มะเร็งต่อมน้ำเหลืองผ่าตัดได้ไหม

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ โรคลิมโฟม่า (Lymphoma) คือ มะเร็งหรือเนื้องอกร้ายที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็คือต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ที่บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง และนอกจากในต่อมน้ำเหลืองแล้ว เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีกระจายอยู่ในเยื่อบุภายในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายอีกด้วย เช่น ในสมอง โพรงจมูก ไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง และกระดูก ซึ่งในอวัยวะเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง เป็นต้น แต่ต่อมน้ำเหลืองที่พบเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้บ่อยที่สุด คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ)

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งของต่อมน้ำเหลืองเองและของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ต่างก็มีสาเหตุ อาการ ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค วิธีการตรวจวินิจฉัย และแนวทางในการรักษาที่คล้ายคลึงกัน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

หมายเหตุ : ระบบน้ำเหลืองของร่างกายมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยการขนส่งน้ำเหลืองไปตามท่อน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม หรือทำลายเชื้อโรคโดยตรง จะพบต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ฯลฯ

IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease – HD หรือมีอีกชื่อว่า Hodgkin’s lymphoma – HL) พบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-34 ปี และมากกว่า 60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีลักษณะเฉพาะ คือ จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed-Sternberg cell” ซึ่งไม่มีในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่น ๆ และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ประมาณ 25,000 คน
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov
  2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin’s lymphoma – HHL) พบได้มากกว่ากลุ่มแรกประมาณ 8 เท่า และมีความรุนแรงของโรคสูงกว่ากลุ่มแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยอัตราการเจริญของเซลล์มะเร็งจะสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
    • ชนิดลุกลามช้า (Indolent) จะมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ผู้ป่วยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน
    • ชนิดรุนแรง (Aggressive) มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน – 12 ปี แต่มีข้อดี คือ ถ้าหากรักษาได้อย่างทันท่วงทีโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น

  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี (Human T-lymphocytic virus – HTLV), การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์, การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus – EBV) ของทางหายใจ เป็นต้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ
  • การมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์, โรคไขข้ออักเสบ, การกินยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่น ปลูกถ่ายไต) เป็นต้น
  • เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม การเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของพันธุกรรมบางชนิด เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคนี้ (พี่น้องอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับหรือเป็นพร้อมกันได้)
  • การสัมผัสวัตถุทางเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น การสัมผัสยาฆ่าแมลง น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
  • อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เพราะพบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนที่มีอาชีพเกษตรกรรม
  • การกินอาหารพวกโปรตีนและไขมันสูง
  • เคยรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
  • การที่ร่างกายมีความเป็นกรดในระยะเวลานานก็เป็นสาเหตุทั่วไปที่ทำให้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองกลายเป็ยมะเร็งได้

อาการมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการที่โดดเด่นของโรคนี้ คือ มีก้อนบวม (ของต่อมน้ำเหลือง) ซึ่งมักเกิดขึ้นที่ข้างลำคอนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน โดยจะมีลักษณะแข็ง คลำได้ ไม่รู้สึกเจ็บ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร บางรายอาจมีก้อนที่ขึ้นรักแร้หรือที่ขาหนีบ และบางรายอาจมีก้อนขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง

ผู้ป่วยอาจมีอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปกดถูกอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายด้วย เช่น มีอาการไอ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม แขนบวม ถ้าโรคเกิดในช่องอก, มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก เบื่ออาหาร ดีซ่าน ถ้าโรคเกิดในช่องท้อง, ท้องเดิน ลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร มีอาการน้ำหนักตัวลดลง ถ้าโรคเกิดในลำไส้เล็ก, มีอาการขาบวมจากภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง ถ้าโรคเกิดที่ขาหนีบ, มีอาการปวดศีรษะ แขนขาชาหรืออ่อนแรง ถ้าโรคเกิดในสมอง ไขสันหลัง หรือระบบประสาท เป็นต้น

ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้เรื้อรังโดยไม่ตรวจพบสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ได้ หรืออาจมีไข้สูงอยู่หลายวันสลับกับไม่มีไข้หลายวัน อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน หนาวสั่น หรือคันตามผิวหนัง

ในระยะต่อมาเมื่อมะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูกจะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีเลือดออกง่าย (มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว) และติดเชื้อได้ง่าย

IMAGE SOURCE : www.medgurus.org, www.carewhizz.com, www.merckmanuals.com, lmphomapictures.org

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มักเกิดจากการที่มีก้อนของมะเร็งไปกดหรือทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นของระบบไหลเวียนเลือดหรือน้ำเหลือง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ (อาจทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้) เป็นต้น
  • ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูก ร่างกายจะสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะซีด เลือดออกง่าย และติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษได้
  • ถ้ามะเร็งลุกลามเข้าสมอง ไขสันหลัง หรือกดเส้นประสาทสันหลัง จะทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรง
  • ถ้ามีก้อนมะเร็งที่กระเพาะอาหาร นอกจากจะเกิดภาวะกระอาหารอุดกั้นแล้ว ยังอาจทำให้มีเลือดออกได้ด้วย (อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ)

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ แต่ที่แตกต่างคือ จะแบ่งร่างกายออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือกับส่วนที่อยู่ใต้กระบังลม (Diaphragm) ซึ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว เช่น บริเวณลำคอ หรือบริเวณรักแร้ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป เช่น บริเวณลำคอด้านขวาและซ้าย บริเวณลำคอด้านขวากับรักแร้ด้านขวา แต่ทั้งสองบริเวณจะต้องอยู่ด้านกันของกระบังลม เช่น อยู่เหนือกระบังลมทั้งหมด หรืออยู่ใต้กระบังลมทั้งหมด
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือกระบังลมและส่วนใต้กระบังลม เช่น เกิดที่ลำคอร่วมกับขาหนีบ
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ไขกระดูก (ที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด คือ ไขกระดูก) หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และสมอง (สมองเป็นได้ทั้งโรคระยะที่ 1 เมื่อมะเร็งเกิดจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของสมองเอง หรือเป็นโรคระยะที่ 4 เมื่อโรคเกิดจากต่อมน้ำเหลืองแล้วแพร่กระจายเข้าสู่สมอง)
IMAGE SOURCE : www.lls.org

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้จากการซักประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายเพื่อดูสภาพร่างกายทั่วไปและดูก้อนตามตัว ส่วนการตรวจที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อนำไปตรวจชิ้นเนื้อ (Lymph node biopsy) ซึ่งจะทำให้พบลักษณะของเซลล์ที่เป็นมะเร็ง สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินจะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า “Reed-Sternberg cell”

นอกจากนี้อาจทำการตรวจเลือด การตรวจไขกระดูก การถ่ายภาพทรวงอกและช่องท้องด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและระยะของโรค

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • แนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะให้การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด หรือให้ร่วมกันทั้ง 2 อย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค เช่น ในรายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ในระยะแรกเริ่มและเป็นชนิดไม่รุนแรง สามารถให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวได้ ส่วนในรายที่เป็นชนิดรุนแรงหรืออยู่ในระยะท้าย ๆ แล้วจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา นอกจากนี้ยังอาจมีการให้ยาอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody), ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น ส่วนในรายที่มีการเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ (Relapse) แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดด้วยยาขนาดที่สูง และทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) ก็มักจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นหรือหายได้
  • วิธีรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในการเลือกวิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีเดียวหรือใช้แบบผสมผสานก็ได้ ดังนี้
    1. การเฝ้าติดตามโรค มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลุกลามช้า อยู่ในระยะที่ 1 และยังไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ โดยในระหว่างการเฝ้าติดตามโรคผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสีเป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
    2. การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้รักษาเฉพาะในบางระยะของโรค และส่วนใหญ่มักจะให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียวถ้าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ในระยะแรกเริ่มและเป็นชนิดไม่รุนแรง หรือเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ เช่น มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง (เพราะยาเคมีบำบัดส่วนตกค้างจะต้องกำจัดออกทางไต ถ้าไตเสียยาจะคั่งอยู่ในร่างกายมากและก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงจนเสียชีวิตได้) ซึ่งในการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ และส่วนมากจะใช้เวลาทำน้อยกว่า 30 นาทีในแต่ละครั้ง
    3. การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยาที่ให้จะไปออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งโดยไปรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง วิธีนี้สามารถใช้รักษาได้ในทุกระยะของโรค ทุกตำแหน่ง และทุกชนิดของมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดของยาเคมีบำบัดและให้คำแนะนำเองว่าจะต้องให้ยาเคมีบำบัดอย่างไรและให้จำนวนกี่ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย (โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน หรืออาจให้ร่วมกับสารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี)
    4. การให้สารภูมิต้านทานกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) เป็นการใช้สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ในการจับกับโปรตีนบนผิวหนังของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อมากำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ในบริเวณกว้างและส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเนื้อเยื่อปกติ
    5. การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง
    6. การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ใช้ได้ผลดีเฉพาะกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดและยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทั่วไปจะเข้าถึงได้ แพทย์มักใช้รักษาในโรคที่มีความรุนแรงสูง หรือโรคที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ
    7. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ การปลูกเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้ป่วยเอง และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค (ในปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือดแทนที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก จึงช่วยให้ผู้บริจาคไม่ต้องเจ็บตัวในการเจาะไขกระดูก) ใช้รักษาอย่างได้ผลดีเฉพาะในเซลล์มะเร็งบางชนิดเมื่อมีโรคที่รุนแรง หรือดื้อต่อยาเคมีบำบัด หรือเกิดโรคกลับเป็นซ้ำ และเช่นเดียวกับยารักตรงเป้าที่ค่าใช้จ่ายในการรักษายังสูงมาก
    8. การผ่าตัด ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักไม่มีการผ่าตัด (ยกเว้นเฉพาะในผู้ป่วยน้อยราย) เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
    2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    3. เพิ่มโภชนาการทางด้านอาหาร อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยควรเป็นอาหารที่สุก สะอาด อุณหภูมิไม่สูง เป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย ง่ายต่อการเคี้ยวกลืน ให้สารอาหาร พลังงาน มีวิตามินที่หลากหลาย และมีเส้นใยสูง (ผักสดต้องล้างให้สะอาด ส่วนผลไม้ควรเลือกรับประทานชนิดต้องปอกเปลือกเพื่อป้อกงันสารตกค้าง)
    4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพของผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นกิจวัตร เพราะจะมีผลโดยรวมต่อร่างกายในการช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยกำจัดโรคที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายหลังจากการได้รับการรักษา
    5. รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ส่วนผิวหนังควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะสาด (โดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น) และควรล้างทำความสะอาดและดูแลบริเวณทวารหนักทุกครั้งหลังขับถ่าย
    6. การดูแลเรื่องสุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย บุคคลในครอบครัวและเพื่อน ๆ ควรหมั่นให้กำลังใจผู้ป่วยให้มีความกระตือรือร้นในการรับการรักษาและเพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วยในการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ
  • ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดหลายชนิดและต่อรังสีรักษา ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับโรคมะเร็งอื่น ๆ จึงจัดว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงค่อนข้างต่ำและมีโอกาสรักษาให้หายได้สูง (ยกเว้นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง) อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชนิดของมะเร็ง (ชนิดฮอดจ์กินรุนแรงกว่านอนฮอดจ์กิน) ระยะของโรค อายุ (ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะรุนแรงมากกว่า) สุขภาพของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา โดยทั่วไปอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ของโรคในระยะที่ 1-2 คือประมาณ 70-80% ส่วนระยะที่ 3 ประมาณ 50-70% และระยะที่ 4 ประมาณ 0-50% ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าโรคแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะ ซึ่งถ้าแพร่กระจายเข้าไขกระดูกจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีสูงกว่าการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะสมอง
    • สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะแรก ๆ การรักษาจะช่วยให้หายจากโรคได้ถึง 80% และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 10 ปีมากกว่า 80% ส่วนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะท้าย ๆ จะมีโอกาสหายประมาณ 50-70% และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปีประมาณ 50-60%
    • สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินชนิดลุกลามช้า (Indolent) สามารถรักษาให้โรคสงบและมีชีวิตอยู่ได้นาน แต่มักจะไม่หายขาดและอาจมีการเกิดโรคกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยถ้าเป็นระยะแรก ๆ การให้รังสีรักษาจะช่วยทำให้โรคสงบและหายได้ประมาณ 20-30% แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว แพทย์จะไม่ให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา (เพราะยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการรักษาสามารถช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้มากขึ้น) และเฝ้าติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ถ้าโรคมีการลุกลามเร็วขึ้นก็จะให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้โรคสงบได้นาน 2-4 ปี
    • สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินชนิดรุนแรง (Aggressive) การรักษาอย่างจริงจังจะช่วยให้โรคสงบและมีโอกาสหายได้มากกว่าชนิดที่ลุกลามช้า โดยถ้าเป็นระยะแรก ๆ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ซึ่งจะช่วยให้โรคหายได้ประมาณ 70-90% แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้โรคหายได้ประมาณ 50% แต่จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ลดจำนวนลง แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (ได้แก่ Growth factors) กับผู้ป่วย

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการได้ ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ การสังเกตตนเอง หากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้ออาการ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

IMAGE SOURCE : www.eastsiderad.com

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรค จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ แต่หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 738-740.
  2. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.  “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.chulacancer.net.  [19 พ.ค. 2017].
  3. สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย.  “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thastro.org.  [20 พ.ค. 2017].
  4. สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ทำอย่างไรเมื่อเป็นโรคลิมโฟม่า”.  (ผศ.นพ.นพดล  ศิริธนารัตนกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [21 พ.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้