เทคนิคในการคิดนวัตกรรมใหม่ subtraction

ทักษะการคิดเพื่อพิชิตทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์

การคิดอย่างสร้างสรรค์และการคิดเชิงนวัตกรรม เป็นสมรรถนะในการทำงานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่รอดขององค์กรในยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่ท่ามกลางการแข่งขันในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างองค์กรที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกหลายแห่งที่สามารถยืนหยัดได้มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น Apple, Starbuck, และ Delta เป็นต้น องค์กรเหล่านี้เคยผ่านประสบการณ์ชนิดที่เรียกว่าดิ่งลงเหวมาแล้วแต่ก็สามารถทะยานขึ้นมาได้อีกครั้งด้วยการคิดผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร และผลงานการวิจัยหลายฉบับก็ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดว่าการคิดเชิงนวัตกรรมสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิงธุรกิจขององค์กร

จากสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานให้เป็นเชิงธุรกิจมากขึ้นโดยยังคงคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และบุคลากรของรัฐควรจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรในอนาคต หนทางที่จะช่วยให้บุคลากรทำสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จก็คือการครอบครองทักษะที่ชื่อว่า “การคิด” ทักษะที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถพัฒนาและสร้างขึ้นได้

พัฒนาทักษะการคิดอาจต้องใช้เวลาและต้องอาศัยการมีวินัยในตนเอง (Self-discipline) เราอาจเริ่มต้นทำความเข้าใจจากการคิดแบบเป็นระบบ (Systematic Thinking) ที่เราคุ้นเคย ซึ่งเป็นการคิดแบบพื้นฐานธรรมชาติทั่วไปและสอดคล้องกับหลักธรรมของพุทธศาสนา (อิทธิบาท 4) ได้แก่ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค อุปมาได้กับการพบปัญหา การค้นหาสาเหตุ การเปรียบเทียบทางเลือกและการกำหนดผลลัพธ์ และการลงมือแก้ไข เราสามารถนำวิธีการคิดแบบนี้ไปใช้ได้ในเรื่องทั่วไป แต่ในสภาวะปัจจุบันที่โลกมีลักษณะเป็น VUCA World คือ มีความผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) การคิดแบบเป็นระบบทั่วไปคงจะไม่สามารถช่วยเราให้พาองค์กรยืนหยัดต่อไปได้ ดังนั้น เราจึงต้องหันมาหาวิธีการคิดแบบที่ไม่ธรรมดา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการคิดแบบสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงนวัตกรรม

การคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรม

มักเป็นที่สงสัยว่าการคิดสร้างสรรค์ (Creativity) กับนวัตกรรม (Innovation) นั้นมีความเหมือน แตกต่าง หรือเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร จากการประมวลความหมายที่นักคิดต่างๆ ได้ให้คำนิยามไว้สามารถสรุปได้ว่า การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นกระบวนการทางความคิดหรือจินตนาการที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่มีความเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เกิดขึ้นจากความสามารถในการรับรู้สิ่งที่เป็นอยู่เดิมในมุมมองใหม่ๆ ส่วนนวัตกรรม (Innovation) เป็นการนำผลผลิต การบริการ หรือกระบวนการใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้เกิดคุณค่าหรือประโยชน์แก่ธุรกิจ รัฐ หรือสังคม นักคิดหลายท่านได้มองการคิดสร้างสรรค์ไปในเชิงของผลผลิต (Product) ในขณะที่นวัตกรรมเป็นการนำไปใช้หรือปฏิบัติ (Implementation) และเห็นพ้องต้องกันว่าการคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่ใช่นวัตกรรม แต่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี ทั้งการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมหากรวมกันแล้วจะช่วยเพิ่มคุณค่าและประสิทธิภาพให้แก่องค์กร

ดังนั้น คำถามที่เป็นที่สงสัยข้างต้น อาจตอบได้ว่า….

“สิ่งที่เหมือนกันก็คือ…ทั้งสองเรื่องนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “กระบวนการ” หรือ Process แต่ที่ต่างกันคือ…สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดออกมาจากนวัตกรรมนั้น…ต้องเป็นสิ่งที่ “เกิดประโยชน์” โดยเฉพาะการก่อประโยชน์ในภาพกว้าง หรือยิ่งใหญ่มากกว่าแค่การเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ ส่วนความคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการที่สร้าง “ความคิด” ใหม่ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมก็เป็นได้”

แนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างสมรรถนะการคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม George Land และ Beth Jarman (1993) ได้ศึกษาพบว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนมีศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ แต่นับวันการคิดสร้างสรรค์ของเรากลับลดน้อยลง พวกเขาได้ทำการวิจัยกับเด็กอายุตั้งแต่ 3-5 ขวบที่เริ่มเข้าเรียน โดยใช้แบบทดสอบการคิดสร้างสรรค์ (Creativity Test) เหมือนกับที่ NASA ได้ใช้ทดสอบเพื่อรับวิศวกรเข้าทำงาน และพวกเขาได้ทดสอบกับเด็กกลุ่มเดิมอีกสองครั้งเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุ 10 ขวบ และ 15 ขวบ ผลการทดสอบพบว่า เมื่อเด็กอายุ 5 ขวบ คะแนนการคิดสร้างสรรค์สูงถึง 98% อายุ 10 ขวบ ลดลงเหลือ 30% และอายุ 15 ขวบ ลดลงเหลือ 12% และเมื่อทดสอบอย่างเดียวกันกับกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่าคะแนนสร้างสรรค์เหลือเพียง 2% ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากการที่เราเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ถูกตีกรอบโดยสังคม หากลองสังเกตให้ดีจะพบว่าเวลาที่เราถามคำถามเด็ก เรามักจะได้คำตอบที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ แต่แปลกที่ว่าคำถามอย่างเดียวกันผู้ใหญ่อาจจะต้องใช้ความคิดในการตอบที่นานกว่าเด็กและอาจไม่ใช่คำตอบที่สร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม การคิดสร้างสรรค์ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนากันได้ โดยเริ่มต้นจากการมีพื้นฐานของความรู้ วินัยการเรียนรู้ และการรู้จักคิด มีผู้กล่าวไว้ว่าการพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนกับการเล่นกีฬา ที่จะต้องมีการฝึกกล้ามเนื้อและอาศัยสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา ผลการวิจัยของ Ginamarie Scott, Lyle Leritz, และ Michael D. Mumford ใน Creativity Research Journal ปี 2004 พบว่า ผลการศึกษากว่า 70 เรื่อง ชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการคิดสร้างสรรค์สามารถเป็นสิ่งจูงใจให้พนักงานสร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีได้

Clayton M. Christensen และผู้ร่วมงานวิจัยของเขาได้แนะนำในหนังสือ The Innovators’DNA : Mastering the Five Skills of Disruptive Innovators (2011) ว่าความสามารถในการคิดเชิงนวัตกรรมไม่ใช่แค่เพียงเป็นเรื่องของกระบวนการทางความคิดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมซึ่งจะช่วยพัฒนาสมองให้มีประสิทธิภาพในการค้นหา ทักษะ 5 ประการที่ว่านี้ ได้แก่

1.การตั้งคำถาม (Questioning) ต้องรู้จักฝึกตั้งคำถามที่คนมักไม่ค่อยถาม หรือท้าทายความคิดเดิมๆ เช่น โดยทั่วไปคนมักจะถามคำถามว่า “วันนี้ที่ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง” อาจลองเปลี่ยนคำถามเป็นว่า “วันนี้ลืมทำอะไรที่อยากจะทำบ้างหรือเปล่า” เป็นต้น 2.การตั้งข้อสังเกต (Observing) พยายามฝึกเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น พฤติกรรมของผู้มาติดต่อหรือรับบริการ หรือในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เราพบแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ได้ 3.การสร้างเครือข่าย (Networking) หาโอกาสพบปะผู้คนที่มีความคิด มุมมอง และภูมิหลังแตกต่างกันไป เช่น คนในสาขาวิชาชีพอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่าง 4.การทดลอง (Experimenting) เปิดหาประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหาและทดลองสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต 5.การคิดเชื่อมโยง (Associational Thinking) รู้จักเชื่อมโยงคำถาม ปัญหา หรือความคิดต่างๆ จากแวดวงซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งสามารถฝึกได้โดยการอาศัยทักษะต่างๆ ข้างต้น หรืออาจฝึกฝนจากการเล่นเกมส์สร้างคำ โดยให้ผู้เล่น 2 คนกำหนดคำซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันขึ้นมา และเราเป็นผู้คิดความเชื่อมโยงคำสองคำนี้ให้เกี่ยวข้องกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นต้น ทักษะนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างดี

พลังแห่งการรับรู้ (The Power of Perception) ในบางครั้ง เราอาจเกิดอาการที่คิดอะไรไม่ออก เพราะเรานำความคิดเราเข้าไปติดอยู่แต่ ในกรอบเดิมๆ ใช้วิธีคิดเป็นระบบแบบเดิม ทำให้ไม่สามารถหาทางออก หรือแนวทางการทำงานใหม่ๆ ได้ Edward De Bono ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งการคิดจากการที่ได้ศึกษาและมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับการคิดเป็นจำนวนมาก เขาได้คิดค้นวิธีการ “คิดนอกกรอบ (Lateral Thinking)” ขึ้นมา ซึ่งเป็นการคิดเพิ่ม คิดใหม่ หรือเปลี่ยนมุมมองใหม่ไปจากเดิม เป็นแนวทางเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานชิ้นใหม่ ๆ อยู่อย่างตลอดเวลา และการคิดนอกกรอบนี้ถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

De Bono ระบุว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการคิด (Thinking) ก็คือ การรับรู้ (Perception) เพราะมันคือการตีความหรือการให้ความหมายของข้อมูลที่เราได้รับจากการมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งสิ่งเดียวกันนี้ คนอื่นอาจจะแปลความหรือตีความหมายแตกต่างกันได้ และนำไปสู่ข้อสรุปทางความคิดของแต่ละคน เช่น เมื่อเราเห็นผู้หญิงกำลังวิ่งและมีผู้ชายถือไม่ตามหลัง เราอาจคิดว่า ผู้ชายต้องการทำร้าย แต่อีกคนหนึ่งมองเห็นสุนัขวิ่งไล่ด้านหลังผู้ชายด้วย ก็อาจสรุปว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงกำลังโดนสุนัขวิ่งไล่ ซึ่งจะมีผลให้คนสองคนตัดสินใจที่จะทำอะไรกันคนละอย่างอันมีผลมาจากการรับรู้ที่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับการรับรู้ของทุกคนก็คือ การมองข้ามบางสิ่งบางอย่าง การมองเห็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ได้เพียงบางส่วน การละเลยบางสิ่ง การไม่ได้พิจารณาถึงผลลัพธ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ได้พิจารณาถึงมุมมองของผู้อื่น และการไม่พยายามหาทางเลือกที่หลากหลายในการตัดสินใจ ดังนั้น การสร้างพลังแห่งการรับรู้โดยการพัฒนากรอบแนวทาง (Framework) และเครื่องมือสำหรับการคิด จะช่วยให้การวางแผนและการบริหารงานภายในองค์กรมีคุณค่าอย่างนับไม่ถ้วน เครื่องมือที่ De Bono นำเสนอประกอบด้วย 10 เครื่องมือ ดังนี้

เครื่องมือ คำถามที่ช่วยในการกระตุ้นความคิด
แนวทางการใช้
Tool 1 : C&S (Consequences and Sequels) การมองเหตุการณ์/แผนงาน/การกระทำ/การตัดสินใจ ไปข้างหน้าและคาดการณ์ว่าหากสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น จะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจะมีผลอะไรตามมา
Tool 2 : P.M.I (Plus, Minus, Interesting) การมองสิ่งต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติก่อนที่จะทำการตัดสินใจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลดี ผลเสีย ซึ่งอาจจะทำให้พบมุมมองที่น่าสนใจจากสิ่งนั้น อะไรคือสิ่งที่เป็นผลดี ผลเสีย และมีสิ่งใดที่น่าสนใจ
Tool 3 : RAD (Recognize, Analyze, Divide) การย่อยหรือแบ่งส่วนความคิด ภาพเหตุการณ์ หรือปัญหาใหญ่ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น ก่อนที่จะเริ่มการคิดใดๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยหรือไม่ และจะแยกส่วนให้เล็กลงได้อย่างไร
Tool 4 : CAF (Consider All Factors) การค้นหาปัจจัยรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ การกระทำ การตัดสินใจ หรือแผนงานที่กำลังพิจารณา และพยายามวิเคราะห์ให้ได้ว่าเรื่องใด หรือปัจจัยใดที่จะมามีผลกระทบสืบเนื่องจากสิ่งที่เรากำลังพิจารณา ปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และปัจจัยใดที่มีผลกระทบ
Tool 5 : A.G.O. (Aims, Goals, Objectives) การมุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เราต้องการจะพิจารณาโดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไปเพื่ออะไร ต้องการความสำเร็จระดับไหน เรากำลังทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
Tool 6 : A.P.C. (Alternatives, Possibilities, Choices) การระดมค้นหาทางเลือก แล้วพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ ก่อนทำการตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด มีทางเลือกอื่นใดที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่
Tool 7 : O.P.V. (Other People's Views) การพิจารณาสถานการณ์ ปัญหา หรือสิ่งต่างๆ ในมุมมองของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ว่าหากเราเป็นเขาเราจะคิดอย่างไร คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะคิดคิดอย่างไรกันบ้าง
Tool 8 : K.V.I. (Key Values Involved) การพิจารณาว่าสิ่งที่เราคิดหรือตัดสินใจนั้นเป็นคุณค่าที่เราต้องการหรือไม่ โดยพิจารณาทั้งในแง่บวกและแง่ลบ อะไรคือคุณค่าที่จะได้จากสิ่งนี้
Tool 9 : FIP (First Important Priorities) การเรียงลำดับความคิด ปัจจัย หรือผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเลือกในสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ ปัญหาที่พิจารณา อันไหนที่จะมีความสำคัญที่สุด
Tool 10 : DOCA (Design/Decision, Outcome, Channels, Action) การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เกิดจากการคิดทั้งหมดว่าจะเลือกทางเลือกใด และจะเกิดผลลัพธ์อย่างไรตามมา เราต้องทำอะไรต่อไป และจะทำอย่างไร

เครื่องมือช่วยคิดเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ในการวางแผนคาดการณ์ อนาคต การออกแบบระบบ การประเมินผล การพิจารณาทางเลือก และการตัดสินใจ เป็นต้น โดยในสถานการณ์หนึ่งอาจจะต้องใช้เครื่องมือหลายๆ ตัวในการช่วยคิด เช่น ในการตัดสินใจว่าหน่วยงานของเราควรจะใช้นโยบาย “Flexy Time” ในการทำงานหรือไม่ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการใช้ P.M.I ช่วยประเมินว่านโยบายนี้มีข้อดีและข้อเสียประการใด และเมื่อพบประเด็นที่น่าสนใจ ก็อาจจะนำ C&S เข้ามาพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับทางเลือกที่ตัดสินใจ การผสมผสานการใช้เครื่องมือในสถานการณ์ต่างๆ

โดยที่การคิดเกิดจากการรับรู้ ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาทักษะการคิดให้แก่ตนเอง จึงอาจเริ่มจากการนำเครื่องมือของ De Bono ไปใช้เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการรับรู้ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งนอกจาก จะได้รับข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เราคิดอย่างนอกกรอบและสร้างสรรค์ด้วย และท้ายที่สุดก็จะสามารถนำข้อมูลทางความคิดเหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติเพื่อสร้างนวัตกรรมในงาน ส่งผลต่อการเพิ่มคุณค่าในองค์กร

ปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ดี การสร้างพลังความคิดและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรได้นั้น หน่วยงานจะต้องสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยวิธีการ เช่น ยอมรับในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ เปิดโอกาสให้บุคลากรเข้าถึงแหล่งความรู้อย่างกว้างขวาง มีระบบการให้รางวัลแก่นักคิดทั้งหลาย รับเอาแนวความคิดและวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการปฏิบัติงาน การมอบตำแหน่งผู้นำให้สำหรับผู้ที่มีความคิดดี เป็นต้น

ปจิตา ดิศกุล ณ อยุธยา นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน 2558

แหล่งอ้างอิง De Bono, E. (1997). The Power of Perception: Ten Tools for Making Better Business Decision. Iowa: De Bono Thinking Systems. Dyer, J., Gregersen, H. & Christensen, C.M. (2011). The Innovator’s DNA : Mastering the Five Skills for Disruptive Innovators. MA : Harvard Business Review Press. Fallon, N. Creativity Is Not Innovation (But You Need Both). (July 24, 2014 ) //www.businessnewsdaily.com / Scott, G., Leritz, L. E., & Mumford, M. D. (2004). The effectiveness of creativity training: A quantitative review. Creativity Research Journal. Vol. 16, No. 4, pp. 361-388.

ข้อมูลจากเว็บไซต์ “Can Creativity be Taught? Results from Research Studies.” //www.creativityatwork.com/(June 6, 2014) “Innovation Solutions.” //www.innovationmanagement.se/ “Strategic Management.” //coach-ampol.blogspot.com/ (April 1, 2012) “Creativity at work.” //www.creativityatwork.com/

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้