ญาติสร้างบ้านบน ที่ดิน ของเรา นาน กว่า 10 ปี ครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่

การครอบครองที่ดินที่มีโฉนดของผู้อื่น โดยการอาศัยอยู่บนที่นั้นเกินกว่า 10 ปี

บทความวันที่ 16 ก.พ. 2554, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 34757 ครั้ง

ญาติสร้างบ้านบนที่ดินของเรานานกว่า 10 ปี ครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

           การครอบครองที่ดินที่มีโฉนดของผู้อื่น โดยการอาศัยอยู่บนที่นั้นเกินกว่า 10 ปี ค่ะ  เดิมทีที่ดินผืนนี้เป็นของพ่อของดิฉัน ซึ่งต่อมาท่านได้โอนเป็นชื่อของดิฉัน ตลอดเวลาพี่ชายของพ่อ ได้สร้างบ้านและอาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้มาโดยตลอด พอดิฉันแสดงตัวว่าเป็นที่ดินของดิฉัน กลับถูกต่อว่าจากคุณลุงว่า เราโกง เพราะเค้าอยู่ที่นั่นมานานย่อมได้สิทธิครอบครอง
          ตัวดิฉันเองตอนนี้พำนักอยู่ในต่างประเทศและกลับไปดูที่ดินตรงนั้นไม่บ่อยนัก อยากทราบว่า ดิฉันสามารถเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของได้หรือไม่ หรือว่าที่ดินตรงนั้นตกเป็นของคุณลุงได้ ตามที่เขาได้อ้าง ความตั้งใจของดิฉันไม่ได้อยากให้คุณลุงรื้อบ้านออกไปจากที่ดินนั้น เพียงแต่อยากเก็บเป็นค่าเช่าหรือทำอะไรก็ได้ที่ เป็นการยืนยันว่าเราเป็นเจ้าของที่นั้นจริงๆ

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก //www.sureprop.com/page/1388


คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
           กรณีที่คุณลุงได้ครอบครองที่ดินพิพาท โดยทำการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยอยู่บนที่ดินแปลงนี้ โดยความอนุญาตยินยอมของคุณพ่อของท่าน และคุณลุงได้ยอมรับในความเป็นเจ้าของของคุณพ่อ  ไม่ว่าคุณลุงได้ครอบครองมานานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 หากคุณลุงจะให้ได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท คุณลุงจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังท่านซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือครอบครองที่ดินแทนท่านต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1381 และได้ครอบครองที่ดินโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน 10 ปี นับแต่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ท่านดังกล่าวแล้ว คุณลุงจึงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้น ท่านในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากคุณลุงไม่มีสิทธิยึดถือไว้ด้วยการเรียกให้คุณลุงทำสัญญาเช่า หรือฟ้องขับไล่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336


ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1336
  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
 

แสดงความเห็น

ในคดีที่ดิน ประเภท ครอบครองปรปักษ์ ขับไล่ หรือ เปิดทางภาระจำยอมที่ได้มาโดยอายุความ

มักจะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณากันอยู่เสมอว่าการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เป็นการกระทำโดยถือวิสาสะ  ไ หรือเป็นการครอบครองอย่างปรปักษ์

ทั้งนี้เพราะทั้งสองกรณีนี้มีความใกล้เคียงกัน แต่ผลที่ได้จะแตกต่างกันมาก

กล่าวคือ หากเป็นการอยู่อาศัยในที่ดินหรือใช้ทางพิพาท โดยถือวิสาสะ ไม่ว่าจะอยู่อาศัยหรือใช้ นานเท่าใด ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิทางภาระจำยอมตามกฎหมาย 

แต่หากเป็นการอยู่อาศัยในที่ดินหรือใช้ทางพิพาทโดยปรปักษ์ หากได้กระทำต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิทางภาระจำยอมตามกฎหมาย

(ป.พ.พ.ม.1382 และ ม.1402)

ซึ่งการวินิจฉัยว่า ผู้อยู่อาศัยในที่ดินหรือผู้ใช้ทางพิพาท อยู่อาศัยโดยอาศัยสิทธิ โดยถือวิสาสะ หรืออยู่อย่างปรปักษ์ ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นการวินิจฉัยถึงเจตนาที่อยู่ภายในใจของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นการวินิจฉัยจะต้องวินิจฉัยจากการกระทำที่ทำต่อกัน ตามหลักที่ว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.956/2552 

ซึ่งวันนี้ผมได้รวบรวม 3 หลักในการวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่พบบ่อยดังนี้ 

1.ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้ประโยชน์

ถ้าปรากฏว่าเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือทางพิพาท มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน หรือเป็นเพื่อนสนิทกัน หรือมีความสัมพันธ์ในลักษณะเอื้ออำนวย ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันมาก่อน

หรือลักษณะของทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และได้ใช้กันในหมู่ทายาท หรือเป็นทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ยังไม่ได้แบ่ง และได้ใช้กันในหมู่ผู้เป็นเจ้าของรวม

เช่นนี้ ศาลฎีกามักให้เหตุผลว่า จะทำให้น่าเชื่อได้ว่าสาเหตุที่เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทหรือสาเหตุที่ใช้ทางพิพาท เป็นเพราะอาศัยความสนิทสนม อาศัยความเป็นญาติ อาศัยความยินยอม จึงไม่ได้เป็นการอยู่อย่างปรปักษ์

แต่ถ้าหากปรากฏว่าเจ้าของที่ดินกับผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือทางพิพาท ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติกัน ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน หรืออาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน หรือถึงขั้นเป็นศัตรูหรือมีข้อขัดแย้งกัน 

การที่บุคคลนั้นอยู่ในที่ดินพิพาทหรืออาศัยทางพิพาทในการใช้ประโยชน์มาได้เป็นเวลานานถึง กว่า 10 ปี ทั้งๆที่ไม่มีรู้จักกัน ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆต่อกัน หรือถึงขั้นเป็นศัตรูกัน กับเจ้าของที่ดิน ก็น่าเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการอยู่อย่างการเป็นเจ้าของเอง อยู่อย่างไม่เคารพสิทธิของเจ้าของ หรือเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าของ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา  

ฎ.883/2552 จำเลยที่ 3 คุ้นเคยกับ บ. มารดาโจทก์ในลักษณะเพื่อนบ้านที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันการที่จำเลยที่ 3 และบริวารใช้ทางพิพาทเป็นการได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินแล้วส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าพังรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 และใช้ทางพิพาทเรื่อยมาตลอดจนนำที่ดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทมาตลอดทุกปีโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับ บ. หรือโจทก์แล้ว จึงถือได้ว่า การพังรั้วของจำเลยที่ 3 ก็เพื่อความสะดวกในการขนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้านของจำเลยที่ 3 ส่วนการนำดินลูกรังและหินมาถมในทางพิพาทก็เพื่อความสะดวกในการใช้ทางพิพาทของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นการถือวิสาสะของจำเลยที่ 3 เท่านั้น หาใช่เป็นการแสดงเจตนาที่จะใช้ทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์กับ บ. หรือโจทก์แต่อย่างใดไม่ เช่นนี้แม้จำเลยที่ 3 จะใช้ทางพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด

ฎ.3493/2545 โจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นญาติพี่น้องกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทตั้งแต่มีสภาพเป็นคันนา ต่อมาเมื่อมีการขุดบ่อเลี้ยงกุ้ง ทางพิพาทก็เปลี่ยนสภาพมาใช้เป็นคันบ่อเมื่อถึงฤดูทำนาก็จะเดินบนคันนา แต่ถ้านอกฤดูทำนาก็อาจเดินลัดที่นาได้ จึงเป็นการไม่แน่นอนว่าจะเดินทางใดสุดแล้วแต่จะสะดวก โดยเฉพาะแต่ละคนสามารถเดินผ่านที่นาซึ่งกันและกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอันเป็นการสะท้อนถึงสภาพวิถีชีวิตที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันของคนชนบทว่าตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้ โดยการถือวิสาสะอาศัยความเกี่ยวพันในทางเครือญาติหรือความคุ้นเคยเป็นประการสำคัญซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่มากว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401

ฎ.5133/2537 โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของมารดาโจทก์เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนมารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของ มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของ แม้โจทก์ครอบครองนานเพียงใดก็จะอ้างการครอบครองปรปักษ์มายันมารดาโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมและจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต่อมาจากมารดาโจทก์หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มีแต่คำขอเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้มีคำขอให้บังคับเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงมารดาโจทก์ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยแต่อย่างใดแม้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงมารดาโจทก์ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลย ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย

ฎ.4345/2536โจทก์และคนในครอบครัวโจทก์ใช้ทางในที่ดินของจำเลย ออกสู่ทางสาธารณะมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก่อนปี 2498ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวล้วนแต่อยู่ในตระกูล ของ โจทก์ทั้งสิ้น การใช้ทางในระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการ ขออาศัยกันในระหว่างหมู่ญาติหรือโดยถือวิสาสะ จึงไม่อาจได้ ภารจำยอม แต่นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2498 ที่ ส. ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปและมีการโอนกันต่อ ๆมาจนถึงจำเลยซึ่งรับโอนเมื่อปี 2526 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี การใช้ทางของโจทก์และคนในครอบครัวเป็นไปโดยสงบและเปิดเผย มิได้ขออนุญาตจากผู้ใด จึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ

ฎ.1073/2529 โจทก์ยอมรับว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่356 เป็นของบิดามารดา ครั้นบิดามารดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินโฉนดเลขที่ 356 ตกเป็นมรดกให้แก่นายมังคุดพี่ชายโจทก์โจทก์ได้อาศัยทางพิพาทเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 356 ตลอดมาโดยถือวิสาสะเพราะความเป็นเครือญาติกัน ดังนี้แม้จะเดินนานเท่าใดก็หาได้สิทธิในภารจำยอมไม่ ครั้นในปี พ.ศ. 2513 นายมังคุดขายที่ดินโฉนดเลขที่ 356 ให้แก่นายมะหิน นายมะหินได้ทำรั้วล้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 356 แต่เว้นทางพิพาทให้โจทก์เดินผ่านกว้างประมาณ 1.50 เมตรไปออกถนนบางแวกตามเดิม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าโจทก์ก็ใช้ทางพิพาทด้วยการถือวิสาสะ จึงฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยังใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะเช่นเดิมอีก ดังนี้จะถือว่าทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทตลอดมาโดยถือวิสาสะ

ฎ.4466/2532 ผู้ร้องเข้าครอบครองและปลูกบ้านในที่ดินโดยผู้ร้องมีสิทธิในที่ดินมรดกร่วมกับผู้คัดค้านและบุตรคนอื่น ๆ อันเป็นการครอบครองที่ดินมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกัน ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนี้ ผู้ร้องจะได้ครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น

ฎ.3944/2540โจทก์ทั้งสิบซึ่งมีที่ดินและบ้านเรือนอยู่ด้านหลังที่ดินจำเลยและชาวบ้านใกล้เคียงได้ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นคันดินร่องสวนในที่ดินโฉนดเลขที่ 3818 ของจำเลยเดินออกสู่ถนนสาธารณะมาประมาณ 50 ปี โดยเจ้าของเดิมไม่ได้ห้ามปรามและเมื่อจำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวมาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ห้ามปรามยังคงให้เดินผ่านตลอดมา แม้จำเลยปลูกสร้างรั้วในที่ดินก็ยังเว้นทางเดินให้อยู่นอกรั้วที่จำเลยก่อสร้างเมื่อโจทก์ทั้งสิบและชาวบ้านเดินเข้าออกในทางพิพาทเกิน10 ปี ติดต่อกันโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใด และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านในท้องถิ่นที่เอื้อเฟื้อกัน กรณีผู้ที่อยู่ในสวนลึกจะต้องอาศัยเดินผ่านสวนของผู้อื่นออกสู่ทางสาธารณะการยินยอมอนุญาตดังกล่าวเป็นการยินยอมอนุญาตโดยทั่วไปที่ไม่หวงห้ามหรือสงวนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตน ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน เป็นภารจำยอมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ จึงมิใช่การอนุญาตด้วยความคุ้นเคยเป็นการเฉพาะตัวหรือเป็นการถือวิสาสะ ดังนี้โจทก์ทั้งสิบจึงได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ

ฎ.2442/2542 โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นบุตร ค.และพ.โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3924 จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3926 จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5458 ที่ดินทั้งสามแปลง เดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกัน มีค. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสามแปลงมีบ้านปลูกอยู่ 4 หลัง รวมทั้งบ้านของค.บ้านของค.อยู่ติดแม่น้ำ ถ้าจะออกสู่ถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะก็เดินผ่านทางพิพาทที่อยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็น บุตรหลายและญาติของตน ลักษณะเป็นการขออาศัยกันใน ระหว่างหมู่ญาติอันเป็นการเดินโดยถือวิสาสะโจทก์เป็นบุตร ผู้อาศัยอยู่ในบ้านค. ก็เดินผ่านทางพิพาทในลักษณะเดียวกันหลังจากค. ตายก็มิได้เปลี่ยนเจตนาเป็นการใช้ทางพิพาทด้วยเจตนาเป็นทางภารจำยอมการที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะ แม้จะใช้เป็นเวลานานเท่าใดโจทก์ก็ไม่ได้ภารจำยอม ในทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 3926 และ 5458 ของจำเลยทั้งหก

2.เอกสารหลักฐานที่จัดทำขึ้นระหว่างกัน

ส่วนนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถชี้ขาดหรือวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลผู้อาศัยหรือใช้ทางพิพาทอยู่นั้น อยู่อาศัยโดยถือวิสาสะหรือขอความอนุญาติจากเจ้าของที่ดิน หรืออยู่อย่างปรปักษ์ ก็คือเอกสารต่างๆที่ทำขึ้นระหว่างกันนั่นเอง 

เอกสารต่างๆเช่น สัญญาเช่า สัญญาอนุญาตให้อาศัย สัญญาซื้อขายที่ดิน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สัญญาให้สิทธิ์ในการเดินผ่านทางชั่วคราว ใบเสร็จค่าเช่า สัญญาให้ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน เป็นต้น 

หากมีเอกสารหลักฐานว่า ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้ทางพิพาทเช่า หรือยอมจ่ายค่าตอบแทนในการอยู่อาศัย หรือใช้ทางพิพาทย่อมถือได้ว่าไม่ได้เป็นการครอบครองปรปักษ์กับเจ้าของ 

แต่หากมีเอกสารหลักฐานว่า ผู้อยู่อาศัยได้ซื้อ หรือได้ตกลงขายที่ดินหรือทางพิพาทให้กับผู้ใช้ประโยชน์แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ทำหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากไม่มีการครอบครองอยู่กันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีก็ถือว่าได้สิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

ฎ.1688/2518ซื้อขายที่ดินมีโฉนด ผู้ซื้อครอบครองแล้วแต่มีข้อสัญญาจะไปจดทะเบียนโอนและเคยเตือนให้โอน  เป็นจะซื้อจะขาย ผู้ซื้อครอบครองว่า 10ปี ไม่ได้กรรมสิทธิ์

ฎ.1176/2532 ผู้ร้องกับ พ. ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยตกลงกันว่าผู้ร้องจะชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 10 ปีแล้วจึงจะไปโอนที่พิพาทกัน เมื่อผู้ร้องไม่ได้ชำระเงินค่าที่พิพาทส่วนที่เหลือให้แก่ พ.แม้พ. จะได้มอบที่พิพาทให้ผู้ร้องเข้าครอบครองแล้วก็ถือไม่ได้ว่า พ. มีเจตนาสละการครอบครองที่พิพาท ดังนี้ ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ พ. แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่พิพาทเกินกว่า 10 ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382.(ที่มา-ส่งเสริม

ฎ.2360/2520   แลกเปลี่ยนที่ดินตามโฉนด ต่างเข้าปลูกสร้างโรงเรือนแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจะจดทะเบียน   เป็นการครอบครองแทนกัน ไม่ใช่ครอบครองปรปักษ์

ฎ.152/2540 จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสัญญาเช่าที่จำเลยมีต่อโจทก์ซึ่งเป็นการครอบครองแทนโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไปแม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทเกิน10ปีก็หาทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382ไม่ 

ฎ.4561-4562/2531 จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่ากันขึ้นฉบับหนึ่งโดยไม่มีการตกลงในเรื่องค่าเช่า แสดงว่าโจทก์จำเลยมิได้ประสงค์ให้หนังสือสัญญาดังกล่าวผูกพันกันในลักษณะสัญญาเช่า แต่เป็นการทำสัญญาเพื่อรับรู้สิทธิของโจทก์ในที่ดิน การที่จำเลยครอบครองที่ดินโดยรับรู้ถึงสิทธิของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ มิใช่ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ครอบครองนานเพียงใดจำเลยก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่ 

ฎ.227/2532จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ และรับรองว่าจะกระทำการแบ่งแยกให้ในภายหน้า หากไม่แบ่งให้ตามสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญา ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกที่ดินให้โจทก์โดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หาใช่เป็นกรณีสละการครอบครองไม่ เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายการที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยต่อไป ลำพังแต่การที่โจทก์ต่อเติมขยายบ้านหลังเดิมให้กว้างขวางขึ้น ปลูกโรงมุงจาก 2 หลัง ทำรั้วกันสัตว์ และใช้ประโยชน์จากที่พิพาทโดยจำเลยไม่ห้ามปรามและไม่เข้ามาเกี่ยวข้องหาใช่เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปี โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ 

ฎ.6181/2533 แม้บันทึกที่ผู้คัดค้านแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องจะไม่มีผลเป็นการยกให้ตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเอกสารที่แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นตามคำเบิกความของผู้ร้องและพยานผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านได้สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นให้เป็นของผู้ร้องแล้วนับแต่วันที่ได้แสดงเจตนานั้นออกมา การที่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันดังกล่าว จึงเป็นการเข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ร้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ฎ.1059/2537 หลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วมารดาโจทก์ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย ต่อมามารดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยที่ 1และการยกให้ที่ดินพิพาทระหว่างมารดาโจทก์กับโจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากมารดาโจทก์เป็นเวลากว่า 20 ปี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ฎ.3276/2548 สัญญาซื้อขายระบุว่า ผู้ร้องขอซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. ทำถนนเข้าบ้านกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนว ในราคา 35,000 บาท ไม่ได้ระบุว่าผู้ร้องกับ ส. จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทประกอบกับผู้ร้องได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ ส. รับไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา หลังจากนั้น ส. วัดเนื้อที่ที่ดินพิพาทส่งมอบให้ผู้ร้องทำถนนใช้เป็นทางเข้าออกตลอดมา เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งฝ่ายผู้ร้องและ ส. ไม่มีเจตนาจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก แต่การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน ส. ตามสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382

3.ลักษณะและระยะเวลาการใช้ประโยชน์ 

ตรงส่วนนี้เป็นประเด็นที่ศาลฎีกามักจะเอามาประกอบการวินิจฉัย ก็คือลักษณะการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือทางนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร

หากปรากฏว่าลักษณะของการครอบครองหรือใช้ประโยชน์มีลักษณะเป็นการลงหลักปักฐานอย่างหนักแน่นมั่นคง มีการลงทุนทำการต่างๆโดยใช้ค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก 

เช่น มีการปลูกบ้านหลังใหญ่ ลงในสิ่งก่อสร้างที่ติดตรึงกับเนื้อที่ดิน และมีสิ่งปลูกสร้างอื่นๆเต็มตามเนื้อที่มีขนาดใหญ่มาก มีการทำถนนราดยางหรือปรับปรุงถนนหรือทางอยู่ตลอดเวลาให้เป็นสภาพอย่างดี 

หรือว่ามีการแบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน มีการล้อมรั้วคอนกรีตหนาแน่น แบ่งจัดสรรปันส่วนหรือแม้กระทั่งมีการรังวัดที่ดินไว้เตรียมแบ่งแล้ว 

การที่เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของทางปล่อยให้ผู้อาศัยสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นการถาวรมั่นคง และลงทุนทำประโยชน์เป็นจำนวนมากและยากต่อการรื้อถอน หรือแบ่งการครอบครองล้อมรั้วอย่างเป็นส่วนสัด ทำให้ศาลมีส่วนเชื่อถือได้ว่าผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้ทางครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และเจ้าของที่ดินไม่คัดค้าน 

หรือปรากฎว่า ระยะเวลาการทำประโยชน์ในที่ดินหรือการใช้ทางพิพาทนั้น ได้ใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานมาก 

ตัวอย่างเช่น อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา 70 ปีตั้งแต่รุ่นบิดา หรือเดินทางที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้วโดยไม่มีใครโต้แย้งคัดค้าน

การที่ระยะเวลาผ่านมานานมากเช่นนี้โดยที่ไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้านหรือดำเนินการทำสัญญาเช่า หรือดำเนินการใดๆให้เป็นหลักฐานตามกฎหมายเลย

ย่อมอาจทำให้เห็นได้ว่าผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้ทางพิพาทนั้นได้ได้กระทำการด้วยเจตนาเป็นเจ้าของผู้ครองสิทธิแล้ว

แต่ถ้าหากการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือทางนั้นมีลักษณะเป็นการชั่วคราว ไม่มั่นคงถาวร  เช่นเพียงแต่ปลูกเพิงเล็กๆ ปลูกไม้ล้มลุกหรือทำประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือใช้ทางตามสภาพโดยไม่มีการปรับปรุง ไม่มีการแบ่งการครอบครองหรือล้อมรั้วเป็นสัดส่วน

เช่นนี้ ยอมชวนให้เชื่อได้ว่าการที่อยู่อาศัยหรือใช้ทางพิพาทนั้นมีลักษณะเป็นการอยู่แบบชั่วคราวและเคารพสิทธิ์เจ้าของ ไม่ได้หวังว่าตนเองจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 

และถ้าการอยู่อาศัยนั้นเป็นระยะเวลาไม่นานมากเช่น ครบกำหนด 10 ปีมาไม่นาน หรือเป็นการครอบครองแบบไม่ต่อเนื่อง นานๆจะเข้ามาใช้ประโยชน์หรือมาดูแลสักทีหนึ่ง เช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักน้อยกว่ากรณีที่ครอบครองมาเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง

ตัวอย่างคำพิากษาศาลฎีกา

ฎ.4204/2548 ที่ดินพิพาทได้แบ่งแยกมาจากที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งต้องมีการรังวัดโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวและเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็จะต้องรับรองแนวเขต หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจะต้องรู้เห็นและโต้แย้งหรือคัดค้าน แม้จำเลยจะอ้างว่าทำรั้วล้อมที่ดินก็เป็นรั้วไม้รวกตีปักในแนวตั้ง มีประตูรั้วทำด้วยสังกะสีและเลี้ยงโคนมกับเลี้ยงไก่ ก็ล้วนมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเพราะไม่มีลักษณะแน่นหนาและถาวร การที่จำเลยเข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการถือวิสาสะจากเจ้าของที่ดินเดิมตลอดมา แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินมาช้านานเพียงใด จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

ฎ.9788/2553การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่

ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

 ฎ.486/2542 การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินพิพาท ก็เพราะจำเลยซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกันและเป็นที่ดินแปลงใหญ่มาเพื่อขยายโรงงานและที่ดินดังกล่าวมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีก 12 คนภายหลังต่อมาจำเลยจึงได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในขณะที่จำเลยให้ลูกจ้างไปทำรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่ดินก็ไม่มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน โดยจำเลยเข้าใจตลอดมาว่าแนวรั้วลวดหนามตรงตามแนวเขตที่ดิน ไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ ทั้งสภาพที่ดินพิพาทก็เป็นที่ดินว่างเปล่ามีหญ้าขึ้นรกปกคลุมแนวรั้ว ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างจริงจังแสดงว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแม้จำเลยจะทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ฎ.5961/2533 แม้เมื่อบิดาโจทก์ตาย โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยโดยสืบสิทธิจากบิดาติดต่อกันมาประมาณ 40 ปี แต่เมื่อโจทก์เพียงแต่ล้อมรั้วบ้านเพื่อป้องกันขโมย มิได้ล้อมเพื่อแบ่งเขตที่ดิน และโจทก์ไม่เคยแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่เลย การกระทำของโจทก์จึงเท่ากับว่าโจทก์มิได้แสดงตนเป็นปรปักษ์ต่อการครอบครองของจำเลยแต่การที่โจทก์มอบให้บุตรสาวไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเรื่องจำเลยปลูกต้นกล้วย ในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแล้ว.

ฎ.1539/2536 การที่ผู้ร้องเข้าไปขุดหน้าดินขายในปี 2516 – 2517  และดูดทรายขายในปี 2526 เพียง 2 ครั้งโดยไม่ติดต่อกัน ถือว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินเป็นครั้งคราวยังไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าเป็นการใช้สิทธิยึดถือครอบครองเหนือที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

สรุป

ในคดีครอบครองปรปักษ์ หรือคดีฟ้องเปิดทางภาระจำยอมโดยอายุความ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย เราจะต้องวินิจฉัยอยู่เสมอว่า การครอบครองที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ในทางพิพาทนั้น เป็นการครอบครองอย่างอาศัยสิทธิ ถือวิสาสะ  หรือเป็นการครอบครองปรปักษ์อย่างเจ้าของ 

ซึ่ง 3 หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยตามที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลฎีกาได้ใช้ในการวินิจฉัยคดีบ่อยมาก และเราสามารถนำไปปรับใช้ทั้งในการฟ้องร้องและต่อสู้คดีได้เป็นอย่างดีครับ 

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทนายความและผู้สนใจทุกคนครับ หากถูกใจก็รบกวนกดแชร์บทความนี้ให้เพื่อนๆได้อ่านกันด้วยนะครับ 

แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทความนี้

comments

ที่ดินมีโฉนดสามารถครอบครองปรปักษ์ได้ไหม

1. การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนด โฉนดตราจอง หรือเอกสารกรรมสิทธิ์ประเภทอื่น ๆ ส่วนทรัพย์ประเภทที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

ครอบครองปรปักษ์นส.3กี่ปี

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. ........... มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

ที่หลวงครอบครองปรปักษ์ได้ไหม

ที่ดินทางหลวงต่อให้เราอยู่อาศัยเป็นร้อยปีก็ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ดินหลวงแตกต่างจากที่ดินของบุคคลทั่วไปโดยที่ของคนทั่วไป ครอบครองปรปักษ์ได้ในกรณีที่ ที่ดินนั้นไม่ได้มใช้ประโยชน์ ได้แก่ เจ้าของที่ดินตายไปไม่มีใครมารับช่วงต่อลูกหลานไม่มี กรณีนี้สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ แต่ที่ดินหลวงแตกต่าง ...

บุกรุกที่ดิน กี่ปี

- ความผิดตามมาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้