กัณฑ์มัทรีมีความสำคัญอย่างไร

เพื่อน ๆ คนไหนเคยได้ยินประโยคนี้มาบ้างหรือเปล่า ? เพราะชูชกที่ว่านี้คือตัวละครหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้ายในทศชาติชาดก (เรื่องราวสิบชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า) แต่เรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้งหมดนี่ยาวมาก ๆ เลย เพราะฉะนั้นในบทเรียนวิชาภาษาไทย ม.5 เราเลยหยิบยกมาให้เรียนเฉพาะกัณฑ์มัทรีก่อน ซึ่งเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีจะเป็นยังไงนั้น ไปติดตามกันเลยดีกว่า

หรือหากเพื่อน ๆ อยากเรียนในรูปแบบวิดีโอ ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ได้เลยนะ

 

ประวัติผู้แต่ง

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในช่วงปลายสมัยอยุธยา รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาพิพิฒนโกษา ก่อนจะเลื่อนมาเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า ซึ่งนอกจากผลงานด้านราชการแล้ว เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ยังมีผลงานด้านการประพันธ์จำนวนมาก เช่น สามก๊ก (ฉบับแปล) ราชาธิราช บทมโหรีเรื่องกากี อิเหนาคำฉันท์ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี ฯลฯ

 

ลักษณะคำประพันธ์ 

  • มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มีลักษณะคำประพันธ์เป็นแบบร่ายยาว โดยหนึ่งบทจะมีกี่วรรคก็ได้ ส่วนใหญ่จะนิยมแต่ง ๕ วรรคขึ้นไป แต่ละวรรคมีจำนวนคำ ๖-๑๐ คำ และใช้คำสร้อย เช่น นั้นแล แล้วแล ดังนี้ ฯลฯ ซึ่งคำสร้อยนี้จะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้
  • ฉันทลักษณ์ของร่ายยาว จะมีการบังคับเฉพาะคำสุดท้ายของวรรคก่อนหน้าจะสัมผัสกับคำที่ ๑ ถึงคำที่ ๕ ของวรรคถัดไป เช่น 

“...จึ่งตรัสว่าโอ้โอ๋เวลาปานฉะนี้เอ่ยจะมิดึกดื่น จวนจะสิ้นคืนค่อนรุ่งไปเสียแล้วหรือกระไรไม่รู้เลย พระพายรำเพยพัดมารี่เรื่อยอยู่เฉื่อยฉิว...

  • จุดเด่นของร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก คือ การมีคาถาบาลีขึ้นต้น เช่น

“...อิมาตา โปกฺขรณี รมฺมา เจ้าเคยมาประพาสสรงสนานในสระศรี โบกขรณีตำแหน่งนอกพระอาวาส นางเสด็จลีลาสไปเที่ยวเวียนรอบ จึ่งตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยเปี่ยมขอบเป็นไร…”

 

การอ่านคำบาลีและร่ายยาว

การอ่านคำบาลี

  • อ่านเรียงพยางค์ไปทีละตัว 
  • คำไหนที่ ‘ไม่มีสระ’ ให้อ่านเป็น ‘สระอะ’
  • นิคหิต( ํ)  อ่านเป็นตัวสะกด ง แต่ถ้าไม่มีสระจะอ่านออกเสียง อัง เช่น ยํ โกลาหลํ อ่านว่า ยัง-โก-ลา-หะ-ลัง

พินทุ (.) ซึ่งอยู่ใต้พยัญชนะ หากพยัญชนะตัวหน้ามีสระ จะนับเป็นตัวสะกด เช่น ราชปุตฺตี อ่านว่า รา-ชะ-ปุด-ตี แต่หากพยัญชนะตัวหน้าไม่มีสระจะใช้เป็นไม้หันอากาศ เช่น นีเจ โวลมฺพเก อ่านว่า นี-เจ-โว-ลัม-พะ-เก

การอ่านร่าย

  • จะมีการขึ้นเสียงสูงต่ำ และใส่ลีลาตามจังหวะเนื้อความ เช่น อ่านเร็วขึ้น เมื่อเนื้อหาสื่อถึงอารมณ์โกรธ เป็นต้น (ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะฟังวิธีการอ่านร่ายยาวเพิ่มเติม ก็สามารถโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนเรื่องนี้กันต่อได้เลย)

 

ความเป็นมาของมหาเวสสันดรชาดก

  • ความหมายของคำว่า ‘ชาดก’  ชาดกเกิดจากการสร้างคำแบบบาลีสันสกฤต โดยคำว่า ชาดก มาจาก ชาตะ แปลว่า เกิด  และ ก (อ่านว่า กะ) แปลว่า ผู้, หมวด ดังนั้น ชาดก จึงหมายถึง ผู้ที่เกิดมาแล้ว อย่างคำว่า ทศชาติชาดก ที่แปลว่า ผู้ที่เกิดมาแล้วสิบชาติ หรือพระพุทธเจ้านั่นเอง
  • ที่มาของ ‘มหาเวสสันดรชาดก’  มีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติมาหลายชาติ ทั้งคนทั้งสัตว์เดรัจฉาน โดยแต่ละชาติพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีแตกต่างกันออกไป ซึ่งมหาเวสสันดรชาดกเป็นชาติสุดท้ายก่อนจะประสูติมาเป็นพระพุทธเจ้าในชมพูทวีป(ชาติสุดท้ายก่อนพระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน) และมีการบำเพ็ญบารมีด้วยการให้ทาน โดยบริจาคลูกและบริจาคเมียเป็นทาน (บุตรทารทาน) สำหรับที่มาที่ไปของมหาเวสสันดรชาดก เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมืองกบิลพัสดุ์ พร้อมกับพระอรหันต์สองรูป เพื่อจะไปเทศนาโปรดพระบิดาและพระญาติ แต่พระญาติเกิดอัตตา ไม่ยอมไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหารย์ โดยการเหาะเหินเดินอากาศ ทำให้ฝุ่นใต้พระบาทาปลิวมาติดหัวพระญาติ และมีฝนโบกขรพรรษตกลงมาสู่เบื้องล่าง ฝนโบกขรพรรษเป็นฝนที่มีสีแดงใสบริสุทธิ์ราวกกับทับทิม ถ้าต้องการเปียกฝนนั้น ฝนก็จะเปียกเนื้อตัวตามปกติ แต่ถ้าไม่ต้องการเปียกฝน เม็ดฝนนั้นก็จะระเหยหายไปทันที  (ถ้ามีฝนแบบนี้ที่บ้านเรา คงหายห่วงเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วมแน่เลย แต่น่าเสียดายที่ฝนโบกขรพรรษเป็นฝนที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น)
    เมื่อเกิดฝนโบกขรพรรษขึ้น พระอรหันต์ที่ตามพระพุทธเจ้าไปจึงถามว่าฝนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พระองค์จึงบอกว่า ฝนนี้เคยเกิดมาแล้วในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระพุทธเจ้าเลยถือโอกาสนี้เล่าว่าพระองค์สามารถระลึกชาติได้ โดย 10 ชาติสุดท้ายหรือทศชาติ  ได้แก่ เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทชาดก นารทชาดก วิทูรชาดก และเวสสันดรชาดก ซึ่งแต่ละชาติพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
    สำหรับชาติสุดท้าย คือ เวสสันดรชาดก ประกอบด้วย 13 กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์จะมีผู้ประพันธ์แตกต่างกันออกไป โดยจุดประสงค์หลักในการแต่งคือใช้สำหรับเทศนาให้กับพุทธศาสนิกชนหรือบุคคลที่สนใจ ส่วนกัณฑ์ที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ประพันธ์ มี 2 กัณฑ์ ได้แก่ กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรีซึ่งอยู่ในบทเรียนวิชาภาษาไทย ม.5 ของเพื่อน ๆ นั่นเอง 

 

ตัวละครในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี

  • พระเวสสันดร  พระเวสสันดรเป็นตัวละครหลักของร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นพระโอรสของ พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีแห่งเมืองสีพี พระเวสสันดรมักจะบริจาคทานด้วยวิธีต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก เช่น ยกเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรของตนให้ผู้อื่น ต่อมาเมื่ออภิเษกกับพระนางมัทรี และมีลูกชื่อพระกัณหา และพระชาลี พระองค์ได้ตั้งโรงทานจำนวนมาก และบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์ซึ่งเป็นช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองให้กับทูตของเมืองอื่นที่มาขอช้างเชือกนี้ ทำให้ชาวเมืองไม่พอใจจึงเรียกร้องให้พระเจ้ากรุงสัญชัยเนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง พระเวสสันดร พระนางมัทรีและลูก ๆ จึงต้องออกจากเมืองไปอยู่ในป่า ซึ่งพระเวสสันดรได้บำเพ็ญเพียรภาวนาประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในอาศรม ส่วนพระนางมัทรีได้ดูแลปรนนิบัติลูกและสามีที่อาศัยอยู่ในอาศรมแห่งนี้
  • พระนางมัทรี พระนางมัทรีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์มัทราช อภิเษกสมรสกับพระเวสสันดร มีพระโอรสชื่อพระชาลี และมีพระธิดาชื่อพระกัณฑ์หา ด้วยความภักดีต่อพระสวามีนางจึงพาลูก ๆ ตามเสด็จพระเวสสันดรออกมาอยู่ในป่าด้วย ทั้งยังทำหน้าที่ดูและปรนนิบัติรับใช้สามีและดูแลลูกทั้งสองตามหน้าที่ของตน
  • พระชาลี พระชาลีเป็นพระราชโอรสของพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี ซึ่งคำว่า ชาลี หมายถึง ตาข่าย มาจากตอนที่พระชาลีประสูติ เหล่าพระประยูรญาติได้นำตาข่ายทองมารองรับพระชาลี
  • พระกัณหา พระกัณหาเป็นพระราชธิดาของพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี และเป็นพระกนิษฐา (น้องสาว) ของพระชาลี
  • ชูชก ชูชกเกิดในตระกูลพราหมณ์แต่กลับเที่ยวขอทานผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ และมีนิสัยที่เรียกว่า บุรุษโทษ ๑๘ ประการ เช่น ความตระหนี่ ความโลภ ความฉลาดในกลอุบายและเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ เป็นต้น

 

ถอดคำประพันธ์ มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี

คืนก่อนที่พระนางมัทรีจะออกจากอาศรมไปเก็บผลไม้ในป่า พระกุมารทั้งสองฝันร้าย ทำให้พระนางหวั่นวิตกนึกถึงลูกตลอดเวลาจนน้ำตาอาบแก้มทั้งสองข้าง พลางสังเกตเห็นว่าต้นที่มีผลไม้กลับกลายเป็นดอกไม้ ส่วนต้นที่มีดอกไม้กลับกลายเป็นผลไม้ขึ้นแทน ส่วนดอกไม้ที่เคยเก็บไปร้อยให้ลูกก็ถูกลมพัดปลิวร่วงลงมา เมื่อมองไปรอบทิศก็มืดมัวทุกหนแห่ง ท้องฟ้ากลับกลายเป็นสีแดงคล้ายกับลางบอกเหตุร้าย สายตาของพระนางก็เริ่มพร่ามัว ตัวสั่นใจสั่น ของที่ถือก็หลุดจากมือ คานที่หาบไว้ก็ร่วงลงจากบ่าซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งพระนางคิดเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้นเท่านั้น 

ด้วยความหวั่นใจเรื่องลูก พระนางจึงรีบเก็บผลไม้เพื่อจะได้รีบกลับไปหาลูกที่อาศรม แต่ระหว่างทางกลับเจอ สิงโต เสือเหลือง และเสือโคร่ง ขวางทางไว้ นางกลัวจนใจสั่นร่ำไห้ คิดไปว่าเป็นกรรมของตนเอง นางจะหนีไปทางไหนก็ไม่ได้เพราะถูกสัตว์ทั้งสามกั้นไว้ทุกทิศทางจนฟ้ามืด พระนางมัทรีไม่รู้จะทำอย่างไร จึงยกมือไหว้อ้อนวอนขอให้สัตว์หิมพานต์ทั้งสามเปิดทางให้ตน โดยกล่าวว่า พระนางคือพระนางมัทรีเป็นภรรยาของพระเวสสันดร ตามมาอยู่ที่อาศรมในป่าด้วยความบริสุทธิ์ใจและกตัญญูต่อสามี นี่ก็เวลาย่ำค่ำแล้วลูกคงหิวนม โปรดเปิดทางให้พระนางกลับไปที่อาศรมแล้วตนจะแบ่งผลไม้ให้ จากนั้นไม่นานสัตว์หิมพานต์ทั้งสามจึงยอมเปิดทางให้ พระนางมัทรีก็รีบวิ่งกลับไปที่อาศรมด้วยแก้มที่อาบน้ำตา

เมื่อถึงที่พักพระนางมัทรีก็ตกใจไม่เห็นลูกอยู่ในอาศรม ร้องเรียกหาเท่าไรก็ไม่มีใครตอบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะออกมาหาแม่กันพร้อมหน้า ทั้งกัณหาขอกินนม ส่วนชาลีจะขอกินผลไม้ พระนางมัทรีเสียใจมาก พร่ำบอกว่าที่ผ่านมาก็ดูแลลูกอย่างดีแบบยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม หวังจะกลับมาพบลูกให้ชื่นใจ ก่อนหน้านี้ยังได้ยินเสียงลูกเล่นกันอยู่แถวนี้ นั่นก็รอยเท้าชาลี นี่ก็ของเล่นกัณหา แต่เมื่อลูกหายไปอาศรมกลับดูเงียบเหงาเศร้าหม่น นางจึงไปถามพระเวสสันดรว่าลูกหายไปไหน เหตุใดจึงปล่อยให้คลาดสายตา หากมีสัตว์ป่าจับไปจะทำอย่างไร แต่พระเวสสันดรกลับไม่ตอบอะไร ทำให้นางกลุ้มใจยิ่งไปว่าเก่า

ด้วยความกลุ้มใจ ตัวก็ร้อน น้ำตาก็ไหล กระวนกระวายพลางบอกว่า ไม่เคยมีครั้งใดที่นางรู้สึกแค้นเคืองใจขนาดนี้ เพราะนางออกจากเมืองมาก็หวังว่าอย่างน้อยจะได้สุขใจเพราะอยู่พร้อมหน้ากับลูกและสามี แต่เมื่อลูกหายตัวไป ความหวังนั้นก็คล้ายจะดับสิ้น

พระนางมัทรีอ้อนวอนขอให้พระเวสสันดรตรัสกับนางบ้าง เพราะการนั่งนิ่งเหมือนโกรธเคืองพระนางมัทรีนั้นยิ่งทำให้ปวดใจราวกับมีคนเอาเหล็กรนไฟมาแทงที่หัวใจ หรือเป็นคนไข้ที่หมอนำยาพิษมาให้ดื่ม อีกไม่กี่วันคงสิ้นชีวิตอย่างแน่นอน เมื่อพระเวสสันดรได้ยินพระนางมัทรีดังนั้น ก็คิดว่าหากใช้ความหึงหวงคงเป็นวิธีคลายความโศกให้พระนางได้ จึงตรัสว่า ในป่าหิมพานต์แห่งนี้มีทั้งพระดาบสและนายพรานจำนวนมาก เจ้าออกไปเก็บผลไม้ตั้งแต่เช้าจนย่ำค่ำ หากไปทำอะไรในป่าแห่งนี้ก็คงจะไม่มีใครรู้เห็น เหตุใดจึงทิ้งลูกหนีเข้าไปในป่านานถึงเพียงนี้ พอกลับมายังห่วงแต่ลูก ไม่ห่วงสามีแต่อย่างใด หรือหากไม่นึกถึงสามีก็ไม่ควรหายเข้าไปในป่านานถึงเพียงนี้ จะให้เราเข้าใจได้อย่างไร 

เมื่อพระนางมัทรีได้ยินดังนั้น จึงกราบทูลว่า เหตุใดพระองค์จึงไม่ได้ยินเสียงของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง เพราะสัตว์ทั้งสามนี้ทำให้ทำให้พระนางไม่สามารถกลับอาศรมได้ ทั้งยังเกิดเหตุร้ายหลายประการขณะที่นางเข้าไปในป่า ทั้งของที่ถือก็หลุดจากมือ คานที่หาบไว้ก็ร่วงลงจากบ่า ต้นไม้ที่เคยผลิดอกก็ออกผล ต้นไม้ที่เคยออกผลก็ผลิดอกออกมา ชวนให้หวาดกลัวจนตัวสั่น อธิษฐานภาวนาให้ลูกและสามีปลอดภัย แล้วรีบกลับมายังอาศรมแต่ถูกสัตว์ร้ายทั้งสามตัวนอนขวางทางเอาไว้ จึงต้องกราบอ้อนวอนสัตว์ทั้งสามให้เปิดทางให้จนพระอาทิตย์ตกดินสัตว์ทั้งสามจึงหลีกทาง แล้วพระนางมัทรีก็รีบวิ่งกลับมายังอาศรมนี้ มิได้ไปทำสิ่งใดที่ไม่เหมาะไม่ควรแต่อย่างใด ฝ่ายพระเวสสันดรเมื่อฟังคำตอบของพระนามัทรีก็เอาแต่นิ่งเงียบทั้งคืน จนกระทั่งรุ่งเช้า  

ระหว่างนั้นพระนางมัทรีโศกเศร้าร่ำไห้ คร่ำครวญว่าตนปฏิบัติต่อสามีดั่งศิษย์ปฏิบัติต่อครู ดูแลลูกทั้งสองแบบยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ทั้งบดขมิ้นไว้ให้อาบน้ำ จัดหาอาหารมาให้มิได้ขาด แล้วอ้อนวอนให้สามีเรียกลูกมากินอาหารที่ตนหามา ถามว่าลูกอยู่แห่งหนใดเหตุใดจึงยังไม่ยอมออกมา แต่ไม่ว่าจะร้องขออ้อนวอนอย่างไรสามีก็นิ่งเฉยไม่เอ่ยสิ่งใดออกมา พระนางจึงถวายบังคมลาออกไปตามหาลูกทั้งสองในป่าหิมพานต์ เมื่อออกตามหาจนทั่วแล้วไม่พบจึงกลับมาที่อาศรมพบว่าพระเวสสันดรยังคงนั่งนิ่งอยู่เหมือนก่อนหน้านี้ไม่มีผิด พระนางจึงตัดพ้อว่า เหตุใดพระเวสสันดรจึงยังนั่งนิ่งอยู่ไม่ลุกมาผ่าฝืน ตัดน้ำใส่บ่อ หรือก่อไฟไว้อย่างที่เคยทำเป็นประจำทุกวัน พร้อมกับบอกว่าพระเวสสันดรนั้นเป็นที่รักของพระนางมัทรีอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาจากป่าเห็นพระพักตร์ของพระองค์และได้เห็นลูกทั้งสองวิ่งเล่น ก็คลายความเหนื่อยล้าเป็นปลิดทิ้ง แต่วันนี้กลับกลายเป็นความทุกข์ร้อน เศร้าโศก เพราะพระองค์ไม่ยอมตรัสสิ่งใดกับพระนาง แม้พระนางมัทรีจะได้ออกตามหาพระกัณหาและพระชาลีไปทั่วป่า ทั้งราตรี แล้วกลับมาหาพระเวสสันดรอย่างไรพระองค์ก็ไม่ยอมตรัสสิ่งใดอยู่เช่นเดิม นางมัทรีสะอื้นไห้จนหมดสติล้มลงกับพื้น

พระเวสสันดรบรรพชาเป็นดาบสมากว่า 7 เดือน ไม่เคยได้แตะต้องตัวพระนางมัทรี แต่วันนี้ด้วยความเศร้าโศกและตระหนกตกใจเกรงว่าพระนางจะเป็นอะไรไป พระเวสสันดรจึงเข้าไปตรวจชีพจรดูแลนางจนได้สติตื่นฟื้นขึ้นมา ฝ่ายพระนางมัทรีเมื่อฟื้นขึ้นมาก็ทูลถามอีกครั้งว่าลูกทั้งสองอยู่แห่งหนใด กลับมาแล้วหรือไม่ พระเวสสันดรจึงตอบว่าตนได้ยกพระกัณหากับพระชาลีให้กับชูชกไปแล้ว แต่พระองค์มิได้บอกกับพระนางมัทรีตั้งแต่ต้นเกรงว่าพระนางจะเศร้าโศกเสียใจ เมื่อได้รู้ความจริงแล้ว พระนางมัทรีจึงคลายความทุกข์เศร้าลงแล้วอนุโมทนาบุญกับบุตรทานที่พระเวสสันดรได้ปฏิบัติในครั้งนี้

ชมคลิปมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กันฑ์ได้ที่คลิปด้านล่างเลย

 

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี สะท้อนอะไรบ้าง ?

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ประพันธ์ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ร่ายยาวเรื่องมหาเวสสันดรชาดก จึงสะท้อนสังคมและค่านิยมในยุคสมัยนั้น ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นเรื่องคลาสสิกที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น

  • ความรักของแม่ที่มีต่อลูก เห็นได้จากความกังวลที่เกิดขึ้นเมื่อมีลางร้าย หรือความเศร้าโศกเสียใจเมื่อพระนางมัทรีไม่เจอลูกอยู่ในอาศรม สะท้อนให้เห็นว่าลูกเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ที่ไม่ว่ายุคสมัยไหน ความรักแบบไม่มีเงื่อนไขของพ่อแม่ยังเป็นเรื่องคลาสสิกที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
  • ความเชื่อเรื่องการทำนายฝัน หรือโชคลาง แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ความเชื่อเรื่องดวงชะตา การทำนายฝัน หรือโชคลางยังคงอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งอาจมาจากความเชื่อหรือสิ่งที่มองไม่เห็นยังสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจและสร้างความสบายใจให้กับผู้คนได้ โดยเฉพาะเรื่องอนาคตหรือเรื่องที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า

ขณะที่บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วในสังคมปัจจุบัน เช่น

  • มุมมองเรื่องลูกและภรรยานับเป็นสมบัติของสามี หรือสามีมีอำนาจเหนือกว่าภรรยา ทำให้สามีสามารถยกลูกและภรรยาให้กับผู้อื่นในฐานะทรัพย์สินอย่างหนึ่งของตนได้ เพราะในอดีตยังมีเรื่องการขายทาส หรือค่านิยมชายเป็นใหญ่ ขณะที่สภาพสังคมปัจจุบันเริ่มมองว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และไม่มีทาสแบบในสมัยก่อน พ่อแม่จึงไม่สามารยกลูกของตนเองให้ผู้อื่นได้ และสามีไม่ได้มีอำนาจเหนือภรรยาหรือมีบทบาทเป็นช้างเท้าหน้าแบบในอดีต 
  • หน้าที่ของภรรยาที่ต้องคอยปรนนิบัติสามี  จากเดิมที่เชื่อว่า ‘ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า’ หรือเป็น ‘หัวหน้าครอบครัว’ และเชื่อว่าภรรยาที่ดี ต้องเป็นคนที่ทำงานบ้านไม่ขาดตกบกพร่อง ดูแลรับใช้สามีอย่างดี และเชื่อฟังสามีในทุก ๆ เรื่อง ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมากขึ้นอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้บางครั้งผู้ชายก็สามารถอ่อนแอ ทำอาหาร ดูแลลูก ๆ ช่วยภรรยาได้ ขณะที่ภรรยาก็สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัว ไม่จำเป็นต้องทำงานบ้านได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและการตกลงกันระหว่างสามีภรรยามา อย่างไรก็ตามค่านิยมเรื่องหน้าที่ของสามีและภรรยาแบบในอดีตอาจยังปรากฏให้เห็นบ้างในบางครอบครัว หรือสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะเป็นเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต

 

สิ่งที่เราได้พูดถึงไปข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากร่ายยาวมหาเวสสันกรชาดก กัณฑ์มัทรี ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ อยากจะเรียนรู้เรื่องคุณค่าด้านวรรณศิลป์ หรือเกร็ดความรู้อื่น ๆ เพิ่มเติม ครูหนึ่งของเราพร้อมเล่าให้ฟังแล้วในแอปพลิเคชัน StartDee ! (ใครสนใจก็โหลดแอปฯ มาเรียนกันได้เลย) และสามารถอ่านบทความวิชาภาษาไทยสำหรับชั้น ม.5 เพิ่มเติมได้ในบทเรียนออนไลน์เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย และโคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

หรือถ้าอยากจะพักไปอ่านตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ กับเกร็ดความรู้เพลิน ๆ สำหรับทาสแมว ใน Blog ของเราก็สนุกไม่เบาแถมได้ความรู้กันด้วยน้า 

ขอบคุณข้อมูลจากครูธีรศักดิ์ จิระตราชู 

 

Did you know ? 

  • กัณฑ์ หมายถึง คำเทศน์ หรือ ตอนหนึ่ง ๆ ของเทศน์เรื่องยาว นับเป็นลักษณนามของเทศน์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กัณฑ์ ใช้แทน ตอนหรือบทย่อย ๆ ของคำเทศน์นั้น ๆ ก็ว่าได้ ซึ่งในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ประกอบด้วย 13 กัณฑ์ (13 ตอน) ได้แก่ กัณฑ์ทศพร, กัณฑ์หิมพานต์, กัณฑ์ทาน, กัณฑ์วนประเวศน์, กัณฑ์ชูชก, กัณฑ์จุลพน, กัณฑ์มหาพน, กัณฑ์กุมาร, กัณฑ์มัทรี, กัณฑ์สักกบรรพ, กัณฑ์มหาราช, กัณฑ์ฉกษัตริย์, กัณฑ์นครกัณฑ์ 
  • นอกจากมหาเวสสันดรชาดกจะเป็นร่ายยาวแล้ว ยังมีบุญพิธีทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า การเทศน์มหาชาติ อีกด้วย ซึ่งในพิธีเทศน์มหาชาตินี้ จะมีการเทศนาเกี่ยวกับมหาเวสสันดรชาดก โดยนิยมจัดหลังฤดูทอดกฐิน และใช้เวลาประมาณ 2 วัน

 

Reference : 

ธรรมะไทย. (n.d.). เทศน์มหาชาติ. Retrieved July 29, 2020, from //www.dhammathai.org/newspr/thesanachadok.php

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้