ผลกระทบ จาก สงคราม ด้าน สังคม

เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองฝ่ายคือ รัสเซีย กับพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นการส่งกองกำลังทหารจากฝ่ายรัสเซียเข้าไปรุกรานประเทศยูเครน ว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง วันนั้นผมทำแผนภูมิขึ้นมาหนึ่งภาพเพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ และจะขอนำมาขยายความในบทความชิ้นนี้

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจากความขัดแย้งในครั้งนี้ต้องพิจารณาใน 2 มิติ นั่นคือ มิติเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Mainstream Economics) และมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ (Geopolitical Economy) ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเรียนรู้และเตรียมความพร้อมรับมือในหลากหลายด้าน

เริ่มจากมิติเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ผมจำแนกเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น (วันนี้ – 6 เดือนข้างหน้า) ผลกระทบระยะกลาง (วันนี้ – 1 ปีข้างหน้า) และผลกระทบระยะยาว (วันนี้ – 2-3 ปีข้างหน้า)

ในระยะสั้น เราต้องพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและรัสเซีย รวมทั้งระหว่างไทยและยูเครน โดยพบว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและสองประเทศนี้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อยู่ที่ระดับเพียงไม่ถึง 0.5% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย ดังนั้นจึงน่าจะเชื่อได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หรือลุกลามจนสร้างผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากนัก

แต่ถ้าเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ก็จะพบว่ายังคงมีประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยในบางรายการสินค้า นั่นคือประเทศไทยนำเข้าปุ๋ย รวมทั้งธัญพืช (ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์) จำนวนมากจากรัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียและยูเครนถือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบชนิดนี้รายหลักของโลก (ส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 30% ของตลาดโลก) ดังนั้นหากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งใช้วัตถุดิบเหล่านี้เป็นสินค้าตั้งต้น ต้องเผชิญกับโครงสร้างต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น อย่างราคาไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็จะปรับตัวสูงขึ้น (พวกเราคงยังจำกันได้ว่า เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร)

ราคาที่สูงขึ้นนั้นจะกดดันภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันน่าจะกำลังขึ้นจนใกล้ทะลุเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว แม้ว่าราคาอาหารจะไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรายการ Core Inflation Rate ที่เป็นเป้าหมายการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลาง แต่ก็สร้างแรงกดดันทางจิตวิทยาให้กับประชาชนที่รู้สึกตนเองกำลังจนลง อำนาจซื้อลดลง และในเหตุการณ์ที่เลวร้าย แรงกดดันเหล่านี้จะเปลี่ยนภาระทางเศรษฐกิจเป็นสถานการณ์กดดันทางการเมืองในประเทศ

ขณะที่ในภาคบริการ ที่หลายฝ่ายกำลังคาดการณ์ว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ประเทศไทยจะกลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น แต่ความไม่มีเสถียรภาพของสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป คงจะทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียและยูเครนไม่ออกเดินทาง ทำให้อีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวของเราลดจำนวนลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

แนวทางรับมือกับสถานการณ์ในระยะสั้นคือ ภาคเอกชนต้องเร่งหาตลาดใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ และหาแหล่ง sourcing วัตถุดิบใหม่ โดยหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ให้กับภาคเอกชนได้คือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีสำนักงาน Thai Trade กระจายตัวอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในทุกประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากร และการอำนวยความความสะดวกทางการค้าต้องเร่งช่วยอำนวยให้อุปสรรคทางการค้าลดลงมากที่สุด เพื่อให้การส่งออกไปยังตลาดทดแทน และการนำเข้าจากประเทศทางเลือกเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนในฝั่งแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพนั้น รัฐบาลต้องเริ่มสร้างนโยบายที่จะลดค่าครองชีพประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยต้องเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง อาทิ กรณีราคาน้ำมันแพง อาจมีสาเหตุระยะสั้นมาจากสงครามในยุโรป หากแต่นั่นเป็นเพียงช็อกในระยะสั้น เพราะรัสเซียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ยังคงผลิตและส่งออกตามปกติ แต่แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกกำลังเป็นขาขึ้นในระยะยาว เนื่องมาจากนโยบายของทั่วโลกที่สอดรับกันในการเดินไปสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral) ในปี 2050 นั่นทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันเห็นแล้วว่าในอนาคตปริมาณการใช้น้ำมันจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการลงทุนใหม่ในการสำรวจแหล่งผลิต ขุดเจาะ สร้างโรงกลั่น โรงแยก โรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จึงมีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะที่โรงงานเก่าก็ทยอยปิดตัวลง นั่นทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุกประเทศยังไม่ได้เปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกได้อย่างจริงๆ จังๆ ดังนั้นเทรนด์ราคาน้ำมันโลกจึงยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเงินกองทุนที่ในที่สุดก็จะไม่สามารถขยายหน้าตักให้เพิ่มขึ้นได้ตลอดไป ไปสู้กับเทรนด์ราคาโลกที่ปรับขึ้นยาวๆ จึงไม่ใช่นโยบายอย่างยั่งยืนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง

ในประเด็นสินค้าเกษตรนี้ เราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาในระยะกลางอีกครั้ง เพราะต้องเฝ้าดูสถานการณ์การสู้รบว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ หากยืดเยื้อ นั่นหมายถึงการเพาะปลูกข้าวสาลีในช่วงฤดูอบอุ่น (มิถุนายน-กันยายน) ซึ่งในบริเวณไซบีเรียสามารถเพาะปลูกได้สองรอบการเก็บเกี่ยว (crops) และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ยุโรป สหรัฐฯ และพันธมิตร ยังคงดำเนินนโยบายคว่ำบาตร นั่นจะส่งผลให้ราคาผลผลิตเหล่านี้ในตลาดโลกจะลดลงอย่างมาก สำหรับประเทศที่ยังคงสามารถค้าขายกับรัสเซียได้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูก

ในระยะกลาง แน่นอนว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลังของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ เหล็ก/เหล็กกล้า สินแร่ rare earth โดยเฉพาะไทเทเนียม (Titanium) และแพลเลเดียม (Palladium) ซึ่งรัสเซียผลิตได้เป็นมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งโลหะมีค่า อย่างทองคำ และโลหะเงิน (Silver) จะยังคงมีราคาผันผวน อันเนื่องมาจากนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อระบบเริ่มปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ โดยที่ลูกค้าจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าซื้อสินค้าเหล่านี้จากรัสเซียได้ นั่นหมายถึงโอกาสของไทยเช่นกันในการเข้าถึงวัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) โดยหากสินค้าตรงตามมาตรฐาน การเลือกใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากประเทศใดก็ตามจะไม่มีความแตกต่างกันในรูปแบบและคุณภาพ และจะสามารถป้อนเข้าภาคการผลิตได้ทันที

ที่สำคัญคือ รัฐบาลและเอกชนคงต้องร่วมมือกันในการวางระบบโลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบเหล่านี้ได้ โดยปกติด้วยข้อจำกัดด้านภูมิอากาศ รัสเซียจะขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการขายสินค้าเหล่านี้ทางเรือ เส้นทางเดินเรือจากวลาดิวอสต็อก (Vladivostok) ซึ่งเป็นเมืองท่าหลักทางชายฝั่งตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยังมีรายการขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติผ่านช่องแคบมะละกาทุกวัน ดังนั้นการ sourcing สินค้าจากแหล่งนี้ก็เป็นทางเลือกสำคัญ และคนที่จะเข้าถึง เพื่อเข้าไปศึกษาตลาดได้ก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ในเอเชียตะวันออก เพราะจะสะดวกมากกว่าเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในกรุงมอสโกหรือในยุโรป

อีกประเด็นที่จะส่งผลตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงระยะกลาง ซึ่งทำให้เราจะต้องปรับตัวก็คือ การปรับตัวของตลาดเงิน ตลาดทุน และระบบการชำระเงิน ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจะส่งแรงกระเพื่อมต่อตลาดเหล่านี้อย่างรวดเร็วรุนแรง ดังนั้นนักลงทุนต้องศึกษาข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวัง อาทิ ข่าวการตัดสถาบันการเงินของประเทศรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบในการสื่อสารข้อมูลการโอนเงินระหว่างประเทศของสถาบันการเงิน 11,000 แห่งทั่วโลก ถูกนำเสนอจนทุกคนตื่นตระหนกว่า ต่อไปนี้จะไม่สามารถโอนเงินเข้าและออกจากรัสเซียได้อีกแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง การโอนเงินเข้าออกเป็นเรื่องที่ธนาคารและสถาบันการเงินยังคงสามารถดำเนินการได้ต่อไป เพียงแต่การแจ้งข้อมูลการโอนเงินแบบเรียลไทม์ผ่านระบบ SWIFT ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสถาบันการเงินของรัสเซียจำนวน 7 แห่งที่ถูกคัดชื่อออกจากระบบ นั่นทำให้การส่งข้อมูลการโอนของทั้ง 7 แห่งนี้ทำไม่ได้ทันทีเหมือนเดิม แต่สถาบันการเงินอื่นๆ ยังคงดำเนินการได้ตามปกติ

แน่นอนว่าในอนาคต ไม่มีใครรู้ว่าจะมีสถาบันการเงินอื่นๆ ของรัสเซีย ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งการระงับการให้บริการต่างๆ ของบัตรเครดิตยักษ์ใหญ่อย่าง Visa, Master Card และ American Express ก็ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนรัสเซียชะงักงันทั่วโลก และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะต่อเนื่อง

แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยังคงค้าขายกับรัสเซียก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก เพราะรัสเซียยังสามารถส่งมอบสินค้าที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการ ดังนั้นการใช้เงินสกุลอื่นๆ ในการค้าขายระหว่างประเทศ จะมีแนวโน้มในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดราคาและชำระส่งมอบในสกุลเงินหยวนของประเทศจีน หรือแม้แต่การหันมาพึ่งพาระบบการชำระเงินและสกุลเงินดิจิทัลทั้งที่เป็น Central Bank Digital Currency (CBDC) และเงินคริปโต (Cryptocurrency) ที่มีระบบแบบกระจายตัวไม่รวมศูนย์ (decentralised) ดังนั้นผู้ประกอบการต้องรู้เท่าทัน และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินที่เกิดขึ้นแล้ว ณ วันนี้ และยังคงจะปรับตัวต่อเนื่องต่อไปอย่างมีนัยสำคัญในระยะกลาง

ธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็คงต้องเร่งดำเนินการผลักดันใน Central Bank Digital Currency (CBDC) ของตนให้ถูกนำออกมาใช้ในตลาดให้ได้อย่างยั่งยืน และขณะเดียวกันก็คงต้องไปทบทวนเรื่องโครงสร้างของการจัดเก็บทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะจากสถานการณ์ในยุโรป นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนและหน่วยในการวัดค่า (medium of exchange/unit of account) เมื่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศถูกท้าทายอย่างมาก และเมื่อเราเห็นแนวโน้มแล้วว่าในอนาคตอันใกล้ มูลค่าเศรษฐกิจโลกจะมีสามเจ้าใหญ่ที่มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจโลกพอๆ กันที่ประเทศละ 20% นั่นคือ สหรัฐอเมริกา 20%, สหภาพยุโรป 20% และสาธารณรัฐประชาชนจีน 20% ร่วมกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับรองลงมาอย่างญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และอินเดีย ในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันลงมา เราจึงอาจต้องทบทวนสูตรการคำนวณตะกร้าเงินที่จะใช้สำรองเงินตราและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับการต้องเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของการทำให้ cryptocurrency สามารถทำหน้าที่ของเงินตราได้อีกหนึ่งหน้าที่ นั่นคือหน้าที่ของการเป็นเครื่องสะสมมูลค่า (store of value) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้สมบูรณ์นัก แต่เราต้องมาคิดกันว่าในภายภาคหน้า มันจะมีบทบาทในตลาดเงินตลาดทุนมากน้อยเพียงใด

ส่วนผลในระยะยาวที่จะอยู่กับเราต่อเนื่องจากปัจจุบันไปจนถึงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าคือ 1) สถานการณ์ที่อุปสงค์ทั่วโลกถดถอย กำลังซื้อหดตัวทั่วโลก 2) ห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains – GVCs) ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก และ 3) ความคาดหวังและความมั่นใจของประชาชนทั่วโลกตกต่ำลง ซึ่งทั้ง 3 ส่วนเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพในสถานการณ์สู้รบและการปะทะกันของมหาอำนาจในทวีปยุโรป ส่งผลให้หนึ่งในสามของผู้เล่นหลักของระบบเศรษฐกิจโลกชะงักงัน และนั่นก็จะส่งผลให้ความคาดหวังของทุกคนที่วางไว้ว่าวิกฤตโควิดจะจบได้ในปี 2022 และเศรษฐกิจโลกจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปี ต้องชะลอตัวออกไป และนี่คือจุดที่การคาดการณ์ผลกระทบในมิติเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาบรรจบกับมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ

ในมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างค่อยๆ มีโมเมนตัมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษ 2010s โดยเราได้เห็นการถดถอยเชิงในดุลอำนาจของสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ สูญเสียสถานะความเป็น hegemon ผู้จัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียว (unipolarity) พร้อมกับการทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ของจีนที่เน้นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยที่หลายๆ ฝ่ายพิจารณาว่าระเบียบโลกแบบหลายขั้ว (multipolarity) จะเกิดขึ้น

แต่สหรัฐฯ ที่รับรู้ถึงสถานการณ์ถดถอยเชิงอำนาจของตนเองก็เข้าใจว่าจะต้องสร้างพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลกับจีนซึ่งจะเป็นมหาอำนาจใหม่ การเกิดขึ้นของสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการกระชับและเพิ่มจำนวนสมาชิกพันธมิตรทางด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็น NATO, The QUAD, AUKUS ถือเป็นเครื่องยืนยันว่ายุโรปสนับสนุนสหรัฐฯ ทำให้มีแนวโน้มที่เราจะเห็นการปะทะกันเชิงดุลอำนาจระหว่างพันธมิตรตะวันตก (Western Bloc) ที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันออก (Eastern Bloc) ที่นำโดยจีน

สถานการณ์ในยูเครนทำให้เราได้เห็นสองปรากฏการณ์พร้อมกันในทางเศรษฐกิจการเมือง นั่นคือการกระชับอำนาจของสหรัฐฯ ที่เคยคลอนๆ แคลนๆ ในยุโรป ให้กลับมาอยู่ภายใต้การนำของสหรัฐอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากยุโรปเองก็ยังแตกแยกจากปรากฎการณ์เบร็กซิต (Brexit) และยังไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ในหลายเรื่อง รวมทั้งยังไร้ผู้นำที่มีบารมีมากพอภายหลังจากการลงตำแหน่งของนางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นั่นจึงทำให้สหรัฐฯ สามารถกระชับอำนาจเล่นบทบาทนำได้ในฝั่งพันธมิตรตะวันตก และในขณะเดียวกัน เราก็เห็นด้วยว่าสหรัฐไม่ได้ทุ่มเทสรรพกำลังใดๆ ในการรุกรบต่อต้านการกระทำของรัสเซีย (หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในอดีต) นั่นยิ่งเป็นการยืนยันในสิ่งที่สหรัฐฯ สร้างไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ US Security Strategy ที่เผยแพร่ในปี 2017 ซึ่งบ่งบอกว่าภัยคุกคามที่สุดของสหรัฐมีเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องห่วงกังวล และต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการรับมือ นั่นคือจีน (หาใช่รัสเซียไม่)

ในขณะที่จีนสร้างเส้นทางลำเลียงเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างห่วงโซ่อุปทานของตนเอง พร้อมๆ กับสร้างพันธมิตรมาตลอด 10 ปีผ่านความริ่เริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives – BRI) โดยพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันกับนานาประเทศเป็นหลัก (แน่นอนว่าสัดส่วนการแบ่งกันผลประโยชน์ที่ได้มาร่วมกันอาจมีเครื่องหมายคำถามว่าจะจัดสรรกันอย่างไร) แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่สม่ำเสมอต่อเนื่องมาตลอดอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ BRI เริ่มต้นในปี 2012 ในขณะที่สหรัฐฯ เพิ่งเริ่มต้นวางยุทธศาสตร์ระยาวในปี 2017 และสร้างยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกในปี 2019 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะยังคงเห็นสหรัฐจะเดินหน้าใช้กระบวนการอื่นๆ ในการปิดล้อมจีน โดยใช้เครื่องมือที่จีนยังไม่เก่งเท่าสหรัฐฯ นั่นคือการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ผ่านปฏิบัติการสงครามแบบผสมผสาน (hybrid warfare)

คุณผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จากบทความที่ผมเคยเผยแพร่ไปแล้ว ‘จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น‘ และ ‘จากยูเครนสู่อาเซียน: กรณีศึกษา Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง‘

ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ สามารถกระชับอำนาจในยุโรปได้ รวมทั้งยังสามารถสร้างพันธมิตรในวงกว้างเพื่อปิดล้อมจีนได้ผ่าน The Quad (สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) และ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) นี่จึงเป็นเวลาสร้างพันธมิตรในวงแคบเข้ามาเพื่อปิดล้อมจีน และอาเซียนก็คือเป้าหมาย โดยวิธีการที่จะชักจูงให้กลุ่มเป้าหมายเข้าเป็นพวกได้ง่ายที่สุดก็คือการโจมตีไปที่จุดอ่อนแบบที่ผู้ถูกเลือกไม่ทันรู้ตัว พร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้เขามายอมร่วมมือเป็นพันธมิตรด้วยอย่างเต็มใจ นี่คือยุทธวิธีหลักของการสงครามผสมผสาน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมักจะมีลักษณะร่วมกัน 3 ข้อ นั่นคือ 1) มีปมความขัดแย้งเป็นพื้นเดิม (Clash of Civilization) 2) ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจให้ความสนใจ และ 3) ประชาชนในชาติแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกข้าง และพร้อมที่จะห้ำหั่นกันเอง คำถามคือ ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนมีความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่ คำตอบคือให้ไปอ่านสองบทความที่ผมแขวนลิงก์ไว้ข้างต้น

นี่คือผลกระทบในมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อมาบรรจบกับผลกระทบจากมิติเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จะทำให้เรามีเรื่องต้องคิด ต้องทำ และต้องปฏิรูปจากสถานการณ์ความไม่มีเสถียรภาพนี้อย่างมาก โดยผมเสนอแนะว่าอย่างน้อยเราต้องดำเนินการดังนี้

1. การสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการวางตำแหน่งของประเทศไทยในเวทีโลก

หนึ่งในคำถามที่ผู้เขียนได้รับการร้องขอให้ตอบในเกือบทุกครั้งที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ก็คือ ในสถานการณ์เช่นนี้ ไทยควรเลือกข้างไหน ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

และคำตอบที่ผมมักจะตอบทุกครั้งคือ การเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ใช่การต่อยมวยที่มีฝ่ายแดง ฝ่ายน้ำเงิน แล้วเราต้องเลือกข้างเชียร์ โดยไปวางเดิมพันไว้กับข้างใดข้างหนึ่ง และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ กองเชียร์บางคนนอกจากเลือกข้างแล้ว ยังเป็นแฟนกีฬาบ้าคลั่ง (hooligan) ที่ลุ่มหลงในข้างที่ตนเองเชียร์จนไปข่มเหงรักแก จงเกลียดจงชัง ประณามด่าทอ คนที่เห็นต่าง

เพราะในความเป็นจริง ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยต้องไม่เลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ หรือ มหาอำนาจไหนก็ตาม หากแต่ข้างเดียวที่ไทยต้องเลือกคือข้างประเทศไทย ข้างที่จะเลือกเพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลก

คำถามที่ตามมาก็คือในสถานการณ์เช่นนี้ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระเบียบโลกใหม่คือสิ่งใด คำตอบคือ ประเทศไทยต้องรักษาธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest/ National Benefit) ซึ่งประกอบขึ้นด้วย 4 มิติ ได้แก่

1) ความมั่นคงของชาติ (national security) ซึ่งต้องเป็นความมั่นคงแบบองค์รวม (comprehensive security) ที่ต้องรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากภัยคุกคามรูปแบบเดิม (traditional security) เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (non-traditional security) เพื่อรักษาคุ้มครองความมั่นคงของมนุษย์ (human security)

2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic security) ที่ต้องการเป้าหมายหลักๆ พื้นฐาน 3 ด้าน นั่นคือสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสร้างการกระจายอย่างเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าในหลายๆ ครั้ง 3 เป้าหมายนี้ก็ขัดแย้งกัน และบางครั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของชาติเองก็อาจจะมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกันด้วย ดังนั้นการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

3) การขยายพลังอำนาจของชาติ โดยพลังอำนาจของชาติ ณ ที่นี้หมายถึงพลังอำนาจทั้ง 6 มิติชื่อว่า STEEP-M อันได้แก่ มิติสังคม (S: Social) มิติเทคโนโลยี (T: Technology) มิติเศรษฐกิจ (E: Economy) มิติสิ่งแวดล้อม (Environment) มิติการเมือง (P: Politics) และ มิติแสนยานุภาพ (M: Military) เพื่อให้ประเทศชาติมีความแข็งแกร่งจากภายใน และ

4) เกียรติภูมิของชาติ (Prestige of the Nation) เพราะทุกครั้งที่เรามีนักกีฬาชนะเลิศในระดับโลก มีนางงามได้รับมงกุฎ มีเด็กนักเรียนไทยชนะคณิตศาสตร์โอลิมปิก หรือมีบริษัทไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Fortune 500 ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้กับทุกคนในชาติ

สังเกตดูว่าผู้เขียน เน้นคำว่า ‘ชาติ’ เพราะ ‘ชาติ’ (Nation) แตกต่างจาก ‘รัฐ’ (State) ตามความหมายร่วมสมัยที่ต้องประกอบขึ้นด้วย 1) ประชาชน (2) เขตแดนที่ชัดเจน 3) รัฐบาล และ 4) อำนาจอธิปไตย ซึ่งหมายถึงความสามารถที่คนในรัฐจะสามารถบริหารจัดการรัฐของตนเองได้ แต่รัฐก็มีความหมายไม่ลึกซึ้งเท่ากับคำว่าชาติ โดยคำว่าชาติหมายรวมถึงความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน มีอัตลักษณ์/เอกลักษณ์ร่วมกัน มีจุดยึดโยงกลุ่มคนในรัฐเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เป็นจุดยึดโยงอาจจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภาษา ชาติพันธุ์ สังคม-วัฒนธรรม และ/หรือ อุดมการณ์ค่านิยม

ดังนั้นหากผลประโยชน์ของไทยในเรื่องใดไปด้วยกันได้กับจีนในรูปแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน (positive-sum game: win-win solution) ไทยก็ต้องเข้าข้างจีน และในทางตรงกันข้าม หากผลประโยชน์ในเรื่องใดของไทยสอดคล้องกับสหรัฐฯ ไทยก็ต้องพร้อมสนับสนุนการดำเนินการของสหรัฐ และถ้าเรื่องไหนไทยต้องการถ่วงดุลอำนาจทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายจีน เราก็ต้องยึดมั่นในหลักการของประชาคมนานาชาติ เพราะประเทศขนาดกลางที่ไม่ได้เข้มแข็งทางกองทัพและไม่ได้แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ต้องยึดหลักการเป็นที่ตั้ง โดยกฎบัตรของสหประชาชาติ และกฎกติกาขององค์การระหว่างประเทศ จะเป็นเสาหลักให้ไทยใช้เป็นจุดยึด ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องเล่นบทบาทนำในเวทีประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างโมเมนตัมในการรักษาจุดยืนของไทยที่สอดคล้องกับอาเซียนในการถ่วงดุลมหาอำนาจ และด้วยวิธีการเช่นนี้ก็จะทำให้ไม่มีใครมากล่าวหาว่าเราไม่มีจุดยืนได้อีกต่อไป

2. ต้องเร่งสร้างนโยบายทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

เริ่มจากการมีวินัยทางการคลัง (fiscal policy disciplinary) ในภาวะสงครามในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ความมีเสถียรภาพของการเงินส่วนบุคคลกับของประเทศชาติก็มีความคล้ายๆ กัน นั่นคือเราต้องเริ่มจาก

1) ดูก่อนว่าเรามีเงินเก็บอยู่ในเก๊ะ ในลิ้นชัก ในตู้เซฟ ในบัญชีธนาคาร มากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นระดับประเทศ เราก็ต้องรักษาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง ซึ่งสถานะปัจจุบันของประเทศไทยน่าพอใจอย่างยิ่ง เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก (ในราว 245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองจากสหรัฐฯ ที่อยู่ที่อันดับที่ 13 (ในราว 251 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่อันดับ 1 ประเทศที่มีทุนสำรองฯ มากที่สุดคือจีน ซึ่งมีอยู่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (22.35% ของเงินสำรองของทั้งโลก) รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย (รัสเซียมีเงินสำรอง 6.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงโดยพันธมิตรตะวันตกไปราว 3 แสนล้านดอลลาร์)

2) ในระดับบุคคล เราต้องดูว่าเรามีหนี้เท่าไหร่ เราเป็นเจ้าหนี้ใครอยู่เท่าไร และหากเรามีหนี้ เรามีศักยภาพพอที่เราจะชำระคืนได้โดยไม่เดือดร้อนหรือไม่ ถ้าในระดับประเทศ ตัวเลขนี้คือ Net International Investment Position (NIIP) ซึ่งเป็นตัวเลขสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินของประเทศที่เราไปเป็นเจ้าหนี้ หักลบด้วยมูลค่าหนี้ต่างประเทศที่ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนของเราไปเป็นหนี้ในต่างประเทศ หารด้วยความสามารถในการหารายได้ของเรา นั่นคือ มูลค่า GDP ถ้าตัวเลข NIIP เป็นบวก แสดงว่าเราเป็นเจ้าหนี้มากกว่าเป็นลูกหนี้ ยิ่งบวกมากๆ ยิ่งดี โดยเขตเศรษฐกิจที่มี NIIP สูงที่สุดในโลกคือฮ่องกง ที่ระดับ 586.8% นั่นหมายความว่า ฮ่องกงมีความเป็นเจ้าหนี้สุทธิอยู่ที่ประมาณ 5.8 เท่าของขนาด GDP ของฮ่องกง รองลงมาคือสิงคโปร์ ที่ระดับ 276.1% ส่วนไทยอยู่ที่ระดับ 11% (นั่นแปลว่าเรายังเป็นเจ้าหนี้) และอยู่ในระดับพอๆ กับจีน (ที่ระดับ 12.9%) ในขณะที่รัสเซียตัวเลขนี้อยู่ที่ 26.8% ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีความเป็นลูกหนี้มากกว่า เพราะมี NIIP อยู่ที่ -64.9%

3) เราต้องดูว่าในภาวะไม่แน่นอนเช่นนี้ เรายังมีแรงทำงาน เรายังมีศักยภาพในการหารายได้หรือไม่ และมีอะไรเป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้ให้เราได้บ้าง แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทย เรายังมีภาคการผลิตที่เข้มแข็งไม่มากก็น้อย เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ Asian Financial Crisis เมื่อปี 1997 หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ก็ยังคงเป็นอนุสติให้ภาคเอกชนไปมีความแข็งแกร่งจากภายใน แต่ในระดับประเทศ นโยบายของรัฐต้องมีลักษณะที่ pro-growth & pro-poor มากยิ่งขึ้น ในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงต้องวางยุทธศาสตร์และโครงการที่ pro-growth และ pro-poor ไปพร้อมๆ กัน แต่ที่ผ่านมาเรามีนโยบาย pro-growth ที่แยกตัวจาก pro-poor ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนรวยไม่กี่คนได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ในภาพรวมเศรษฐกิจอาจโตขึ้น แต่กลับกระจุกตัว เหลื่อมล้ำสูง ขณะที่บางรัฐบาลก็ชอบแบบ pro-poor อย่างเดียว เช่น โครงการแจกเงิน แจกโปรโมชัน ประชานิยม ซึ่งเหมือนกับการฉีกสเตียรอยด์ที่ทำให้ฟื้นไข้ได้เร็ว แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็กลับไปป่วยต่อ เพราะเป็นแค่การแจก โดยไม่ได้คำนึงว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity – TFP) ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือเราต้องพัฒนาให้คนของเราเก่งขึ้น ปัจจัยการผลิตของเราต้องทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นโยบายจึงต้อง pro-growth and pro-poor ไปพร้อมๆ กัน

เช่นเดียวกับในเวทีระหว่างประเทศ ไทยต้องเปิดกว้างกับทุกโอกาส ในเวทีการค้า การลงทุน การเงิน เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราต้องวางยุทธศาสตร์ในการเจรจาความตกลงการค้าฉบับใหม่ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการในการไปแสวงหารายได้เข้าประเทศ และในมิติการเมืองความมั่นคง เราต้องวางยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุล (strategic hedging) กับมหาอำนาจ โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของไทยในเวทีที่ประชุม APEC และในเวทีที่ประชุม BIMSTEC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ซึ่งจะมีพลังมากยิ่งขึ้น หากไทยรู้จักเล่นบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ในเวทีประชาคมอาเซียน

Related Posts

  • Global Inequality

    สฤณี อาชวานันทกุล ชวนอ่าน "กราฟช้าง" ของ Branko Milanović หนึ่งในกราฟแห่งยุคสมัยที่อธิบายสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำระดับโลกได้ดีที่สุด ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ จากเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ร่วมสมัย สฤณีนำคำตอบจากหนังสือ Global Inequality ของ…

  • เศรษฐศาสตร์การคลังเบื้องต้นว่าด้วยเรือดำน้ำ

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เสนอคำถาม 3 ข้อ ในมุมเศรษฐศาสตร์การคลัง ก่อนตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ

  • การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

  • จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น

    ปิติ ศรีแสงนาม ชวนมองสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน ซึ่งตกเป็นสมรภูมิการสงครามผสมผสาน (hybrid warfare) ระหว่างชาติมหาอำนาจ พร้อมถอดบทเรียนสู่กรณีปัตตานี

  • เมื่อนโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่นโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563

  • ท่องโลกนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมการเงินในอเมริกา

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เล่าประสบการณ์การเดินทางทั่วสหรัฐอเมริกา ผ่าน Eisenhower Fellowships เพื่อเรียนรู้แนวทางใหม่ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการสร้างนวัตกรรมทางการเงินในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้