบโลกจำเป็นต้องมีผู้คุมระเบียบ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามยุค อย่างในยุคหลังสงครามเย็น ก็มีสหรัฐอเมริกาเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้คุมระเบียบโลกเสรีนิยม แต่ในปัจจุบัน โควิด-19 ทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ไม่อยากรับภาระเป็นผู้นำระเบียบโลกอีกต่อไป อย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต้องการรับภาระการมีฐานทัพทั่วโลกดังเช่นอดีต ขณะที่จีนซึ่งผงาดขึ้นมามีอำนาจในระเบียบโลกในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ยึดแนวทางการเป็นมหาอำนาจแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา มองเพียงแต่การคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติของตนเท่านั้น ยุโรปที่เป็นเสาหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเยอรมนีก็เผชิญอุปสรรค ต้องหันกลับไปจัดการภายในประเทศ ส่วนประเทศสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ก็เต็มใจที่จะร่วมมือในระดับระหว่างประเทศน้อยลง

กล่าวคือ ทุกประเทศตกอยู่ในสภาวะแบบต่างคนต่างเอาตัวรอด ประเทศไหนประคองตัวเองได้ดีก็จะอยู่รอด

ส่วนประเทศไทย เราไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 คณะนักการทูตในต่างประเทศต้องเสียเวลา 2 ปีแรกกับการชี้แจ้งว่าทำไมรัฐประหารจึงเกิดขึ้น และ 3 ปีหลังในการชี้แจ้งเรื่องการจัดเลือกตั้ง ไม่ได้มีภารกิจอื่นนอกเหนือจากนี้

เมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ดำเนินนโยบายการต่างประเทศเช่นเดียวกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร เอนดุลอำนาจในเวทีระหว่างประเทศไปทางฝ่ายอำนาจนิยม ส่งผลให้ประเทศไทยเสียศักยภาพในการต่อรองกับมหาอำนาจ

ดังนั้น กรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ (grand strategy) ที่ประเทศไทยควรดำเนินตามคือ ต้องวางนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศให้สอดคล้องกัน โดยนโยบายภายในต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการสากล กล่าวคือต้องเป็นนิติรัฐ ใช้กฎหมายเสมอภาคเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชนและปกป้องเสรีภาพของประชาชนในประเทศก่อน เมื่อภายในแข็งแกร่ง ก็จะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีจุดยืนในเวทีโลกที่สง่างาม รวมทั้งเป็นที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือทวีปเอเชียได้

นอกจากนี้ ภายใต้ระเบียบโลกแบบโลกาภิวัตน์หวนกลับ (reverse globalization) ที่ทุกประเทศมีความเป็นชาตินิยมมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ไทยควรใช้ คือการแสวงหาและเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง และลดการพึ่งพิงประเทศอื่นในระดับภูมิภาค

 

ฟูอาดี้: ผมเชื่อว่า ‘นโยบายต่างประเทศเริ่มต้นจากนโยบายภายในประเทศ’ (‘foreign policy starts at home’) และในทางปฏิบัติ แต่ละรัฐบาลควรดำเนินนโยบายต่างประเทศให้มีความต่อเนื่อง ไม่ควรมีแนวนโยบายแตกต่างกันมาก

นับจากปี 2006 ประเทศไทยมีข้อจำกัดในเวทีระหว่างประเทศเนื่องมาจากการใช้นโยบายการต่างประเทศแบบปกป้องตัวเอง (defensive foreign policy) มากกว่าการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบกระตือรือร้น (proactive foreign policy) ต้องตอบคำถามนานาชาติในประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งผลให้ไทยขาดความเป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศ หากไทยจะกลับไปเป็นเช่นนั้นได้อีก ไทยควรต้องรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินโยบายการต่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรักษาคุณค่าประชาธิปไตยไม่ให้เสียด้านใดด้านหนึ่งไป ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยมีสมดุลที่ดีทั้งสองด้าน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากช่วงหลังสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน โลกมีทิศทางแบ่งเป็นสองขั้วมหาอำนาจมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศอำนาจระดับกลาง (middle power) ก็จะโดนบีบบังคับให้เลือกข้าง แต่ในความเป็นจริง ไทยเลือกข้างไม่ได้ เพราะไทยยึดโยงกับประเทศจีนในทางภูมิศาสตร์ประเทศและเศรษฐกิจ ทั้งในฐานการผลิตและการค้า แต่ในขณะเดียวกัน ไทยก็ยึดโยงกับสหรัฐอเมริกาด้านความมั่นคงและพันธมิตรทางทหาร

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีอำนาจลดลง และจีนทะยานขึ้นมามีอำนาจมากขึ้นในเชิงเปรียบเทียบจนความแตกต่างในระดับอำนาจของทั้งสองประเทศในระเบียบโลกลดลง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะยังต้องเผชิญกับสภาวะเลือกข้างไม่ได้ต่อไป ไทยจึงควรให้ความสนใจในประเด็นเฉพาะด้าน เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสิทธิมนุษยชนเพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองมหาอำนาจ อย่างสหรัฐอเมริกาอาจไม่พอใจกับการสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็ไม่พอใจหากไทยสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาได้

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ไทยควรใช้คือ รวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองภายใต้กรอบอาเซียน หรือยึดโยงกับกลุ่มประเทศอำนาจระดับกลางที่เป็นผู้รอดจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือนิวซีแลนด์เพื่อต่อรองกับมหาอำนาจ

สำหรับนโยบายการต่างประเทศไทยในยุคโควิด-19 การวางนโยบายต่างประเทศจะขึ้นกับการเมืองในประเทศ ส่วนตัวอยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในนโยบายต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งดังเช่นช่วงหลังพฤษภาทมิฬ หรือหลังปี 1997 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ไทยควรยึดโยงและเรียนรู้จากกลุ่ม ‘Eastern Liberalism’ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 มากขึ้น เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีอำนาจมากขึ้นหลังจากนี้

 

สรัสนันท์: ในปัจจุบัน ระเบียบโลกถูกสั่นสะเทือน (disrupt) ไร้เสถียรภาพและแปรปรวนเป็นอย่างมาก พฤติกรรมระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามปทัสถานที่เคยปฏิบัติกันมา

การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้สองขั้วอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากันอย่างเข้มข้น แต่ละประเทศดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบชาตินิยมมากขึ้น กล่าวคือ หันหลังให้กับการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และหันกลับไปให้ความสนใจกับสถานการณ์ภายในประเทศมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจเสียหายเป็นอย่างมาก หากจะเปลี่ยนสภาพการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในตอนนี้ แต่ละประเทศต้องลุกขึ้นใหม่และสรรหากลยุทธ์เพื่อร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนพยายามแข่งขันหาแนวร่วมของตัวเองในสมรภูมิการแข่งขันเชิงอำนาจ เห็นได้จากการตั้งชื่อยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐอเมริกาที่เลือกใช้คำว่า ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ (‘Indo-Pacific Strategy’) แทนการเลือกใช้คำว่า เอเชียตะวันออก (East Asia) เพราะไม่ต้องการสื่อความหมายรวมจีนเข้าไปในยุทธศาสตร์นโยบายการต่างประเทศด้วย

สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่ความขัดแย้งคุกกรุนเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศรู้สึกอึดอัดที่จะรักษาสมดุลในการสานสัมพันธ์กับสองประเทศมหาอำนาจในสมรภูมิการค้าให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมาก เพราะไทยพึ่งพาทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการท่องเที่ยว ไทยพึ่งพาจีนเป็นอย่างมาก ส่วนการส่งออกนั้นต้องพึงพาทั้งสองประเทศ

ดังนั้น คำถามใหญ่ในตอนนี้คือ ไทยต้องวางยุทธศาสตร์อย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงจากสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจได้

ประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมทั้งมีตำแหน่งเป็นศูนย์กลาง (hub)  ของภูมิภาคอาเซียน แต่โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะเพิ่มขีดความสามารถ สร้างจุดแข็งในการแข่งขันทางการค้าและการส่งออกระหว่างประเทศได้ ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะออกนโยบายอย่างไร รัฐบาลอาจวางให้ไทยแข่งกับเวียดนามในด้านการเกษตร แข่งกับอินโดนีเซียในด้านการผลิต หรือแข่งกับสิงคโปร์ในด้านโลจิสติกส์ แต่ที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ได้ ทำให้ไทยวิ่งแข่งในสนามการค้าระหว่างประเทศไม่ทัน ในขณะที่ประเทศอื่นวิ่งเร็วกว่าเราแล้ว

นอกจากนี้ การพิจารณาและกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยยังต้องผนึกกำลังในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจการเจรจาต่อรอง แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคในการรวมกัน เพราะแต่ละประเทศในอาเซียนต่างก็ต้องเผชิญกับอิทธิพลของจีนหรือสหรัฐฯ ในระดับที่มากน้อยต่างกันไป ดังนั้น อาเซียนต้องหันมาร่วมกันหาทางว่าจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

 

อิสระ: เมื่อกล่าวถึงระเบียบโลก ก็ต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นถูกกำหนดจากสองปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจและการทหาร

ประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหารสูงก็ย่อมเป็นผู้นำโลก เราจึงเห็น 4 ขั้วอำนาจหลักคือ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ซึ่งแต่ละขั้วก็ให้ความสมดุลกับการทหารและเศรษฐกิจในระดับต่างกัน อย่างรัสเซีย สมดุลอาจเอนไปทางด้านความมั่นคงทางการทหาร ส่วนสหภาพยุโรปจะเน้นไปทางด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ส่วนสาเหตุที่สหรัฐอเมริกากับจีนถูกกล่าวถึงบ่อยในฐานะมหาอำนาจ เพราะทั้งสองประเทศมีขนาดใหญ่ มีความใกล้เคียงทางเศรษฐกิจและการทหาร และมี GDP ใกล้เคียงกันมาก รวมทั้งมีความมั่นคงทางการทหารค่อนข้างสูงเหมือนกัน แต่ต่างมิติกันออกไป อย่างจีนมีความมั่นคงทางการทหารในแง่ของขนาดกองกำลัง ส่วนสหรัฐอเมริกาได้เปรียบด้านงบประมาณความมั่งคง

มิติการแข่งขันอำนาจระหว่าง 4 ขั้วอำนาจที่ชนกันอย่างชัดเจนที่สุดคือด้านการค้า

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน 4 ประเด็นหลักคือ ด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นฐาน การค้าการลงทุน และด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในประเด็นสุดท้าย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีว่าแต่ละประเทศเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังการปิดเมือง

ท่ามกลางระเบียบโลกเช่นนี้ ไทยในฐานะประเทศขนาดกลางค่อนไปทางเล็กควรวางตัวเป็น ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ กล่าวคือ ต้องรักษาเสถียรภาพและพัฒนาศักยภาพในทุกมิติ ทั้งสร้างการเมืองแบบสุจริต เสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและการบริการ รวมทั้งพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ในระบบระหว่างประเทศที่จะมากระทบต่อไทยในอนาคต และควรดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบไม่เลือกข้าง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไทยดำเนินมาตลอดอยู่แล้ว เพราะจากประสบการณ์ในอดีต การที่ไทยถูกบังคับให้เลือกข้างสะท้อนให้เห็นว่าไม่เกิดผลดีต่อประเทศแต่อย่างใด

 

ความมั่นคงไทยในโลกยุคใหม่

 

ฟูอาดี้: นิยามของความมั่นคงมี 2 แบบ อย่างแรกคือ ความมั่นคงแบบดั้งเดิม (traditional security) ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางการทหารหรือการทำสงคราม แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นว่ายังมีความมั่นคงในอีกรูปแบบหนึ่งคือ ความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) ได้แก่ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงมนุษย์ ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ไฟป่า ควันไฟที่เกิดขึ้นในประเทศและลุกลามไปยังอีกประเทศหนึ่ง ความมั่นคงรูปแบบใหม่แตกต่างจากความมั่นคงแบบดั้งเดิม คือรัฐชาติ (nation-state) ไม่ใช่ผู้เดียวที่จะจัดการความมั่นคงได้เอง แต่ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับระหว่างประเทศจนถึงระดับบุคคล เพราะปัญหาไม่ถูกเส้นเขตแดนจำกัดอีกต่อไป

ในอนาคต ความมั่นคงรูปแบบใหม่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

อย่างกรณีโควิด-19 ประเทศไทยต้องปรับกลยุทธ์ (tactics) ในการดำเนินนโยบาย แต่อาจไม่ถึงขั้นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหญ่ (grand strategy) ในการเตรียมตัวรับมือต่อความท้าทายใหม่ดังกล่าว

ในบริบทโลกที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ไทยควรทำคือปรับงบประมาณกองทัพ กองทัพอากาศหรือกองทัพเรืออาจมีบทบาทในการตอบสนองหรือตอบโต้ต่อความมั่นคงรูปแบบอื่นๆ มากกว่ากองทัพบกซึ่งมีสัดส่วนงบประมาณ 50% ของกองทัพทั้งหมด เช่น การใช้เรือรบหลวงเป็นที่กักกันผู้ติดเชื้อ เรือที่สามารถดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลได้ทันที หรือเรือดับเพลิงที่ช่วยพี่น้องในเชียงใหม่ได้

นอกจากนี้ ไทยต้องปรับนโยบายความมั่นคงให้สมดุล จากเดิมที่นโยบายเอนไปทางความมั่นคงแบบดั้งเดิม ก็ต้องปรับไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงรูปแบบใหม่มากขึ้น เราต้องคิดแล้วว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอในการเป็นคลังสินค้า (strategic stockpiling) อุปกรณ์สาธารณสุขในอาเซียน เช่น วัคซีน หน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้นในอนาคต อย่างช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในประชาคมอาเซียนก็เคยริเริ่ม Chiang Mai Initiative ซึ่งเป็นการสัญญาร่วมกันว่าหากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจ ทุกคนจะหยิบยื่นเอาทรัพยากรหรือให้เงินบริจาคเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ในปัจจุบัน อาจมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในลักษณะนี้กับประเด็นด้านสาธารณสุข

ปัจจุบัน ไทยวางจุดยืนเรื่องสาธารณสุขได้ดีมากแล้ว แต่เราต้องตั้งคำถามต่อว่า เรามีหน้าที่ทางศีลธรรมที่ต้องส่งต่อความสามารถนี้ให้ประเทศอื่นในอาเซียนหรือไม่ เราต้องร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลก (WHO) มากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ต้องไปช่วยชาวกัมพูชา ชาวพม่า ให้มากขึ้นไหม หากเราทำได้ ผมคิดว่าเรามีสิทธิที่จะเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขได้ แต่เกรงว่า ความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะมีโครงสร้างและระบบสาธารณสุขที่ดีรองรับอยู่แล้ว อย่างเช่นการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไม่ใช่เพราะการบริหารงานรัฐบาล

 

สรัสนันท์: ไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีด้านข้อมูลเป็นหลัก เพราะจากการระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าหากประเทศใดมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้เกิดความมั่นคงของประเทศได้ เช่น ใช้ข้อมูลเพื่อสร้างระบบติดตามตัวผู้ติดเชื้อ หรือติดตามคนเข้าเมืองโดยไม่จำเป็นต้องปิดเมือง แต่ประเทศไหนที่ขาดเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูล ก็จะบริหารจัดการประเทศได้ค่อนข้างหละหลวม ซึ่งประเทศไทยมีจุดอ่อนในด้านนี้ เห็นได้จากกรณีที่รัฐบาลกระจายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทอย่างล่าช้าและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายในช่วงโควิด-19

หากประเทศไทยยังคงจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอย่างที่เป็นมา มองไปอีก 5 ปีข้างหน้า ความมั่นคงของไทยมีแต่จะเสื่อมลง ไม่ว่าจะเป็นการนำงบประมาณไปขุดคลอง ทำถนนโดยคำนึงถึงจำเป็น หรือจัดสรรงบประมาณให้กองทัพมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แม้กระทั่งในงบประมาณปี 2564 ก็ยังมีการอนุมัติซื้อทรัพยากรที่ไม่จำเป็นในยุคสมัยปัจจุบัน เช่น เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ ในขณะที่มีลงทุนกับการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) น้อยมาก ดังนั้น ประเทศไทยต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถเก็บข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง และนำข้อมูลไปวางยุทธศาสตร์หรือออกแบบนโยบายได้ อย่างในปัจจุบัน แม้ว่าธุรกิจ SMEs จะมีสัดส่วนถึง 40% ของ GDP ไทย แต่รัฐบาลยังขาดข้อมูลว่ามี SMEs ทั้งหมดกี่รายในประเทศ จึงออกแบบนโยบายช่วยเหลือไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของประเทศ

หากไทยจะพัฒนาความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ต้องเริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งยุทธศาสตร์ของประเทศก็ต้องผลักดันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ แทนที่เราจะอิงกับการนำเข้าเทคโนโลยีที่มาจากการลงทุนของต่างชาติ (FDI) อย่างเดิม ในภาคการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทย ก็ควรลงทุนพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรอย่าง smart farming เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุน ทำให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันในตลาดกับสินค้าเกษตรจากประเทศอื่นได้ อย่างเช่นข้าวจากเวียดนาม ซึ่งหากไทยยังทำเกษตรแบบเดิม จะทำให้สินค้าเรามีต้นทุนที่สูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่น

 

อิสระ: นิยามความมั่นคงใหม่หลังเหตุการณ์โควิด-19 จะต้องประกอบด้วย หนึ่ง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สอง ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน สาม ความมั่นคงที่เกิดจากความสามัคคีปรองดอง และ สี่ ความมั่นคงที่เกิดจากความเท่าทันในเทคโนโลยี โดยความมั่นคงทั้ง 4 ประเด็นนี้ ไม่มีประเด็นไหนสำคัญกว่ากัน ต้องทำให้ความมั่นคงทั้ง 4 ด้านนี้สอดประสานกัน เพราะเมื่อความมั่นคงด้านหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็ย่อมสั่นสะเทือนความมั่นคงด้านอื่นๆ ที่เหลือ

การจะทำให้ความมั่นคงทั้ง 4 ด้านสอดประสานกัน สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเหมาะสม โดยผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้านและถ่องแท้ ไม่ตกเป็นเหยื่อจากการรับและฝักใฝ่ในข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่เปิดรับข้อมูลชุดอื่นๆ (post-truth politics) อย่างในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าไทยควรหรือไม่ควรเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) แน่นอนว่าในข้อตกลงมีสิ่งเย้ายวนเรื่องสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษี ซึ่งหากเราทำเป็นหลับตาไม่มองตรงจุดนี้ ก็อาจสูญเสียผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องพิจารณาอีกมุมหนึ่งว่าการเข้าร่วมข้อตกลงก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในด้านความมั่นคงทางสาธารณสุข ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการเกษตรเช่นกัน

นอกจากนี้ หากจะเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศไทย ผมมองว่าความมั่นคงมนุษย์คือหัวใจสำคัญ ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง การทำมาหากินอย่างยั่งยืน และสอง จิตสำนึก ซึ่งหากเราบรรลุ 2 ประเด็นนี้ได้ ก็จะทำให้ความมั่นคงทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาเป็นไปได้ด้วยดี

 

พรรณิการ์: ก่อนหน้านี้ ความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรเป็นประเด็นความมั่นคงที่อยู่ในกระแส แต่หลังกรณีโควิด-19 ความมั่นคงด้านทรัพยากรเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น

ประเด็นที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนที่สุดคือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แม้ว่าไทยจะให้ความสำคัญกับระบบการจัดการน้ำ เห็นได้จากการเพิ่มงบประมาณแผนบูรณาการมากกว่า 3% จาก 58,000 พันล้านบาทในปี 2562 เพิ่มไปเป็น 66,000 พันล้านบาทในปี 2563 แต่เห็นได้ชัดว่าปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งยังไม่ได้รับการแก้ไข งบประมาณถูกใช้อย่างสูญเปล่าในการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

สาเหตุที่ไทยไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ เนื่องจากไทยไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศ ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในไทยเกิดขึ้นจากการกั้นเขื่อนในประเทศต้นน้ำแม่น้ำโขงอย่างจีน ทำให้เกิดการกักเก็บน้ำในประเทศต้นน้ำจนแม่น้ำโขงในประเทศปลายน้ำอย่างไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามแห้งเหือด กระทบต่อผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณสองริมฝั่งแม้น้ำโขง แม้ว่าไทยเข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Committee: MRC) และองค์กรก็ยอมรับว่าปัญหาน้ำแล้งมาจากเขื่อนในประเทศจีน แต่ไม่เคยมีการผลักดันให้การเจรจาระหว่างประเทศต้นน้ำ-ปลายน้ำ ไม่เคยมียุทธศาสตร์ในการรวมตัวกันของประเทศปลายน้ำเพื่อต่อรองกับจีน หรือกำหนดประเด็นนี้ให้เป็นวาระหลักในนโยบายต่างประเทศของไทย

หากไทยจะดำเนินนโยบายการต่างประเทศเพื่อแก้ไขเรื่องความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้ำ ไทยควรมีบทบาทนำในการเจรจาเรื่องน้ำ พยายามรวบรวมประเทศปลายน้ำ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาวเจรจาภายใต้ MRC ซึ่งจะทำให้ MRC ถูกใช้ประโยชน์สมกับเป็นกลไกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต้นน้ำกับปลายน้ำ ซึ่งในปัจจุบัน MRC ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เป็นเวทีเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจจีนเสียเท่าไร นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเช่นนี้จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศและช่วยให้ไทยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศได้ด้วย

สำหรับประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ประเด็นนี้แบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ ความเป็นส่วนตัว (privacy) และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยี (digital divide) ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศโดยตรงและไม่ควรเป็นแค่เรื่องในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ประเด็นที่มีปัญหามากที่สุดคือเรื่องความเป็นส่วนตัว คำถามที่ว่า ‘ความมั่นคงกับสิทธิส่วนบุคคล อะไรสำคัญกว่ากัน’ ที่เรามักจะได้ยินกันนั้นเป็นคำถามที่ผิด เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องเลือก สองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกัน สิทธิส่วนบุคคลคือความมั่นคงของประชาชน ซึ่งเป็นความมั่นคงที่สำคัญที่สุด

การแก้ไขและแผนบูรณาการภาคใต้เป็นประเด็นความมั่นคงที่มีปัญหา งบประมาณจำนวน 610 ล้านบาท ถูกใช้ไปกับโครงการ ‘ติดตั้งความปลอดภัยในเขตเมืองระยะที่ 2’ โดยการติด CCTV รอบเมือง กล่าวคือ เป็นความพยายามจัดตั้งรัฐตำรวจที่มีโมเดลจากมลฑลซินเจียงของจีน ซึ่งรัฐจะสอดส่องประชาชนในทุกมิติ ติดกล้องวงจรปิดทั่วเมืองโดยอ้างเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัย กรณีดังกล่าวนับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จีนยังพยายามส่งออกโมเดลสอดส่องดังกล่าวและขายเทคโนโลยี ซึ่งน่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะแผนงบประมาณระบุว่า ประเทศไทยซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้จากจีน อาจทำให้ข้อมูลของไทยไปอยู่ที่จีนด้วย เรื่องดังกล่าวยังไม่มีท่าทีว่าจะมีใครผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

หากจะออกนโยบายการต่างประเทศเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ ต้องเริ่มจากนโยบายภายในของไทย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาแค่จากการใช้หรือการตีความกว้างจนละเมิดสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น หากแต่กฎหมายไม่ได้ถูกใช้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแท้จริง ดังนั้น หากมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ก็จะช่วยทั้งคุ้มครองสิทธิของประชาชน และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศด้วย เพราะประเทศใดที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้มาก ก็ย่อมสร้างจุดขายในการลงทุนได้ด้วยเช่นกัน

 

‘อาเซียน’ กับความท้าทายในระเบียบโลกใหม่

 

สรัสนันท์: เหตุผลสำคัญของการก่อตั้งอาเซียนในตอนแรกไม่ใช่เรื่องการค้า แต่เป็นเรื่องความมั่นคง เพราะในช่วงสงครามเย็น คอมมิวนิสต์นับว่าเป็นภัยคุกคามที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ทั้ง 5 ประเทศจึงต้องรวมตัวกัน และต้องการผลักดันประชาธิปไตยเป็นอย่างแรก แต่เมื่อมีการรวมตัวกันหลายประเทศที่มีความต่างทั้งด้านภาษา สกลุเงิน ระบบการปกครอง อีกทั้งแต่ละประเทศก็มีช่องว่างระหว่างกันค่อนข้างชัดเจน ส่งผลให้ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกมีเป้าหมายค่อนข้างแตกต่างกันด้วย กล่าวได้ว่าเป็นอุปสรรคหลักในการทำงานร่วมกันอย่างหนึ่ง และกลายเป็นว่าเจตนารมณ์แรกของการรวมตัวไม่ค่อยตอบโจทย์แรกเริ่ม จึงเกิดเป็นการจัดตั้ง ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’ (ASEAN Economic Community – AEC) ขึ้น เพื่อสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันใหม่ให้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ

โควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นการจัดการของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศในอาเซียนทำได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ไทย หรือสิงคโปร์ ตรงนี้จึงอาจมองได้ว่า ระเบียบโลกใหม่เป็นโอกาสของอาเซียน เพราะทั้ง 10 ประเทศมีศักยภาพต่างกัน อาเซียนมีประชากร 600 กว่าล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ ถ้ารวมกลุ่มกันให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ชัดเจนก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าจะสู้เป็นทีมยังไง จะดึงศักยภาพที่ต่างกันของแต่ละประเทศมาสู้กับกลุ่มประเทศข้างนอกยังไง ตรงนี้น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศอาเซียนทำงานได้

เมื่อเราลองดูข้อมูลรายประเทศ ไทยมีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยวและการขนส่ง ส่วนอินโดนีเซียมีแรงงาน ลาวมีเรื่องพลังงานและเกษตรกรรม เวียดนามก็เช่นกัน จะเห็นว่าทุกประเทศมีศักยภาพโดดเด่นเป็นของตัวเอง และตอนนี้ แต่ละประเทศก็พัฒนาศักยภาพของตนเองไปได้ค่อนข้างดีมาก อย่างเมียนมา ก็พร้อมจะพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว เวียดนามยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีทั้งเขตการค้าเสรีและคอนเนคชันด้านการค้าดียิ่งกว่าไทยเสียอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเรานำศักยภาพของแต่ละประเทศมารวมกัน เราก็จะมีอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจด้วย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วงถ้าเทียบกันในประเทศอาเซียน ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่อันดับท้าย เพราะขณะที่เวียดนามและเมียนมายังมีตัวเลขการค้าเป็นบวก แต่ไทยเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปมาก ซึ่งการท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของ GDP จะพลิกกลับมาก็ต้องใช้เวลานาน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะจะแตะไปทางไหนก็เปราะบางด้วยกันทั้งหมด ส่วนกลุ่มเกษตรกรหรือ SMEs ก็จะต้องมีเงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งอย่างเดียวที่จะทำได้คือ ต้องให้มีการบริโภคในประเทศ (domestic consumption) แต่คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ เพื่อสร้างฐานที่เข้มแข็งในการออกไปสู้ในสนามการค้าระหว่างประเทศ

ในสภาวะความวุ่นวายเหล่านี้ ไทยยังมีโอกาส แต่เราต้องรวมกลุ่มเป็นนักเจรจาที่ดี เพราะการเจรจาประเทศเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก คำถามสำคัญคือ เราต้องเลือกพึ่งพาฝั่งไหน หรือทำอย่างไรที่จึงจะพึ่งพาตนเองได้โดยที่ไม่ต้องอิงทั้งสองมหาอำนาจตลอดเวลา ซึ่งถ้าดูจากสภาพเศรษฐกิจของเรา เราพึ่งจีนค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าการเลือกตั้งปี 2020 จะนำไปสู่การเปลี่ยนประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เป้าหมายของประเทศเขายังเหมือนเดิม คือมองจีนเป็นภัยคุกคาม สงครามการค้าน่าจะยังคงดำเนินต่อไป

สำหรับจุดยืนของประเทศไทยบนเวทีอาเซียน ที่ผ่านมาไทยเคยเป็นผู้นำของอาเซียนมาโดยตลอด และวางจุดยืนบนเวทีอาเซียนได้ค่อนข้างดี แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่แต่ละประเทศต่างอยู่แบบตัวใครตัวมัน รวมทั้งมีแข่งขันทางเศรษฐกิจกันเองด้วย การร่วมมือภายในอาเซียนอาจลำบากหน่อย แต่เราต้องมาคุยกันว่าใครจะพึ่งพาศักยภาพของใคร และสร้างการทำงานกันให้สมดุลอย่างไร

 

อิสระ: สิ่งหนึ่งที่อาเซียนมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นประจำคือ ความล่าช้าในการดำเนินการต่างๆ ในอดีตเคยมีคนพูดว่า การหยุดนิ่งคือการเดินถอยหลัง แต่ปัจจุบัน การเดินไปอย่างเชื่องช้าก็คือการถอยหลังแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นธรรมชาติของอาเซียน

สาเหตุของการดำเนินงานที่ล่าช้าของอาเซียนคือ อาเซียนเกิดจากการรวมตัวกันของประเทศที่มีความแตกต่างกันมาก โดยเราสามารถแบ่งสมาชิกอาเซียนได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่ กับกลุ่มที่เป็นเกาะแก่ง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าพรมแดนของแต่ละประเทศอาเซียนไม่ได้ติดกัน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม หรือศาสนา และระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ เราต้องยอมรับว่าสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา หมายความว่า แต่ละประเทศมีปัญหาของตัวเองที่ต้องมุ่งแก้ไข เมื่อมารวมกลุ่มกัน การเดินไปข้างหน้าจึงเป็นไปได้ช้า

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเราจะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว การรวมตัวภายใต้กรอบอาเซียนก็มีข้อดีหลายประการ ประการแรก เราค่อนข้างคุยกันรู้เรื่อง มีความขัดแย้งน้อยกว่าการรวมกลุ่มของภูมิภาคอื่นๆ มีคดีไปสู่ศาลโลกน้อยมาก รวมถึงมีพิธีสารต่างๆ ในการระงับข้อพิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และประการที่สอง แทบทุกประเทศในอาเซียนมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

อาเซียนจะเดินต่อไปในระเบียบโลกได้ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียนจะต้องมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดและมีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด ตอนนี้ เวทีที่เปิดให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของอาเซียนมาทำงานร่วมกันยังมีค่อนข้างน้อย และนี่ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เสนอไปเมื่อปี 2019 ว่า ควรมีเวทีถาวรให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของอาเซียนทำงานในเรื่องหลัก อย่างการทำให้กฎหมายของแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราคงทำให้ทุกประเทศในอาเซียนเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้และจำเป็นต้องทำคือ ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้ความยุติธรรมเดียวกัน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนขับเคลื่อนไปได้

อีกประเด็นที่เราควรผลักดันอย่างจริงจังคือ ผลักดันให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาที่เรามีร่วมกัน แน่นอนว่า แต่ละประเทศมีการแบ่งเขตดินแดนชัดเจน แต่หลายปัญหาก็เป็นปัญหาข้ามพรมแดน เช่น ปัญหาฝุ่นควันหรือปัญหาขยะทะเล ซึ่งอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงเหล่านี้มาเป็นสิบปี แต่ก็ยังไม่มีสภาพบังคับ ดังนั้น ถ้าเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ผลจริง ต้องให้แต่ละประเทศปรับกฎหมายของตัวเองให้มีกฎหมายบรรทัดฐานแบบเดียวกันด้วย ไม่ใช่แค่ทำพิธีลงนามหรือให้สัตยาบัน

อีกคำถามสำคัญคือ อาเซียนควรวางที่ทางของตนเองอย่างไรในเวทีโลก แน่นอนว่า การรวมตัวกันก่อให้เกิดกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในแง่จำนวนประชากรและพื้นที่ หนึ่งในกลยุทธ์จึงเป็นการหาจุดสนใจร่วมกันภายในอาเซียน อีกอย่างหนึ่งคือ อาเซียนเรามียุทธศาสตร์สำคัญ 5 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ (logistics) กฎหมายที่เท่าเทียมกันทั้งหมด โครงสร้างพื้นฐาน และการติดต่อระหว่างกันสำหรับประชาชน หากอเซียนสามารถดำเนินการใน 5 ประเด็นนี้ได้จริง จะทำให้อำนาจต่อรองของอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นในเวทีโลกได้

ผมมีโอกาสได้ฟังการเปรียบเทียบหนึ่งมาว่า หากเราเปรียบเทียบภูมิภาคเอเชียเหมือนไก่ ประเทศจีนมองตัวเองเป็นไก่ ทางด้านที่ติดทะเลเปรียบเสมือนขนไก่ที่สวยงาม ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเป็นตัวไก่ ส่วนอาเซียนเปรียบเหมือนขาไก่ และไก่จะดำเนินชีวิตไม่ได้ถ้าไม่มีขา เพราะฉะนั้น หากเรามองความสำคัญของตนเองออกแบบนี้ เราก็จะพอมองเห็นว่า ควรดำเนินนโยบายไปในทิศทางไหน

 

พรรณิการ์: อย่างที่พูดกันไปแต่แรกว่าระเบียบโลกตกอยู่ในสภาวะไร้ระเบียบ โลกกำลังเจอกับโลกาภิวัตน์หวนกลับ (reverse globalization) ประเทศต่างๆ หันกลับเข้าหาแนวคิดชาตินิยมมากขึ้น เศรษฐกิจในประเทศพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ลดลง กลับไปพึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ในสภาวะเช่นนี้ โจทย์ของอาเซียนคือ ทำอย่างไรให้อาเซียนพึ่งพาตลาดภายในภูมิภาคมากขึ้น

หากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้น ความท้าทายเศรษฐกิจที่อาเซียนจะต้องเผชิญ ได้แก่

ประการแรก ในโลกโลกาภิวัตน์หวนกลับ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจะลดขอบเขตลงจากระดับโลกเหลืออยู่ในระดับภูมิภาค หรืออาจลดเหลือในระดับอนุภูมิภาค อย่างอาเซียน เราอาจแบ่งขอบเขตความร่วมมือออกเป็นอาเซียนภาคพื้นทวีป อาเซียนที่เป็นกลุ่มประเทศหมู่เกาะ หรืออาเซียนที่อยู่ฝั่งบน ฝั่งล่าง เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศย่อยนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจากจีน ซึ่งเมื่อจีนล้ม เศรษฐกิจลาวหรือกัมพูชาที่พึ่งพาจีนเป็นอย่างมากก็เกือบล้มตาม ดังนั้น จึงต้องสร้างการห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคขึ้นมา

ประการที่สอง ท่ามกลางความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกัน เราก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย ก่อนหน้านี้สัก 10 ปี ประเทศสิงคโปร์เคยกลัวว่าไทยจะแซงหน้าสิงคโปร์ทางเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้สิงคโปร์เลิกกลัวไทยแล้ว แต่หันไปกลัวอินโดนีเซียแทน เพราะฉะนั้น ความรู้สึกกลัวว่าประเทศอื่นจะนำหน้าตนในทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอยู่เสมอในอาเซียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะในโลกการเมืองระหว่างประเทศ ผลประโยชน์แห่งชาติสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ดี เราต้องมองด้วยว่า การร่วมมือกันสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคหรืออนุภูมิภาคได้ประโยชน์กว่าการมองผลประโยชน์ระยะสั้นจากการดำเนินนโยบายแบบตัวใครตัวมัน เอาประเทศตนเองรอดก่อน อย่างตอนนี้ หลายประเทศในอาเซียนเจอปัญหา economy of scale ที่มีขนาดเล็กหรือปานกลาง จนไม่สามารถสร้างห่วงโซ่ในประเทศได้ครบ แต่ขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่เกินไปที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจจากประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้น ความร่วมมือภายในภูมิภาคจึงเป็นทางออกเดียว

ในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในภูมิภาคซึ่งอยู่ในพื้นที่ปะทะของอำนาจ (contested area) ที่ขอบอิทธิพลของจีนและสหรัฐอเมริกามาชนกันพอดี จนภูมิภาคนี้กลายเป็นพื้นที่ประลองกำลังระหว่างทั้งสองอำนาจ ที่ผ่านมา อาเซียนถูกแบ่งเป็นประเทศที่เข้าฝั่งจีนบ้าง สหรัฐฯ บ้างตลอดเวลา แต่ตอนนี้ ถึงเวลาที่อาเซียนจะต้องตระหนักถึงศักยภาพรวมตัวเพื่อต่อรองกับมหาอำนาจของตนเอง ไม่ถูกอิทธิพลของมหาอำนาจครอบงำจนไม่สามารถร่วมมือกันในภูมิภาคได้

ในประเด็นการรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ ไทยยังทำได้ไม่ค่อยดี แม้ว่าบางคนอาจมองว่าดุลอำนาจสมดุลแล้ว เพราะเราซื้อรถถังจากจีน แต่ก็รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง จะเห็นว่ารัฐบาลคสช. เอียงไปทางจีน ในหลายโครงการ เห็นได้ชัดว่าเราเข้าฝั่งจีนมากกว่าญี่ปุ่นหรือสหภาพยุโรป และในอีกหลายโครงการ ก็เข้าข้างฝั่งสหรัฐฯ มากเกินไป นับว่าเป็นการเทไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ไม่ใช่การรักษาสมดุล

ไทย รวมถึงอาเซียน ต้องเลือกตัดสินใจที่รวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจในนามอาเซียน เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการต่อรองได้มากกว่าต่อรองในฐานะประเทศเดี่ยวๆ แน่นอนว่า จุดยืนเช่นนี้ขัดกับเจตจำนงแรกเริ่มของอาเซียนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตยฝ่ายอเมริกา แต่เราผ่านยุคสงครามเย็นมานานมากแล้ว ตอนนี้เราต้องก้าวต่อไป

ประการสุดท้าย อาเซียนต้องปรับเปลี่ยนคุณค่าพื้นฐาน กล่าวคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น (‘non-interference’) บรรทัดฐานเช่นนี้ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเกิดขึ้นมายาวนานถึง 50 กว่าปี โดยไม่มีการดำเนินการอะไร ทำให้เกิดการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรมในฟิลิปปินส์ในช่วง 2-4 ปีที่ผ่านมา หรือทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อุ้มหายในประเทศไทยได้ ทั้งๆ ที่อาเซียนก็มีกลไกด้านสิทธิมนุษยชน

การปรับเปลี่ยนกลไกจะเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนโดยเจตจำนงของผู้นำ เพราะความตกลงของอาเซียนไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่มีสภาพบังคับ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่ก็เริ่มเห็นการใช้เวทีอาเซียนในการกล่างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการแก้ไขปัญหา อย่างกลุ่มประเทศมุลสิมอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนที่พยายามใช้เวทีอาเซียนพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการแก้ปัญหาในกรณีโรฮิงญา ซึ่งเป็นปัญหาที่สหประชาชาติถึงกับใช้คำว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา’ แม้ว่ากลไกที่มีอยู่ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากก็ตาม แต่ก็เห็นความพยายามจากหลายรัฐบาลมุสลิมที่ทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนให้วางท่าทีของประเทศต่อกรณีโรฮิงญาภายใต้หลักการ ‘ภราดรภาพของชาวมุสลิม’ (‘Muslim’s Brotherhood’) ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม

อย่างไรก็ดี การเคารพหลักสิทธิมนุษยชนควรเป็นคุณค่าพื้นฐานในอาเซียนโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นเพียงบรรทัดฐานที่ใช้ได้เพียงบางกรณี หากเราเคารพหลักการของสหประชาชาติ เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน การช่วยกันสอดส่องดูแลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทำตามบรรทัดฐานสากลก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ อย่างล่าสุด กรณีการอุ้มหายคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศกัมพูชา ก็อาจใช้ประโยชน์จากกลไกอาเซียนเข้ามาดำเนินการให้เป็นไปตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศได้

 

ฟูอาดี้: ต้องบอกก่อนว่า สิ่งที่อาเซียนทำได้ดีที่สุดและเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรภูมิใจที่สุดคือ ไม่เกิดสงครามที่ฆ่าล้างกันมากเกินไปในภูมิภาค แต่ก็ไม่ใช่ว่า อาเซียนควรจะพึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ สำหรับเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ผมเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ในเชิงปฏิบัติ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะหากเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมในการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1997-2000 ไทยเคยมีรัฐบาลที่มีความชอบธรรม เราเป็นประเทศแรกที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในอาเซียน แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยไม่ควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ การเมืองไทยควรไปถึงจุดที่สามารถพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ กดดันประเทศที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานในภูมิภาคได้

ในความเป็นจริง หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในถูกละเมิดในทางปฏิบัติพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงที่จำเป็น เช่น ในช่วงพายุไซโคลนนากีส หรือการสู้รบที่ติมอร์ตะวันออกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ดังนั้น สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้สิทธิมนุษยชนกลายเป็นบรรทัดฐาน (norms) ในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะเราต้องมีความชอบธรรมที่จะผลักดันเรื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการที่ทุกประเทศในอาเซียนจะเห็นด้วยก็เป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน

คำถามสำคัญข้อหนึ่งคือ อาเซียนจะต้องวางตัวอย่างไรในอนาคตหลังยุคโควิด-19 ผมคิดว่าอาเซียนจะเป็นเวทีกลางที่นานาชาติจะมาหาจุดร่วมได้ อาเซียนเป็นภาคีกับเกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา หลังจากนี้ หากอาเซียนฟื้นจากยุคโควิด-19 ได้ เราอาจผลักดันบางประเด็นในบริบทโลกได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development)

ถ้ามองความสำคัญของอาเซียนในเวทีโลก ผมคิดว่าอำนาจในการต่อรองของเราจะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่การต่อรองทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาถูกตั้งคำถาม จุดนี้เป็นโอกาสที่อาเซียนจะก้าวขึ้นไปได้ ถ้าสังเกตดู ปีที่แล้วเราได้ออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับทัศนะของอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (‘ASEAN Outlook on the Indo-Pacific’) อาเซียนมองว่า ต้องการให้อินโด-แปซิฟิก ‘มีส่วนร่วมและเปิดกว้าง’ (‘inclusive and open’) ซึ่งคำว่า ‘มีส่วนร่วม’ (‘inclusive’) ไม่สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับจีนโดยตรง สามารถดึงจีนเข้ามาเจรจาได้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิกเช่นกัน แต่เลือกมองว่าอยากให้อินโด-แฟซิฟิกมีความ ‘เสรีและเปิดกว้าง’ (‘free and open’) ซึ่งคำว่า ‘เสรี’ (‘free’) สร้างความรู้สึกคุกคามต่อจีน ดังนั้น อาเซียนจะกลายเป็นจุดร่วมตรงกลางที่มหาอำนาจทั้งสองจะรับฟัง

 

ประชาชนกับการต่างประเทศ

 

อิสระ: นโยบายต่างประเทศอาจดูเป็นเรื่องที่ห่างไกล หรือจับต้องได้ยากสำหรับประชาชน แต่สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะว่า เราไม่รู้ตัวว่าการต่างประเทศแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการส่งออก 7 ล้านล้านบาท มูลค่าการท่องเที่ยว 1 ล้านล้านบาท หรือมูลค่าการค้าชายแดน 2 ล้านล้านบาท ล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ กำหนดความกินดีอยู่ดีของคนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่จำกัดเพียงแค่ชนชั้นนำเท่านั้น ดังนั้น การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่จะทำให้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนที่สุดคือ ต้องออกนโยบายโดยพิจารณาถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นอันดับแรก

สำหรับการบริหารงานของกระทรวงการต่างประเทศ ผมมองว่ามี 3 เรื่องที่ทำได้และควรทำเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้น

ประเด็นแรก ต้องสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนว่ากิจการต่างประเทศมีความเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่และความกินดีอยู่ดี ต้องสร้างความตระหนักรู้ว่าความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับระหว่างประเทศ หรือความสามารถในการผลิตที่เกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ที่ดี แม้ว่าไม่ใช่ภารกิจโดยตรง แต่กระทรวงการต่างประเทศสามารถเชื่อมโยงนโยบายการต่างประเทศกับภารกิจของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

ประเด็นที่สอง กระทรวงการต่างประเทศอาจใช้กลไกระบบราชการที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยในต่างแดน แม้ว่าแรงงานไทยจะเป็นต้องการของนายจ้างในต่างประเทศเพราะขยัน อดทนและมีทักษะ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศปลายทางเพราะติดเงื่อนไขในการย้ายถิ่นฐาน กระทรวงการต่างประเทศสามารถอำนวยความสะดวกด้านนี้ ประกันและควบคุมมาตรฐานแรงงานไทยในประเทศปลายทาง เพื่อให้แรงงานไทยได้รับการยอมรับ และนำไปสู่การได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามมา

สุดท้าย กระทรวงการต่างประเทศควรใช้ประโยชน์จากสถานทูตเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย 80 กว่าแห่ง และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ 60 กว่าแห่ง ในการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากใช้ประโยชน์จากสถานเอกอัครราชทูตทั้งหมดนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

 

พรรณิการ์: ก่อนอื่น ต้องตั้งคำถามต่อประเด็นพื้นฐานว่า ประชาชนไม่ทราบว่านโยบายต่างประเทศเกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือกระทรวงการต่างประเทศไม่มองว่าภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวข้องกับประชาชน แน่นอนว่าข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศย่อมเข้าใจว่าภารกิจของตนเกี่ยวพันกับการดูแลทุกข์สุขและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าผู้บริหารระดับบน ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี ก็มักมีทัศนคติที่มองว่าการต่างประเทศเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ

คำถามสำคัญคือผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเป็นไปเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในต่างประเทศ ไม่ใช่การรักษาความสัมพันธ์เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยที่ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้ เราเห็นทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายเช่นนี้อย่างชัดเจนจากกรณีคนไทยตกค้างในต่างประเทศเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มีประชาชนไทยอยู่ในต่างประเทศ 1 ล้าน 5 แสนคน คิดเป็น 2.175% ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ มีประชาชน 50,000 คนที่อยากกลับประเทศไทย แต่ไม่สามารถกลับได้ แม้ว่างบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศถูกลดงบมากที่สุดอันดับ 5 จนมีงบประมาณเพียง 8,475 ล้านบาท ทำให้การเอาคนกลับประเทศ 50,000 คนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราไม่เห็นวิสัยทัศน์ในการพาคนไทยกลับประเทศ อย่างในกรณีอู่ฮั่น ไทยพยายามจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน แต่กลับไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์คนไทย เจรจากับจีนเพื่อรีบพาคนไทยกลับไทยได้

หากจะสร้างการมีส่วนรวมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศหรือนโยบายสาธารณะ สามารถทำได้ผ่านภาคประชาสังคม ซึ่งในปัจจุบันมีสองกลไกหลักรองรับอยู่

กลไกแรกคือ Universal Periodic Review หรือกลไกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สมาชิกภาคีสหประชาชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะต้องทำ

ในกระบวนการทบทวน ต้องมีการทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 3 ฉบับ ฉบับแรก จัดทำโดยรัฐบาลไทยซึ่งมีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันเจ้าภาพ ฉบับที่สอง จัดทำโดยกลไกพิเศษของสหประชาชาติ และฉบับที่สาม จัดทำโดยภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รายงานฉบับที่สามแทบจะเป็นช่องทางเดียวที่ภาคประชาสังคมจะได้บอกเล่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในมุมมองของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประชาสังคมจะต้องทำงานอย่างเป็นอิสระในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ

อีกกลไกหนึ่งซึ่งมีความพยายามจะดึงภาคประชาสังคมเข้ามา แต่ยังไม่ได้ผลดีนักคืออาเซียน แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ไทยซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะผลักดันให้เกิดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนได้ แต่ก็กลับได้รับการร้องเรียนจาก NGOs ว่าภาครัฐขอรายชื่อหรือข้อมูลซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลและคุกคามด้านความมั่นคงของผู้เข้าร่วมการประชุมจนภาครัฐต้องยกเลิกการประชุมไป ดังนั้น กลไกนี้เป็นกลไกที่ต้องผลักดันกันต่อไปในอนาคต แต่จะมีการผลักดันเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของรัฐบาล

นอกจากนี้ ประชาชนอาจส่งเสียงของตนให้ไปถึงผู้กำหนดนโนบายผ่านองค์กรต่างๆ เช่น พรรคการเมือง หรือองค์กรภาคประชาสังคม คณะก้าวหน้าก็เป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาชน เพื่อเป็นพื้นที่รวมตัว ส่งเสียงและเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของประชาชน หรืออย่างกรณีปัญหาแม่น้ำโขงก็มีองค์กร International Rivers เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นให้กับประชาชนในพื้นที่

หากเรามีพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาชนที่เป็นพื้นที่ส่งเสียงของประชาชน มีภาครัฐนำประเด็นไปขยายต่อขึ้นไปสู่รัฐสภาและรัฐบาลได้ การขยายและส่งต่อกันเช่นนี้จะทำให้ความต้องการของประชาชนมีส่วนต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยได้

 

ฟูอาดี้: สถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสสำคัญในการที่ทำให้ประชาชนเห็นว่านโยบายการต่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศมีส่วนสำคัญกับชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด รวมทั้งยังเปิดให้กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าตนทำงานได้ดีตรงจุดไหนและต้องปรับปรุงตรงไหน อย่างไร

ถ้ากระทรวงการต่างประเทศจะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หากเป็นไปได้ กระทรวงอาจเปิดให้มีการประชุม (forum) เชิญภาคประชาสังคมและคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาร่วมออกแบบนโยบายการต่างประเทศ หรือาจนำเยาวชนหรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมย่อยต่างๆ ของสหประชาชาติในแต่ละปี อย่างเช่นการประชุม High-level Political Forum on Sustainable Development ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อทบทวนความคืบหน้าของแต่ละประเทศในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฯลฯ

เมื่อมีกลไกในการรวบรวมความเห็นของประชาชนจนเป็นรูปธรรมแล้ว กลไกที่จะนำนโยบายจากประชาชนมาปฏิบัตินั้น คือผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนของประชาชนและรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องมีส่วนร่วมและผลักดันร่วมกันให้นโยบายการต่างประเทศเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น กระทรวงกลาโหม ที่อาจช่วยสร้างความร่วมมือด้านกำลังทางการทหารและทรัพยากรภายในภูมิภาคผ่านการจัด ASEAN Disaster Relief Force เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดนและกระทบต่อชีวิตคนได้ เช่น พายุไซโคลนหรือไฟป่า ก็จะทำให้ประชาชนจับต้องนโยบายการต่างประเทศได้มากขึ้น เห็นความสัมพันธ์ของนโยบายต่อชีวิตชัดเจนขึ้น

 

สรัสนันท์:  สภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกที่จับต้องได้มากที่สุดเพราะเป็นตัวแทนเสียงของประชาชน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เป็นผู้กำหนดแนวทาง ออกแบบ หรือตัดสินใจในนโยบายการต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นเหมือนเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมประเด็นทางการทูตหลากหลายมิติที่ซ้อนทับกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า วัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยว ดังนั้น ในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์สำคัญจึงมาจากผู้นำว่าต้องการผลสัมฤทธิ์ด้านการต่างประเทศอย่างไร

ประชาชนกับยุทธศาสตร์การต่างประเทศอาจจะไม่ได้มีความเชื่อมโยงโดยตรง แต่เชื่อมโยงในทางอ้อมผ่านการเลือกตั้งเพื่อให้ผู้แทนเข้าไปกำหนดและตกผลึกเป้าประสงค์ของนโยบายการต่างประเทศ เพื่อจะสะท้อนความต้องการและศักยภาพของประเทศ

 

Related Posts

  • 101 Policy Forum #5 : นโยบายต่างประเทศไทยในระเบียบโลกใหม่

    ชวนถกว่าด้วยเรื่องนโยบายต่างประเทศในโลกไร้ระเบียบและมีคำตอบรูปธรรมในประเด็นเหล่านี้อย่างไร : ที่ทางของไทยในระเบียบโลกใหม่ | จุดยืนในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ | อาเซียนโมเดลตอบโจทย์แค่ไหน | ความมั่นคงแบบใหม่ที่ไกลกว่าเรื่องการทหาร | ฯลฯ

  • 101 Policy Forum #4 : นโยบายสู้วิกฤตเศรษฐกิจยุค COVID-19

    แต่ละพรรคตีโจทย์เรื่องนโยบายเพื่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจในยุค COVID-19 และมีคำตอบรูปธรรมในประเด็นเหล่านี้อย่างไร : การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤต | แนวทางการใช้บาซูก้าทางการคลัง 1 ล้านล้านบาท | ยุทธศาสตร์การกลับสู่ภาวะปกติ | การสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคต | การลดความเหลื่อมล้ำ…

  • 101 Policy Forum #2 : แก้รัฐธรรมนูญ ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่

    ชวนคุยเรื่องข้อเสนอว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชวนคิดเรื่องการออกแบบสัญญาประชาคมใหม่ แต่ละพรรคตีโจทย์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร และมีคำตอบเรื่องเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญในเรื่องเหล่านี้อย่างไร : สิทธิเสรีภาพของประชาชน | ระบบเลือกตั้ง | วุฒิสภา | ศาลและองค์กรอิสระ | การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ |…

  • 101 Policy Forum #3 : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

    ชวนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องนโยบายเกี่ยวกับครอบครัวไทยยุคใหม่ แต่ละพรรคตีโจทย์เรื่องครอบครัวไทยยุคใหม่อย่างไร และมีคำตอบเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มได้อย่างไร : ครอบครัวหลัง COVID-19 | ครอบครัวเปราะบาง | ครอบครัว LGBT | ครอบครัวเกิดน้อย-อายุยืน | ครอบครัวซึมเศร้า…

  • 101 Policy Forum #1 : ตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับตัวแทน 4 พรรคการเมือง

    ประเดิม 101 Policy Forum ครั้งแรกด้วยการชวนคุยชวนคิดเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กับ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม | น.ต.ศิธา ทิวารี | ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง |…

  • 101 policy forum : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม

    สรุปความจาก 101 Policy Forum # 3 : คิดใหม่ นโยบายครอบครัวไทยยุคไร้นิยาม ชวนนักการเมืองหลากพรรคแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องนโยบายเพื่อตอบโจทย์ครอบครัวไทยยุคใหม่

นโยบายการต่างประเทศไทย ภาคประชาชน ความมั่นคงแบบใหม่ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สรัสนันท์ อรรณนพพร พรรณิการ์ วานิช อาเซียน ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ความมั่นคงระหว่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างไรบ้าง

๓.นโยบายด้านการต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ มีการใช้นโยบายทางการทูตแบบผ่อนปรนเพื่อรักษาผลประโยชน์โดยส่วนรวมเอาไว้ โดย ความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกจะผ่อนปรนในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและการยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อแลก กับการรักษาอำนาจอธิปไตยโดยรวมของประเทศเอาไว้

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทยใช้ตัวแบบใดในการกำหนดนโยบาย

กระบวนการกําหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยเป็นไปตามครรลองของ ระบอบประชาธิปไตย โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอํานาจพิจารณาตัดสินใจ โดยกระทรวงการต่างประเทศ เป็นองค์กรหลักในการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ได้มาซึ่ง นโยบายการต่างประเทศที่สอดคล้องกับนโยบายองค์รวมของรัฐบาลในการบริหารราชแผ่นดิน

ข้อใดคือนโยบายต่างประเทศของกษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

1.1 นโยบายต่างประเทศสมัยอยุธยา 1. ด้านการเมือง ต้องขยายอำนาจไปยังสุโขทัย นครศรีธรรมราช และเมืองอื่น ๆ เพื่อให้อาณาจักรมีความมั่นคง 2. ด้านเศรษฐกิจ อยุธยามีการติดต่อค้าขายกับรัฐอื่น ขณะเดียวกันก็ขยายอำนาจไปยังรัฐใกล้เคียง

นโยบายต่างประเทศคืออะไร มีกระบวนการกําหนดนโยบายอย่างไร

นโยบายต่างประเทศ เป็นนโยบายของรัฐ มีลักษณะเป็นแผนการดำเนินการในกิจการและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนมากมีรูปแบบเป็นทวิภาคีและพหุภาคี สารานุกรมบริแทนนิการะบุไว้ว่า นโยบายต่างประเทศ ของแต่ละประเทศนั้นจะพิจารณาตามนโยบายภายใน, นโยบายกับพฤติกรรมของประเทศตรงข้าม และแผนทางภูมิรัฐศาสตร์

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้