2024 เร มต นธ รก จ ด วยคำว า ทำไม momentum

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงหรือวิเคราะห์มากนัก คือ ปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบหรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปลงทะเบียนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้าและจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ ในบางกรณีอาจมีการสูญเสียเงินเบี้ยยังชีพที่ควรจะได้ไปถึง 7,200 บาท สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าใจและนำไปใช้คำนวณได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังขาดเครื่องมือหรือระบบดิจิทัลที่จะช่วยคำนวณหาช่วงเวลาลงทะเบียนที่ถูกต้องได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างละเอียด จากนั้น นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุไปลงทะเบียนในช่วงเวลาที่ถูกต้อง และได้รับเงินเบี้ยยังชีพถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามสิทธิที่พึงมีพึงได้

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

การคำนวณเพื่อหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการไปลงทะเบียนเพื่อแสดงเจตจำนงรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ ดังนี้

1. มาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”

จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น หมายความว่า บุคคลจะมีอายุครบปีบริบูรณ์ในวันก่อนหน้าวันคล้ายวันเกิดของทุกปี 1 วัน ตามนัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552 ที่ระบุสาระสำคัญเรื่องการนับอายุไว้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2532 จึงต้องนับอายุตั้งแต่วันเกิด คือนับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 เมื่อเกิดคดีขึ้นในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 จึงถือว่า ผู้เสียหายมีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แล้ว

นอกจากนี้ หากคำนวณอายุตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะพบว่า บุคคลจะมีอายุครบ 365 หรือ 366 วันในวันก่อนวันคล้ายวันเกิดในปีปฏิทินถัดไปพอดี ดังตัวอย่างการคำนวณตามตารางที่ 1 บุคคลที่เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2505 จะมีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2506

ในกรณีที่บุคคลใดทราบแต่เดือนเกิดแต่ไม่ทราบวันเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 ของเดือนนั้น แต่ในกรณีที่ไม่ทราบทั้งเดือนเกิดและวันเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคมในปีนั้น

2. ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน บัญญัติว่า

“ให้ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้…”

การคำนวณว่า ผู้สูงอายุแต่ละคนจะ “มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงปบระมาณถัดไป” หรือไม่ เมื่อใด เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ นอกจากจะต้องทำความเข้าใจหลักการของการนับอายุตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังต้องทำความเข้าใจเรื่องปีงบประมาณด้วย ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ระบุความหมายของปีงบประมาณ ไว้ว่า “ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น” ถ้าอธิบายเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย คือ ปีงบประมาณหนึ่ง เริ่มต้นจากวันที่ 1 ตุลาคม ของปีปฏิทินก่อนหน้าถึงวันที่ 30 กันยายนของปีปฏิทินที่เป็นชื่อของปีงบประมาณ เช่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้น ดังนั้น การเชื่อมโยงการนับอายุของบุคคลกับปีงบประมาณซึ่งมีหลักเกณฑ์และช่วงเวลาแตกต่างกันได้ทำให้การคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

3. ข้อ 13 วรรคหนึ่งของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ระบุว่า “การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้มีสิทธิตามระเบียบนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือในนามบุคคลที่รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุเป็นรายเดือนภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน”

4. อย่างไรก็ตาม นอกจากกฎหมายและระเบียบทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาแนวปฏิบัติที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0810.6/ว5752 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 25 กันยายน 2563 ความว่า

การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนพฤศจิกายน 2563 และเดือนมกราคม 2564 – เดือนกันยายน 2564 ให้ผู้สูงอายุรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อนซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งนับอายุจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 (เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 เนื่องจากผู้สูงอายุที่เกิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2505 – 1 ตุลาคม 2505 เป็นผู้สูงอายุที่จะมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป จากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือ เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2566 ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวต้องลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป)

จากแนวปฏิบัติข้างต้น หมายความว่า การคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องคำนวณไปถึงเดือนที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรก จากนั้น ต้องคำนวณต่อไปว่า เดือนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกนั้นอยู่ในปีงบประมาณใด แล้วจึงได้คำตอบว่า ต้องไปลงทะเบียนในปีงบประมาณก่อนหน้าด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จะเปิดโอกาสให้สามารถไปลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ในทางปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามเชิญชวนให้ผู้สูงอายุในเขตพื้นที่รับผิดชอบไปลงทะเบียนในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นหลัก ส่วนการลงทะเบียนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนให้เป็นการลงทะเบียนเก็บตก

สรุปขั้นตอนการคำนวณหาระยะเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

จากกฎหมายและระเบียบที่ได้อธิบายมาทั้งหมด สามารถสรุปขั้นตอนการคำนวณหาระยะเวลาที่ถูกต้องที่ประชาชนต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง คำนวณหาว่า ตนเองจะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อใด

ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566

ขั้นตอนที่สอง คำนวณหาวันที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก คือ ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามขั้นตอนที่หนึ่ง

ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนแรกภายในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566

ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ขั้นตอนที่สาม ระบุให้ได้ว่า วันที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกอยู่ในปีงบประมาณใด

ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกภายในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 อยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเดือนแรกภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ขั้นตอนที่สี่ การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณก่อนปีงบประมาณที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรก

ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ขั้นตอนที่ห้า กำหนดระยะเวลาที่สามารถไปลงทะเบียนได้ตามปีงบประมาณ จากตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 ต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนั้น จึงสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 โดยไม่สามารถลงทะเบียนในเดือนธันวาคมได้ และมีระยะเวลาในการลงทะเบียนทั้งสิ้น 11 เดือน

ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนั้น จึงสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 โดยไม่สามารถลงทะเบียนในเดือนธันวาคมได้ และมีระยะเวลาในการลงทะเบียนทั้งสิ้น 11 เดือนเช่นเดียวกัน

ในกรณีที่ผู้สูงอายุไปลงทะเบียนก่อนช่วงเวลาที่คำนวณได้จาก 5 ขั้นตอนข้างต้น ระบบจะไม่เปิดให้ลงทะเบียนและต้องเดินทางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่อีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลาที่กำหนด แต่ในกรณีที่ไปลงทะเบียนล่าช้ากว่ากำหนด ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพในเดือนตุลาคมถัดจากวันที่ไปลงทะเบียน ในกรณีของผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้เงินเบี้ยยังชีพล่าช้ากว่าสิทธิที่พึงจะได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน คิดเป็นเงินเบี้ยยังชีพที่สูญเสียไปอย่างน้อย 600 บาท ส่วนกรณีที่ผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ถ้าไปลงทะเบียนล่าช้ากว่าที่กำหนดจะเริ่มได้เงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในเดือนตุลาคมของปีงบประมาณถัดไป คือ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ล่าช้ากว่าสิทธิที่พึงจะได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน คิดเป็นเงินเบี้ยยังชีพที่สูญเสียไปอย่างน้อย 7,200 บาท

ทั้งนี้ เราสามารถสรุปข้อมูลเปรียบเทียบที่ได้จากการคำนวณแต่ละขั้นตอนของผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 และวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ตามตารางที่ 2

จากขั้นตอนการคำนวณที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนตามที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยากยิ่งที่ประชาชนแต่ละคนจะสามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของตนเองได้ จึงต้องพึ่งพาการประชาสัมพันธ์หรือการเชิญชวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,774 แห่ง (ประกอบด้วยเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) เป็นหลัก ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีภารกิจในการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพแต่อย่างใด

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยในการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

หลักการสำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบหรือกำหนดแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการช่วยคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ การทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ (User needs) อย่างดีที่สุด นอกจากนี้ ระบบดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นจะต้องเป็นระบบที่ใช้งานได้ง่าย (Simple) มีความมั่นคงปลอดภัย (Secure) มีเนื้อหาหรือแนวทางการใช้งานที่ชัดเจน (Clear) และสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว (Fast)

หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล (Personalisation) ซึ่งแตกต่างจากการให้ข้อมูลหรือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมที่มักเป็นการให้ข้อมูลแบบภาพรวม เช่น ตัวอย่างข้อความประชาสัมพันธ์ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเผยแพร่ต่อประชาชน คือ “ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนพฤศจิกายน 2563 และเดือนมกราคม 2564 – เดือนกันยายน 2564 (เทศบาล/อบต.) ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 นับจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 (เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505) ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ …. ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”

การให้ข้อมูลในลักษณะภาพรวมเช่นนี้อาจช่วยสร้างความกระจ่างได้ระดับหนึ่ง แต่การประชาสัมพันธ์ข้างต้นหมายรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ลงทะเบียนตรงตามช่วงเวลาที่ถูกต้อง และได้สูญเสียเงินเบี้ยยังชีพที่ตนเองพึงมีพึงได้ไปแล้ว ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหามิให้ผู้สูงอายุพลาดการลงทะเบียนในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ระบบที่จะพัฒนาขึ้นควรเป็นระบบที่ให้ข้อมูลได้อย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลโดยคำนวณจากวันเดือนปีเกิดของผู้สูงอายุแต่ละคนตามขั้นตอนที่กฎหมายระเบียบและแนวปฏิบัติของรัฐกำหนด

แนวทางการพัฒนาระบบที่พอจะประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น คือ การพัฒนาระบบดิจิทัลสำหรับการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องที่ผู้สูงอายุต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ โดยผู้ใช้งานกรอกเพียงวันเดือนปีเกิด จากนั้นระบบจะคำนวณตามขั้นตอนที่ได้อรรถาธิบายไปข้างต้น แล้วแสดงคำตอบออกมาเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุแต่ละคนต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพ และอาจพัฒนาเพิ่มเติมให้มีช่องทางในการแจ้งเตือนในกรณีที่ใกล้ระยะเวลาสิ้นสุดของช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียน หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่ถนัดในการใช้งานเทคโนโลยี ก็อาจขอให้ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักกรอกข้อมูลแทนก็ได้

การพัฒนาสูตรการคำนวณ

ทั้งนี้ ในการจัดทำไฟล์ต้นแบบ (Prototype) ได้ทดลองสร้างสูตรคำนวณใน Microsoft Excel ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างผู้สูงอายุที่เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีสูตรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. วันเดือนปีเกิด กรอกข้อมูลว่า 01/09/2506
  2. วันที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมาย สร้างสูตรการคำนวณว่า =DATE(YEAR(01/09/2506)+60 MONTH(01/09/2506),DAY(01/09/2506)-1) หมายความว่า ให้บวกจำนวนปีไป 60 ปี และลบวันไป 1 วัน ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการนับอายุของบุคคลผลลัพธ์ที่ได้ คือ 31/08/2566
  3. วันที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก สร้างสูตรการคำนวณว่า =DATE(YEAR(31/08/2566),MONTH(31/08/2566)+1,DAY(10)) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 10/09/2566
  4. ปีงบประมาณของเดือนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก สร้างสูตรการคำนวณว่า =(IF(OR(MONTH(10/09/2566)=10,MONTH(10/09/2566)=11,MONTH(10/09/2566)=12),YEAR(10/09/2566)+1,YEAR(10/09/2566)))+543 หมายความว่า ถ้าเดือนเป็นเดือน 10, 11 และ 12 ให้ถือเป็นปีงบประมาณถัดไป ส่วนการ +543 ในตอนท้ายเพื่อแปลงคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราช ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 2566
  5. ปีงบประมาณที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สร้างสูตรการคำนวณว่า (2566)-1 หมายความว่า ต้องไปลงทะเบียนให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณก่อนหน้าปีงบประมาณที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 2565
  6. ช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตรงตามสิทธิ สร้างสูตรการคำนวณว่า =“เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ”&(2565)-1&“ หรือเดือนมกราคม-เดือนกันยายน พ.ศ. ”&(2565) หมายความว่า ให้ไปลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนในปีปฏิทินก่อนหน้าปีงบประมาณที่คำนวณได้ตามขั้นตอนที่ 5 หรือเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนในปีปฏิทินเดียวกับปีงบประมาณตามขั้นตอนที่ 5 เช่นเดียวกัน

ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือเดือนมกราคม-เดือนกันยายน พ.ศ. 2565

สูตรทั้งหมดนี้จะทำงานต่อเนื่องกันจนได้คำตอบออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายในขั้นตอนที่ 6 นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มรายละเอียดอื่น ๆ เช่น กำหนดให้มีการแจ้งเตือน (Alert and Notifications) เป็นระยะ ๆ ไปยังที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email Address) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้ใช้งานได้กรอกไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ อาจพัฒนาระบบคำนวณนี้เป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แอปพลิเคชันทางรัฐ เป๋าตัง เราชนะ คนละครึ่ง เป็นต้น

สรุป

ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติของรัฐกำหนด มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอัตราเริ่มต้นเดือนละ 600 บาทในเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพตรงเวลาและตรงตามสิทธิที่พึงได้ คือ การไปลงทะเบียน ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นและถูกละเลยตลอดมา คือ วิธีการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุแต่ละคนนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน อีกทั้งยังต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินในระดับที่ลึกซึ้งพอสมควร ทั้งการนับอายุบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งการคำนวณปีงบประมาณซึ่งแตกต่างจากปีปฏิทินที่ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคย

ผลที่ตามมาคือ ประชาชนต้องรอรับฟังข่าวสารประชาสัมพันธ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,774 แห่งเป็นหลัก โดยไม่สามารถตรวจสอบสิทธิหน้าที่ของตนเองได้โดยสะดวกว่า ต้องไปลงทะเบียนเมื่อใด หากผู้สูงอายุไปลงทะเบียนก่อนช่วงเวลาที่ถูกต้องไว้ จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ และต้องกลับไปลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าไปลงทะเบียนหลังช่วงเวลาที่ถูกต้อง ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพช้าและน้อยกว่าสิทธิที่พึงมีพึงได้

แนวทางแก้ไขที่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น คือ การพัฒนาระบบดิจิทัลที่ใช้คำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล โดยผู้ใช้งานเพียงกรอกวันเดือนปีเกิดตามบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ระบบจะคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนตามสูตรที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการส่งมอบเครื่องมือดิจิทัลให้แก่ประชาชนทุกคนเพื่อให้สามารถรับรู้และพิทักษ์สิทธิของตนเองในการรับสวัสดิการจากรัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาการแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐเพียงช่องทางเดียวอีกต่อไป

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

ไทยแปลอังกฤษ แปลภาษาไทย โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ไทยแปลอังกฤษ ประโยค แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แปลภาษาอาหรับ-ไทย Terjemahan พจนานุกรมศัพท์ทหาร หยน แปลภาษา มาเลเซีย ไทย Bahasa Thailand ข้อสอบภาษาอังกฤษ พร้อมเฉลย pdf บบบย tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ชขภใ ยศทหารบก เรียงลําดับ ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง เขียน อาหรับ แปลไทย แปลภาษาอิสลามเป็นไทย Google map กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมออนไลน์ กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 8 ขั้นตอน ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย ค้นหา ประวัติ นามสกุล อาจารย์ ตจต แจ้ง ประกาศ น้ำประปาไม่ไหล แปลบาลีเป็นไทย แปลภาษา ถ่ายรูป แปลภาษาจีน แปลภาษามลายู ยาวี โรงพยาบาลภมูพลอดุยเดช ที่อยู่ Google Drive Info TOR คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ช่างไฟฟ้า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อบรมฟรี 2566 กลยุทธ์ทางการตลาด มีอะไรบ้าง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีอะไรบ้าง การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 ขขขขบบบยข ่ส ข่าว น้ำประปา วันนี้ ข้อสอบโอเน็ต ม.6 มีกี่ตอน ตารางธาตุ ประปาไม่ไหล วันนี้