การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นความตกต่ำของการเมืองภาคประชาชนไทย ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มีส่วนในการเสริมอำนาจการเมืองให้ประชาชนเป็นผู้เล่นไม่ใช่ผู้สังเกตการณ์ ขยายบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ง่ายขึ้น เช่น การถอดถอนผู้บริหารระดับสูง การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน การมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะ ฯลฯ

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ทำให้การเมืองภาคประชาชนมีส่วนร่วมได้ง่าย ขยายกว้าง และชัดมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มหมวดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยตรง การลดจำนวนรายชื่อประชาชนที่จะเสนอกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับก้าวถอยหลัง คำว่า ‘ภาคประชาชน-ประชาสังคม-องค์กรพัฒนาเอกชน’ ถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘ความสงบเรียบร้อย-ความมั่นคงของชาติ’ ทั้งยังดึงอำนาจไปที่รัฐส่วนกลาง ส่งผลให้กลไกการมีส่วนร่วมทั้งทางระดับชาติระดับท้องถิ่นพิกลพิการ สิทธิเสรีภาพของประชาชนหดแคบ และการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนถูกจำกัดลงไป 

ในการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ในประเด็นการเมืองภาคประชาชน อันเป็นประเด็นที่ยึดโยงกับสถาบันที่สำคัญอื่นๆ จึงมีแนวคิดและเลนส์ที่ใช้ในการพิจารณาที่หลากหลาย เพื่อให้การเมืองภาคประชาชนได้ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบตัวแทนและเสียงของประชาชนมีความสำคัญอย่างแท้จริง

101 เก็บความบทสนทนาหลากแง่มุมจากงานเสวนาออนไลน์ Constitution Dialogue ครั้งที่ 7 ‘การเมืองภาคประชาชน’ ซึ่งนำเสนอแนวคิดโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาโดย อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การเมืองภาคประชาชนไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว


ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนาประภาส ปิ่นตบแต่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของการถกเถียงประเด็นการเมืองภาคประชาชนในบริบทประชาธิปไตยไทยที่หยิบยกการเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของข้อคิดเห็นต่อต้านนักการเมืองอาชีพ ประณามว่านักการเมืองเลว การเมืองของประชาธิปไตยตัวแทนใช้งานไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์ประชาชน โดยขาดกรอบคิดทางทฤษฎีที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพลังการเมืองในภาคประชาสังคม (civil society) กับการเมืองในรัฐสภา (parliamentary politics) ทั้งที่จริงแล้วการเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการขยายและหนุนเสริมประชาธิปไตยตัวแทน ทั้งผลักดันให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเข้มแข็ง และถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางให้ประชาชนใช้อำนาจโดยตรงมากขึ้นทั้งในระดับโครงสร้างทางการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมไปถึงขยายประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การเมืองภาคประชาชนหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทยผลิบานตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งเป็นจุดจบของประชาธิปไตยครึ่งใบ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ปรากฏการณ์แรกๆ ที่มักพูดถึงคือกรณีการเดินขบวนชุมนุมประท้วงของประชาชน โดยมีสองกระแส ได้แก่ 1. กระแสการเรียกร้องของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน ทั้งจนอำนาจและจนโอกาส ที่มีปัญหาความขัดแย้งด้านฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ จึงออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นคนจน 2. กระแสการเรียกร้องของชนชั้นกลางในการตรวจสอบปัญหาทุจริตและการปฏิรูปการเมือง

สำหรับการพิจารณาการเมืองภาคประชาชนนั้นไม่สามารถมองเพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนมีความสัมพันธ์กับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทางสังคมเป็นอย่างยิ่ง ประภาสยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการออกแบบการเมืองภาคประชาชนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างดี แต่ถ้าดูเชิงความสัมพันธ์อำนาจในส่วนอื่นๆ ก็จะเห็นร่องรอยการนำอำนาจการเมืองขึ้นไปข้างบน ที่เห็นชัดมากเรื่องตุลาการภิวัตน์ การขยับเส้นให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการเมืองภาคประชาชน

จากบทเรียนของการจรรโลงประชาธิปไตยผ่านการเมืองภาคประชาชนที่ผ่านมา และท่ามกลางปัญหาของการเมืองภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งมีตั้งแต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนถูกจำกัดเหลือแค่หมวดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของรัฐ จำกัดสิทธิการถอดถอนผู้บริหารระดับสูง เหลือเพียงการเข้าชื่อถอดถอน ป.ป.ช. ฯลฯ ประภาสจึงมีข้อเสนอบางประการในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมุ่งสร้างการเมืองภาคประชาชนบนฐานคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยทางตรง มุ่งถ่ายโอนอำนาจการจัดการชีวิตสาธารณะสู่ประชาชนข้างล่าง ไม่ใช่มุ่งนำอำนาจขึ้นไปข้างบน เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560

2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมุ่งสร้างการเมืองภาคประชาชนเชิงสถาบัน เปิดพื้นที่ให้กับการเมืองภาคประชาชนอย่างเต็มที่ ขยายพื้นที่กลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยออกแบบกลไกให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสมลงตัว ไม่ใช่การทำงานแทนกัน ทั้งในกลไกการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับปัจเจก

3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเชื่อมั่นในการเมืองภาคประชาชน ยืนยันในหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ล่วงละเมิดมิได้ เช่น สิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และมีการกำหนดหน้าที่พื้นฐานของรัฐควบคู่กัน เช่น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐต่อสาธารณะ การกำกับดูแลเพื่อป้องกันการผูกขาด เป็นต้น

4. รัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงการรับรองพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายในสังคม ทั้งเรื่องเพศสภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีชีวิตและความเชื่อ ฯลฯ

5. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องออกแบบนโยบายสาธารณะแนวใหม่ ในมิติด้านกระบวนการ ต้องออกแบบกระบวนการด้านนโยบายสาธารณะให้มีธรรมาภิบาลตั้งแต่กระบวนการกำหนดนโยบาย ดำเนินนโยบาย และประเมินผลนโยบาย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างโปร่งใส มีกลไกความรับผิดชอบ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบตลอดทั้งกระบวนการ

6. มิติด้านเนื้อหาของนโยบายสาธารณะ รัฐธรรมนูญต้องให้การรับรองสวัสดิการพื้นฐานแก่สมาชิกในสังคม เช่น การศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพดีถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่พลเมืองได้อย่างเต็มศักยภาพ ฯลฯ

7. เจตนารมณ์และหลักเกณฑ์ต้องไม่ถูกละเมิดหรือยกเว้นโดยบทบัญญัติอื่นที่เปิดช่องว่างให้ตีความเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงาม ผลประโยชน์ของสาธารณะ เสมือนการให้เช็กเปล่าแก่กระบวนการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย


รอยแผลของประชาชนจากรัฐธรรมนูญ 2560


ด้าน อังคณา นีละไพจิตรสะท้อนให้เห็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐกลับบังคับใช้กฎหมายตามกฎหมายลูกที่ออกมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจะต้องเป็นการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ (meaningful participation)

นอกจากนี้อังคณายังกล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 สร้างรอยแผลให้กับประชาชนหลายกลุ่มผ่านการลดสิทธิของประชาชนและเพิ่มอำนาจรัฐ โดยมีแง่มุมดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดสิทธิและการคุ้มครองของประชาชนไป เช่น ตัดเรื่องหลักการในการคุ้มครองสิทธิชุมชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมออกไป เหลือเพียงคำว่า ‘ชุมชน’ เพราะฉะนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นับร้อยปีก็ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าตัวเองคือคนดั้งเดิม ทำให้ไม่มีสิทธิในที่ดินของบรรพชน ไม่มีสิทธิอยู่อาศัย ใช้และรักษาทรัพยากรได้ จนเกิดปัญหาอย่างกรณีบางกลอย อีกกรณีคือเรื่องการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดเรื่องผู้เสียหายหรือผู้อื่นเพื่อประโยชน์ต่อผู้เสียหายสามารถร้องต่อศาลได้ซึ่งเคยมีในรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเบาบางลง

2. การนำคำว่า ‘ตามที่มีกฎหมายบัญญัติ’ กลับมาใช้ใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้เกิดการบัญญัติกฎหมายที่ดูจะเป็นรอนสิทธิมากกว่าที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หรือร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ที่จะออกมาควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม ไม่อนุญาตให้รับเงินทุนจากต่างชาติ

3. กลไกและเทคนิคทางนิติบัญญัติที่ซ่อนอยู่ไม่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น กรณีการเข้าชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกตีตกไป ทั้งที่มีจำนวนการเข้ารายชื่อเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

อังคณากล่าวว่า ในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หมวดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องไม่ด้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งยังมีประเด็นที่อยากเน้นย้ำในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้

1. เขียนเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนในลักษณะการสงเคราะห์ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ไม่ได้เป็นเรื่องสิทธิของผู้ทรงสิทธิ์ โดยให้ความเห็นว่าควรมีการเพิ่มสวัสดิการ ได้แก่ สวัสดิการแก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว, การเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของกลุ่มผู้หญิง, การดูแลผู้สูงอายุ และสวัสดิการเด็กเล็ก

2. การปรับปรุงแก้ไขในหมวดศาล ปฏิรูปศาลโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ผู้พิพากษามีอิสระจริงๆ โดยมีแนวทางรูปธรรมดังต่อไปนี้ (1) ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการ ให้เสียงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งควรเป็นเสียงส่วนใหญ่กลับมามีบทบาท มากกว่าการถูกครอบงำจากตุลาการอาวุโส (2) เพิ่มผู้แทนที่มาจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือนักวิชาการ ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

3. ปรับแก้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560 วรรคแรกระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ ผู้ใดทราบมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด วรรคสามระบุว่าถ้าอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการผู้ร้องสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้จริงเมื่อมีการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรปรับปรุงเรื่องนี้ และยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้การรับรองความชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งของคสช. นอกจากนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญควรบัญญัติรับรองสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองไทย โดยให้หมู่คนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการล้มล้างการปกครองด้วยวิธีใดๆ ก็ตามโดยสันติวิธี ประชาชนจะต้องไม่ถูกจับถ้าออกมาประท้วงการทำรัฐประหาร ห้ามไม่ให้ศาลหรือตุลาการทั้งหลายพิพากษาตัดสินคดีรับรองอำนาจของรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์

4. มีบทบัญญัติให้รับรองข้อบทบัญญัติในอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้ประชาชนสามารถอ้างอิงข้อบทกฎหมายตามอนุสัญญาได้ ถ้าหากมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในระดับสากลมากขึ้น

5. ปรับปรุงศาลทหารและพ.ร.บ.ศาลทหาร เพื่อเป็นหลักประกันให้ศาลทหารไทยทำงานสอดคล้องอย่างเต็มที่กับหลักการสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ICCPR โดยการจัดตั้งศาลทหารต้องเป็นไปตามหลักการสากลว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารของ Emmanuel Decaux ซึ่งเป็นหลักการที่ทั่วโลกยืนยันว่าระบบยุติธรรมของทหารควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมตามปกติ

6. ควรบัญญัติหลักการรัฐบาลพลเมืองอยู่เหนือกองทัพ ไว้ในรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรไทย


ลดต้นทุนของผู้มีส่วนร่วมทางการเมือง


ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุลเห็นด้วยกับประภาสว่า การเมืองภาคประชาชนไม่สามารถแยกออกจากการเมืองตัวแทนได้ และชี้ให้เห็นถึงกลไกที่มีความจำเป็นอย่าง ‘กลไกคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง’ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตรวจสอบอำนาจรัฐ ออกแบบนโยบายสาธารณะและเสนอแนวคิดของการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ผ่านพรรคการเมือง ผ่านการรณรงค์ หรือผ่านองค์กรภาคประชาสังคมโดยไม่มีต้นทุนราคาแพงที่ต้องสูญเสีย

ฐิติรัตน์ กล่าวว่าในหลายประเทศที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นอย่างดีจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้พิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน’ (the guardian of fundamental right) ในบางความเห็นมองว่าเป็นรัฐสภา ผู้แทนของประชาชนที่สามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ดีที่สุด แต่จากปัญหาของเสียงข้างมาก-ข้างน้อยตามสัดส่วนคะแนน จึงไม่สามารถหวังให้รัฐสภาทำงานได้เต็มที่ ในการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองหรือกฎหมาย ศาลจึงจักเป็นสถาบันสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดไม่ได้ เช่น สิทธิการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในการประกันตัว เป็นกลไกพื้นฐานของระบบกฎหมาย หรือ rule of law

คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ศาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ในความเห็นของฐิติรัตน์นั้นมองถึงกลไกการตรวจสอบ ทั้งกลไกการเข้าถึงการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐ รวมไปถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาคดีทางอาญาหรือการเรียกร้องตรวจสอบอำนาจรัฐผ่านศาลปกครอง ซึ่งจะต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากยังไม่ส่งเสริมหรือคุ้มครอง อาจจะมีทางออกหรือกลไกอื่นเข้ามาช่วยเสริมหนุน เช่น กลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้แรงกดดันจากต่างชาตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายใน หรือทำให้เกิดแรงเหวี่ยงของการเมืองภายในจนเกิดการคุ้มครองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาว่าประเทศให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของประเทศต่อสายตาต่างชาติมากน้อยแค่ไหน

นอกจากการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเชิงปัจเจกรายบุคคล ในการออกแบบยังต้องมีการกำหนดหน้าที่พื้นฐานของรัฐในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เช่น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบอำนาจรัฐ

“รัฐธรรมนูญควรเขียนแค่หลักการกว้างๆ และทำให้มั่นใจว่าหลักการต่างๆ เหล่านั้นจะได้รับการปฏิบัติตามและได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ว่าพอมีคนเรียกร้อง คนนั้นก็ถูกปิดปากหรือถูกทำให้หลุดไปจากกลไก รัฐธรรมนูญไม่มีทางศักดิ์สิทธิ์ได้ ถ้าเราไม่ยอมให้กลไกตรวจสอบรัฐธรรมนูญทำงานได้จริงๆ” ฐิติรัตน์กล่าว

ช่วงท้ายฐิติรัตน์ยังชี้ให้เห็นปัญหาของการตีความของชุดคำ ข้อยกเว้นที่ใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่าง ‘ความสงบเรียบร้อยร้อยสาธารณะ’ (public order) ‘ความมั่นคงของชาติ’ (national security) และ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ (public moral) โดยมองว่าเจตนารมณ์ของชุดคำเหล่านี้ใช้เพื่อความยืดหยุ่นในการทำงานของรัฐ และจำกัดการใช้อำนาจของรัฐด้วยซ้ำ เพราะในหลักการทั่วโลกรัฐต้องอธิบายให้ได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพกระทบกับความสงบเรียบร้อยร้อยสาธารณะ ความมั่นคงของชาติ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติของไทยไม่ค่อยพบความรับผิดชอบในการอธิบาย (accountability) จากภาครัฐ ทั้งที่คำอธิบายเหล่านี้จะช่วยบ่งบอกว่าการใช้อำนาจสมเหตุสมผล คงเส้นคงวา หรือเสมอภาคถ้วนหน้าหรือไม่ สิ่งนี้กระทบต่อความรับรู้เรื่องหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในใจของประชาชนค่อนข้างมาก

ฐิติรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการถูกกฎเกณฑ์บังคับค่อนข้างมาก ทำให้ความรับผิดสูงมากในระดับปฏิบัติการ แต่ว่าความรับผิดกลับต่ำมากในระดับผู้ที่มีตำแหน่งสูง มีการตรวจสอบมากล้นในบางจุด ในขณะเดียวกันก็ปล่อยผ่านไม่ต้องมีความรับผิดชอบในการอธิบายว่าสิ่งที่ตัวเองทำสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอย่างไร ความลักลั่นนี้ทำให้การออกแบบรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาในขั้นถัดไป


โควิดสะท้อนโครงสร้างรัฐราชการที่เปราะบาง


สุภัทร ฮาสุวรรณกิจสะท้อนในมุมมองจากคนท้องถิ่นว่า ความศรัทธาในการเมืองตัวแทนของคนต่างจังหวัดมีน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาและเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งชัดเจนมากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการกระชับอำนาจรัฐและเป็นรัฐราชการที่แข็งตัวมาก

ในฐานะของแพทย์ สุภัทรชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐราชการที่ส่งผลกระทบต่อการรับมือสถานการณ์โควิด ดังนี้

1. ระเบียบราชการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อวัคซีนโรคใหม่ที่ยังไม่มีสเป็ก ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดซื้อ และได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ

2. แนวคิดจากรัฐส่วนกลาง ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม ทั้งที่ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการฉีดวัคซีนประชาชนในหมู่บ้านได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

3. ระบบราชการที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร หากโรงพยาบาลเรี่ยไรเงินผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องขอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันไม่มีโรงพยาบาลไหนแจ้งความประสงค์ แต่เลือกจะดำเนินการเองแบบผิดกฎหมาย

4. ระยะเวลาและกระบวนการจัดซื้อไม่เท่ากันกับสถานการณ์วิกฤต รวมไปถึงรายการที่มีการเสนองบประมาณในปี 2564 และได้รับการอนุมัติมาแล้ว แต่ยังไม่จัดซื้อ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากร

“วิธีคิดของรัฐคือรวบอำนาจ กระจุกอำนาจไว้อยู่ตรงกลาง และพยายามขันน็อตตรงกลางเพื่อให้เครื่องเดิน แต่แท้จริงแล้วมันเดินไม่ไหว เพราะวิกฤตชัดเจน และในอนาคตการเปลี่ยนแปลงมันเร็วมาก” สุภัทรกล่าว

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในฝันของสุภัทร คือการเห็นการกระจายอำนาจแบบสุดขั้ว ต้องการเห็นรัฐท้องถิ่นที่มีการปกครองตนเอง  มีสภาท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น มีงบประมาณเป็นก้อนที่รัฐท้องถิ่นสามารถจัดสรรเอง นอกจากนี้ยังต้องลดอำนาจและภารกิจรัฐส่วนกลาง ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน เกิดองค์กรอิสระ หรือองค์กรมหาชนจำนวนมากที่ทำงานแทนรัฐ รับผิดชอบในจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป และมีเงินกองทุนให้กับองค์กรในการบริหารจัดการ เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ลดงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมทั้งประเทศให้เหลือสัก 25 เปอร์เซ็นต์ และนำเงิน 75 เปอร์เซ็นต์ ไปสนับสนุนองค์กรใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ภาครัฐมีหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องการทุจริต แต่ไม่มีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์มาปิดกั้น

“ประเทศต้องเดินด้วยคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เดินด้วยข้าราชการที่มีแต่โครงการอบรม ประชุม และอบรม” สุภัทรทิ้งท้าย


จุดประกายความหวังการเมืองภาคประชาชน


ช่วงท้ายการเสวนามีการพูดคุยประเด็นต่อเนื่องกับการเมืองภาคประชาชน โดยมีประเด็นที่น่าขบคิดดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก การทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่แค่เนื้อหาที่เขียนไว้สวยหรูไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่บังคับใช้ได้จริง สุภัทรให้ความเห็นว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันออกมาแสดงสิทธิ (exercise) แม้ว่ากฎหมายจะพยายามปิดกั้น แต่ต้องพยายามไต่เส้นของการผิดกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะบอกว่าหากชุมนุมต้องขออนุญาต แต่ถ้ามายื่นหนังสือแบบไม่ขออนุญาตจะผิดกฎหมายไหมก็เป็นความสับสน การแสดงออกตามสิทธิชอบธรรม มีหลักเหตุผลชัดเจน และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน จะช่วยให้อำนาจรัฐสั่นคลอน และเกิดวิถีปฏิบัติการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการปรากฏเป็นตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อมา คือ การทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรอิสระที่สามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ขององค์กรได้อย่างเต็มที่อังคณากล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนผ่านการกำหนดให้มีการตั้งอนุกรรมการเฉพาะกรณีเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการที่ดำรงตำแหน่งจึงต้องมาจากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่มีภาคประชาสังคมช่วยกรรมการสิทธิในการตรวจสอบร่วม นอกจากนี้กฎระเบียบที่ยิบย่อยยังทำให้คณะกรรมการขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น ระเบียบการให้ข่าว แต่อย่างไรก็ดีกรรมการที่ยึดมั่นว่าตัวเองเป็นอิสระก็ต้องไม่กลัวในการทำหน้าที่ หากทำงานไม่ได้ก็ลาออก ไม่ต้องอยู่รับรองความชอบธรรม อีกประเด็นคือเมื่อกลไกในประเทศไม่สามารถทำงานได้ อยากให้นำกลไกระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรับรองไว้มาใช้

ประเด็นถัดมา เรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญให้สามารถรับมืออนาคตข้างหน้า เนื้อหาด้านการเมืองภาคประชาชนควรมีลักษณะอย่างไร และควรเพิ่มเติมอะไรจากขนบเดิม ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ใหญ่

“เราไม่มีวันที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้เลย ถ้าเรายังอยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัว และเสรีภาพยังถูกจำกัด” อังคณากล่าวพร้อมให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญสะท้อนแนวคิดของผู้มีอำนาจขณะนั้น สิ่งที่อยากให้ความสำคัญคือรัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนยาว แต่ต้องมีการตีความเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและอยู่บนฐานของประชาธิปไตย

ฐิติรัตน์มองว่าภาคประชาสังคมในหลายประเทศเกี่ยวพันกับการเมืองตัวแทน เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายทางการเมือง หรือเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง ภาคการเมืองกับภาคประชาชนไม่ได้ถูกตัดขาดกัน แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยเห็นภาคประชาสังคมลงเล่นการเมือง อย่างไรก็ดีในทางกลไกที่จะเป็นไปได้คือการทำให้การเข้าสู่สนามการเมืองตัวแทนง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องของผู้สมัครแบบอิสระและการตั้งพรรคการเมือง และควรยกเลิกอำนาจในการยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการตัดสิทธิตัดเสียงของตัวแทนที่ประชาชนเลือก นอกจากนี้ฐิติรัตน์ยังเน้นย้ำถึงคววามสำคัญของกลไกคุ้มครองคนที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง และการตรวจสอบอำนาจศาลผ่านการจ้องมองหรือรอการตรวจสอบของประชาชน

ด้านประภาสมองว่า กลไกพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานและองค์กรอิสระต้องกลับมายึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการออกแบบการกระจายอำนาจ ถ่ายโอนในเรื่องฐานทรัพยากรหรือชีวิตสาธารณะมาที่ท้องถิ่น อย่างไรก็ตามประภาสมองว่าการออกแบบการเมืองภาคประชาชนที่ดีจะต้องมีกระบวนการเพื่อสร้างพลังอันเข้มแข็ง ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการมีเนื้อหาที่ดี

สำหรับเรื่องความหวังในอนาคตของการเมืองภาคประชาชน ฐิติรัตน์กล่าวว่า เพียงแค่รัฐธรรมนูญหรือกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นไม่เพียงพอ แต่ยังต้องมีวัฒนธรรมการยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นศัตรูกันในการต่อสู้การเมือง การใช้สิทธิเสรีภาพช่วยเสริมให้ประเทศไปข้างหน้าได้และผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนในประเทศ

อังคณากล่าวให้กำลังใจว่า แม้สถานการณ์ในขณะนี้จะสิ้นหวัง หดหู่ ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิด แต่เธออยากจะบอกว่าอย่าสิ้นหวัง ไม่ว่าอย่างไรประชาชนคือเจ้าของประเทศ ประชาชนคือคนที่ทำงานหนัก เสียสละ เสียภาษี และประชาชนเองที่จะเป็นคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้อาจจะเห็นรัฐออกกฎหมายให้อำนาจตำรวจเต็มไปหมด แต่นั่นสะท้อนความกลัวของรัฐ เวลารัฐกลัวจะใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ทำให้ประชาชนถูกกดดัน ไม่อยากให้ทุกคนกลัว และอยากให้ยืนเคียงข้างกัน

สุภัทรกล่าวว่าเขามีความหวังมาก โควิดไม่ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและผู้คนเท่านั้น แต่สร้างความเสียหายแก่รัฐราชการอย่างหนัก และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐราชการไปไม่ได้ หลังฉีดวัคซีนก็อยากให้มาช่วยกันในการเมืองท้องถนนเพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เขารู้สึกว่ามีความหวังอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงข้างหน้า

ปิดท้ายด้วยประภาสที่กล่าวว่า มีหนังสือชื่อ Bowling Alone ของ Robert Putnam ที่พูดถึงว่าอย่าเล่นโบว์ลิงคนเดียว เราต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และมีบทความหนึ่งชื่อว่า ‘Bowling with Hitler’ (เล่นโบว์ลิงกับฮิตเลอร์) ที่กล่าวว่าการรวมกลุ่มไม่ได้ดีด้วยตัวมันเอง บทเรียนของการเมืองภาคประชาชนที่ผ่านมามีการไปเล่นโบว์ลิงกับฮิตเลอร์ จนสร้างกลไกการเมืองแบบที่เราเห็นหน้าตาในปัจจุบันนี้ การเมืองภาคประชาชนต้องพยายามไปเปลี่ยนโครงสร้างสถาบัน การออกแบบการเมืองโดยมีทิศทางที่ตั้งอยู่บนรัฐธรรมนูญนิยม คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้คน เหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนที่ไปเล่นโบว์ลิงกับฮิตเลอร์ได้

Related Posts

  • Digital Dialogue : “Digital HR-กระบวนการ HR ใหม่ในโลกดิจิทัล”

    Digital Dialogue : “Digital HR-กระบวนการ HR ใหม่ในโลกดิจิทัล” ในยุคดิจิทัล โลกของการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ถูก disrupt อย่างไร บริษัทใหญ่เปลี่ยนวิธีคิดไปแค่ไหน บริษัทเล็กรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพมีวิธีคิดเรื่องคนอย่างไร คนหางานต้องรู้และเตรียมตัวอย่างไร วันพฤหัสบดีที่…

  • ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนที่สังคมไทยต้องการ?

    101 ชวนมองข้อเสนอการออกแบบศาลรัฐธรรมนูญจาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล และมุมมองจากหลากนักกฎหมายมหาชน

  • Digital Dialogue # 2 : Digital entrepreneurship – โลกใหม่ ผู้ประกอบการใหม่

    ในโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ธุรกิจและผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร แชร์ความคิดและประสบการณ์จากผู้ประกอบที่ผ่านสนามจริง พร้อมถอดบทเรียนจากโลกผ่านสายตาของผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30- 15.50 น. ณ ห้องประชุม ชั้น…

  • Digital Dialogue : "อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่, IoT และสื่อดิจิทัล"

    Digital Dialogue : "อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่, IoT และสื่อดิจิทัล" เมื่อเทคโนโลยี 5G คือ ปัจจัยชี้ขาดอนาคต สังคมไทยพร้อมแค่ไหนและต้องเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านอย่าเปิดวงแชร์ความคิดและประสบการณ์เรื่องอนาคตสังคมไทยในโลกดิจิทัล ในหลากหลายมิติ…

  • Digital Dialogue : กสทช. กับ ‘การเยียวยา’ ที่เกินเยียวยา

    เก็บความจากงานเสวนา ‘Digital Future อนาคตไทยในโลก 5G : คลื่นความถี่ IoT และสื่อดิจิทัล’ ว่าด้วยการกำกับดูแล และมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการของ กสทช. สืบเนื่องจากกรณีที่ดีแทคหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz

  • Digital Dialogue : จับตาอนาคต กสทช. กับการกำกับดูแลในยุค 5G

    Digital Dialougue ชวน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ถกอนาคตดิจิทัลไทยเรื่อง อนาคตวงการโทรคมนาคมและวงการสื่อไทย และ กสทช. กับการกำกับดูแลในยุค 5G

การเมืองภาคประชาชน ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อังคณา นีละไพจิตร รัฐธรรมนูญสนทนา ประภาส ปิ่นตบแต่ง Constitution Dialogue สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้